เมื่อกฎหมายไม่อาจปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์


คงต้องพึ่งตัวเองก่อน โดยพาครอบครัวหนีไปอยู่ในที่ปลอดภัยสักพักจริงหรือนี่ ???

วันนี้ มีแม่ลูกคู่หนึ่งที่พวกเราคุ้นเคยดีลงมาปรึกษาเพื่อนฉันที่สำนักงาน ภายหลังจากที่ลูกชายได้พาแม่ไปเย็บแผลโรงพยาบาล และขอใบรับรองแพทย์มาแล้ว

ลูกชายซึ่งพูดภาษาไทยได้แตกฉาน เริ่มเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า เช้านี้พ่อของเขาได้เอามีดฟันหัวแม่ของเขา โชคดีที่ไม่เป็นอะไรหนักมาก เพราะแม่ใส่หมวกกันหนาวไว้ เลยได้แค่เย็บ ๒ เข็ม และตาเขียวบวม หมอบอกว่าที่ไหล่ก็บวมด้วย เพราะโดนด้ามมีด

ครั้งนี้ยังโชคดี ไม่หนักเท่าครั้งก่อนที่แม่โดนจอบฟาดหัว !!!

เป็นอย่างนี้บ่อยครั้งเมื่อพ่อเมา และอาละวาดเอากับแม่ จนครั้งสุดท้ายแม่กลัวมาก และทนไม่ไหว ต้องออกจากบ้านและมาอาศัยกับลูกชายที่อีกหมู่บ้านหนึ่ง แต่เช้านี้พ่อก็ตามมาก่อเรื่องอีกจนได้

แถมเมื่อลูกชายขู่ให้กลับบ้าน ไม่งั้นจะแจ้งตำรวจมาจับ พ่อยังท้าว่า "ดูซิใครจะตายก่อนกัน" คงเหมือนครั้งก่อนที่พ่อโมโหลูกชายแล้วดักซุ่มจะยิง โชคดีอีกเช่นกัน ที่ครั้งก่อนลูกรู้ตัวก่อน เลยไม่ได้กลับบ้านวันนั้น...

เมื่อไม่รู้จะป้องกันแม่และตัวเองซึ่งมีภรรยาและลูกเล็กๆ อีก ๓ คน ได้อย่างไร จึงตัดสินใจจะให้กฎหมายเข้าช่วย เพื่ออย่างน้อย ถ้าพ่อซึ่งไม่มีใครในครอบครัวและในหมู่บ้านเอาอยู่แล้ว ถูกจับไปอยู่ในคุกสักระยะหนึ่ง ก็คงจะทำให้อีกหลายชีวิตปลอดภัย และอาจมีความหวังให้พ่อได้ห่างเหล้าได้บ้าง แม้ใจหนึ่งก็อดจะเป็นห่วงพ่อไม่ได้

แต่เมื่อไปแจ้งความ ตำรวจกลับเห็นว่าเป็นเพียงความผิดลหุโทษ เพียงแค่ปรับ ซึ่งลูกชายและแม่จึงยังไม่ดำเนินการใดๆ เพราะกลัวว่านอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาแล้ว จะยิ่งทำให้พ่อโกรธ และอาจทำการรุนแรงได้อีก

ลูกชายจึงได้พาแม่กลับไปด้วยความหวาดวิตกว่า ถ้าครั้งนี้ไม่โชคดีเหมือนครั้งก่อนๆ ถ้าพ่อเกิดทำร้ายแม่ หรือตัวเขาได้สำเร็จอย่างที่ได้ขู่ไว้ จะทำอย่างไร?  จะเป็นอย่างไรต่อสำหรับเมียและลูกๆ เขาที่บ้าน ??

คิดไม่ออกจริงๆ ว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามไกล่เกลี่ย เพราะเห็นเป็นเรื่องในครอบครัว ผัวเมียตีกัน เมื่อกฎหมายไม่อาจคุ้มครองชีวิตของแม่และลูกชายที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้เช่นนี้  จะไปพึ่งใครดี ??

แม้ พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ เอง ก็ยังมีแนวทางให้พยายามยอมความกัน แม้ในชั้นศาล (มาตรา ๑๕)

แล้วสมมติเป็นอย่างนั้นจริง ความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องภายหลังจากนี้ ใครจะรับผิดชอบ ??

หรือครั้งนี้ คงต้องพึ่งตัวเองก่อน โดยพาครอบครัวหนีไปอยู่ในที่ปลอดภัยสักพักจริงหรือนี่ ???

 

หมายเลขบันทึก: 151140เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2007 18:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อันนี้ เป็นตัวอย่างของกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์

ก็อย่างที่บอกว่า กฎหมายไม่มีชีวิต มันจึงไม่ศักดิ์สิทธิ์

แต่คนรักษากฎหมายซิที่ศักดิ์สิทธิ์

พวกกฎหมายคุ้มครองต่างๆ พวกนี้ จะมีกลไกในการจัดการสังคมหลายรูปแบบ ถ้าคนในทัศนคติเก่ามาใช้กฎหมายใหม่ ก็ไม่ได้อะไรหรอก

ยกอีกตัวอย่าง ก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์นั้นแสนจะอริยะ แต่ถ้าเอาเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีดมาใช้คอม คอมก็กลายเป็นเครื่องพิมพ์ดีด

ถ้าเป็นคอมออนไลน์นะ แทนที่จะใช้แสวงความรู้ ถ้าให้คนที่ขี้เกียจจะรู้มาใช้ ก็เอาไปดูรูปลามกเท่านั้นเอง

การสอนกฎหมาย จึงมิใช่แต่สอนตัวหนังสือ กฎหมายเป็นปรัชญา กฎหมายเป็นวิชาชีพ ถ้าวันนี้ การสอนกฎหมาย ยังเอาคนชอบท่องจำมาสอนนะ กฎหมายก็ใช้จัดการสังคมได้เพียงนี้

คนในสังคมไทยเข้าใจบทบาทของกฎหมายและนักกฎหมายแค่ไหนล่ะ

ข้าพเจ้าก็กลัวจะเป็น "ใบ้" ใน สนช.

สงสัยว่า สนช.หลายคน เขาไม่ชอบให้เราพูด

เราก็เลยคงว่า แล้วเขาจะแต่งตั้งเราไปใน กมธ. ทำไมกัน

ช่วยเดาหน่อย ? บางที เราก็โง่นะ

เป็นอย่างนี้บ่อยครั้งเมื่อพ่อเมา

ถือกฎหมายไม่ได้........ปลายเหตุ
มันเกิดมิใช่เจตน์..........หรอกเจ้า
เกิดเพราะจิตเป็นเปรต---เหตุดื่ม สุรานา
ตัดเหตุคือตัดเหล้า........ค่ำเช้า อดกิน

กินดื่มจนติดแล้ว..........อดยาก
อยากดื่มตัดที่อยาก......เร่งรื้อ
ไม่มีนี่เด็ดมาก.............อยากล่ม โรงงาน
รัฐผลิตประชาซื้อ.........รัฐดื้อ ประชาหลง

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ลองคิดเล่นๆนะคะ...

หลักการพื้นฐาน คือ ศีลธรรม  มีขั้นนี้ดีที่สุด  แต่ถ้าหลุดขั้นนี้ไปอาจต้องหาเครื่องมืออื่นๆ

เครื่องมือทางสังคม social sanction  ซึ่งดูเหมือนเอาไม่อยู่

เครื่องมือทางกฎหมาย  ตำรวจก็อยากให้ประนีประนอม (ที่จริงน่าจะดี)

เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์  คือ แรงจูงใจ  บางทีครอบครัวอาจต้องหันมาให้กำลังใจ  คุยกันดีๆตอนมีสติว่าพ่อน่ารักแค่ไหนเวลาไม่เมา  ถ้าลดเหล้า จะได้ออมเงินเอามาเปลี่ยนเป็นของอย่างอื่น (ที่พ่ออยากได้และเป็นประโยชน์กว่ากินเหล้า)  ...อะไรทำนองนี้

 

 

 

ในต้นวิวัฒนาการของมนุษย์ ก็ไม่มีรัฐ สังคมของมนุษย์ก็อยู่ภายใต้กฎหมายของมนุษย์เอง

ถ้าเราใช้กฎหมายของมนุษย์ได้ แม้กฎหมายของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่เอาไหน ก็ไม่เห็นจะต้องไปสนใจ มนุษย์ก็จัดการมนุษย์เอง ก็ดีเหมือนกันนะ

มาปฏิเสธความมีอยู่ของรัฐกัน ก็ดีนะ

ฟังเรื่องเล่าแล้วเศร้า(เร้าพลัง)

ตอนที่อ.ปัทมาวดีแวะมานครศรีธรรมราชคราวหนึ่งประจวบเหมาะกับงานอบรมเรื่องยุติธรรมชุมชน อาจารย์ได้เข้าร่วมด้วย รัฐได้ใช้กลไกทางสังคมเข้ามาช่วย ส่วนใหญ่ญาติมิตรจะช่วยเหลือกันไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง กรณีนี้เป็นคนใกล้ชิด คนนอกจะรู้สึกว่า  ลูกเมียมันยังไม่สนใจแล้ว(กู)จะช่วยอะไรได้

กลไกครอบครัว เครือญาติ ชุมชน/สังคม และรัฐ    บางทีก็ใช่ว่าจะดีเลิศสมบูรณ์ที่ส่วนใดส่วนหนี่งเพียงส่วนเดียวเท่านั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท