ฤๅ…ฟางเส้นสุดท้าย…จะถูกเผา


ฤๅ…ฟางเส้นสุดท้าย…จะถูกเผา

ศูนย์ปฏิบัติการข่าวเกษตรสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 042-465345

ฤๅฟางเส้นสุดท้ายจะถูกเผา

          ในอดีต ชาวนาใช้แรงงานจากสัตว์เลี้ยงในการทำนา โดยอาศัยฟางข้าวเป็นอาหารให้สัตว์เลี้ยงกินในฤดูแล้งที่ไม่มีหญ้าฟางข้าวจึงเป็นผลพลอยได้จากการทำนาที่มีคุณค่าซึ่งต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี โดยส่วนใหญ่นิยมเก็บโดยก่อเป็นลอมฟาง  ปัจจุบันรถไถนารุ่นต่างๆ ได้เข้ามาแทนที่แรงงานสัตว์เกือบทั้งหมด ฟางข้าวจึงลดความสำคัญลง...ในสายตาของชาวนา ยิ่งไปกว่านั้น ชาวนาหลายคนกลับมองว่า ฟางข้าวเป็นภาระที่จะต้องจัดการ และวิธีจัดการกับฟางข้าวที่แห้งกรอบ บนที่นาอันกว้างใหญ่ได้ง่าย และประหยัดต้นทุนมากที่สุดคือการเผาฟางในที่นา 1 ไร่ มีฟางข้าวประมาณ 0.32-1.60 ตันต่อหนึ่งฤดูปลูก ประกอบด้วยธาตุอาหาร คือ ไนโตรเจน 9 กิโลกรัม ฟอสฟอรัสและกำมะถัน 2 กิโลกรัม โปรแตสเซียม 25 กิโลกรัม ซิลิกา 70 กิโลกรัม แคลเซียม 6 กิโลกรัม แมกนีเซียม 2 กิโลกรัมรวมธาตุอาหาร 114 กิโลกรัม

ถ้าจัดการฟางโดยการเผา นอกจากความร้อน 4,300 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม แล้ว จะได้เพียง ขี้เถ้า ถ่าน และสารระเหย 73.0,18.3 และ 74.4 % ตามลำดับ และอาจก่อให้เกิดปัญหาอัคคีภัย มลพิษทางอากาศ หรือเกิดปัญหาจราจรได้

การเผาฟาง 50 ตัน (ที่นาประมาณ 50 ไร่) จะสูญเสียไนโตรเจน 45 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส 10 กิโลกรัม โปรแตสเซียม 125 กิโลกรัม กำมะถัน 10 กิโลกรัม และจะสูญเสียอินทรีย์วัตถุที่เป็นตัวปรับสภาพดินให้เหมาะสมต่อการทำนา ซึ่งดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง จะต้องมีอินทรีย์วัตถุสูงกว่า 3.5 % แต่ในดินนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นดินทราย มีอินทรีย์วัตถุเพียง 0.72 % ดินนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงต้องการฟางข้าวเป็นอย่างมาก

เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสเปลี่ยนภาระที่ต้องจัดการฟางข้าว เป็นโอกาสที่จะเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่ดินโดยการใช้ฟางข้าว ตัวอย่างเช่น ที่สถานีทดลองข้าวจังหวัดสุรินทร์ มีอินทรีย์วัตถุในดินต่ำมาก  เนื้อดินเป็นดินทราย  การเจริญเติบโตข้าวไม่ดี  ปักดำลำบาก  ต้องรีบปักดำหลังการทำเทือกภายใน  6  ชั่วโมง เพราะดินจะยุบตัว แน่น แข็ง ปักดำไม่ได้ จึงใช้วิธีไถกลบตอซังทุกปี และนำฟางข้าวมาทำปุ๋ยหมักใส่กลับลงไปในนา รวม 18 ปี ปรากฏว่า ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิม 200 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 550 กิโลกรัม/ไร่ อินทรีย์วัตถุเพิ่มจาก 0.2 % เป็น 0.8 %     ซึ่งสอดคล้องกับการทดลองใช้ฟางข้าวคลุมดินโดยไม่ไถพรวนในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ติดต่อกัน 4 ปี ทำให้อินทรีย์วัตถุเพิ่มขึ้น 25 % และยังช่วยลดความเป็นพิษของดินเค็มลง ส่งผลให้ได้ผลผลิตข้าวมากกว่าแปลงที่ใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว โดยได้ข้าวประมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่

 ฟางข้าวเผาเองหรือปล่อยให้ไฟลามทุ่งเสียโอกาสเท่ากันก่อนฟางเส้นสุดท้ายจะถูกเผาก่อนปุ๋ยอินทรีย์จะกลายเป็นเถ้าไถกลบฟางเข้าแล้วข้าวจะงาม*******************************************************************
งานข้าว: 12     นายปรีดา  บุตรดีวงศ์ :นวก.6 :เรียบเรียง
หมายเลขบันทึก: 148367เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2007 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท