ตำนานเพลงพื้นบ้านยุคใหม่ (ตอนที่ 3) ความมั่นคงถาวรจากการอนุรักษ์


ขอให้ผู้ชมที่ยืนดูหน้าเวที ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ เป็นผู้ตัดสินใจยกย่องนักแสดงบ้าง ความมั่นคงถาวรจะบังเกิดอย่างน่าภาคภูมิใจ ยิ่งไปเสียกว่าการรณรงค์ เพราะจะเป็นการสืบสานที่มีพลังฮึกเหิม มีชีวิตชีวากว่าเป็นไหน ๆ

 

ตำนานเพลง

พื้นบ้านยุคใหม่

ที่มีมายาวนานกว่า 16 ปี

เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ

(ตอนที่ 3) ความมั่นคงถาวร

เกิดจากการอนุรักษ์สืบสานที่มั่นคง

          ใน 2 ตอนที่ผ่านมา ผมได้นำเอาที่มาของวงเพลงอีแซวพื้นบ้าน โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งใช้ชื่อวงในการแสดงว่า เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ จนมาถึงวิธีการฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน ที่ผมต้องใช้คำว่าเพลงอีแซวเป็นหลักก็เพราะว่า งานเพลงอีแซวมีเข้ามามากที่สุด แต่ในความเป็นจริง ผมฝึกหัดให้เด็ก ๆ ให้เขาแสดงเพลงพื้นบ้านกันได้หลายชนิด ซึ่งเคยได้เล่าไปบ้างแล้วในบทความเก่า ๆ ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีผู้ที่ทำเป็นไม่รับรู้  กล้าที่จะพูดกับผมโดยตรงอย่างชัดเจนว่า  เพลงวงพี่เล่นดี แต่ไม่มีการพัฒนา เล่นแต่เพลงอีแซว เพลงวงอื่นเขาพัฒนาไปไกลกว่ามาก  ผมได้แต่นึกสงสาร ตามด้วยความน่าเวทนา ผู้ที่นำเอาประโยคนี้มาพูดกับผม  ถ้าคนเพลงในวงการเดียวกันมีความคิดสร้างสวรรค์ได้เพียงเท่านี้ หมดแน่ เพลงพื้นบ้านสูญสิ้นแน่นอน แค่คำพูดที่เปล่งวาจาออกมาก็ไม่สักนิดที่จะเป็นการสร้างสรรค์ 

          ยังมีบุคคลประเภทนี้อยู่อีกหรือ แต่ว่าจะมีมากหรือน้อยไม่มีผู้ค้นหาคำตอบเอาไว้ มีแต่การรวบรวมบทเพลง ชื่อคนเล่นเพลง วิธีการแสดง เพลงไหว้ครูนั่งร้อง เพลงประเล่นหลายแบบ เพลงเล่นเป็นเรื่อง (นำเสนอแบบละคร) เพลงลาแสดงความรักอาลัย มีเอกสารให้หาอ่านได้มากมาย แต่การผดุงไว้ซึ่งสิ่งที่ทุกคนบ่นหาว่า กลัวจะสูญสิ้นไป กลับไม่มีใครทำ  พอที่จะมีคนทำก็หาทางเบียด เสียดสีให้ตกลงข้างทางไปก่อนที่จะได้สานต่ออย่างมั่นคง

          สำหรับผมไม่เคย ผมพยายามตามหาวงเพลงในจังหวัดสุพรรณบุรี ติดตามดูผลงานของพวกเขาอย่างชื่นชม  บางครั้งอยากที่จะไปเสนอแนะให้เขาทำให้ถูกทาง ผมยังไม่กล้าที่จะบอก เพราะไม่รู้ว่าเขาให้ความนับถือเราหรือไม่  จึงทำให้มีการแสดงเพลงพื้นบ้าน แต่ขาดคนดู มีแต่คนเดินผ่านหน้าเวทีไปมาอย่างน่าเสียดาย ตรงจุดนี้ต่างหากที่น่าจะให้โอกาส หรือหาโอกาสรับฟังคำวิจารณ์ ติชมแบบติเพื่อก่อให้เกิดผลดี  ในความเป็นจริงแล้ว จากประสบการณ์ที่ผมทำงานด้านศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านมานาน เกือบจะ  40 ปี มาแล้ว

       ปี พ.ศ.2513 เป็นปีที่ผมเริ่มเข้ารับราชการ เวลาว่าง ร้องเพลงเชียร์รำวงและประกวดร้องเพลง

       ปี พ.ศ.2514 ผมฝึกหัดร้อง ประกอบพิธีทำขวัญนาคและรับงานออกไปทำด้วยตนเองได้

       ปี พ.ศ.2515 ผมเริ่มเขียนบทเพลงอีแซวและร้องในกิจกรรมการอบรมสัมมนาครูอาจารย์

       ปี พ.ศ.2520 ผมเริ่มตระเวนไปเที่ยวฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน ไปพบครูเพลงหลาย ๆ ท่าน

       ปี พ.ศ.2524 ผมฝึกหัดเพลงอีแซวที่บ้านป้าอ้น จันทร์สว่าง ฝึกเพลงพวงมาลัยเพลงฉ่อย

       ปี พ.ศ.2525 ผมได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดเพลงอีแซวของจังหวัดสุพรรณบุรี

       ปี พ.ศ.2526 ผมออกไปเผยแพร่ผลงานการแสดงเพลงพื้นบ้านให้กับกลุ่ม/ชมรมต่าง ๆ

       ปี พ.ศ.2534 ผมเริ่มถ่ายทอดความรู้สู่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ประชาชน

       ปี พ.ศ.2535 ผมฝึกหัดยุวกาชาด 12-15 คน เป็นตัวแทนจังหวัดไปแสดงที่ค่ายวชิราวุธ

       ปี พ.ศ.2535 จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งวงเพลงพื้นบ้าน เริ่มที่เพลงฉ่อย เพลงอีแซวก่อน

       ปี พ.ศ.2547 ผมได้รับรางวัลราชมงคลสรรเสริญ สาขาศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน

       ปี พ.ศ.2538 นำคณะนักแสดงร่วมกิจกรรมงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ จนถึงปี พ.ศ.2550

       ปี พ.ศ.2549 ผมได้รับโล่รางวัล ความดีคู่แผ่นดิน จากรายการโทรทัศน์ ช่อง 5

       ปี พ.ศ.2550 นักแสดงของผมทุกคน มีความสามารถด้นกลอนสดๆ ได้อย่างฉับพลัน

          เป็นการเดินทางบนถนนนักเพลงที่ต่อเนื่องมายาวนานเกือบ 40 ปีมิมีเปลี่ยนแปลง มันฝังรากลงลึกเกินกว่าที่ผมจะถอนตัวออกมาจากเพลงพื้นบ้านได้ ผมจึงได้นำเอาประสบการณ์ตรง ที่ได้สัมผัสมาจริง ๆ นำเอามาถ่ายทอดสู่นักเรียนในชั้นเรียน ในชั่วโมงเรียน ในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในรายวิชาเลือกและกลุ่มนักเรียนที่มีความสนใจ จัดตั้งเป็นวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ รับใช้สังคมมาจนถึงวันนี้กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 17

          หากจะให้มองย้อนหลังไปในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2534 ปีที่ผมพยายามที่สุดที่จะเปิดสอนเพลงพื้นเมือง และวิชาการแสดงพื้นบ้าน (ไม่มีเด็กเลือกเรียน) จึงต้องมาจัดหากลุ่มผู้ที่สนใจนำร่องไปก่อน โดยบรรจุศิลปะการแสดงเอาไว้ในกิจกรรม/ชุมนุมศิลปะกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ผมไม่ทิ้งศิลปะวาด ออกแบบที่ผมรัก ผมไม่ยอมที่จะลดละความพยายามในการสร้างสรรค์วงเพลงอีแซว  และผมมีความสนใจในเทคโนโลยีการศึกษาเป็นทุนอยู่แล้ว ผมจึงทำงานทั้ง 3 อย่างนี้ควบคู่กันมาโดยตลอด

          ในการฝึกหัดเพลงอีแซว เนื่องจากเพลงอีแซว เป็นเพลงที่เล่นสนุก มีจังหวะเร็ว การฝึกหัดร้องไม่ยุ่งยาก เพียงแต่ผู้ที่จะหัดร้องให้เป็นนักแสดงจะต้องมีน้ำเสียงไพเราะสดใส ส่วนการฝึกหัดร้องเพื่อการเรียนรู้ ไม่ต้องกำหนดคุณสมบัติใด ๆ ใครก็เข้ามาฝึกหัดได้ ครับ และฝึกกันเพียง 3 ชั่วโมงก็ออกเสียนงร้องเป็นเพลงอีแซวได้ ส่วนการฝึกเพื่อที่จะให้มีความชำนาญจะต้องใช้เวลามากกว่าการเรียนรู้ ในบางคนอาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี ไปจนถึง 6 ปีจึงจะเอาดีได้  ส่วนการที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นนักแสดงมืออาชีพรับงานได้ จะต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นจนทำให้ผู้ชมติดใจตามไปหา จ้างวานไปแสดงซึ่งตรงนี้เองคือความมั่นคง ในการสืบสานเพลงพื้นบ้านที่แท้จริง เมื่อใดมีตัวตายตัวแทนได้ เมื่อนั้น จึงจะเกิดความอยู่รอด ในเพลงพื้นบ้านทุกชนิด  ไม่มีสูญหายไปจากแผ่นดินของเราแน่

          การฝึกหัดนักแสดง จึงต้องเอาจริงเอาจัง  มีความมุ่งมั่นเกาะติดจริง ๆ อย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหวกับคำติฉินนินทาว่าร้าย (น่ารำคานมาก) มีความหนักแน่น อดทนอย่างมากมาย จึงจะผ่านมรสุมไปสู่เส้นทางที่เรามุ่งหวังได้  แต่โอกาสและวาสนาอาจไม่มีมาให้พวกเรามากนัก กาลเวลากำลังผลักดันให้วัฒนธรรมที่มีอิทธิพลเหนือกว่า เข้ามาบทบัง แม้ว่าในวันนี้ คนทำวงเพลงอีแซว รวมทั้งเพลงพื้นบ้านทุกชนิดต้องต่อสู่กับงานที่หนักมากกว่าเดิมหลายเท่าแล้วก็ตาม 

          ผมขอแต่เพียงว่า คนดูที่เป็นคนกลุ่มน้อย อย่าได้ชี้เฉพาะเจาะจงว่า วงเพลงนั้นเก่ง วงนี้น่ายกย่อง แล้วอีกไม่กี่วันลองหันกลับไปมองพวกเขาบ้างว่า  เขามีงานหรือว่างงาน เขาต้องเป็นอย่างนั้นเพราะใคร ขอให้ผู้ชมที่ยืนดูหน้าเวที ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ เป็นผู้ตัดสินใจยกย่องนักแสดงบ้าง ความมั่นคงถาวรจะบังเกิดอย่างน่าภาคภูมิใจ ยิ่งไปเสียกว่าการรณรงค์  เพราะจะเป็นการสืบสานที่มีพลังฮึกเหิม มีชีวิตชีวากว่าเป็นไหน ๆ  

ชำเลือง  มณีวงษ์  โล่รางวัลความดีคู่แผ่นดิน จากรายการโทรทัศน์ ช่อง 5 ปี พ.ศ. 2549. 

 

หมายเลขบันทึก: 153175เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2007 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท