ตำนานเพลงพื้นบ้านยุคใหม่ (ตอนที่ 1) ความเป็นมา


ตำนานเพลงพื้นบ้านยุคใหม่ ที่มีมายาวนานกว่า 16 ปี ในนามเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ผมขอนำเอาเรื่องราวในรายละเอียด ความเป็นมาโดยย่อตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนเดินทางมายาวนานมาถึงวันนี้ โดยเอกสาร (แผ่นพับ) แนะนำวงเพลงอีแซว

 

ตำนานเพลง

พื้นบ้านยุคใหม่

ที่มีมายาวนานกว่า 16 ปี

เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ

(ตอนที่ 1) ความเป็นมา

          เมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2550 มีสุภาพบุรุษผู้หนึ่ง เดินทางมาจากไหนผมไม่ทราบรายละเอียด สิ่งที่ผมได้เห็นและเฝ้าสังเกตในระหว่างที่ผมมีแขกจากจังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 4 ท่านกำลังสนทนากันอยู่นั้น  มีท่านผู้หนึ่งยืนอยู่ที่ประตูด้านนอกห้องโดยที่เขาไม่ได้ทักทายผม เขายืนดูภาพและเรื่องราวที่ผมและเด็ก ๆ จัดแสดงผลงานเพลงพื้นบ้านเอาไว้ที่ด้านนอกห้อง จนเมื่อแขกของผมชุดที่มาหาผมคุยธุระกันลาจากผมไปแล้ว ท่านผู้นั้นก็เดินเข้ามาในห้อง 512 อาคาร 5 ที่ผมนั่งทำงานอยู่  

          คำแรกที่ผมได้รับฟังคือ  เพลงวงนี้ใช่วงที่ดีที่สุดของสุพรรณฯ หรือไม่  คำถามที่ผมได้รับฟัง ทำให้ผมต้องหยุดคิดนิดหนึ่ง แล้วตอบไปว่า เพลงวงนี้จะดีเด่นแค่ไหน เพียงใด ผมคงตัดสินใจเองไม่ได้ นอกจากที่ท่านจะหาข้อมูลเอาเอง หรือไปพิสูจน์การแสดงที่หน้าเวที จะดีหรือไม่ แค่ไหนเพียงใด อยู่ที่ท่านผู้ชมตัดสินใจครับ  ผมเชิญให้แขกผู้แปลกหน้านั่งลงที่เก้าอี้รองรับซึ่งลูกศิษย์ที่กำลังเรียนอยู่กับผมจัดมาวางให้  ท่านสนทนากับผมต่อไปอีก โดยกล่าวว่า ผมต้องการมาติดต่อเพลงพื้นบ้าน ระดับเยาวชนไปแสดงในงานสำคัญของชุมชนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ คิดราคาเท่าไร ผมตอบคำถามนี้โดยแสดงความจำเป็นในการที่จะต้องมีค่าใช้จ่าย ประกอบด้วยเบี้ยเลี้ยงนักแสดง  ค่าอาหารระหว่างเดินทาง  ค่ารถรับ-ส่งนักเรียนถึงบ้านตอนกลับ และค่ารถเดินทางไปแสดง ก็เป็นเงินมากพอสมควร (ไม่รวมค่าเครื่องเสียงและเวทีการแสดง) นอกจากนั้นยังมีถ้อยคำ ในการสนทนาที่ผมยังจำได้อีกหลายอย่าง  ได้แก่

     -      เคยไปแสดงตามต่างจังหวัดมาบ้างไหม  ผมตอบว่า เคยไปมาหลายสิบจังหวัดแล้ว

     -      เด็ก ๆ สามารถแสดงได้นานเท่าไรต่อหนึ่งงาน ผมตอบว่า แสดงครั้งละ 1-3 ชั่วโมง

     -      แล้วถ้าเล่นน้อยหรือมากกว่านั้นละคิดอย่างไร  ผมตอบไปว่า คิดลดและเพิ่มเล็กน้อย

     -      ในคณะมีผู้แสดงกี่คน ชาย-หญิงกี่คน  ผมตอบว่า มีทั้งชาย-หญิงจำนวน 15 คนขึ้นไป

     -      ตั้งวงเล่นเพลงรับงานแสดงมานานหรือยัง  ผมตอบว่า รับงานแสดงมากว่า 16 ปีแล้ว

     -      ใครเป็นผู้ฝึกหัดเพลงวงนี้ครับ  ผมตอบว่า ผมเป็นผู้ถ่ายทอดทุกอย่างเพียงคนเดียว

     -             วงเพลงของอาจารย์มีจุดเด่นอะไร  ผมตอบว่า เด็กมีความสามารถด้นกลอนสดได้หลายคน

      -      อาจารย์มีวิธีการฝึกหัดอย่างไรจึงมาถึงจุดนี้ ผมตอบว่า ผมเป็นนักแสดงอาชีพมาก่อน ครับ 

         ยังมีข้อสงสัยที่ผมถูกถามอีกหลายข้อ เอาไว้ค่อย ๆ นำมาเล่าต่อไป แต่ที่ผมต้องนำกลับมาคิด ทั้งที่เวลาผ่านมาเป็นเดือนแล้วก็ตาม  ยังมีท่านที่ให้ความสนใจในศิลปะ การแสดงเพลงพื้นบ้านที่อยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่มีข้อมูลในรายละเอียดที่จะให้ท่านที่มีความสนใจได้ศึกษาหาความรู้ เพื่อความรู้ความเข้าใจ  เพื่อการติดต่อขอความอนุเคราะห์ในการติดต่อไปแสดง และเพื่อความเข้าใจในข้อสงสัยอื่น ๆ อีกมาก เพราะดูทุกท่านที่มาหาผม ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่มีความเข้าใจในศิลปะพื้นบ้าน  บางท่านไม่มีเลย  บางท่านยังเรียกเพลงที่เด็ก ๆ ของผมไปแสดงว่า เพลงลำตัด (เด็ก ๆ เขาแสดงเพลงอีแซว) 

         บางท่านถามผมว่า เด็กของอาจารย์เล่นได้แต่เพลงอีแซวหรือ ผมให้ข้อมูลไปว่า เล่นเพลงพื้นบ้านได้มากว่า 10 ประเภท ครับ  และมีคำถามที่ถามกันมากว่า เพลงประเภทไหนที่ดูสนุกที่สุด  ผมตอบว่า เพลงที่ผมได้รับการติดต่อไปแสดงมากที่สุดคือ เพลงอีแซว เพลงแหล่ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงพวงมาลัย ครับ  อีกคำถามหนึ่งคือ ใน 1 งาน  สามารถนำเอาเพลงพื้นบ้านหลาย ๆ อย่างมาเล่นต่อเนื่องกันไปได้ไหม  ผมตอบว่า ได้ครับ เพราะว่ามีหลายงานที่ท่านเจ้าภาพต้องการให้แสดงเพลง 3 อย่าง ต่อเนื่องกัน แสดงอย่างละ 1 ชั่วโมงก็มี 

         เรื่องของการให้ข้อมูล น่าที่จะมีความสำคัญ เพราะอย่างน้อย ข้อมูลก็สามารถทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ติดตัวไป  แต่อาจจะมีท่านผู้อ่านที่มีความเห็นไปคนละทางกับผู้ให้ข้อมูลก็เป็นได้  ผมจึงต้องออกตัวตรงนี้ก่อนว่า ผมเป็นนักแสดงมาตั้งแต่เด็ก ๆ การแสดงเป็นอาชีพติดตัวผมมาตั้งแต่เริ่มต้นจนมาถึงวันนี้ ผมเล่นเพลงบนเวทีมาเป็นจำนวนมากทั้งการแสดง ประกวด และแข่งขัน  เมื่อผมนำเอาความรู้มาถ่ายทดให้กับนักเรียน ผมจึงถอดเอาประสบการณ์ตรงของผมมาสวมให้เด็ก ๆ ได้รับการถ่ายทอดไปโดยตรงจากต้นตอ คือตัวของครูเอง ครับ 

        บทความในตอนที่ 1 ของตำนานเพลงพื้นบ้านยุคใหม่ ที่มีมายาวนานกว่า 16 ปี ในนามของเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ  ผมขอนำเอาเรื่องราวในรายละเอียด ความเป็นมาโดยย่อตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนเดินทางมายาวนานมาถึงวันนี้ ดัวยเอกสาร (แผ่นพับ) แนะนำวงเพลงอีแซว ครับ 

ชำเลือง  มณีวงษ์  โล่รางวัลความดีคู่แผ่นดิน จากรายการโทรทัศน์ ช่อง 5 ปี พ.ศ. 2549.

 

หมายเลขบันทึก: 153167เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2007 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท