รายงานผลการไปราชการ ณ จังหวัดเชียงใหม่


แข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างประเทศ

รายงานผลการไปราชการ ณ จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ ๒-๔ ธันวาคม ๒๕๕๐

ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 

                                                                 โดย อาจารย์ดุษฎี กองสมบัติ[๑]

                                                                                               

                    ในวันที่ ๒-๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ ข้าพเจ้าได้เดินทางไปราชการ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับนิสิตชาวจีน ๒ คน เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างประเทศ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจัดขึ้นในวันอังคารที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ เวลา ๘.๓๐- ๑๒.๐๐ น. การแข่งขันดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของงานราชภัฏเชียงใหม่ ร้อยดวงใจ เทิดไท้ ๘๐ พรรษา มหาราชัน ที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ คือ               

๑. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพระปรีชาสามารถด้านการใช้ภาษาไทย เป็นเลิศ และได้รับการถวายการยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งภาษาไทย”                

๒. เพื่อร่วมรณรงค์ส่งเสริมให้เยาวชน คนไทย ได้รู้จักใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เนื่องในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ นี้ เป็นปีแห่งภาษาไทย               

๓. เพื่อเป็นการเผยแพร่คุณค่าภาษาไทยไปสู่สังคมโลก เพื่อให้ภาษาไทยเป็นที่นิยมศึกษาของชาวต่างประเทศมากขึ้น                                       

รายละเอียดเกี่ยวกับการแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างประเทศ เฉลิมพระเกียรติ  มีดังต่อไปนี้ (ข้อมูลจาก blog ของ อ.กรเพชร เพชรรุ่ง)

ผู้มีสิทธิ์เข้าแข่งขัน

๑.  เป็นนักศึกษาต่างชาติ ที่กำลังศึกษาภาษาไทยในสถาบันอุดมศึกษา

๒.    จัดแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ            

๒.๑ กลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่เรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอก            

๒.๒ กลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่เรียนวิชาอื่นเป็นวิชาเอก

หัวข้อการพูด

รอบคัดเลือก    หัวข้อเรื่อง    คนไทยกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในความรู้สึกของข้าพเจ้า” เนื้อหาสาระว่าด้วยความรู้สึกที่ได้เห็นความจงรักภักดีและความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคนไทยในด้านต่างๆ การแสดงออกของคนไทยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (ผู้พูดเตรียมตัวฝึกซ้อมการพูดล่วงหน้า)  เวลาที่พูด        -  ๑๐ นาที

รอบชิงชนะเลิศ     คณะกรรมการจัดการแข่งขันจะกำหนดหัวข้อการพูดแบบฉับพลันให้ โดยจะจับสลากเพื่อจัดลำดับการพูดก่อน-หลัง และให้เวลาเตรียมตัวพูด ๑๕ นาที (เตรียมตัวในห้องที่กำหนด โดยไม่อนุญาตให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปแนะนำ)    เวลาที่พูด     ๓ - ๕  นาที  

กติกาและหลักเกณฑ์การให้คะแนน  ใช้ในรอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศ            ๑. เนื้อหาสาระ           ๓๐  คะแนน                   

       ๑.๑ ตรงหัวข้อที่พูด                   

       ๑.๒ เรียงลำดับความดี ไม่สับสน                   

        ๑.๓ มีข้อมูลสนับสนุนการพูดดี มีน้ำหนัก          

๒. การออกเสียง         ๒๐  คะแนน                  

        ๒.๑ ออกเสียงอักขระชัดเจน ถูกต้อง                  

       ๒.๒ น้ำเสียงเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา         

๓. การใช้ภาษาไทย        ๔๐  คะแนน                  

        ๓.๑ การเลือกคำมาใช้ได้เหมาะสม                  

       ๓.๒ ระดับภาษาเหมาะสมกับเนื้อหา          

๔. เวลาที่ใช้พูด               ๑๐  คะแนน                    

       ๔.๑ พูดขาดหรือเกินเวลาที่กำหนดได้ไม่เกิน  ๑๕ นาที

คณะกรรมการตัดสิน

ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ๔ ท่านและภายใน ๑ ท่าน ได้แก่

                ๑. อาจารย์กรเพชร  เพชรรุ่ง    หัวหน้าสาขาวิชาภาษาไทย  ประธานกรรมการตัดสิน

๒. อาจารย์ศิวภรณ์  หอมสุวรรณ       ข้าราชการบำนาญ/ผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาไทยสำหรับ ชาวต่างประเทศ (๑๖ ปี) กรรมการ

๓. ผศ.วาสนา  ทองรองแก้ว      ข้าราชการบำนาญ/ผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ (๑๖ ปี) กรรมการ

๔. ผศ.เรณู  อรรฐาเมศร์   ข้าราชการบำนาญ/ผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ (๑๓ ปี) กรรมการ

๕. ผศ.กรรณิการ์  พันชนะ   อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย /ผู้เชี่ยวชาญการสอนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ (๑๓ ปี) กรรมการ

(หมายเหตุ : กรรมการทั้ง ๕ ท่าน ได้เคยเดินทางไปสอนภาษาไทยแก่นักศึกษาวิชาเอกภาษาไทยระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ที่ มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ประเทศจีน มาแล้วคนละหลายครั้ง)

 กรรมการจับเวลา     อาจารย์ณัฐพร จาดยางโทน     สาขาวิชาภาษาไทย 

พิธีกรดำเนินรายการ   อาจารย์อัมพวรรณ   สุริยะไชย  และ อาจารย์สุทธิมั่น  ปิยะโกศล 

รางวัล   (ทั้งสองกลุ่ม)        

ชนะเลิศ      เงินรางวัล    ,๐๐๐  บาท  พร้อมประกาศนียบัตรและโล่รางวัล       

รองชนะเลิศอันดับ ๑   เงินรางวัล     ,๕๐๐  บาท  พร้อมประกาศนียบัตรและโล่รางวัล          

รองชนะเลิศอันดับ ๒    เงินรางวัล     ,๐๐๐  บาท   พร้อมประกาศนียบัตรและโล่รางวัล        

ชมเชย ๑ รางวัล         ได้รับประกาศนียบัตร                    

              ในการนี้ ข้าพเจ้าได้ส่งนิสิตต่างชาติเข้าร่วมการแข่งขันทั้ง ๒ กลุ่ม ได้แก่                   

กลุ่มที่ ๑ นางสาวเซินเจียว หวง (ธารทวี) นิสิตชั้นปีที่ ๑ วิชาเอกภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม               

กลุ่มที่ ๒ นายหย่งเจีย ม่าย (วิศรุต) นิสิตชั้นปีที่ ๓ วิชาเอกธุรกิจระหว่างประเทศ คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม          

นายหย่งเจีย ม่าย (วิศรุต หรือดัง) และนางสาวเซินเจียว หวง (ธารทวี หรือไข่เจียว)           

              เป็นที่น่ายินดีที่นิสิตทั้งสองคนสามารถผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้ และต่างก็คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๑ มาครอง สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เป็นอย่างดี   

               อาจารย์กรเพชร เพชรรุ่ง หัวหน้าสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ ได้เขียนถึงการแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างประเทศ เฉลิมพระเกียรติ ไว้ใน webblog ของท่าน (http://gotoknow.org/blog/phetroong/151503) ข้าพเจ้าขอคัดข้อเขียนบางส่วนที่ท่านได้กล่าวไว้ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ 

                กิจกรรมการแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างประเทศในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศก็ว่าได้ และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง                                

              เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ นักศึกษาชาวต่างประเทศที่มาศึกษาภาษาไทยในมหาวิทยาลัยของไทยได้มาร่วมการแข่งขันพูดสุนทรพจน์ภาษาไทย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา  เนื่องในงานราชภัฏเชียงใหม่ ร้อยดวงใจ เทิดไท้ ๘๐ พรรษามหาราชัน  และเป็นที่น่าแปลกใจ น่าชื่นชมยินดีอย่างยิ่งที่นักศึกษาต่างประเทศเหล่านี้ แสดงออกซึ่งความสามารถในการใช้ถ้อยคำภาษาดีมากอย่างน่าทึ่ง นั่นเป็นเพราะส่วนหนึ่งมาจากการฝึกฝนการใช้ภาษาไทยภายใต้การอบรมสั่งสอนของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นๆ แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกนึกคิดที่มาจากจิตสำนึกของเขาเอง ที่ได้มาพบเห็นความรักระหว่าง "ในหลวง" กับ "ประชาชนคนไทย"                               

                การแข่งขันนั้นแบ่งออกเป็นสองรอบ รอบแรกเป็นการพูดเตรียมตัวมาก่อน  ในหัวข้อ "คนไทยกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในความรู้สึกของข้าพเจ้า"  ใช้เวลาพูดคนละ ๗-๑๐ นาที นักศึกษาแต่ละกลุ่มต่างเตรียมตัวพูดมาดีมาก ได้แสดงความสามารถอย่างใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ที่นักศึกษาต่างประเทศเหล่านี้ สามารถพูดภาษาไทยด้วยถ้อยคำที่ประณีต และสะท้อนความรู้สึกได้ดี สามารถเลือกคำราชาศัพท์ได้ดี แม้สำเนียงพูดอาจจะไม่เทียบเท่าคนไทยแต่ก็ใกล้เคียงมาก โดยเฉพาะขอชื่นชม Ms. HUANG SHEN JIAO (ธารทวี) จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นั้น พูดชัดมากจนแทบแยกไม่ออกว่าเป็นคนไทยหรือคนจีน

                สำหรับเนื้อหาที่นักศึกษาต่างประเทศนำมาพูดนั้น จะเน้นไปในเรื่องพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระทำตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ โครงการพระราชดำริกว่าสองพันโครงการที่ทรงมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนชาวไทย พระองค์พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข จึงทำให้คนไทยรู้สึกจงรักภักดี นักศึกษาต่างประเทศใช้คำว่า “รักในหลวงสุดจิตสุดใจ” ซึ่งทำให้นักศึกษาต่างประเทศปลื้มใจและรู้สึกไม่ต่างไปจากคนไทย เพราะได้เห็นความรักความผูกพันระหว่างในหลวงกับประชาชนทั้งเห็นกับตัวเองและผ่านทางสื่อ เช่น การสวมใส่เสื้อสีเหลือง กิจกรรมต่างๆ ที่ประชาชนจัดทำขึ้นถวายในหลวง ทำให้เขาได้ร่วมกิจกรรมและเป็นส่วนหนึ่งของการถวายความจงรักภักดีแด่ในหลวงไปด้วย 

                      นักศึกษาต่างประเทศได้แสดงความรู้สึกขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่ได้จัดกิจกรรมการแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างประเทศในครั้งนี้  เพราะพวกเขาได้มีโอกาสแสดงความรู้สึกและเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเพื่อถวายแด่ในหลวง แม้พวกเขาจะไม่มีกษัตริย์มานานแล้ว แต่ก็ได้รู้สึกถึงความสำคัญของกษัตริย์จากคนไทย 

 

                    กิจกรรมการแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยสำหรับนักศึกษาต่างประเทศครั้งนี้ ดำเนินไปได้ด้วยดีและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ดังที่อาจารย์กรเพชรกล่าวไว้ว่า การแข่งขันนี้เป็นเวทีหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นและยกระดับการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้แก่ชาวต่างประเทศให้สูงขึ้น

          

……………………………………………………..


นางสาวเซินเจียว หวง (ชื่อไทยคือ ธารทวี ชื่อเล่น ไข่เจียว) และเราเอง  นายหย่งเจีย ม่าย (วิศรุต) และเรา
เราและนิสิตถ่ายภาพร่วมกับ อ.กรเพชร


ความเห็น (4)
  • อาจารย์ครับ
  • อาจารย์ไป load รูปที่ไฟล์อัลบั้มก่อน
  • แล้วเลือกที่กดที่ลิ้งรูปภาพ
  •  Copy มาลงในบันทึกครับ
  • อาจารย์หายไปนานจังเลย

เย้ๆๆๆๆ ในที่สุดก็ทำสำเร็จแล้วค่ะอาจารย์ขจิต ขอบพระคุณมาก ๆ นะคะ สำหรับคำแนะนำ งมอยู่นานโขเลยค่ะกว่าจะทำเป็นกับชาวบ้านเค้า...

ที่หนูหายไปนานเพราะงานค่อนข้างรัดตัวค่ะ แล้วก็ยอมรับว่าตอนแรก ๆ เขียนบล็อคไม่ค่อยเป็นด้วยน่ะค่ะ ก็เลยไม่ค่อยได้เข้ามาบันทึกอะไร ได้แต่เข้ามาดูบล็อคของคนอื่น ๆ เค้า

หลังจากนี้ไปคงได้เข้ามาบ่อยขึ้นค่ะ (เพราะเริ่มทำเป็นบ้างแล้ว อิอิ) แล้วพบกันค่ะอาจารย์....

  • มาเขียนบ่อยๆๆนะครับ
  • ช่วงงานรับปริญญาจะไปทักทาย
  • ลองแต่งบันทึกดีไหมครับ
  • เอาการตกแต่งบันทึกมาฝาก
  • อยากบอกว่ารู้จักคนใส่แว่นข้างบน
  • ฮ่าๆๆๆ
  • จะไปเยี่ยมอาจารย์เป็น ดร. ที่นามสกุล สำแดงเดช ช่วงรับปริญญา พ่อครูบาท่านได้รางวัลพระธาตุนาดูนด้วย
  • อิอิอิ
  • ลองไปแต่งบันทึกที่นี้นะครับ
  • เอา theme มาฝาก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท