รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนของสถาบันป๋วยฯ


สวัสดิการนั้นไม่เน้นตัว “กองทุน” แต่ให้ความสำคัญกับการ “ช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามแนวทางของอาจารย์ป๋วย”

วันที่ 4  ธค.   พวกเราได้เข้าร่วมการประชุมกรรมการสถาบันป๋วย   เพื่อเสนอโครงการรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน  

  

ทุกปีสถาบันป๋วยจะมอบรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นให้กับหน่วยธุรกิจ SMEs    อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม ท่านจึงมีแนวคิดการมอบรางวัลสวัสดิการชุมชนให้แก่องค์กรชุมชนบ้าง     เพราะเรื่องสวัสดิการนั้นสอดคล้องกับแนวคิดของอาจารย์ป๋วย   ดังเห็นได้จากบทความเรื่อง คุณภาพชีวิตจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ที่อาจารย์ป๋วยเขียนขึ้นเมื่อประมาณเกือบ 30 ปีที่แล้ว และตอนนี้สังคมไทยก็เริ่มหันกลับมามองตรงนี้กันจริงๆจังๆ

  การนำเสนอโครงการครั้งนี้ถือว่าเป็นข้อเสนอเบื้องต้น  อาจารย์ไพบูลย์ท่านติดภารกิจเพราะ ครม.ต้องเข้าเฝ้าถวายพระพร  จึงมีคุณสิน เป็นตัวแทนนำเสนอโครงการซึ่งพวกเราได้เคยคุยกันที่ พอช.    

ที่ประชุมกรรมการสถาบันป๋วย ซึ่งมี มรว. ปรีดิยาธร เทวกุลเป็นประธาน เห็นด้วยในหลักการ  แต่เห็นว่า งานนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก  จึงต้องการให้ทุกอย่างชัดเจน รัดกุม   ต้องเตรียมการอย่างดี   กำหนดการเป้าหมายการทำงานและการมอบรางวัลครั้งแรกจึงวางไว้ที่  9 มีนาคม 2552    นั่นคือ พวกเรามีเวลาเตรียมการประมาณหนึ่งปีสามเดือน  

  

สำหรับรางวัลนี้ไม่ต้องการให้มีการแข่งขัน แต่เป็นการให้กำลังใจและหนุนเสริมการพัฒนาขบวนสวัสดิการชุมชน จึงควรมีรางวัลหลายประเภท  

  

สวัสดิการนั้นไม่เน้นตัว  กองทุน  แต่ให้ความสำคัญกับการ ช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามแนวทางของอาจารย์ป๋วย    

  

ท่านประธานฝากให้พวกเราไปช่วยกันตีโจทย์ สวัสดิการตามแนวทางของอาจารย์ป๋วย  ให้แตก ก่อนกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน  ประเมินได้จริง  และต้องไปคิดว่า กรรมการควรมีองค์ประกอบอย่างไร การพิจารณาจึงจะเป็นธรรม ไม่ลำเอียง  ในข้อเสนอโครงการนั้นจะมีกรรมการที่เป็น ครูหรือปราชญ์ชาวบ้าน  ด้วย  ที่ประชุมเสนอให้มีกรรมการจากหน่วยงานภาครัฐเพิ่มเติม

  

โดยส่วนตัว  เราคิดว่างานนี้มีความสำคัญ

  

นอกจากการใช้รางวัลเป็นเครื่องมือสนับสนุนทิศทางการพัฒนาขบวนสวัสดิการชุมชนแล้ว  การดึงให้ผู้กำหนดนโยบายจากหลายหน่วยงานลงมาเป็นกรรมการ  ได้พบกับปราชญ์ชาวบ้าน และต้องเยี่ยมพื้นที่    จะทำให้ได้เห็นว่า ชาวบ้านทำอะไรกันอยู่  ถือว่าเป็นการเรียนรู้จากชาวบ้านหรือเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน   ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อสังคม

  

พวกเราต้องทำการบ้านส่งอีกครั้งในเดือนมกราคม   ทีมงานทำการบ้าน..ในเบื้องต้นคงมาจาก   พม.  มูลนิธิบูรณะชนบท  พอช.  ม.วลัยลักษณ์ และ ม. ธรรมศาสตร์

 
หมายเลขบันทึก: 151621เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2007 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดิการนั้นไม่เน้นตัว “กองทุน” แต่ให้ความสำคัญกับการ “ช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามแนวทางของอาจารย์ป๋วย”

น่าคิดน่าสนใจมากเลยค่ะ แต่ถ้าไม่เน้นกองทุนจะทำอย่างไรได้บ้างคะ เช่นถ้าตอนนี้สนใจสวัสดิการด้านสุขภาพของคนไร้สัญชาติ แล้วไม่เน้นกองทุน จะเริ่มตรงไหนดีคะ

 ปล. อยากอ่านบทความเรื่อง “คุณภาพชีวิตจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ อ.ป๋วย ค่ะ หาได้จากไหนคะ

 

สวัสดิการนั้นไม่เน้นตัว “กองทุน” แต่ให้ความสำคัญกับการ “ช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามแนวทางของอาจารย์ป๋วย”

น่าคิดน่าสนใจมากเลยค่ะ แต่ถ้าไม่เน้นกองทุนจะทำอย่างไรได้บ้างคะ เช่นถ้าตอนนี้สนใจสวัสดิการด้านสุขภาพของคนไร้สัญชาติ แล้วไม่เน้นกองทุน จะเริ่มตรงไหนดีคะ

 ปล. อยากอ่านบทความเรื่อง “คุณภาพชีวิตจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ อ.ป๋วย ค่ะ หาได้จากไหนคะ 

ขอบคุณมากค่ะ

ถ้าสวัสดิการเป็นการให้บริการพื้นฐาน และการช่วยเหลือเมื่อลำบาก

สวัสดิการด้านสุขภาพ คงต้องมองตั้งแต่การป้องกันไปจนถึงการรักษา

พื้นฐานคือการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง   มีอาหารที่มีประโยชน์  มีเสื้อผ้าอบอุ่น  มีที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ  มียารักษาโรคเมื่อจำเป็น  รวมถึงไม่มีสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เช่น  ยาสารเคมี  น้ำสะอาดไม่ปนเปื้อน

เหล่านี้  คงช่วยกันดูก่อนว่า ตรงไหนเป็นปัญหา จะช่วยกันอย่างไร  จะแก้กันอย่างไร    ตรงไหนทำกันเองได้  ตรงไหนที่อาจต้องการการหนุนเสริมจากภายนอก  

หาเมล็ดพันธุ์ปลูกพืชผัก สมุนไพร  ปลูกกันบ้านละอย่างสองอย่าง  แล้วค่อยเอาผลผลิตมาแลกกันทีหลังก็ได้   ตรงนี้ต้องการความรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง 

พืชที่เป็นยามีอะไรบ้าง  ภูมิปัญญาชาวบ้านและวัฒนธรรมเป็นอย่างไร  ต่อยอดอย่างไร

ถ้าจะลดการใช้สารเคมีเกษตร  จะมีวิธีดูแลพืชผลอย่างไรแทนการใช้ยาเคมี  ...

การดูแลคนเจ็บไข้ในพื้นที่ทำอย่างไร  มีครอบครัวมีเพื่อนบ้านช่วยดูแลไหม   หมอผี หมอยา หมอสมัยใหม่  จะผสมผสานอย่างไร  ถ้าไม่มีหมอสมัยใหม่  จะดึงส่วนที่ดีๆของหมอพื้นบ้านออกมาเป็นประโยชน์ได้อย่างไร 

การมี "กองทุน" เป็นส่วนประกอบค่ะ   แนวคิดการพึ่งตนเอง ช่วยเหลือดูแลกัน คงมาก่อน  การมีกองทุนเริ่มต้นน่าจะเป็นการฝึกการออม  ออมทรัพย์ออมบุญ  เอาไว้ใช้ยามจำเป็น

คิดว่า แค่เรื่อง "สุขภาพ"   ก็ต้องบูรณาการหลายศาสตร์ หลายเรื่องแล้ว   พี่พูดเหมือนง่าย  แต่ปฎิบัติจริงคงไม่ง่ายและเป็นงานใหญ่   

เริ่มจากเรื่องสุขภาพก็ดีนะคะ    เป็นกำลังใจค่ะ

คงต้องดูก่อนว่า ปัญหาสุขภาพ อยู่ตรงไหน เป็นโรคอะไรกันมาก  เป็นเรื่องของพฤติกรรมด้วยหรือเปล่า  จะได้หาทางป้องกันได้ตรงจุด

ยากับหมอนั้นมาตรงปลายทางค่ะ   ยิ่งเข้าถึงยาเข้าถึงหมอยากเท่าไร   การป้องกันโรคยิ่งสำคัญมากเท่านั้น  ถ้าถึงขั้นหมอกับยาแล้ว  "กองทุน" จะเป็นตัวช่วยได้ เช่น ในเรื่องค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล   

กองทุนยา ที่เคยล้มหายไป อาจรื้อฟื้นปรับปรุงวิธีคิดและวิธีการเสียใหม่ก็คงช่วยได้ค่ะ

ทราบว่าการเดินทางออกนอกพื้นที่ก็ยาก   หน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าถึงหมู่บ้านไหมคะ

ทั้งนี้ทั้งนั้น คิดว่า "วิธีคิดใหม่"  มาก่อน "วีธีการ" ค่ะ

ที่จริง  วัดต่างๆในกรุงเทพมี "ยาสามัญประจำบ้าน" อยู่เยอะพอสมควร   ลูกศิษย์เคยขอไปออกค่าย  ถ้าสนใจเรื่องเสื้อผ้า เรื่องยา เรื่องหนังสือ  ทางกรุงเทพฯน่าจะพอช่วยได้

ส่วนบทความอาจารย์ป๋วย ไม่ทราบว่า internet มีหรือไม่  เพราะสั้นๆ   ถ้ายังไง จะหาส่งไปให้ได้ค่ะ

 

ขอบคุณ อ.ปัท ทุกๆ เรื่องนะคะ

ทั้งเรื่องบทความ อ.ป๋วย

และเรื่องคำแนะนำที่ อ.ตอบมาให้นี้ ช่วยเปิดมุมมองให้กว้างมากขึ้นเลยทีเดียวค่ะ เพราะล่าสุด งมๆ อยู่ว่าจะเริ่มอย่างไร แค่คิดว่าจะไปคุยเรื่องกองทุนกับชาวบ้าน ก็เหมือนเอาเรื่องเดิมไปคุย (เพราะเคยมีอยู่ก่อน เพียงแต่การจัดการยังไม่ค่อยเป็นผลนัก)

อย่างอ.ว่าก็น่าสนใจมากค่ะ แล้วจะทำการบ้านต่อให้ อ.นะคะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

ประเด็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เข้าใจว่ายังไม่เคยมี เพราะเคยได้ยินเสียงข้อเสนอเล็กๆ เรื่องนี้ จากหน่วยงานเอกชนในพื้นที่นี้ที่ทำงานด้านสุขภาพร่วมกับโรงพยาบาล ว่าน่าจะมี แต่คงยังไม่เคยมีการคุยกันเป็นจริงเป็นจัง

น่าสนใจนะคะ เพราะเห็นนายอำเภอบางคน ก็เคยมีนโยบายอำเภอเคลื่อนที่ ขึ้นไปอำนวยความสะดวกสำหรับงานทะเบียนบางอย่างในหมู่บ้านห่างไกล ได้เหมือนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท