ศ. ดร. สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (3)


ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (3)

         วารสารวงการครู  ฉบับเดือนมกราคม 2549   นำเรื่องนี้มาลงเป็นเรื่องเด่นของฉบับ  คือเรื่องจากปก   สคส. จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อเป็นตอน ๆ ดังต่อไปนี้  ตอนที่ 2

"จุดเริ่มต้นของความรู้  คือการยอมรับว่าเราไม่รู้" 
อมเรศ ศิลาอ่อน  อดีตประธาน สมศ.

ในเรื่อง KM นั้น ผู้นำจะต้องคุ้นกับการที่ต้องลด C & C ลง จุดนี้ ท่านอาจารย์เห็นอย่างไร
        เราเองจะต้องเป็นคนที่จะต้องเรียนรู้ไปด้วย เพราะเราเองเป็นคนสนับสนุน และเราก็จะต้องสนับสนุนให้เขาทุกกรณี ซึ่งก็จะต้องมีส่วนช่วยเสริมเพิ่มเติมให้เขาบ้าง  เรื่องนี้ก็ง่ายอยู่แล้ว เพราะคนที่มาพูดก็เป็นตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว ฉะนั้น การที่เขาพูด เราก็ต้องชมเขาอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นจริง ๆ ในเรื่องนี้ก็คือ เราอยากที่จะให้มีการประสานกันในแนวราบกันให้มากขึ้น และก็สามารถทำงานเป็นทีม ตรงนี้มันเป็นในเรื่อง Learning Organization เป็นเครื่องมือสำคัญ
        ถ้าคนสามารถที่จะทำงานเป็นทีมได้ และสามารถที่จะดึงเอาพลังความเก่งของทุกคนในองค์กรออกมาแล้วมาผนึกกัน และทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน คุณก็มีของดี ผมก็มีของดี ซึ่งตามธรรมดาแล้วเรื่องเหล่านี้เราก็จะไม่มาบอกกัน ถ้าเราบอกของไม่ดี คนอื่นก็บอกของไม่ดี  ในที่สุดแล้ว เราก็จะมีแต่ของไม่ดีซึ่งกันและกัน แต่ของดีเราก็ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ ฉะนั้น การที่เราทำ KM ก็เพื่อจะนำเอาของดีมาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเรื่องทัศนคติต่าง ๆ ต่อกันมันก็จะดีขึ้นด้วย และในเรื่องนี้ ถ้าคิดว่า เราทำในเรื่องนี้ที่สำนักงานได้ผลแล้ว เราก็จะทำการเผยแพร่ไปที่เครือข่าย  ซึ่งเรามี 12 เครือข่ายทั่วประเทศ และก็จะนำเอาวิธีการนี้ไปพัฒนาผู้ประเมิน คือตรงนี้จะเป็นเหมือนทางเลือกอีกทางหนึ่งของการอบรมที่เป็นไดเร็ก เราต้องมีบ้างแต่คงต้องลดพวกนี้ลง เพราะคิดว่าไม่ค่อยได้ผล ในระดับพื้นฐานใช้ได้ แต่ในระดับสูงแรงบันดาลใจต่าง ๆ นั้น คิดว่า ในเรื่องของการสอนตรงนั้นใช้ไม่ได้ และในเรื่องของการสอนตรงแบบนี้ต่อไปก็จะเป็นการสอนผ่านซีดี ผ่านคอมพิวเตอร์ หรือใส่ในหนังสือให้เขาอ่าน ซึ่งมันจะต่างจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
        ในส่วนของคุณหมอวิจารณ์ ท่านก็ชอบใจเรามากว่า ในส่วนของเราเองนั้นมันจะมีในเรื่องของผลกระทบที่ค่อนข้างที่จะสูงในแนวกว้าง ในแง่ของโรงเรียนก็ดี ในแง่อะไรต่ออะไรพวกนี้ หรือแม้แต่ผู้ประเมินที่เรามีผู้ประเมินอยู่ประมาณ 5,000 หรืออาจจะถึง 7,000 คน รวมระดับอุดมศึกษาอาจจะเป็น 10,000 คน ในจำนวนคน 10,000 คนนั้นมันจะเป็นตัวกระจายที่สำคัญ และมันจะเปลี่ยนในเรื่องของวิธีการแนะนำโรงเรียน ถ้าโรงเรียนมีปัญหา ถ้าผู้ประเมินมีเรื่องของ Positive Thinking แล้วก็ยอมรับว่าทุกคนมีความสามารถ มันจะมีข้อเสนออีกแบบ

ภาพลักษณ์ต่อไปของ สมศ. จะไม่ใช่ไปสร้างแรงกดดันให้โรงเรียนนั้น คือเข้าไปมีส่วนในการผลักดันให้เขาดีขึ้น ไม่ใช่แทนที่จะเอาเครื่องมือไปจับแล้วก็วัดกันที่ถูกหรือผิด
         ประเด็นตรงนี้เราก็คงที่จะเดินสายกลาง ที่สุดแล้วก็ต้องมีการประเมิน เพราะบทบาทของ สมศ. เราไม่ใช่ผู้แนะนำ แต่ว่า เราจะทำการประเมินแบบแนะนำ ประเมินแล้วพัฒนา และวิธีการประเมินก็คือ การสร้างบรรยากาศของการเป็นกัลยาณมิตร ไม่ใช่การมีอำนาจเหนือคนอื่น ซึ่งตรงนี้เราทำมานานแล้ว ผมสอน ผมก็สอนเรื่องนี้มายาวนานแล้ว แต่ว่าโอกาสในครั้งนี้เรามีโอกาสที่จะทำจริง และก็ทำจริงพร้อมทั้งประเทศด้วย และทุกระดับซึ่งมันยิ่งใหญ่มากในแง่ของการศึกษา
         ฉะนั้น ถ้าเรามองว่า เราไม่มีอำนาจเหนือเขา เขากับเราก็เหมือนกันอย่างนี้เป็นต้น แต่อย่างไรแล้วเราก็จะต้องประเมินเขาอยู่ดี แต่เราจะต้องประเมินแบบรับผิดชอบ ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าเขายังไม่ดี เราก็อย่าไปโทษเขา แต่ถ้าเขายังไม่ดี ยังไม่ได้มาตรฐาน เราก็จะมาช่วยกันคิดว่า เราจะทำอย่างไรจะให้ไปสู่มาตรฐาน และการที่เราได้ร่วมมือกับทางกระทรวง ในการพัฒนาโรงเรียนที่มีคุณภาพน้อยนั้น จริง ๆ แล้วตรงนี้ไม่ได้มีในเรื่องของกฎหมาย แต่เราทำเกินกฎหมาย เราไม่ได้ทำหน้าที่ทางด้านกฎหมาย เราทำหน้าที่ประเมินและเสนอแนะ
         ส่วนในเรื่องที่เขาจะไปทำอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของต้นสังกัด แต่เรามองแล้วว่า ถ้าเราทำตามกฎหมายแล้วในเรื่องของคุณภาพคงไม่ค่อยเกิด แล้วจะทำอย่างไร เราเองก็ต้องคิดที่จะหาวิธี วิธีก็คือ เราต้องชูให้ท่านรัฐมนตรีขึ้น ต้องนำกระทรวงขึ้น เพราะทางกระทรวงเป็นต้นสังกัด แล้วเราก็ไปร่วมกับทางกระทรวงเขา เพราะเราเองต้องการที่จะให้เขาทำอย่างต่อเนื่อง เราไม่ใช่เป็นองค์กรที่จะทำเพื่อในการพัฒนา เราเป็นองค์กรประเมิน ฉะนั้น คนที่จะพัฒนาก็จะต้องเป็นองค์กรที่เป็นต้นสังกัด
         แต่ ณ เวลานี้ เราเองรอไม่ได้ ต้นสังกัดเองงานเขาก็มาก เราก็ไปช่วยเขาทำ ช่วยส่งคนไปทำ ร่วมกับเขาแล้วก็บอกว่า นำร่อง 240 แต่ถ้าเป็น 10,000 เราก็จะถอนตัวออกจากตรงนั้น เราก็จะให้เขาทำต่อ อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่คิดว่าน่าจะประสบความสำเร็จ ในการที่จะทำงานโดยที่ไม่สนใจว่า เราทำแล้วเราจะต้องได้หน้า ใครอยากได้หน้าช่างเขา เราขออย่างเดียวคือ ให้เด็กได้มีคุณภาพดีขึ้น ให้การศึกษาไทยดีขึ้น ก็เป็นอันใช้ได้ และเราเองก็รู้บทบาทของเราว่า เราประเมิน เรื่องของพัฒนาเราก็จะต้องเขาไปร่วมกับเขา เราไปตั้งโครงการเองไม่ได้

ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (1)

ศ. ดร. สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์ถก KM กับ สมศ. (2)


 


คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15316เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2006 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท