หวั่น ศก.โลกชะลอตัว เตือนเสี่ยงพึ่งส่งออก


                สศช.ประกาศจีดีพีไตรมาส 3 คาดคงเป้าจีพีดีปีนี้ที่ 4-4.5% เชื่อ "ราคาน้ำมัน-ก๊าซหุงต้ม" ไม่กระทบ หวังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปีหน้า-อัตราดอกเบี้ยฟื้นเศรษฐกิจปี 2551 ประธาน ส.อ.ท. เตือนรัฐอย่าหวังพึ่งส่งออกขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเดียว หวั่นเกิดอันตรายหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แนะเร่ง

เพิ่มการลงทุนในประเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2551 วันนี้ (3 ธ.ค.) โดย ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช.จะแถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2551 โดยสศช.ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่า      จะขยาย 4.0-4.5% โดยมีการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แม้ว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวในทิศทางชะลอลง ภายใต้สภาวะความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก  ขณะที่สัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามปี 2550 เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2.0-2.5% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.0-4.5% ของจีดีพี และอัตราการว่างงานยังต่ำที่ 1.5-2.0% แหล่งข่าวจาก สศช. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปีนี้ มีอัตราการขยายตัวในทางบวก เนื่องจากการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐปรับตัวสูงขึ้น และอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะมีราคาสูงขึ้น จากที่ สศช.คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ระดับ 62-64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2550 ทั้งปี จะขยายตัวในระดับ 4.0-4.5%   ส่วนราคาน้ำมัน  ที่สูงขึ้นในช่วงปลายปี และการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม ยังไม่ส่งผลกระทบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้มากนัก เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นในช่วง 1 เดือนสุดท้ายของปี แต่ภาวะดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนลดลงในปี 2551 ทำให้คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีนี้   ปัจจัยหลักที่จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจในปี 2551 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง คือ การลงทุน ด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีความชัดเจน ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังต่ำ และความชัดเจนด้านการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.นี้ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลใหม่ว่า ควรวางนโยบายเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างรายได้ และการจ้างงานเพื่อให้ขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศควบคู่กัน  ทั้งนี้หากพึ่งพาส่งออกอย่างเดียว จะเกิดความเสี่ยงระบบเศรษฐกิจประเทศ ในอนาคตได้ เมื่อการส่งออกไทยมีปัญหาสู้คู่แข่งไม่ได้ เห็นได้จากญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก การส่งออกกว่า 50% ตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐ เมื่อสหรัฐเกิดวิกฤตการณ์ซับไพร์ม การบริโภคลดลง ทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นมีปัญหา ขณะที่เศรษฐกิจของไทยก็ถูกกระทบไปด้วย  เศรษฐกิจไทยจะเข้มแข็งได้ ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกควบคู่ไปกับ  การกระตุ้นการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น และฟื้นความเชื่อมั่นเพื่อดึงการบริโภคในประเทศให้ฟื้นตัว ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการ ที่ผ่านมาประชาชนขาดความเชื่อมั่น ทำให้ตลาดหดตัวลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ


ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมาก ต้องประคองตัวเพื่อความอยู่รอด ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และชะลอการลงทุน  แม้บางรายต้องการขยายกำลังการผลิตเพิ่ม แต่ก็ไม่กล้าเสี่ยง
นายสันติกล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2551 น่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกยังมีทิศทางที่ดี ขณะที่การลงทุนจะมีมากขึ้น เนื่องจากมีรัฐบาลใหม่พอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้บ้าง แต่ต้องจับตากับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น ความไม่มีเสถียรภาพการเมือง สภาพเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทที่ยังผันผวน ปัญหาซับไพร์ม ของสหรัฐ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบ อาจทำให้การลงทุนและการบริโภคยังชะลอตัว   ส่วนสถานการณ์ปีนี้ โดยรวมยังชะลอตัว ตลาดในประเทศยังหดตัว ทำให้ ส.อ.ท.ต้องปรับอัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมใหม่ เหลือเพียง 5% จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวได้ปีนี้ 6% สาเหตุสำคัญจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอย่างมาก อุตสาหกรรมก่อสร้างอยู่ในภาวะซบเซา นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า การส่งออกอาหารแช่เยือกแข็งปีนี้ ตลาดสหรัฐอาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว ส่งผลกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง โดยคำสั่งซื้อจากสหรัฐลดลงมาตั้งแต่เดือนส.ค.ที่ผ่านมา ยอดขายกุ้งแช่แข็งในห้างขายปลีกของสหรัฐเริ่มลดลง คาดสัดส่วนการส่งออกกุ้งแช่แข็งไปสหรัฐลดลงเหลือ 52% จากปี 2549 ที่ส่งออกได้ 58%   ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงเพราะเศรษฐกิจไม่ดี แม้ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปา) มีส่วนช่วยการส่งออก แต่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นขยายตัวได้ไม่มาก นายพจน์กล่าวถึงการส่งออกสินค้ากุ้งในปี 2551 ว่าจะรักษาอัตราการขยายตัวให้ได้เท่าปีนี้ คาดขยายตัว 7-8% โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ เพราะเป็นตลาดสำคัญ ส่วนตลาดใหม่ที่จะขยายคงเพิ่มขึ้นได้ไม่มากเพราะต้องใช้เวลาสร้างตลาด ซึ่งตลาดใหม่ที่จะขยายมีหลายตลาด เช่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ยุโรปตะวันออก เพื่อชดเชยตลาดสหรัฐและญี่ปุ่น  ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง  ผู้ส่งออกยังมีความกังวลเรื่องเงินบาทแข็งค่า เพราะเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เงินบาท ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง เรื่องนี้คงต้องรอดูผู้ที่จะเข้ามาดูแลกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลต่อไปต้องสร้างจุดสมดุลของค่าเงินระหว่างสินค้าเกษตรส่งออก และสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าเป็นหลัก เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ มีเกษตรกรเข้ามาเกี่ยวข้องประมาณ 20 ล้านคน      ถ้าปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าถึง 30-32 บาทต่อดอลลาร์ จะทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบมากกว่าปีนี้ ขณะที่ปัญหาราคาน้ำมัน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่ผู้ส่งออกไม่กังวลกับปัญหาดังกล่าว เพราะทุกประเทศต้องซื้อน้ำมันในราคาเท่ากัน นายวัลลภ วิตะนากร เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า การส่งออกของไทยจำเป็นต้องขยายตัวต่อไป เพราะไทยต้องการเงินตราต่างประเทศและมีรายได้จากภาษีของผู้ส่งออก ไทยถือเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สามารถผลิตสินค้าได้เกินความต้องการบริโภคภายในประเทศ ทำให้ต้องส่งสินค้าที่เกินความต้องการภายในประเทศออกไป หากการบริโภคภายในประเทศดีและสามารถดูดซับสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศได้ทั้งหมด ก็ไม่จำเป็นต้องส่งออก ดังนั้นต้องทำเศรษฐกิจในประเทศให้ดี และสร้างให้ผู้บริโภคมีรายได้ จะทำให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น การพึ่งการส่งออกก็จะลดลง  นายวัลลภกล่าวว่า การสร้างตลาดใหม่ ถือว่าทำยาก เพราะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ และสร้างความคุ้นเคยระหว่างคู่ค้า หากทิ้งตลาดเก่าแล้วไปหาตลาดใหม่อย่างจริงจัง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้นก็คงต้องวิ่งหาตลาดใหม่ไปเรื่อย ๆ เมื่อตลาดเดิมได้รับผลกระทบ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มทำการค้าแบบพันธมิตร ทำให้เปลี่ยนคู่ค้าได้ลำบาก  นอกจากนี้ ตลาดหลักของเครื่องนุ่งห่มอยู่ที่สหรัฐ ญี่ปุ่นและอียู และมีตลาดใหม่ที่อาเซียน โดยสมาคมมองว่าอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยทำให้เชื่อว่าการส่งออกไปตลาดหลักและตลาดใหม่ในปีหน้ามีแนวโน้มดี และส่งผลให้การส่งออกปี 2551 ขยายตัว 10% เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่คาดว่าจะติดลบ 4.74% และคำสั่งซื้อสินค้าของผู้นำเข้าเข้ามาจนถึงการส่งมอบในเดือน มี.ค.2551 แล้ว ไม่มีความกังวลต่อการส่งออกปีหน้า กรณีที่ตลาดสหรัฐ เศรษฐกิจจะชะลอตัว ทำให้อำนาจการซื้อของผู้บริโภคลดลง แต่ไม่กระทบกับผู้ส่งออกไทยมากนัก เพราะผู้ส่งออกไทยเป็นผู้รับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) แบรนด์เครื่องนุ่งห่มที่จำหน่ายในดิสเคาท์สโตร์ถึง 80% ของสินค้าเครื่องนุ่งห่มไทยส่งออกไปสหรัฐทั้งหมด ผู้ส่งออกไทยส่งสินค้าไปดีพาร์ทเมนท์สโตร์เพียง 20% โดยเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอทำให้สินค้าที่จำหน่ายในดีพาร์ทเมนท์สโตร์ลดลง ผู้บริโภคจึงหันมาซื้อสินค้าในดิสเคาท์สโตร์แทน  นอกจากนี้ ในตลาดญี่ปุ่นปี 2551 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น 30% เพราะเจเทปามีผลบังคับใช้แล้ว และช่วงนี้ผู้ส่งออกหลายรายเริ่มรับคำสั่งซื้อจากญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ส่วนตลาดอียูมีแนวโน้มดีขึ้นเพราะค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท การส่งออกไปอียูส่วนใหญ่จะใช้เงินสกุลยูโร ทำให้อียูนำเข้าสินค้าในราคาลดลงและสินค้าไทยที่ส่งไป     มีราคาสูงขึ้น นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกในปี 2551 มีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 10% จากปี 2550 ที่ส่งออกได้ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าพลาสติกสูงตามไปด้วย แต่ราคาที่สูงขึ้นไม่ทำให้ผู้ส่งออกได้กำไรเพิ่มขึ้น เพราะเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าภาครัฐไม่สามารถดูแลค่าเงินบาทให้นิ่งได้ ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องกล้าตัดสินใจนโยบายค่าเงินบาท เพื่อให้มีการแข็งค่าในระดับเดียวกับประเทศคู่แข่ง  การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปตลาดหลัก เช่น สหรัฐ อาจจะมีปัญหา เพราะเศรษฐกิจภายในสหรัฐ ขณะที่ตลาดรอง เช่น ออสเตรเลีย ปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น เพราะการลดภาษีสินค้านำเข้าดังกล่าวได้ทยอยลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 และภาษีนำเข้าจะเหลือ 0 วันที่ 1 ม.ค.2551 ทำให้ไทยมีความได้เปรียบเรื่องภาษีที่ประเทศอื่นต้องเสียภาษีนำเข้า 5% เช่น มาเลเซีย จีน โดยการส่งออกของประเทศดังกล่าวอาจจะลดลง และออสเตรเลียจะหันมาสั่งสินค้าของไทยมากขึ้น ขณะนี้เริ่มมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นชัดเจนแล้วเพื่อส่งมอบในเดือน ม.ค.2551  ทั้งนี้ การที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทย มาจากการส่งออก 60-70% ถือว่ามากเกินไป และอาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยหากเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจไทยดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว และยังไม่สามารถ   ปรับโครงสร้างนี้ได้ โดยผลดีของเงินบาทแข็งค่าทำให้มีแรงกดดันให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์พลาสติกลงทุน     เพื่อจำหน่ายตลาดในประเทศมากขึ้น  ผู้ประกอบการได้เริ่มดำเนินการแล้วแต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลา โดยจะมีการผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและสิ่งทอ เพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งได้มีการวางแผน


ร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกและอุตสาหกรรมอื่น เพื่อรวบรวมข้อมูลว่าสินค้าใด    ที่สามารถผลิตทดแทนนำเข้าได้ และผลิตภัณฑ์พลาสติกนำเข้าที่ใช้ในอุตสาหกรรม สามารถผลิตในประเทศ แต่   ที่ผ่านมาไม่มีการหารือเพื่อสร้างตลาดในประเทศ
กรุงเทพธุรกิจ 
คำสำคัญ (Tags): #จีดีพี#ส.อ.ท.#สศช.
หมายเลขบันทึก: 151070เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2007 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท