สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๓๔. ชายคาภาษาไทย (๑๓)



งว / มล / ฟล / หล / อย /อญ


         ในปัจจุบันนี้ คนไทยส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการออกเสียงควบกล้ำอยู่ไม่น้อย อาจเป็นด้วยภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด ออกเสียงมาคำหนึ่งก็ได้ความ ความสามารถของคนไทยอยู่ที่การนำคำโดดมาเรียงกันเพื่อสร้างคำใหม่ขึ้นโดยที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำโดดเดิมทั้งสอง เช่น ไห้ ก็กลายเป็น ร่ำไห้ ร้องไห้ โหยไห้ คนส่วนใหญ่เลยแทบจะไม่ทราบว่า ในสมัยโบราณคนที่พูดภาษาตระกูลไทก็มีคำควบกล้ำมากเหมือนกัน เช่น กว (กว้าง) กล (กลวง) ขว (ขวนขวาย, ขวาง) คว (ความ, ควาย)  ไม่ใช่ว่ามารับจากเขมรมอญเสียทั้งหมด ตัวอย่างเช่น
1. เสียงกล้ำ งฺว ในเอกสารโบราณของไทยเช่น ในวรรณกรรม ยวนพ่าย มีความว่า
             ๏ เอกาทศเทพแสร้ง เอาองค์ มาฤๅ
                 เปนพระศรีสรรเพชญ ที่อ้าง
                 พระเสด็จดำรงรักษ   ล้ยงโลก ไส้แฮ
                 ทุกเทพทุกท้างไหงว้  ช่วยไชย 
         เสียง และ ที่ควบกล้ำกันนี้แทนเสียงกันได้ ในภายหลังไม่สะดวกออกเสียงกล้ำกัน จำใจเลือกตัวหนึ่ง ปรากฏว่า เสียง ว ออกง่ายกว่าจึงกลายเป็น ไหว้ ไป ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร บอกว่า คนทางใต้เคยยังออกเสียงควบกล้ำนี้ได้อยู่บ้าง
2. มฺล คำควบกล้ำนี้เราน่าจะรู้ดีที่สุด เพราะคุ้นอยู่ในวรรณคดีโบราณในรูปคำว่า “มล้าง” และส่วนมากท่องจำโคลงของศรีปราชญ์ได้

         ตอนที่ว่า “เราบ่ผิดท่านมล้าง    ดาบนี้คืนสนอง” คนทางใต้ยังออกเสียงได้อยุ่ แต่คนภาคเหนือเลือกออกเป็นเสียง ม คนภาคกลางเลือกออกเป็นเสียง ล เช่น คำเดิมของไทยว่า ฟ้าแมฺลบ คนเหนือจะว่า ฟ้าแมบ ส่วนคนภาคกลางว่า ฟ้าแลบ มล้าง ซึ่งแปลว่า ทำลาย เด็ดชีวิต คนเหนือใช้ ม้าง คนสยามใช้ ล้าง เวลาเราพูดว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” คำว่า ล้าง ไม่ได้แปลว่า เอาน้ำล้างให้สะอาด แต่ซ้ำความกับ “ฆ่า” นั่นเอง คำอื่นๆ ยังมีอีก เช่น มลาก มลังเมลือง เราคงได้ยินสำนวนว่า ผู้ลากมากมี คำ “มาก” ซ้ำความหมายกับคำว่า “ลาก” ใน กฎมณเทียรบาล กล่าวว่า ใครไปรบศึกได้ชัยชนะมาอาจได้รับพระราชทาน ทองลาก ซึ่งก็หมายถึงทองเนื้อดี ที่บอกว่า ลาก แปลว่า ดี ได้ ผู้เขียนเอามาจากความในจารึกสุโขทัยที่ว่า “เป็นมลากเป็นดี” เพราะฉะนั้น มลาก มาก ลาก จึงแปลว่า ดี ได้ด้วย
3. ฟฺล เสียงควบกล้ำนี้ ดร. ประเสริฐ ณ นครเป็นผู้สืบพบ เดิมก็ไม่มีใครนึกถึงทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัว  เสียงกล้ำแยกเป็น ฟ เสียงหนึ่ง ล เสียงหนึ่ง แล้วแต่ไทยแต่ละถิ่นจะเลือกใคร ผู้เขียนได้ความรุ้เรื่องนี้เมื่อแปลคำใน มหาชาติคำหลวง ไม่ได้ เมื่อวรรณกรรมดังกล่าว

         พูดถึงพระอินทร์ กล่าวถึงพระอินทร์ว่า “เจ้าฟ้าฟอกไพชยนต์” ดร. ประเสริฐ ณ นคร ได้อธิบายว่า ตรงกับคำว่า ลอก ในภาษาอาหม แปลว่า สร้าง หรือ ทำ ตัวอย่างของคำอื่นยังมีอีก เช่น คำเดิมว่า ฟฺลีก มาแยกเป็น ฟีก กับ หลีก คำปัจจุบันสองคำที่ใช้อยู่ในภาษาไทย คือ คำว่า เฟือน (สติฟั่นเฟือน) กับคำว่า เลือน (สติเลอะเลือน) มาจากคำแฝดติดกันแต่เดิม คือ  เฟฺลือ ผู้เขียนขอยกอีกสักคำหนึ่ง คือ เฟลือ ที่แยกเป็นเสียง เฟือ กับ เหลือ แล้วมาเรียงใหม่เป็น เหลือเฟือ
4. อฺย คำกล้ำเสียงคำนี้เรารู้จักดีที่สุด แต่ตกมาถึงปัจจุบันในรูปเขียน ไม่ได้ออกเสียงควบกล้ำอย่างโบราณแล้ว คนไทยสมัยโบราณมีเสียง ย (y) เสียง ญ (ñ ขึ้นจมูก) และ อฺย (ë-y) แล้วมีรูปเขียน เช่น อฺยุด อฺยาก อฺย้าว[เรือน] อฺย่า ภาษาไทยสมัยมาปรับให้ อฺย ออกเสียงเท่ากับ ย จัตวา เสมือนหนึ่งเขียนด้วย ห นำทั้งหมด อย้าว เขียนเป็น เหย้า เป็นต้น
         มีรูปเขียนประหลาดที่ผู้เขียนพบในที่หนึ่งคือ อฺญ ในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ปรากฏในสร้อยราชทินนามของข้าราชการสูงสุดของพระราชอาณาจักรคือ 
          “เจ้าพญามหาอุปราชชาติวรวงษองคภักดีบดินทรสุรินทรเดโชไชย มหัยสุริยภักดีแสนอญาธิราชถือศักดิ นา ๑๐๐๐๐“
         สร้อยนามที่เน้นนั้น คือ “แสนยาธิราช” มาจากคำสันสกฤตว่า ไสนฺย (ไทยใช้เพี้ยนไปเป็น “แสนยา”) แปลว่า “กองทัพ” หรือ “ทหารถืออาวุธ กับคำว่า อธิราช แปลว่า “พระราชาผู้ใหญ่ยิ่ง” แปลรวมว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่งแห่งกองทัพ” หรือ “จอมทัพ” ผู้เขียนสันนิษฐานว่า เนื่องจากหน่วยเสียงย่อยนี้ไม่ได้ออกเสียงควบ อ๎ย แบบ อฺย ที่เป็นเสียงกล้ำเดิมของไทยจึงเขียนรูปแตกต่างไป
5. หฺลว  รูปเขียนของเสียงควบกล้ำนี้มีอยู่ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ในคำว่า หลวัก ซึ่งแปลว่า “ฉลาด, ปัญญาแหลมคม” ในสมัยหลังทิ้งเสียงควบและเพี้ยนเป็น หลัก เช่นในคำว่า หลักแหลม
 น่าเสียดายที่เสียงควบกล้ำเหล่านี้หายไปจากภาษาไทย ต่อไปเสียงควบกล้ำทีเหลืออยู่เพียง ร  ล และ ว ก็อาจสูญไปด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 151678เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2007 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ความรู้มากครับ  ขอบคุณครับอาจารย์

 คำว่าหลักแหลม  หรือ หลวัก  ผมว่าทางเหนือยังพูดกันอยู่ครับ  เราออกเสียงว่า  "ลวั้ก"  แหมต้องพูดให้ฟังครับ  เขียนเอาอาจไม่ตรงสำเนียงแท้ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท