สถาบันทดสอบผลิตภัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่น


สถาบันทดสอบผลิตภัณฑ์

สถาบันทดสอบผลิตภัณฑ์ Sagamihara (Institute of Product Testing and Education: IPTE)

ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปยังสถาบันทดสอบผลิตภัณฑ์ ณ เมืองซากามิฮาร่า ประเทศญี่ปุ่น ด้วยทุนรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น มีข้อสังเกต ดังนี้

สภาพทั่วไป

IPTE มีพื้นที่ประมาณ 44,757 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคาร 6 อาคาร ได้แก่

1.อาคารทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อการทดสอบสภาพแวดล้อมและสภาพเครื่องใช้ภายในบ้านต่าง ๆ

2.อาคารทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อการทดสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ และทดสอบการป้องกันไฟไหม้

3.อาคารทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อการทดสอบรถยนต์ รวมทั้งลานทดสอบการวิ่งของรถยนต์เพื่อการทดสอบระบบเบรค เป็นต้น

4.อาคารทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อการทดสอบและวิเคราะห์อุบัติเหตุต่าง ๆ ภายในบ้าน

5.อาคารฝึกอบรมและห้องการฝึกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ6.อาคารที่พักสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรม

การทดสอบผลิตภัณฑ์

การทดสอบผลิตภัณฑ์มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ

1.การทดสอบเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยมีที่มาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้า เมื่อทราบผลการทดสอบแล้วจะแจ้งให้ผู้ร้องทราบโดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการศึกษาวิเคราะห์และประเมินสาเหตุ (Committee for Study, Analysis, and Assessment of Causes)

2.การทดสอบเพื่อเปรียบเทียบสินค้าเพื่อเป็นข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยเน้นที่ความปลอดภัย อรรถประโยชน์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำสินค้าประเภทเดียวกันในแต่ละยี่ห้อจากผู้ขายไม่ใช่จากผู้ผลิตมาทำการทดสอบเปรียบเทียบ  ผลการทดสอบจะเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาความเหมาะสมก่อนที่จะนำเสนอผลการทดสอบนั้นต่อสื่อมวลชนหรือก่อนที่จะดำเนินการแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือสมาคมอุตสาหกรรมนำข้อมูลไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขสินค้าต่อไป

การฝึกอบรม

นอกจากนี้  IPTE ยังจัดให้มีการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ให้คำปรึกษาแก่ศูนย์ผู้บริโภคต่าง ๆ  พนักงานผู้ให้คำปรึกษาในฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ของบริษัทและสมาคมแม่บ้านต่าง ๆ โดยมีระยะเวลาการอบรมตั้งแต่ 1 วัน ถึง 3 สัปดาห์  ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายหน่วยงานของผู้เข้ารับการอบรมหรือผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้รับผิดชอบเอง

ข้อสังเกตของผู้เขียน

1.แม้ว่าในประเทศไทยจะมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคหลายหน่วยงานก็ตาม แต่การทดสอบผลิตภัณฑ์เมื่อมีผู้บริโภคร้องขอหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เป็นผู้ตรวจสอบเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในเชิงการเปรียบเทียบยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม

2.การให้ความร่วมมือจากส่วนราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษาที่มีห้องปฏิบัติการสามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ต่อ สคบ. ในขณะนี้ ยังไม่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะมีคำร้องทุกข์เกี่ยวข้องกับความบกพร่องของสินค้า เช่น รถยนต์ เป็นต้น ปรากฏต่อหน่วยงานของรัฐก็ตาม 

3.การทดสอบผลิตภัณฑ์จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์  ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคโดยส่วนรวม (รวมทั้งผู้บริโภคที่ไม่ได้ร้องทุกข์เข้ามาที่หน่วยงานของรัฐ) ได้รับทราบถึงข้อบกพร่องของสินค้าที่ทำการทดสอบ มิใช่เพียงแต่เฉพาะผู้บริโภคที่ร้องทุกข์เข้ามาและได้รับการไกล่เกลี่ยเท่านั้น  ทั้งนี้ เพื่อสอดคล้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคในการรับทราบข้อมูลข่าวสารโดยเท่าเทียมกัน 

หมายเลขบันทึก: 151851เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท