วิธีการเลือกมหาวิทยาลัย กับกระบวนการการตัดสินใจ


สวัสดีครับ

ใน G2K มี อาจารย์มหาวิทยาลัยและคุณครูมากมาย ไม่แน่ใจว่าจะมีนักเรียนนักศึกษามาอ่านมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่แน่นะครับอาจจะมีหลงเข้ามาซักคนสองคนก็ยังดีครับ

ตอนนี้ผมอ่านหนังสือเรื่อง Basic Economy ของ Thomas Sowell อยู่ครับ โซเวลล์นั้นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งและก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งมากๆคนหนึ่งทีเดียว (ได้รับรางวัล Rose and Milton Freidman ด้วยนะครับ)  ก็เลยนั่งดูนู่นดูนี่เล่น แล้วก็ไปเจอบทความที่เขาเขียนไว้นานมากแล้ว เรื่องการเลือกมหาวิทยาลัย (ถ้าสนใจรายละเอียด เชิญได้ที่นี่นะครับ http://www.leaderu.com/choosingcollege/sowell-choosing/intro.html) ซึ่งเขียนไว้นานกว่ายี่สิบปีแล้วครับ ก็เลยนึกสนุกมานั่งเขียนเล่นๆ แต่จะเขียนให้เห็นด้วยกรอบของกระบวนการการตัดสินใจนะครับ เพราะผมเดาว่าคงยังไม่เคยมีใครเขียนถึงมาก่อนเลย

โซเวลล์บอกว่าการเลือกมหาวิทยาลัยเนี่ย เป็นการตัดสินใจที่สำคัญเป็นอันดับสองในชีวิตลองจากการเลือกคู่ครอง เหตุผลก็เพราะว่า พอไปเรื่อยๆ คนอาจจะไม่รู้จักว่าเรานั้นทำงานอะไร แล้วทำอะไรมาบ้าง แต่รู้แค่ว่าเราจบจากที่ไหน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใช่ไหมครับ ถ้าคุณจบจากมหาวิทยาลัยดีๆ ดังๆ คุณเองก็ต้องการที่จะโม้มันออกมา (ใช่ครับ โม้มันออกมา) ในเมื่อมหาวิทยาลัยที่คุณจบนั้น บ่งบอกถึงความสาหัสสากรรจ์ในการเรียน

แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางโปรแกรมของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่เรียนง่ายแสนง่าย แต่ก็จะมีคนในวงการเท่านั้นที่รู้ และเพราะความแตกต่างของมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนนั้น ก็ทำให้การศึกษาของมหาวิทยาลัยแตกต่างกัน ในเมื่อโรงเรียนบางโรงเรียนนั้น ออกจะปล่อยเกรด แต่อีกที่ออกจะโหดร้าย (สมัยผมเรียนปริญญาตรี มีวิชาหนึ่ง ตัดเกรดได้โหดร้ายมากครับ ก็อาจารย์เล่น ให้ เอ หนึ่งคน บีบวก ห้าคน แต่แจกเอฟซะ หกคน)

แต่มหาวิทยาลัยนั้นมีมิติมากกว่าชื่อเสียงครับ เพราะมันยังมีมิติถึงคุณภาพชีวิตของนักเรียนนักศึกษาอีกด้วย ก็ในเมื่อเราคงไม่อยากให้ลูกหลานของเราเรียนแล้วนั่งเครียด แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เรียนแบบสบายๆ มีเวลาว่างไปนั่งกินเหล้ายาปาปิ้งกับเพื่อนฝูง ดังนั้นการเลือกมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง

และแน่นอนครับ ในการตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการตัดสินใจที่ดี แล้วการตัดสินใจที่ดีหมายถึงอะไร ตามหลักแล้ว กระบวนการการตัดสินใจ (Decision making process) ที่ดีนั้น ประกอบด้วยวิธีการง่ายๆห้าอย่างครับ

  1. รู้ว่าปัญหาของเรานั้น แท้ที่จริงแล้วคืออะไร พูดง่ายๆก็คือรู้ว่าอะไรคือตัวปัญหานั่นแหละครับ
  2. พอรู้จักตัวปัญหาแล้ว ก็มาดูว่า แล้วอะไรมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของเราบ้าง
  3. จากนั้นเราก็ไปศึกษาหาข้อมูล แล้วก็มาดูว่าการตัดสินใจของเรานั้นมี options หรือมีทางเลือกอะไรบ้าง (ไม่ทำอะไรเลยก็ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งครับ)
  4. เมื่อหาข้อมูลได้แล้ว เราก็ต้องมาสร้าง trade-off หรือมาวิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียของแต่ละออปชั่นหรือตัวเลือก 
  5.  สร้าง objective function ขึ้นมา แล้วก็เลือกเอาตัวเลือกที่ดีที่สุดครับ

ฟังดูก็ไม่ยากใช่ไหมครับ ในเมื่อเราๆท่านๆก็ตัดสินใจกันอยู่ทุกวันอยู่แล้ว แล้วมันจะยากตรงไหน

เอาละ เรามาลองดูล่ะกันนะครับว่า จะมาใช้กระบวนการการตัดสินใจ ตามหลักง่ายๆ ห้าข้อนี้ยังไงบ้าง

อย่างแรกครับ เราก็ต้องรู้ก่อนว่า ปัญหาของเราคืออะไร ซึ่งก็คือเราต้องการเลือกมหาวิทยาลัย

แล้วอะไรที่มีปัจจัยต่อการตัดสินใจของเราบ้าง ของแต่ละคนก็อาจจะมีปัจจัยในการเลือกแตกต่างกันไปใช่ไหมครับ เช่น

  1. ความชอบและความถนัด (อันนี้ต้องอันดับหนึ่งครับ เราต้องรู้จักตัวเองก่อน ก่อนที่เราจะไปรู้จักมหาวิทยาลัย และคณะที่เราต้องการเลือก)  
  2. ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย
  3. ชื่อเสียงของคณาจารย์ผู้สอน
  4. หลักสูตรที่เราเรียน
  5. ความเป็นที่ยอมรับในวงการ ต่อหลักสูตรและมหาวิทยาลัยที่เราเรียน
  6. ขนาดของมหาวิทยาลัยและห้องเรียน
  7. เพื่อน
  8. คุณภาพชีวิตในมหาวิทยาลัย
  9. ความคาดหวังว่าพอจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว เราจะได้อะไร (ซึ่งส่วนมากเราอาจจะไม่ได้สนใจกันมากนักในตอนเลือก) 
  10. ที่ตั้งของมหาวิทยาลัย และบริเวณแถวนั้น 
  11. บางคนอาจจะรวมไปถึง อยากไปอยู่ต่างจังหวัด หรืออยากเข้ามากรุงเทพก็ได้
  12. ค่าเล่าเรียน
  13. และอื่นๆอีกมากมาย เช่น อัตราส่วนสาวสวยและหนุ่มหล่อ อาหารอร่อยไหม ตึกน่าเรียนหรือเปล่า โอ้ยสารพัดจะเลือกได้ครับ

พอเรารู้แล้ว เราก็ต้องมาศึกษาหาข้อมูลเพื่อที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจ การหาข้อมูล ก็อาจจะไปที่แนะแนว หรือไม่ก็ลองสอบถามศิษย์เก่า หรือแม้กระทั่งเดินเตร่ไปแถวมหาวิทยาลัย เพื่อไปศึกษาว่า มันเป็นยังไง

แต่มีข้อมูลหนึ่งที่ โซเวลล์บอกว่า หาได้ง่าย และเป็นข้อมูลที่ดี ก็คือผลสอบ SAT ครับ หรือในเมืองไทย ก็คงจะเป็นผลสอบ admission โอเน็ต เอเน็ต เพราะว่าผลคะแนนนั้นบอกเราคร่าวๆ ว่าเราสมควรเลือกเรียนอย่างที่เราคิดไว้แต่แรกหรือเปล่า

เนื่องจากว่ามหาวิทยาลัยไทยนั้นมีน้อยมาก รวมไปถึงความแตกต่างของวิชาเรียน และหลักสูตรการเรียนนั้นก็น้อยมาก (ซึ่งผมก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องเหมือนกันขนาดนั้น ในเมื่อความรู้นั้นมันมีนอกเหนือจากตำราตั้งเยอะ)

พอเราหาปัจจัยที่เราต้องการ ได้แล้ว เราก็จำเป็นที่จะต้องมาดูว่า เรามีตัวเลือกอะไรบ้าง ตัวเลือกนั้นหาได้จาก ความถนัดและความชอบของเราครับ บางคนชอบเลข ก็เลยอาจจะอยากเรียนวิศวกรรมศาสตร์ บางคนชอบอ่าน ก็เลยอยากเรียนอักษร

สมมติว่าเรามีตัวเลือกแล้วนะครับ อาจจะมีซักห้าอันดับ สิบอันดับ หรือยี่สิบอันดับก็ได้ (เผื่อไว้กันเหนียวครับ)  เราจะรู้ได้ยังไงว่า อันไหนดีสุด วิธีการง่ายๆ ก็คือการให้คะแนนครับ แล้วก็ทำเป็น weighted average ทำไมต้องเป็น weighted average ที่ต้องเป็นค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักหรือว่า weighted average ก็เพราะว่า ปัจจัยในการตัดสินใจของเรานั้น มันไม่เท่ากันครับ

บางคนอาจจะบอกว่า ชื่อเสียงมหาวิทยาลัยสำคัญที่สุด (แบบผมอยากเรียนจุฬาครับ คณะอะไรก็ได้ไม่สน) ก็อาจจะให้ค่าน้ำหนักไว้สูงๆ ในขณะเดียวกัน ปัจจัยประเภท ผู้หญิงหน้าตาดีไหม ผู้ชายหล่อหรือเปล่า ก็อาจจะไม่ได้สำคัญกับชีวิตการศึกษาเท่าไรนัก (หรือสำคัญ เพราะมันทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้น?) ก็อาจจะใส่น้ำหนักน้อยๆครับ เช่น 1, 0.5 แต่อันนี้ก็อย่างที่บอกครับ แล้วแต่คนจะชอบครับ

พอเราให้น้ำหนักของแต่ละปัจจัยแล้ว เราก็มาให้คะแนนตัวเลือกของเราครับ วิธีการก็เหมือนที่เราทำแบบสอบถามนั่นแหละครับ ชอบมากให้ ห้า (หรือถ้าจะให้ สิบ ก็ไม่มีใครว่าครับ อันนี้ตามแต่คนจะชอบครับ ไม่ห้ามกัน) ถ้าไม่ชอบเลยให้ติดลบก็ยังได้ครับ

เอาล่ะครับ พอได้แล้ว ก็หา weighted average ครับ แล้วก็เอาค่าที่มากที่สุด (ถ้าเราให้คะแนน มาก หมายความว่าดี)

อันนี้ยกตัวอย่างให้ดูเล่นๆคร่าวๆนะครับ  สมมติผมต้องการเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัย สามแห่ง ก ข และ ค โดยมีปัจจัยเลือกที่สำคัญสำหรับผม สี่อย่าง

ขั้นแรก ก็ให้น้ำหนัก แล้วต่อมาก็ให้คะแนน สมมติให้คะแนน เต็มสิบ สิบหมายถึงชอบมากสุดนะครับ

 ปัจจัย ชื่อเสียงมหาวิทยาลัย   ชื่อเสียงอาจารย์ ที่ตั้ง  สาวสวย  ผลรวมคะแนน
ค่าน้ำหนัก  10  7  5  
 ก  8 9  2  5  158
 10  5  1  2  142
 ค  6  7  10  7  166

จากตัวอย่างนี้เราก็จะได้ว่า ผมเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัย ค ครับ

ข้อควรระวัง

  1. การตัดสินใจโดยใช้กรอบวิธีการนี้นั้น ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ไม่ได้หมายความว่า จะได้คำตอบที่ดีที่สุดนะครับ เพราะว่า เราไม่ได้เอาความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง และเอาโชคมาเข้าข้าง (แต่ถ้าจะทำก็ได้ครับ แต่จะค่อนข้างยุ่งนิดนึง แต่ก็อีกนั่นแหละ เราจะรู้ถึงเหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างไร) เพียงแต่วิธีการนี้นั้น ทำให้คุณมั่นใจได้ว่า ถ้าไม่ได้โชคร้าย และฟ้าไม่ได้ทารุณเกินไป เราได้ตัวเลือกที่ดีระดับหนึ่งครับ
  2. การให้คะแนนและการให้ค่าน้ำหนัก ต้องระวังเรื่อง อคติ หรือ bias ครับ เพราะว่าการให้คะแนนนั้น เป็นการให้คะแนนตามใจชอบและตามใจฉัน ถ้าจะทำให้การให้คะแนนและการให้ค่าน้ำหนักนั้น ปราศจากอคติที่สุด จำเป็นต้องไปศึกษาข้อมูลเยอะๆ และอาจจะจำเป็นต้องให้ผู้รู้ ช่วยเรื่องการให้ค่าน้ำหนักครับ
  3. วิธีนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการตัดสินใจครับ การเลือกตามหมอดูก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจวิธีหนึ่งเหมือนกันครับ  :D
  4. ตัวอย่างนี้นั้น สามารถนำไปประยุกต์กับการตัดสินใจในเรื่องอื่นๆได้ครับ
  5. ขอบพระคุณครับ :D

 

หมายเลขบันทึก: 152480เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2007 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะคุณต้น

  • เด็กๆ ไม่หลงมาอ่านก็ไม่เป็นไรค่ะ  ครูที่อ่านเนี่ยแหละค่ะ  จะเอาไปขยายต่อให้เด็กๆ ได้คิดต่อยอดได้  จะได้เพิ่มแนวทางในการคิดให้กับเค้า
  • ขอบคุณนะคะ  เป็นแนวคิดที่เยี่ยมเลยค่ะ

 

สวัสดีค่ะ คุณต้น

เป็นความรู้ที่มีประโยชน์มากค่ะ

ดิฉันจะนำความรู้นี้ไปเผยแพร่ ให้น้องๆ ได้ศึกษาต่อไปค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะคะ

สวัสดีครับคุณครูLioness_ann

ขอบพระคุณครับที่ได้กรุณาเข้ามาเยี่ยม แล้วก็ขอบพระคุณมากครับที่จะได้กรุณาเอาแนวคิดนี้ไปแพร่ต่อ

แต่จริงๆแล้ว เลือกกระบวนการการตัดสินใจนั้น สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกอย่างครับ แค่ตัดสินใจว่า จะไปกินข้าวเย็นกันที่ไหนระหว่างครอบครัว ก็สามารถใช้กรอบนี้ไปใช้ได้ครับ

ขอบพระคุณครับ

ต้น

สวัสดีครับคุณ pam

ขอบพระคุณครับที่ได้กรุณาเข้ามาเยี่ยม แล้วก็ขอบพระคุณมากครับที่จะได้กรุณาเอาแนวคิดนี้ไปแพร่ต่อ

ผมคงขอย้ำต่อตรงที่ว่า วิธีนี้นั้น เป็นวิธีหนึ่ง และสามารถใช้ได้กับทุกปัญหา ผมได้เคยเขียนถึงกระบวนการตัดสินใจ โดยใช้วิธีอื่นๆ เช่น minimax, maximin, minimum regret ไว้ที่นี่นะครับ

http://gotoknow.org/blog/mathbeauty/91696

เผื่ออยากจะศึกษาถึงวิธีอื่นๆบ้างครับ

ขอบพระคุณครับ

ต้น

ไม่ได้เข้ามานานมากเลยค่ะ หลังจากช่วงแรกๆที่พี่ต้นหายตัวไป ลองเข้ามาหลายครั้งแล้วไม่มี update แวร์เลยหยุดเข้ามาพักใหญ่เลยค่ะ

วิธีที่พี่ต้นเสนอมา น่าสนใจดีค่ะ ทำง่าย-ไม่ยาก  แต่ตอนจะทำทีไร ทำไมนึกไม่ถึงทุกที

ตัวแวร์เอง ได้มาเป็นรุ่นน้องพี่ต้น เพราะไม่ชอบชีวะ ถนัดฟิสิกส์ แล้วก็ดูคะแนนสูงต่ำของปีก่อน เราน่าจะเข้าเรียนที่นี่ได้ เท่านั้นเองค่ะ

ตอนนี้มีน้องๆ ม.ปลายมาถามโน่น ถามนี่ ถามวิธีเลือกคณะ เลือกที่เรียนเยอะค่ะ จะแนะนำให้ลองเข้ามาอ่านนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท