ประวัติและตำนานมวยไทย


มวยไทย..มรดกไทย..มรดกโลก..

ประวัติศาสตร์อันยาวนานของมวยไทยเริ่มมีและใช้กันในการสงครามในสมัยก่อน ในปัจจุบันมีการดัดแปลงมวยไทยมาใช้ในกองทัพโดยเรียกว่า เลิศฤทธิ์ ซึ่งแตกต่างจากมวยไทยในปัจจุบันที่ใช้เป็นการกีฬา โดยมีการใช้นวมขึ้นเพื่อป้องกันการอันตรายที่เกิดขึ้น มวยไทยยังคงได้ชื่อว่า ศาสตร์การโจมตีทั้งแปด ซึ่งรวม สองมือ สองเท้า สองศอก และสองเข่า บางคนใช้คำว่า พาหุยุทธ์มวยไทย (บางตำราอาจเป็น นวอาวุธ ซึ่งรวมการใช้ศีรษะโจมตี หรือ ทศอาวุธ ซึ่งรวมการใช้บั้นท้ายกระแทกโจมตีด้วย)

มวยไทยสืบทอดมาจากมวยโบราณ ซึ่งแบ่งออกเป็นแต่ละสายตามท้องที่นั้น ๆ โดยมีสายสำคัญหลัก ๆ เช่น มวยท่าเสา(ภาคเหนือ) มวยโคราช (ภาคอีสาน) มวยไชยา (ภาคใต้) มวยลพบุรีและมวยพระนคร (ภาคกลาง) มีคำกล่าวไว้ว่า "หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา"

ในสมัยโบราณจะมี สำนักเรียน ซึ่ง สำนักเรียนมวย แตกต่างจาก ค่ายมวย คือ สำนักเรียนจะมีเจ้าสำนัก หรือ ครูมวย ซึ่งมีฝีมือและชื่อเสียงเป็นที่เคารพรู้จัก มีความประสงค์ที่จะถ่ายทอดวิชาไม่ให้สูญหาย โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดให้เฉพาะศิษย์ที่มีความเหมาะสม ส่วน ค่ายมวย เป็นที่รวมของผู้ที่ชื่นชอบในการชกมวย มีจุดประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนวิชาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขัน/ประลอง) โดยแยกเป็น สำนักหลวง และ สำนักราษฎร์ บ้างก็ฝึกเรียนร่วมกับเพลงดาบ กระบี่ กระบอง พลอง ทวน ง้าวและมีดหรือการต่อสู้อื่นๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวและใช้ในการสงคราม มีทั้งพระมหากษัติย์และขุนนางแม่ทัพนายกองและชาวบ้านทั่วไป (ส่วนใหญ่เป็นชาย)และจะมีการแข่งขันต่อสู้/ประลองกันในงานวัดและงานเทศกาลโดยมีค่ายมวยและสำนักมวยต่างๆ ส่งนักมวยและครูมวยเข้าแข่งขันชิงรางวัล/เดิมพัน โดยยึดความเสมอภาค บางครั้งจึงมีตำนานพระมหากษัตริย์หรือขุนนางที่เชี่ยวชาญการต่อสู้ปลอมตนเข้าร่วมแข่งขันเพื่อทดสอบฝีมือที่เป็นที่ปรากฏได้แก่ พระเจ้าเสือ(ขุนหลวงสรศักดิ์) พระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก ครูดอก แขวงเมืองวเศษไชยชาญ จนเมื่อไทยเสียกรุงแก่พม่า ปรากฏชื่อ นายขนมต้ม ครูมวยชาวอยุธยา ซึ่งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกได้ชกมวยกับชาวพม่า ชนะหลายครั้งเป็นที่ปรากฏถึงความเก่งกาจเหี้ยมหาญของวิชามวยไทย

กีฬามวยไทยได้รับความนิยมมากในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 มีการชกมวยถวายหน้าพระที่นั่งเป็นประจำที่วังสวนกุหลาบทั้งการต่อสูประลองระหว่างนักมวย/ครูมวยชาวไทยด้วยกันและการต่อสู้ระหว่างนักมวย/ครูมวยต่างชาติ ในยุคแรกการแข่งขันมวยไทยใช้การพันมือด้วยเชือก จนกระทั่งนายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยจากท่าเสา จ.อุตรดิตถ์ ต่อยนายเจียร์ นักมวยเขมร ถึงแก่ความตาย จึงเปลี่ยนมาสวมนวมแทน ต่อมาเริ่มมีการกำหนดกติกาในการชก และมีเวทีมาตรฐานขึ้นแห่งคือเวทีมวยลุมพินีและเวทีมวยราชดำเนินจัดแข่งขันมวยไทยมาจนปัจจุบัน ในการแข่งขันชกมวยในสมัย ร.๖ ณ เวทีสวนกุหลาบ มีมวยเลี่ยะผะ(กังฟู)ชาวจีนโพ้นทะเล ชื่อนายจี่ฉ่าง ได้ประลองฝีมือกับ นายยัง หาญทะเล ชาวลพบุรี ซึ่งใช้การจรดมวย แบบมวยโคราช ที่เน้นการยืดตัวตั้งตระหง่านพร้อมที่จะรุกและรับโดยเน้นการใช้เท้าและหมัดเหวี่ยง และต่อมาได้เป็นแบบอย่างในการฝึกหัดมวยไทยในสถาบันพลศึกษาส่วนใหญ่

http://gotoknow.org/file/loongrukchat/kfvsmt01.jpg

คำสำคัญ (Tags): #มวยไทย
หมายเลขบันทึก: 150231เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2007 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

P

ลุงรักชาติราชบุรี 

 

เมื่อวาน (๒๒ ธ.ค.) มวยตู้น็อคกันหลายคู่...

คราวใดที่มวยต่อยกันดุเดือดสุดๆ ฝ่ายหนึ่งถูกยำใหญ่ และถูกจับแพ้เพื่อป้องกันนักมวย อาตมาคิดว่านักมวยที่ถูกหนักๆ ระดับนั้น น่าจะเลิกมวยไปเลย แต่ก็แปลก ที่ไม่นานเกินลืม จะมีข่าวว่ากลับมาต่อยอยู่ที่โน้นที่นี้... 

ดูมวยตู้เมื่อวาน นึกเทียบเคียงกับไก่ชน ไก่บางตัวยอมตาย แต่ไม่ยอมวิ่ง (แพ้) นักมวยไทยเราบางคนก็ทำนองนั้น...

เคยคิดเล่นๆ (หลายปีมาแล้ว) มวยค่าตัวหลักแสนบางคู่นั้น ต่อยกันไม่คุ้มค่าตัวเลย ให้สี่ห้าพันก็เยอะแล้ว เพราะต่อยกันไม่ค่อยเจ็บ... ส่วนบางคู่ ที่ต่อยกันดุเดือดแล้วถูกจับแพ้นั้น อาตมาว่าสองแสนก็ไม่คุ้มค่าเจ็บ....

เดียวนี้ รู้สึกว่า มวยนั้น มิใช่ต่อยกันสนุกเฉพาะที่ดุเดือดอย่างเดียว บางครั้งการแก้การกันทางมวย ก็สนุกเหมือนกัน และนี้เป็นวิชาชั้นสูงของมวยไทย

อนึ่ง ส.ยกฟัด ที่อ้างถึงนั้น นักมวยดังอยู่สงขลา อาตมาเคยเจอก่อนไปอยู่กรุงเทพฯ ตอนนั้นท่านอายุมากแล้ว แต่ไม่ได้คุยกับท่านเรื่องมวย...

เจริญพร 

นมัสการพระอาจารย์ครับ....

ขอบพระคุณที่ได้กรุณาเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องมวยไทย..ซึ่งกระผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของคนรุ่นเราที่จะสืบทอดให้ลูกหลานได้พิจารณาต่อไป..

พระอาจารย์ครับ..มวยไทยอาชีพที่ต่อย+แสดงอยู่ในปัจจุบัน..ถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของศิลปะมวยไทย..และอาจจะถือได้ว่าเป็นตัวรุกที่สำคัญต่อ..ตลาด..และสาธารณะ..แต่ถ้าจะบอกว่า..เส้นทางนี้ประกอบไปด้วยผลประโยชน์แอบแฝงและเย้ายวนต่อกิเลศของโลกธุรกิจมาก..ดังนั้น..หากจะบอกว่ามี..ความเป็นศิลปะการต่อสู้และมีจิตวิญญานมวยไทยทั้งหมดคงมิได้..และยิ่งมีการเชื่อมโยงสู่สังคมโลกาภิวัฒน์..ซึ่งหมายถึงมูลค่าการตลาดที่มหาศาล..ความคาดหวังของผู้ที่รักชื่นชอบในศิลปะการต่อสู้มวยไทย..ก็คงต้องทำใจ..และหวังว่า..ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเสียเลย..นะขอรับ..จริงๆแล้ว..กระผมเคยกราบเรียนเสมอว่า..นักสู้มวยไทยที่ถูกหล่อหลอมจากครูมวยที่สืบต่อกันมา(มีที่มาที่ไป)..ถึงแม้เขาจะขึ้นเวทีเพื่อประกอบอาชีพ(หาเงิน)ก็ตาม..สิ่งที่ผูกพันตัวเขาอยู่ก็คือความกตัญญูต่อครูอาจารย์และความรักศรัทธาในศิลปะที่ได้รับการประสิทธิ์ประสาทมาด้วยความรักเคารพ..อันนี้มันฝังลึก..กระผมจึงอยากให้ทุกคนที่คาดหวังในด้านดีเข้าใจและอาจให้อภัยในสิ่งเขากระทำลงไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และช่วยให้กำลังใจให้เขาเติบโตพอที่จะเป็นผู้สืบทอดเจตนารมย์อันดีงามในวาระต่อไปด้วย..แปลกไหมครับ?ในความเจ็บปวดของมวยไทย..มันให้อะไร?ที่ยิ่งใหญ่สำหรับคนที่ด้อยโอกาส คนที่ไร้เกียรติ (แต่มีศักดิ์ศรี) คนเล็กๆที่ไม่สามารถที่จะทำให้ใครยอมรับ..นอกจากสมญานามของนักมวย..ที่ได้มาด้วยความอดทนและเลือดเนื้อ..สำหรับค่ายส.ยกฟัด..กระผมเคยได้ชมตอนยังเล็กๆ..และคุณพ่อของกระผมท่านรู้จักดีครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท