การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น (เพิ่มเติม)


การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น

สรุปเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น (เพิ่มเติม) โดยนาย Kenji Takahara เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ National Consumer Affairs Center of Japan: NCAC เมื่อครั้งผู้เขียนได้เดินทางไปศึกษางานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่ประเทศญี่ปุ่น ณ NCAC ซึ่งต่อมา ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาสาสมัครอาวุโสของญี่ปุ่น (Senior Volunteer) ระยะเวลา ๒ ปี ณ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) 

นาย Kenji Takahara ได้บรรยายสรุปเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศญี่ปุ่นเพิ่มเติม มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1.คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (the Consumer Protection Council) ตาม The Consumer Protection Fundamental Act, 1968 มีวาระการประชุมปีละ 2 ครั้ง  วาระการประชุมจะเกี่ยวกับเฉพาะเรื่องนโยบายและแผนเท่านั้น สาระของ The Consumer Protection Fundamental Act, 1968 นี้ ไม่ได้กำหนดในรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ ระบุเพียงหน้าที่ของรัฐ หน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่น หน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจ และบทบาทของผู้บริโภค

2.หน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นโดยนัยของ The Consumer Protection Fundamental Act, 1968 นี้ จะต้องไปออกกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมายและความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งกฎหมายหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นก็จะใช้บังคับเฉพาะในเขตแห่งรัฐบาลท้องถิ่นนั้นเท่านั้น

3.ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายเรื่องกฎระเบียบ (Deregulation) มากขึ้นโดยให้ผู้บริโภคพึ่งตนเองและรับผิดชอบตนเองมากขึ้น   ทั้งนี้ โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้บริโภคและให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคหรือสังคมแทนการตรวจสอบจากภาครัฐ ตรากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องที่จำเป็น ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยความรับผิดในผลิตภัณฑ์ และกฎหมายว่าด้วยสัญญา

4.กระบวนการเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบกิจการกับผู้บริโภค รัฐได้กำหนดวิธีการแก้ปัญหาไว้ 2 ระดับได้แก่

Alternative Dispute Resolution: ADR

-การเจรจาไกล่เกลี่ยโดย NCAC และศูนย์ฯ ท้องถิ่นผู้ให้คำปรึกษา NCAC เป็นเพียงผู้แนะนำ ชี้แนะก่อน ซึ่งหากคู่กรณีตกลงกันไม่ได้ กระบวนการไกล่เกลี่ยจะถูกนำมาใช้ ปัจจุบันในเขตรัฐบาลท้องถิ่น กฎหมายได้ให้อำนาจท้องถิ่นในการไกล่เกลี่ยด้วย โดยจะมีคณะกรรมการแก้ปัญหาร้องทุกข์ของท้องถิ่น

-ศูนย์ Product Liability ของบริษัทเอกชนผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลหรือบริษัทใหญ่ ๆ เช่น บริษัท ฮิตาชิ เป็นต้น จะมีศูนย์ร้องทุกข์เกี่ยวกับความบกพร่องในผลิตภัณฑ์ของตนเอง และจะมีวิธีแก้ปัญหาให้แก่ลูกค้าหรือผู้บริโภค

-สมาคมนักกฎหมาย ผู้บริโภคอาจปรึกษาแก่สมาคมนี้ได้

การดำเนินคดีฟ้องร้องใช้สิทธิทางศาล

การฟ้องคดีผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น ผู้บริโภคต้องใช้สิทธิทางศาลเองหากกรณีตกลงกันไม่ได้ หรือวิธีการ ADR ไม่ได้ผล  อย่างไรก็ตาม โดยสภาพของวัฒนธรรมญี่ปุ่นไม่ใช่วัฒนธรรมการฟ้องร้องคดีเมื่อผู้บริโภคถูกโต้แย้งสิทธิหรือสิทธิของผู้บริโภคถูกละเมิด คดีที่มีทุนทรัพย์ตั้งแต่ เก้าแสนเยนเท่านั้นที่จะฟ้องต่อศาลได้ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายได้ลดจำนวนทุนทรัพย์ลงเหลือตั้งแต่ สามแสนเยนเท่านั้นที่จะฟ้องต่อศาลได้ ซึ่งการดำเนินคดีจะใช้เวลานานและเสียค่าใช้จ่ายสูง 

ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ของ NCAC : ข้อสังเกต

เมื่อมีกรณีที่จะต้องทดสอบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคำร้องของผู้บริโภค เฉพาะแต่สินค้าทั่วไปที่ใช้กันในสังคมเท่านั้น ที่ NCAC จะส่งเรื่องให้ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์พิสูจน์ได้  ทั้งนี้ ศูนย์ฯจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้  สำหรับผลการพิสูจน์นั้นผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นจะได้รับแจ้งจากศูนย์ฯโดยไม่เป็นลายลักษณ์อักษรหากมีการร้องขอ เนื่องจากการเปิดเผยผลการตรวจสอบเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งจะเก็บข้อมูลไว้ในระบบ PIO-NET ภายในเท่านั้นและผู้มีส่วนได้เสียซึ่งได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค อาจนำผลการพิสูจน์มาใช้ในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ยได้  อนึ่ง หากผู้บริโภคต้องการผลการพิสูจน์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรอาจขอให้ศาลมีหมายเรียกก็ได้ ซึ่งขณะนี้ NCAC กำลังพิจารณาว่าควรที่จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้หรือไม่เพียงใด 

หมายเลขบันทึก: 153959เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2007 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท