นโยบายการศึกษาจะทำอย่างไรกัน


โดย นวลน้อย ตรีรัตน์ 

พูดกันมานาน ถึงปัญหา ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทยว่า อ่อนแอลง และมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับปัญหานี้อย่างหนักในอนาคต โดยพื้นฐานสำคัญที่จะต้องมีการปรับตัว ก็มีหลายเรื่องด้วยกัน โดยเรื่องสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคน ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากและต้องอาศัยเวลา ความเอาจริงเอาจังในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

ยากอย่างไร ก็อาจจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลอังกฤษทำโครงการส่งเสริมการอ่านหนังสือแห่งชาติ หลังจากทำมาหลายปี ปรากฏว่าถูกนักการศึกษาออกมาบอกว่า สูญเงินไปเปล่าๆ ประมาณ 553 ล้านปอนด์ (ประมาณเกือบสี่หมื่นล้านบาท) เพราะไม่ได้ผล อาจารย์บางท่านยังบอกว่ามาตรฐานการอ่านของเด็กอังกฤษยังอยู่ระดับเดียวกับเมื่อทศวรรษที่ 1950 ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการอ่านหนังสือต่อคนโดยเฉลี่ยปีละ 7 บรรทัด และมีการตั้งเป้าว่าจะส่งเสริมให้ถึงปีละ 12 บรรทัด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะบรรลุเป้าหมายได้เมื่อไร เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับสภาพทางสังคมที่สื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ และอินเตอร์เน็ต มีความสำคัญเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง รูปแบบเช่น คนไม่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ แต่ชอบให้มีคนมาคุยหรือเล่าข่าวให้ฟัง เพราะนอกจากจะได้เนื้อหาข่าวแล้ว ผู้เล่าบางคนก็มีเทคนิคเฉพาะตัว สามารถเสริมแต่งให้มีความสนุกสนานเพิ่มมากขึ้น 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างมาก มีการออกกฎหมายทางด้านการศึกษาหลายฉบับ มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย มีการปรับระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบการจัดการศึกษา การสอบวัดผล และให้มีระบบการประเมินผลสถานศึกษา เสนอเปลี่ยนระบบวิธีคิดทางการศึกษามาเป็นการยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ทางด้านงบประมาณ ก็มีการจัดสรรงบประมาณให้เป็นอันดับหนึ่ง ประมาณ 1 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมด 

แต่ปรากฏว่าผลการประเมินสถานศึกษาที่จัดการศึกษาภาคบังคับ มีโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินถึงประมาณหมื่นกว่าแห่ง ในครั้งแรก และเมื่อประเมินใหม่ ก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด ความขาดแคลนของโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลยังคงมีอยู่ทั้งในเรื่อง ครูผู้สอน ทรัพยากรและงบประมาณ ความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการศึกษาไม่ได้ลดลง ขณะที่เกรดเฉลี่ยของนักเรียนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งประเทศ จนถูกเรียกว่าเกรดเฟ้อ นักเรียนที่อยู่ในเมืองยังต้องอาศัยสถาบันกวดวิชาต่างๆ เพื่อเข้าสอบในมหาวิทยาลัยให้ได้ และดูเหมือนว่าการพึ่งพิงสถาบันกวดวิชาเหล่านี้ จะไม่ได้ลดลงเลย อาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ จำนวนผู้เข้าเรียนในสายวิชาชีพมีแนวโน้มลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณผู้ที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เพิ่มมากขึ้น และหนักยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการวิจารณ์ว่า ระบบการศึกษาที่ปรับเปลี่ยนกันมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง 

นโยบายของพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงกันในขณะนี้ ก็เน้นหนักแต่ในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น นโยบายสวัสดิการสังคม ฉบับ ลด แลก แจก แถม โดยส่วนใหญ่หาเสียงกับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งบางเรื่องก็เป็นเรื่องดี เช่นนโยบายต่อคนด้อยโอกาสหรือผู้พิการ แต่โดยภาพรวมแล้ว แนวโน้มของนโยบายก็ยังเป็นในเชิงแข่งกันว่าใครจะแจกได้มากกว่ากัน โดยไม่มีการแตะต้องนโยบายทางด้านการหารายได้หรือการจัดเก็บภาษีอากรแต่อย่างใด (และมีบางพรรคที่เสนอให้ลดภาษี และเพิ่มค่าลดหย่อน) 

ผู้เขียนยังมีความเชื่อในสุภาษิตไทยโบราณที่ว่า ถ้าจะช่วยเหลือกันอย่างถาวร ก็ต้องสอนให้รู้จักจับปลา ไม่ใช่เพียงเอาปลาไปให้เท่านั้น และยังเชื่อว่า ใครที่จับปลาเป็นแล้ว ก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาปลาไปแจกให้ ควรเอาไปช่วยคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ 

ซึ่งเมื่อเชื่อเช่นนั้นแล้ว ผู้เขียนจึงให้ความสำคัญกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในระยะยาวค่อนข้างมาก เช่น นโยบายทางด้านการศึกษาที่จะมีส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาว และการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ซึ่งในส่วนนี้พรรคการเมืองต่างๆ กับมีข้อเสนอเชิงนโยบายค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ก็จะเน้นเชิงปริมาณ เช่น เรียนฟรีสิบสองปี กองทุนการศึกษาต่างๆ หรือกองทุนเรียนก่อนผ่อนทีหลัง ผู้เขียนเชื่อแน่ว่านโยบายเหล่านี้น่าจะมีผลทำให้ปริมาณของนักเรียน นักศึกษา หรือผู้เข้าถึงระบบการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ก็คงไม่ใช่นโยบายที่จะแก้ปัญหาคุณภาพทางการศึกษาที่ได้พูดไว้ในเบื้องต้น เพราะถ้าเน้นแต่ปริมาณ เราก็จะพบว่า ต่อไปจะพบว่าคนขับแท็กซี่ก็ดี หรือคนขายของจบปริญญาโท หรืออาจจะแม้กระทั่งจบปริญญาเอก เหมือนในฟิลิปปินส์ ที่เขียนเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าคนขับแท็กซี่หรือขายของจบชั้นสูงไม่ได้ แต่หมายถึงคนที่จบสูง แต่หางานทำที่ตรงกับที่เรียนไม่ได้ 

นักวิชาการทางด้านการศึกษาบางท่าน เสนอว่า จะต้องมีวาระแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างมาก แต่ถ้าการทำวาระแห่งชาติยังคงปล่อยให้เป็นบทบาทของกระทรวงศึกษาฯเป็นผู้กำหนดอย่างที่เป็นมาในอดีต ผลที่ได้ก็คงไม่ต่างจากในวันนี้ กระทรวงศึกษาฯดูเหมือนจะมีความคับข้องใจตลอดเวลา เมื่อจะปล่อยให้เกิดการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เมื่ออยู่กับกระทรวงศึกษาฯก็ยังไม่สามารถรับประกันคุณภาพทางการศึกษาได้แต่อย่างใด 

เปิดโอกาสให้ท้องถิ่น ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพการศึกษาบ้างเถอะ เพื่อให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามารับผิดชอบปัญหาอนาคตของลูกหลานเขาเองบ้าง โดยรัฐบาลช่วยให้มีการกระจายเงินงบประมาณไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสัดส่วนร้อยละ 35 ตามที่เคยตั้งใจไว้ ผู้เขียนเชื่อว่าแต่ละท้องถิ่นคงไม่มีใครยอมแพ้ใคร เมื่อจะพัฒนาการศึกษาให้กับลูกหลานของตน 

ส่วนกระทรวงศึกษาฯก็มาทำหน้าที่ในการพัฒนาและวิจัยหลักสูตรวิชา ต่างๆ พัฒนาเครื่องมือ สื่อการสอนที่ทันสมัยในรูปแบบต่างๆ ห้องสมุด และหนังสือแบบเรียนต่างๆ ให้มากขึ้น เป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นที่มีความพร้อมน้อย 

พรรคการเมืองพรรคใดมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาดีๆ บ้าง ช่วยบอกหน่อย อาจจะทำให้การตัดสินใจไปเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม ง่ายขึ้น

(ที่มา : มติชนรายวัน 28 พฤศจิกายน  2550 , อ้างจากเว็บไซต์ครูไทยดอทอินโฟ)

หมายเลขบันทึก: 149810เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2007 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สวัสดีค่ะ คุณธนิตย์ สุภาษิตจีนบอกว่า 10ปีปลูกต้นไม้ 100ปี สร้างคน กว่าจะสร้างคนได้ต้องใช้เวลาค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท