โครงการนำร่องหลักสูตรแก้จน ๐๓ : การสัมมนาวิทยากรกระบวนการทั่วประเทศครั้งแรกที่ศูนย์ฝึกอบรม ปตท.วังน้อย ๑๔ - ๑๖ พ.ย.๕๐


โครงการ(นำร่อง)แก้หนี้แก้จนเริ่มต้นชีวิตใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มเขี่ยลูกออกไปแล้วด้วยการจัดสัมมนาวิทยากรผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ หรือ วิทยากรกระบวนการ เมื่อวันที่ ๑๔ - ๑๖ พ.ย.๕๐ ที่ศูนย์ฝึกอบรม ปตท. อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มีวิทยากรกระบวนการจากที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง ๘ จังหวัด คัดเลือกมาจังหวัดละ ๓ คน ตัวแทนจาก ธกส. จังหวัดละคน และตัวแทนจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จังหวัดละหนึ่งคน รวมกันเป็นทีมจังหวัด ๕ คน มีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อแก้หนี้แก้จนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจังหวัดละ ๓๐ คน การสัมมนาในครั้งนี้ได้เชิญผู้ประสานงานจาก อปท. ที่ร่วมโครงการเข้าร่วมด้วยเพื่อจะได้ต่องานกันติดในฐานะเจ้าภาพในท้องถิ่น รวมผู้เข้าร่วมสัมมนาและวิทยากรทั้งหมดประมาณ ๗๐ คน (กฟก.ส่งเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์ด้วย ๑๐ กว่าคน)

การสัมมนา ๓ วัน เริ่มตั้งแต่บ่ายวันที่ ๑๔ พ.ย. อาจารย์บุญมากแนะนำการใช้อาคารสถานที่และกระบวนการสัมมนา จากนั้นอาจารย์เสรี พงศ์พิศ กล่าวเปิดและบรรยายนำเรื่องโครงการแก้หนี้แก้จนเริ่มต้นชีวิตใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ประมาณ ๑ ชั่วโมง

หลังเบรคบ่าย ผม(สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์) และอาจารย์สุนีย์ จันทร์สูรย์ ทำกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดระบบระเบียบชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยชี้แจงว่าเราต้องการให้ท่านได้ทดลองทำด้วยตัวเองในทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านจะไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรที่เข้าร่วมโครงการนี้(แม้ไม่ใช่เกษตรกรก็ทำได้ ไม่จำกัดอาชีพ) จากนั้นก็ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกคน "ลงมือ" ทำทันที เริ่มจาก "แฟ้มชีวิต" ของตัวเองทันที โดยเริ่มจากการเขียน "เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้า" ตามหัวข้อที่กำหนดให้ ๒๐ หัวข้อ (ผมเป็นผู้ออกแบบเอง มีทั้งส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง เช่น วันเดือนปีเกิด น้ำหนัก ส่วนสูง โรคประจำตัว การศึกษา งานอาชีพ ครอบครัว และที่เป็นความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเองเช่น คนใกล้ชิดมองข้าพเจ้าว่าเป็นคนอย่างไร เวลามีปัญหาข้าพเจ้าปรึกษาใคร สิ่งที่ข้าพเจ้าชอบและไม่ชอบ ทำไมข้าพเจ้าจึงสมัครมาร่วมโครงการนี้) ใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที เสร็จแล้วให้นำกระดาษที่เขียนนั้นใส่ลงในแฟ้มชีวิต (อาจารย์สุนีย์เตรียมมาให้ทุกคน เป็นแฟ้มกระดาษที่มีเหล็กสำหรับร้อยกระดาษแบบ ๒ รู สำหรับร้อยซองพลาสติกใสบรรจุกระดาษ) ก็เป็นอันว่า ทุกคนเริ่มมีข้อมูลแรกของตัวเองใส่ลงในแฟ้มชีวิตแล้ว 

เสร็จแล้วต่อทันทีด้วยกิจกรรมวิเคราะห์ทบทวนชีวิตด้วยเครื่องมือ "เส้นทางชีวิต" โดยกิจกรรมนี้มี ๓ ขั้นตอน

ขั้นตอนแรกให้แต่ละคนใช้กระดาษไม่เกินหนึ่งแผ่น ลากเส้นหนึ่งเส้นในกระดาษนั้น สมมุติว่าเป็นเส้นชีวิตของตัวเอง เขียน พ.ศ.ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ๆ ในชีวิตพร้อมหัวข้อเหตุการณ์นั้น (เฉพาะหัวข้อ ไม่ต้องมีคำอธิบายรายละเอียด) เช่น ปี ๒๕๓๕ เริ่มปลูกอ้อยในพื้นที่ ๒๐ ไร่(สำหรับเกษตรกร) หรือจบการศึกษาแล้วเริ่มรับราชการครู(สำหรับคนเป็นครู) หรือเริ่มกู้ ธกส. (สำหรับเกษตรกร) เมื่อทุกคนทำเสร็จให้นำกระดาษแผ่นนั้นใส่ลงในแฟ้มชีวิตต่อจากประวัติของตัวเอง (เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้า) ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่แต่ละคนวิเคราะห์อดีตที่ผ่านมาของตัวเอง ใช้เวลาประมาณ ๑๕ นาที แล้วก็ทำกิจกรรมขั้นที่สองของเส้นทางชีวิตต่อทันที

ขั้นตอนที่สอง ให้แบ่งกลุ่มกันตามอาชีพ มีครู-อาจารย์ กลุ่มหนึ่ง พนักงานลูกจ้าง และผู้ประกอบอาชีพอิสระอีก ๔ กลุ่ม รวมเป็น ๕ กลุ่ม สิ่งที่กำหนดให้ทำในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง แต่เอาเข้าจริงไม่พอ ดูอารมณ์ของผู้เข้าร่วมที่แลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนามแล้ว ผมเลยปล่อยให้ใช้เวลาไปถึง ๔๕ นาที ให้สมาชิกในกลุ่มนำเสนอเส้นทางชีวิตของตัวเองแต่ละคน โดยให้แต่ละกลุ่มมีคนหนึ่งเตรียมตัวเป็นตัวแทนกลุ่มมานำเสนอต่อที่สัมมนาใหญ่ด้วย  

ขั้นตอนที่สาม ให้ตัวแทนกลุ่มมานั่งหน้าห้องโดยไม่ต้องมีโต๊ะโดยทั้ง ๕ คนนั่งเก้าอี้เป็นรูปครึ่งวงกลม โดยมีผม(ผู้ดำเนินการ)นั่งหัวแถว(หรือปลายแถวแล้วแต่จะมอง) ผมบอกผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกคนว่าที่ผมนั่งตรงนี้เพราะผมจะได้เห็นหน้าเห็นหน้าเห็นตาทุกคนด้วย เผื่อใครซาบซึ้งใจมากๆ ขณะพูด หรือเกิดน้ำหูน้ำตาไหล สอึกสอื้นออกมา ผมจะได้ช่วยแนะนำว่าจะทำอย่างไร เพราะการพูดถึงเรื่องชีวิตนี้ผมมีประสบการณ์มาว่าบางครั้งจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ผมจึงแนะนำวิธีการจัดเวทีแบบนี้ พร้อมกันนั้นผมบอกผู้ที่จะนำเสนอว่า ผมอาจจะขัดจังหวะการพูดของเขาเมื่อผมเห็นสมควร เช่น ใกล้จะเกินเวลาที่กำหนด และให้นำเสนอคนหนึ่งไม่เกิน ๕ นาที กลุ่มแรกเป็นกลุ่มครู-อาจารย์ พวกเขาเรื่องประหลาดคือ มีเส้นทางชีวิตคล้ายๆ กัน เช่น เรียนมาเหมือนๆ กัน สอบเข้ารับราชการมาเหมือนๆ กัน เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์เหมือนๆกัน ฯลฯ ชีวิตของคนอาชีพนี้ เขาตั้งคำถามถึงอาชีพอื่นด้วยว่า ถูกกำหนดโดยแผนการอะไรบางอย่างหรือเปล่า? ผมปล่อยให้เขาพูดเกินเวลาไปถึง ๑๐ นาที อย่างจงใจ เพราะสิ่งที่เขาพูดตรงกับสิ่งที่เราอยากจะให้เป็นข้อสรุปพอดีว่า ถ้าเราไม่เป็นฝ่ายรุกกับชีวิตของเรา ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีเป้าหมายไม่มีแผน ก็จะมีระบบอำนาจบางอย่างมาวางเป้าหมายและแผนชีวิตให้เราเดิน การปล่อยให้ผู้นำเสนอคนแรกพูดเกินเวลาของผม ถูกประท้วงโดยผู้นำเสนอคนที่จะนำเสนอถัดไป เขาพูดต่อที่ประชุมว่า ผมควรให้คนแรกหยุดพูดเมื่อหมดเวลา หน้าตาเขาจริงจังมาก ผมได้ตอบผ่านไมค์ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลว่า ผมขอโทษ ต่อไปผมจะปรับปรุงการดำเนินการ ผมขอขอบคุณที่ช่วยเตือนผม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เวลาได้ล่วงเลยไปมากแล้ว เรายังมีอีกกิจกรรมหนึ่งที่ต้องเสร็จก่อน ๕ โมงเย็น เพราะ ๕ โมงเย็นเราจะมีประชุมเฉพาะผู้ประสานงานพื้นที่ขณะที่จะให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้พักผ่อนก่อนอาหารเย็น และขณะนี้เหลืออีกเพียง ๑๕ นาทีจะ ๕ โมง จึงขอสรุปกิจกรรมนี้(ดังที่ว่าไปแล้ว) และขอให้ทุกคนกลับไปที่เดิม ซึ่งทุกคนก็ลุกกลับไปที่เดิมอย่างดี

กิจกรรมต่อไป คือ การเขียนเป้าหมายชีวิต โดยผมแจกกระดาษเปล่าคนละแผ่น แล้วให้แต่ละคนเขียนเป้าหมายชีวิตของตัวเอง จะมีกี่เป้าหมายก็ได้ แต่ในทุกๆ เป้าหมายจะต้องเขียนระบุด้วยว่า ทำไมจึงมีเป้าหมายนั้น และมีความคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายนั้น สุดท้ายให้ทุกคนนึกถึงหลักคิดหรือหลักการที่ตัวเองใช้ยึดถือในการดำเนินชีวิต (โดยผมมีตัวอย่างที่ผมเขียนเป้าหมายด้านสุขภาพของผมให้ดู) เมื่อเขียนเสร็จแล้วให้ใส่ลงในแฟ้มชีวิต ต่อจากเส้นทางชีวิต โดยหากเขียนไม่เสร็จในบ่ายวันนี้ก็ให้ไปคิดและเขียนต่อเวลาอื่นได้ (การบ้าน) และข้อเขียนทั้งหมดนี้ก็ให้ทุกคนเก็บไว้เอง อยากเปิดเผยก็เปิดเผย ไม่อยากก็ไม่ต้องเปิดเผย แต่ในคือวันที่ ๒ ของการสัมมนา ขอให้นำสิ่งที่เขียนเรื่องเป้าหมายชีวิตนี้มาด้วยเพื่อทำกิจกรรมจัดระบบระเบียบชีวิตต่อ ในกิจกรรม "ปอกหัวหอม" "การจัดการเวลา" และ "การจัดการสุขภาพ"

(ยังไม่จบครับ มีต่อในบันทึกต่อไป) 

 

หมายเลขบันทึก: 149044เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2007 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ อ.สุรเชษฐ

อาจารย์สบายดีนะคะ..อ่านแล้วเบิร์ดนึกถึงรายการเศรษฐกิจพอเพียงทางช่อง 9 วันเสาร - อาทิตย์์ตอนบ่าย 3 ขึ้นมาเลยล่ะค่ะ เพราะเป็นการวิเคราะห์ตัวเอง ก่อนที่จะก้าวเดินและในระหว่างที่ก้าวเดินก็ต้องมีการวิเคราะห์ตัวเองไปทุกย่างก้าวเช่นเดียวกันแบบฝึกสติเลยนะคะ

เราคงไปไม่ถึงไหนนะคะถ้าเราไม่รู้จักตัวเองทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งด้วยการมองเห็นตัวเราจริงๆ ถนนชีวิตบอกทุกอย่างได้หมดจด กระบวนการกลุ่มทำให้ทราบว่าไม่ได้มีเพียงแค่เราคนเดียวที่มีปัญหานี้ เห็นความเป็น universal ..อาจารย์เก่งมากเลยค่ะที่สามารถดึงตัวภายในของผู้เรียนออกมาได้..ชื่นชมกับการดำเนินงานที่มีคุณค่าของมหาวิทยาลัยชีวิตมากๆค่ะ

^ ^ 

อยากเข้ารับการฝึกอบรมด้วยจัง เป็นไปได้ไหมครับ อยากเรียนรู้ครับ

ผมอ่านวิธีการของอาจารย์แล้วชอบมากครับขออนุญาติอาจารย์นำเอาวิธีการนี้มาทดลองใช้กับกิจกรรมการบริหารจัดการชีวิตที่ผมรับผิดชอบกิจกรรมนี้อยู่จะได้ไหมครับอาจารย์ครับ

อาจารย์ครับไม่ทราบมีวิการต่อจากนี้ไหมครับ อยากทราบวิการจัดระบบระเบียบชีวิตครับ ถ้ามีขอความอนุเคราะห์อาจารย์จัดส่งเป็นเมล์ให้ก็ได้ครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆครับ

หนุ่มปูนลำปาง

วิธีการที่ใช้นำมาจากวิชาการจัดการความรู้ การวางเป้าหมายและแผนชีวิตที่ผมสอนอยู่ ลองเข้าไปดูในเว็บไซต์รายวิชาแล้วดาวน์โหลดคู่มือนักศึกษามาดู

http://www.rulife.net/course/view.php?id=2

หทัยชนก ศิริบุญอนันต์

อยากมีส่วร่วมในการเรียนรู้จัง

ติดต่อที่ไหนได้มั้งค่ะ...เพราะทำงานเกี่ยวกับสุขภาพ...ส่งลุกน้องไปเรียน..ทำการบ้านให้ลูกน้อง..ก้อเลยอยากเรียนด้วยซะเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท