เก็บมาเล่า : มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๔ (๒)


ต้องพยายามในสิ่งที่เป็นไปได้ ต้องยอมรับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

หลัง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวเปิดงานเสร็จ มีปาฐกถาพิเศษ “ การเปลี่ยนแปลงเพื่อความสุขในการทำงาน” โดย ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา

อาจารย์จรัสเริ่มต้นด้วยการกล่าวขอบคุณที่เชิญมาทั้งๆ ที่แน่ใจว่าไม่รู้เรื่องนี้ (KM) ขอแสดงความชื่นชมกับอาจารย์วิจารณ์นิดหน่อย แต่กับทุกท่านในห้องนี้อย่างมาก เมื่อ ๕ ปีก่อนรู้เรื่องนี้นิดหน่อย คิดว่าดีที่อาจารย์วิจารณ์มาทำเรื่องนี้ พอ ๕ ปีผ่านมารู้สึกว่าไม่รู้เรื่องนี้เยอะเลย ได้เห็นพลังจากความเปลี่ยนแปลง จากจำนวนคนที่มาร่วมประชุม คงเป็นหนทางที่มีความหมาย

อายุ ๗๕ ใจไม่รู้สึกว่าแก่ อาจเป็นเพราะทำงานอย่างมีความสุข ไม่เคยเครียด งานทุกงานที่ผ่านมามีความสุขทั้งสิ้น ที่พบในประสบการณ์ มักพบความทุกข์ในการทำงาน มีคนมาเล่ามาบ่นให้ฟัง มาร้องเรียนก็มี

ถ้าจะมีความสุขในการทำงาน ต้องจัดการความทุกข์ให้ได้เสียก่อน ทุกข์ที่เกิดมี ๒ องค์ประกอบคือคนและสิ่งแวดล้อม ความทุกข์มาจากอะไรบ้าง – คน งาน เงิน ระบบระเบียบทั้งหลาย หัวหน้า ผู้บังคับบัญชา เป็นแหล่งของความทุกข์อยู่เยอะ

ตัวอย่างหัวหน้า อาทิ นายสำราญ -ไม่ทำอะไร คุณอำนาจ/คุณเผด็จ คุณละเอียด-ดีเหมือนกันแต่ลูกน้องเดือดร้อน คุณระเบียบ-งานสำเร็จ แต่ลูกน้องเดือดร้อน บางคนเป็นคุณประหยัด-ดี แต่ลูกน้องเดือดร้อน ถ้าไปเจอคุณตระหนี่ยิ่งร้าย อาจจะมีคุณสมาน คุณรอด อีก ชื่อเหล่านี้มีความดีในตนเอง

คำตอบจากผู้ที่มีความทุกข์คืออยากเปลี่ยนหัวหน้า แต่สำเร็จได้ยาก ต้องอาศัยชั้นเชิงเยอะ ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดทุกข์ยิ่งขึ้น ทำอย่างไรให้พออยู่ได้ มองอย่างเข้าใจ วิธีหนึ่งคือปลง พอรับได้ ก็หมดความลำบากไปได้เหมือนกัน

อีกปัญหาหนึ่งคือลูกน้องทำให้เกิดความทุกข์ ย้ายไป ให้ออกบ้าง ย้ายไปย้ายมาก็เจออีก อาจต้องมองอีกมุม มีคนมาบ่นเรื่องเงินไม่พอเยอะ ทางออกวิธีง่ายที่สุดคือประหยัด เท่าที่เห็นลูกน้องมาบ่นเรื่องเงินไม่พอ ส่วนหนึ่งเกิดจากของจริง อีกส่วนหนึ่งไม่ใช่

ความทุกข์บางอย่างเป็นความทุกข์ของจริง ที่หน่วยงานต้องหาทางแก้

คนบ่นเรื่องงาน งานไม่สนุก ไม่ใช้ความรู้ความสามารถ ไม่น่าสนใจ เหล่านี้อยู่ที่การจัดการ ยกตัวอย่างโรงพยาบาลชุมชน ที่มีแพทย์ ๓-๔ คน ดูแลคนเยอะ ยังต้องไปประชุมอีก ต้องอยู่เวรกลางคืนทำอย่างไร เขาจัดให้พยาบาลอยู่เวรแทน ทำข้อกำหนดวิธีการปฏิบัติไว้ ตอนเช้าแพทย์และพยาบาลก็มานั่งพิจารณาร่วมกันว่าเมื่อคืนเป็นอย่างไร รักษาอย่างไร แสดงให้เห็นว่าการใช้ปัญญาแก้ปัญหาได้ เป็นตัวอย่างของการลดทุกข์

ระเบียบเป็นกรอบการทำงาน บางทีก็แก้ระเบียบ บางทีภายใต้ระเบียบนั้นก็มีวิธีจัดการ

การมีมิตรไมตรี มีน้ำใจ มีเมตตา สามารถฟังได้ ฟังคนอื่นด้วยความยินดี ต้องเปลี่ยนใจตนเองในการที่จะฟังคนอื่น แต่ฟังแค่นั้นอาจไม่พอ สัญญานที่มากับเสียงมีเยอะ ต้องไวต่อความรู้สึก จะไวได้ต้องมีความจริงใจ

ต้องวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นทุกข์ที่แท้จริง อะไรเป็นทุกข์จากมุมมอง การมองในแง่ดีเป็นคำตอบชนิดหนึ่ง

ความทุกข์จากงานไม่สนุก ให้มองนาฬิกา เห็นหน้าปัดเป็นเครื่องบอกเวลา มีคุณค่าอย่างยิ่งถ้าบอกเวลาได้ตรง แต่มันเดินไม่ได้ถ้าไม่มีแกน ไม่ใช่เข็ม ส่วนรวมจะดีไม่ได้ ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันทำไม่ช่วยกันสร้าง หัวหน้ามีหน้าที่ปลุกระดม สร้างกำลังใจ สร้างขวัญ

เวลาทำงานก็ต้องการให้สำเร็จ ทำงานให้มีความสุข ก็อย่าเบียดเบียนตนเอง จัดการกับงานที่จะไม่เบียดเบียนตนเอง จัดอย่างไร นิวรณ์ ๕ เป็นอันหนึ่งที่เบียดเบียนตนเอง ต้องขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน มองอีกมุมหนึ่งความขยันหมั่นเพียรเป็นเครื่องมือสร้างสุข

งานเยอะ ต้องจัดการ อาจลดงานโดยเอาคนอื่นมาช่วย แต่ต้องเลือกคน ต้องเปลี่ยนจากคุณละเอียด คุณอำนาจ เป็นคนที่มีความไว้วางใจคนอื่น ที่พบอีกอย่างคือความเกรงใจ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเป็นอีกมุม (ถ้าผู้ป่วยมีปัญหา หากเกรงใจต้องตาม ถ้าไม่ตามแสดงว่าไม่เกรงใจ)

การจัดการกับเวลา เราไม่ได้มีหน้าที่กับงานอย่างเดียว มีเรื่องครอบครัวและอื่นๆ ด้วย เราต้องจัดการให้ได้

การจัดการเพื่อลดความทุกข์ ต้องจัดลำดับความสำคัญ ยอมรับความเป็นปุถุชนของตนเอง ทำอย่างไรจึงจะยอมรับความไม่ perfect ของเรา สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือจัดการกับความคิดของตนเอง ถ้ามองว่าทุกๆ คำตอบมีปัญหาก็ทุกข์ตลอด

หลักที่ใช้อยู่เรื่อย “ต้องพยายามในสิ่งที่เป็นไปได้ ต้องยอมรับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” แยกให้ได้

การปรับตัว ปรับตัวอยู่คนเดียวไม่ยาก แต่ถ้าอยู่หลายคน ทำงานเป็นทีมยาก ต้องลดอัตตา

อาจารย์จรัสเน้นความสำคัญของการปรับความคิด การปรับใจตนเอง การให้อภัยเป็นคำตอบในชีวิตของเรา การเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ของตัวเราและคนรอบข้าง

ดิฉันจดบันทึกปาฐกถาครั้งนี้เอาไว้ แม้จะเก็บเนื้อหาไม่ได้ทั้งหมด แต่เมื่อมาเขียนด้วยความตั้งใจและอ่านซ้ำ ก็ได้ประเด็นที่สอนเราได้ดีทีเดียว

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 153140เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2007 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สนุกจัง ขอบคุณที่เล่าให้ฟัง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท