ชุนชิว กับ โลกร้อน อะไรถึงไทยก่อน ?


ชุนชิว เป็นชื่อยุคสมัยหนึ่งของจีน

ยุคชุนชิว (ชุนชิวสือไต้ : Chun qiu shi dai หรือที่ฝรั่งรู้จักในนาม Spring and Autumn Period ซึ่งถ้าแปลเป็นไทย คือยุคแหล่งฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูใบไม้ร่วง) 770 – 403 ปีก่อน ค.ศ. ถือเป็น กลียุค ฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน เพราะขุมอำนาจท้องถิ่นใหม่ ๆ ผลิบาน-ร่วงโรยราวใบไม้

http://en.wikipedia.org/wiki/Ancient_China#Spring_and_Autumn_Period

เป็นยุคที่มีแว่นแคว้นเกิดขึ้นนับร้อย เป็นอาณาเขตปกครองตนเองโดยเหล่าขุนศึก

ชุนชิวยุคใหม่้ แทนที่จะเป็นขุนศึก ก็เป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือ บริษัทข้ามชาติ มากว้านซื้อที่ดินแปลงมหึมาเป็นผืนเดียว ใครตกอยู่ในที่ตาบอด ทนไม่ไหว ก็ต้องขายหนี

คนที่อยู่ใน "แว่นแคว้น" ลักษณะนี้ แทนที่จะเป็น "ไพร่บ้าน พลเมือง" ก็จะเป็นลูกจ้าง คนงาน ที่ทำงานให้บริษัท ในพื้นที่ที่กว้างขวางใหญ่โต แต่มีรั้วรอบขอบชิด ติดป้าย ห้ามบุกรุก ห้ามผ่าน ที่ส่วนบุคคล และนิตินัย จะไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์เยี่ยงพฤตินัยอีก

แนวโน้มประเทศไทย จะมุ่งไปสู่ภาวะ ชุนชิว หรือไม่ ?

ภาพที่เห็นตอนนี้ เริ่มเกิดกับที่ท่องเที่ยว ที่ "ห้ามคนนอกเข้า"

หาดสวย ๆ บางแห่ง เดี๋ยวนี้ แม้เป็นหาดสาธารณะโดยนิตินัย แต่ไม่มีทางให้คนทั่วไปผ่านถึงหาด เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ที่มีมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติปี 40 ด้วยซ้ำ และทุกวันนี้ ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ในภาคใต้ (ไม่ใช่สามจังหวัด) ก็เริ่มมีให้เห็นประปราย ในรูปแบบของการกว้านซื้อที่ราคาถูก ๆ แบบ "เหมาเข่ง" ในถิ่นที่ดินที่เสื่อมโทรม เช่น นากุ้งร้าง ที่โดนยุให้ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันจนดินเสื่อมโทรม 

เช่น การกว้านที่ดินที่เสื่อมโทรม ที่อาจารย์ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ เล่าไว้ใน พัฒนาไปพัฒนามา เหลือตารางวาละ 15 บาท

ชวนให้คิดว่า จะซื้อไปทำอะไร ?

มองแง่หนึ่ง อาจเป็นการเปลี่ยนรูปแบบทำเกษตร ไปทำอสังหาริมทรัพย์ธรรมดา

แต่เป็นไปได้หรือไม่ ว่าที่ดินเหล่านี้ มีศักยภาพ ในการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานรูปแบบอื่น เพราะในเขตศูนย์สูตร หนึ่งตารางเมตร หมายถึงพลังงานแสงอาทิตย์หนึ่งกิโลวัตต์-ชั่วโมง และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อผลิตน้ำมันพืช ก็เป็นสิ่งที่หลาย ๆ ประเทศมองว่าคุ้ม โดยเฉพาะเมื่อไม่ต้องทำในประเทศตัวเอง (เพราะรู้ว่า ปัญหาวิกฤติน้ำใช้-สิ่งแวดล้อม อาจตามมา) และการกว้านเหล่านี้ เป็นชิ้นส่วนย่อยในจิ๊กซอว์ใหญ่ ?

ถึงเวลานั้น ป้ายประเภท "ห้ามคนไทย และหมา เข้า" อาจเป็นภาพที่ชินตา โดยมียาม เป็นคนไทย และข้างใน มีแต่แรงงานอพยพ

ระหว่างกลียุคแบบ "ฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูใบไม้ร่วง" กับกลียุคแบบ "โลกร้อน" อะไรจะแรงกว่า ? อะไรจะมาถึงไทยก่อน ? เป็นคำถามที่น่าคิด

มีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบครับ

 

หมายเลขบันทึก: 149574เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2007 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้เกิดทั้งชุนชิวและโลกร้อน เพราะทั้งสองอย่างนำมาซึ่งความทุกข์ ในเมื่อเราทราบต้นเหตุแห่งทุกข์แล้วใยจึงไม่มาร่วมแรงร่วมใจกันป้องกันหรือหาแนวทางลดความรุนแรงของปัญหาดังกล่าว เพื่อจะช่วยให้โลกใบเล็กๆใบนี้น่าอยู่อย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องไปแสวงหาโลกใหม่ ด้วยเหตุเพราะโลกใบนี้มีปัญหามากมายจนมนุษย์ต้องเตรียมหาที่อยู่ใหม่ในอนาคตนะครับ

คุณ วุฒิชัย ครับ...

  • ถ้าเป็นไปได้...
  • แต่ข้อเท็จจริง ไม่เกี่ยวกับว่าเราอยากให้มันเป็น หรือไม่อยากให้มันเป็น
  • แนวโน้มใหญ่ เกิดขึ้นแล้ว ชอบหรือไม่ชอบ มันก็มา ส่วนช้าหรือเร็ว เป็นอีกเรื่อง...

สวัสดีครับ

         เข้ามาป่วนเล่นๆ ครับ ;-) โดยขอมองอีกมุมหนึ่งว่า....

        แม้ยุคชุนชิว (ในช่วงราชวงศ์โจว ก่อนยุคจั้นกว๋อ) จะเป็นกลียุคในแง่การเมือง-การปกครอง เพราะมีการบราฆ่าฟันกันมากมายก็จริง

         แต่ด้วยความที่ยุคนี้มีการรบกันมาก ทำให้

              - การทหาร : เกิดตำราพิชัยสงคราม เช่น พิชัยสงครามของซุนวู และกลศึกที่โด่งดัง เช่น กลสาวงามไซซี (ซีซือ)

              - การแพทย์ : เกิดตำราแพทย์ที่เป็น "วิทยาศาสตร์" ครั้งแรกของจีน นั่นคือ หวงตี้เน่ยจิง (น่าจะต่อเนื่องจากการรบ เมื่อมีการบาดเจ็บมาก การแพทย์ก็เก็บข้อมูลและประสบกาณณ์มากตามไปด้วย)

              - ปรัชญา : เกิดปรัชญาจีนต่างๆ มากมาย เรียกว่า 'ยุคปรัชญาเมธี 100 คน' หรือ 'บุปผาร้อยดอกบานสะพรั่ง ร้อยสำนักแข่งประชัน' (ทำไม? ก็เพราะว่า นักคิดชั้นนำในยุคนั้น ต่างก็พากันหาทางออกให้สังคมจีน เช่น เต๋าว่าให้ปลีกวิเวก ขงจื๊อให้ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ)

           ส่วนเรื่อง โลกร้อน นี่ เรา (สังคมไทย) อาจจะเน้นผิดประเด็นก็เป็นได้ครับ เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านนี้บอกว่า เราควรหาทาง "รับมือ" กับ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก (Climate Change) มากกว่า

(เรื่องนี้มีรายละเอียดเยอะ แต่ตอนนี้ขอแว่บไปก่อนครับ...บ๊าย...บาย)

 พี่ชิว

             

สวัสดีครับ พี่ชิว P ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ

 

  • ผมเองก็ไม่รู้ว่าสังคมจะเคลื่อนไปทางนั้นหรือเปล่า
  • ซึ่งถ้าเคลื่อนไปทางนั้น ก็อาจเป็นไปได้ ว่าเกิดการงอกงามทางความคิดดังตัวอย่างในประวัติศาสตร์
  • แต่ราคาที่ต้องจ่าย อาจแพงมากนะครับ คือ ความคิดทางปรัชญา ศิลปกรรมที่ลุ่มลึก มักเกิดในยามกลียุค หรือยุคทองเท่านั้น ซึ่งถ้าเกิดแบบแรก คงแย่หน่อย
  • ขอบคุณที่มาป่วนครับ แล้วจะค่อยไป "ปรับสมดุล" ในโอกาสอันควรภายหลังครับ !

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท