หมอบ้านนอกไปนอก(35): ตั้งใจฟัง


เราชอบฟังคำชมมากกว่าคำวิจารณ์ คำชมเป็นเพียงยาหอมสำหรับจิตใจในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีต ในขณะที่คำวิพากษ์วิจารณ์คือพลังที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคตของตัวเรา

               อากาศที่หนาวเย็นลงมาเหลือสามถึงห้าองศาเซลเซียสต้อนรับสัปดาห์ที่ 10 ของการเรียนที่เบลเยียม ได้รับข่าวดีของชาวโรงพยาบาลบ้านตากที่มีผู้สร้างและอัญเชิญพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเกือบเท่าองค์จริงมามอบให้เพื่อประดิษฐานไว้ที่โรงพยาบาลบ้านตากให้เจ้าหน้าที่และประชาชนได้สักการะบูชาเป็นมิ่งมงคลแห่งชีวิต และขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่บริจาคเงินค่าตอบแทนหน่วยบริการปฐมภูมิทั้งหมดเพื่อก่อสร้างฐานพระบรมรูปฯ สำหรับการเรียนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่อนข้างสบายแล้วก็ฟังอาจารย์รู้เรื่องเกือบทั้งหมด

               วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน เรียนวิชาสังคม-มานุษยวิทยาและวิชาสถิติ มีเวลาว่างให้ทำงานที่ได้รับมอบหมายและจะนำเสนอในสัปดาห์หน้า ฝนตกทั้งวัน

               วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน เรียนเหมือนเมื่อวานนี้ ตอนเย็นไปเรียนคอร์สภาษาอังกฤษ อาจารย์ให้อามีนกับอันวาร์มาเล่าเกี่ยวกับประเทศของเขาคือบังกลาเทศและอัฟกานิสถาน ตอนขี่จักรยานไปเรียนฝนตกปรอยๆ ขากลับดีหน่อยฝนหยุดตกแต่หนาวมาก ต้องใส่ชุดกันหนาวไปเต็มที่ทั้งหมวกไหมพรม ผ้าพันคอ ถุงมือ ลองจอน เสื้อกันหนาว เสื้อกันลมพร้อมร่มอีก 1 คัน

                อามีนบอกว่าบังกลาเทศเป็นเหมือนกระเพาะอาหารของอินเดีย เดิมเป็นประเทศเดียวกันรวมปากีสถานด้วย แล้วก็ได้อิสรภาพจากอังกฤษแยกจากอินเดียแต่รวมกับปากีสถาน ต่อมาจึงได้แยกเป็นอิสระอีกทีหนึ่ง มีแม่น้ำ 223สาย มีประชากรเยอะมาก ความหนาแน่นเกือบสูงที่สุดในโลก เฉพาะเมืองหลวงทากา/ดากา (บ้านเราเรียกดักกา) มีพลเมืองถึง 30 ล้านคน มีคนเชื้อชาติบังกลาเทศได้รางวัลโนเบลแล้ว 3คน คนล่าสุดคือผู้ก่อตั้งธนาคารคนจน (Gramine bank)ชื่อยูนุส (Mohamad Yunus) อีกคนคือระพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore)สาขาวรรณกรรม (อยู่ที่อินเดีย) และอมาตยา เซ็น (Amartya Sen)สาขาเศรษฐศาสตร์ (อยู่ที่อินเดีย) ส่วนของอัฟกานิสถาน ฟังไม่ค่อยทัน รู้แต่ว่ามีปัญหาเรื่องสงครามจากกลุ่มตาลีบันที่อยู่บริเวณภูเขาสูง หลายพื้นที่มีความเสี่ยงอยู่ ตอนแฟนอันวาร์ลาคลอดต้องไปพักที่พม่า

                 วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน มีเรียนวิชาเหมือนเดิมและมีเรียนการค้นหาเอกสารทางวิชาการผ่านทางอินเตอร์เน็ต ได้ประโยชน์มากในการค้นหาเอกสารเพื่อทำงานวิชาการหรืองานวิจัย เช่น Pubmed

                  วันพฤหัสที่ 15 พฤศจิกายน เรียนสถิติเป็นการฝึกทำแบบฝึกหัด ผมได้ออกไปนำเสนอหน้าชั้น คาบที่สองเป็นการแนะนำเพื่อเตรียมตัวนำเสนอในสัปดาห์หน้า มีการพูดถึงผลสอบวิชาแรกที่สอบไปที่มีการทำกราฟเพื่อให้รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของกลุ่มและตัวแทนรุ่นได้คุยกันว่าทำให้บรรยากาศเคร่งเครียดมาแข่งเอาชนะกัน อาจารย์วาลาเรียบอกว่า ทำไมต้องมาเคร่งเครียด เอาจริงเอาจังกับคะแนนสอบมากกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน ดีกว่าไปหมกตัวอยู่ในห้องเพื่ออ่านตำราสอบเยอะ ถ้าคะแนนต่ำสุดที่ผ่านคือ 10 คุณจะได้ 10 หรือ 30 ก็คือผ่านเหมือนกัน ผมคิดว่าอาจารย์ก็ให้ข้อคิดดีและบอกเรื่องรูปแบบการสอบที่มีทั้งสอบปากเปล่า เขียนบรรยายและกรณีตัวอย่าง ไม่ต้องเครียดแต่ต้องสอบ

               หลังจากนั้นก็พูดถึงเรื่องการนำเสนอ ขออาสาสมัครนำเสนอก่อนในวันจันทร์ ผมยกมือเป็นคนแรก และครบสิบคนในแต่ละวัน ผมคิดว่านำเสนอเสร็จเร็วก็หายเครียดเร็วแล้วก็ท้าทายตัวเองดี พอเลิกเรียนอยู่พบอาจารย์ประจำกลุ่มเรื่องนำเสนอร่วมกับบาชีร์ (ไนจีเรีย) และริด้า (กัมพูชา) อาจารย์ดูสไลด์นำแล้วมีแก้ไขเล็กน้อย (ผมคิดว่าอาจารย์ไม่ให้ใครตกอยู่แล้ว จึงกล้านำเสนอก่อน) นอกจากนำเสนอแล้ว ต้องเป็นผู้นำการประชุมกันคนละครั้งด้วย ผมไม่ค่อยกังวลตอนนำเสนอ แต่ตอนที่เขาถามนี่สิ ไม่รู้จะฟังเขาถามรู้เรื่องหรือตอบตรงกับที่เขาถามหรือเปล่า แต่เดอะโชว์มัสท์โกออน (The show must go on) ไม่มีใครรู้เรื่องของ (ประเทศ) เรา เท่าเราหรอก ตอบยังไงก็ได้ (อันนี้คิดในใจนะ) ตอนพักกลางวันกลับบ้านพักมาต่อสไกป์คุยกับแม่และน้องแคน น้องแคนบอกว่าเมื่อวานก่อนครูถามว่าใครสอนการบ้านภาษาไทยให้ แคนบอกว่าพ่อสอน ครูตกใจเลยว่าสอนได้อย่างไร อยู่คนละประเทศ ลูกก็บอกเรื่องใช้สไกป์คุยกัน

                  วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน ไม่มีเรียน ให้เตรียมนำเสนอ ผมกับริด้าไปพบอาจารย์วาลาเรีย (แทนอาจารย์บรูโนที่ไปอูกานดา) เพื่อพิจารณาสไลด์อีกครั้ง มีการแก้ไขบ้างเล็กน้อย อาจารย์วาลาเรียบอกว่าเข้าไปอ่านที่ www.phichetbanyati.gotoknow.org แล้ว ผมทำสรุปบทเรียนใส่ไว้ให้เพื่อนๆเตรียมตัวอ่านก่อนสอบ อาจารย์บอกว่าสั่งพิมพ์ออกมาแล้ว จะอ่านดูว่ามีอะไรที่ผมเข้าใจผิดหรือเปล่า จะช่วยแก้ไขให้ เสร็จแล้วก็เล่นปิงปองกับคริส (เคนยา) ไป 3 เซ็ต แล้วก็กลับบ้านมาคุยกับน้องแคนและภรรยา ขิมกับขลุ่ยหลับไปแล้วเพราะต้องตื่นแต่เช้าไปร่วมงานแข่งกีฬาที่โรงเรียน แคนเอาวีดีโองานกีฬาโรงเรียนมาให้ดู แคนถือธง ขิมเป็นเชียร์ลีเดอร์ ส่วนขลุ่ยยังเล็กได้แต่ร่วมเดินพาเหรด วันนี้คุยกับภรรยาและลูกเกือบสามชั่วโมง อิ่มใจมากเลย

                 วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน ตื่นเช้าอ่านหนังสือ ทำกายบริหาร ฟังเทปภาษาอังกฤษ คุยกับน้องแคนแล้วก็ออกไปจ่ายตลาดวันเสาร์ ต้องซื้อของมาตุนไว้มากหน่อยเพราะเสาร์หน้าสถาบันจะพาไปเที่ยวบรัสเซลส์อีกทั้งวัน เที่ยงวันนี้สถาบันพาไปที่รัฐสภาของเขตฟลันเดอร์เมืองบรัสเซลส์ มีฟังบรรยายจากคอลัมนิสต์เกี่ยวกับการปกครองของเบลเยียมแล้วก็พาชมที่ทำการรัฐสภา ตึกนี้สร้างเมื่อปี ค.ศ.1905 แล้วนำมาปรับปรุงใหม่โดยช่างชาวเฟลมมิชล้วนๆ มีห้องประชุมสภาทำเป็นห้องโดม หลังคาเป็นกระจกใส มองเห็นท้องฟ้าได้สบาย ตรงประตูทางเข้าพื้นเป็นกระจกมองเห็นชั้นล่างได้ นัยว่าเป็นการเตือนนักการเมืองว่าให้มีความโปร่งใสในการทำงาน มีตัวแทน (คล้าย สส.) 124 คน มีคณะกรรมาธิการ 12 ชุดๆหนึ่งมีกรรมการ 15 คน มีห้องประชุมขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ไว้ให้ประชุมกัน แต่ละห้องจะมีโต๊ะประชุมแบบวงกลมหรือแบบวงรีทั้งหมด พร้อมมีงานศิลปะประจำอยู่ทุกห้อง

                ห้องแรกที่ไปดูเป็นภาพวาดศิลปะและมีหลอดไฟนีออนขดเป็นตัวหนังสือเขียนเป็นภาษาดัชท์ มีความหมายว่า “คนเราไม่เคยเหมือนกัน แตกต่างกันเสมอ” (Never the same, always difference) อีกห้องก็เป็นภาพวาดเช่นกันพร้อมกับประโยคประกอบว่า “รักตัวเองก่อนเพื่อที่ว่าคุณจะได้รักคนอื่นเป็น” (Love yourself, so you can love somebody else) อีกห้องหนึ่งใต้เพดานห้องเป็นแตรทองเหลืองขดรอบเกือบเต็มพื้นที่ห้อง มีสองอัน อันสั้นมีความยามเท่ากับรัศมีของวงขดของแตรทั้งหมด ให้ความหมายไว้ว่า Talk the rest of the world อีกห้องหนึ่งทำเป็นเหมือนลูกทรงกลมห้อยอยู่บนเพดานชื่อว่า ครึ่งตัน (Half a ton) มีความหมายว่า เขตฟลันเดอร์ เป็นส่วนหนึ่งของโลก (Flander: part of the world) ที่ชั้นสองบริเวณทางเดินมีภาพวาดของผู้ชายสองคน คนหนึ่งหันหลัง อีกคนหนึ่งหันหน้า มีกรอบหินอ่อนสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ด้านข้าง ส่วนบนเป็นช่องว่าง ส่วนล่างเป็นกระจกเงา มองแล้วเหมือนมีกระจกทั้งส่วนบนส่วนล่าง เห็นภาพพื้นต่อเนื่องกันจนแยกไม่ออก ศิลปะบริเวณนี้มีชื่อว่า หลงอำนาจ (Delusion of power)

                   ตอนนั่งฟังบรรยายแรกๆก็ฟังรู้เรื่อง ฟังๆไปเริ่มเบื่อ ก็รู้สึกว่าไม่รู้เรื่องขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็หลับ ผมก็สงสัยว่าเวลาคุยกับเพื่อนกันสองสามคน ทำไมฟังรู้เรื่อง แต่ฟังบรรยายไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็มาจับสังเกตได้ว่า ถ้าตั้งใจฟังก็พอฟังรู้เรื่อง แต่ถ้าคิดว่าฟังไปก็ไม่รู้เรื่องเมื่อไหร่ มันก็ไม่รู้เรื่องจริงๆ มีวันหนึ่งลืมเอาเอกสารไปเรียน นั่งฟังอย่างเดียว กลับฟังได้รู้เรื่องดีมาก แสดงว่าถ้ามัวจดจะไม่ได้ฟัง แล้วก็เลยไม่รู้เรื่อง หรือบางทีใจลอยบ้าง ขี้เกียจฟังบ้าง หลับบ้าง ก็ยิ่งไปกันใหญ่เลย

                  การฟังเป็นเรื่องยากและซับซ้อน บางคนไม่ได้ฟังอย่างตั้งใจที่จะเข้าใจ บางคนพร้อมที่จะสร้างข้อถกเถียงในใจขณะฟัง การฟังที่มีประสิทธิภาพบ่งบอกว่าเราได้ยินว่าเขาพูดอย่างไร เข้าใจข้อความที่เขาส่งมาได้อย่างเพียงพอและสามารถสะท้อนกลับได้อย่างเหมาะสม ต่อสู้กับสิ่งรบกวนต่างๆ หรือจากเสียงพูดสอดแทรกของคนอื่นๆ ฟังให้เขาพูดให้จบ ฟังความหมายที่เขาสื่ออกมา ระวังการตีความในกรอบที่แตกต่างกัน ให้ความสนใจไม่ใช่เฉพาะคำพูด แต่ให้ดูความหมาย อารมณ์ ความรู้สึก สะท้อนข้อความที่ไม่เข้าใจเพื่อสอบถามให้เข้าใจ มีการเอาใจใส่ในผู้พูด (Empathy) แต่ไม่จำเป็นต้องใส่อารมณ์ตามผู้พูดไปด้วย (Sympathy) เข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้พูดในจุดที่เขาเป็นอยู่ การรับรู้ความหมายที่ผู้พูดสื่อออกมาอาจผิดพลาดไปได้หากไม่ได้เอาใจใส่ในการฟังหรือฟังแบบมีอารมณ์ร่วมมากเกินไปกับความรู้สึกของคนพูด การเป็นผู้ฟังที่ดีต้องมีทัศนคติการฟังที่ยืดหยุ่น สามารถตอบสนองหรือปรับตัวตามสถานการณ์ได้ การฟังจะสัมพันธ์กับการถามด้วย

                 เราชอบฟังคำชมมากกว่าคำวิจารณ์ คำชมเป็นเพียงยาหอมสำหรับจิตใจในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีต ในขณะที่คำวิพากษ์วิจารณ์คือพลังที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคตของตัวเรา หากมัวยึดติดหรือหลงระเริงกับคำชม แม้เป็นคำชมที่จริง เราก็จะหลงติดอยู่ในกับดักของอดีต ฝันถึงอดีตที่สำเร็จมากเกินไปจนไม่อยากปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่ๆเพราะกลัวล้มเหลวหรือกลัวไม่สำเร็จได้คำชมเหมือนที่เคยทำมากลายเป็นกักขังตัวเองต่อการทำสิ่งใหม่ๆไปได้ แต่ถ้าเป็นคำชมที่ไม่จริงด้วยแล้ว ก็หาเกิดประโยชน์อันใดไม่ นอกเสียจากภาพลวงตาที่ทำให้เราประมาท

                  คิดถึงตอนเรียนมัธยม อ่านหนังสือเองจนจบชั้นมอหกโดยไม่เรียนพิเศษตั้งแต่จบชั้นมอห้า ทำให้หลงละเลิงว่าตัวเองอ่านหนังสือเองได้เข้าใจ พอมาทำงานแล้วได้ฟังบรรยายอบรมก็ไม่ค่อยตั้งใจฟังจริงจังเพราะเดี๋ยวก็กลับมาอ่านเองได้ แต่พอมาคิดดีๆแล้ว ตอนอยู่มัธยมนั้นพออ่านมาแล้ว ผมก็ได้ตั้งใจฟังอาจารย์ที่สอนอย่างจริงจังโดยไม่เคยหลับในห้องเรียนเลย ทำให้ได้อาจารย์ช่วยสอนให้มีความเข้าในเนื้อหาวิชาที่เราอ่านมามากขึ้น เข้าใจมากขึ้นเพราะอาจารย์ที่สอนมีประสบการณ์ในเนื้อหาวิชามากกว่าเรา

                   ตอนเรียนหมอ ฟังบรรยายแล้วหลับบ่อย ตอนอ่านหนังสือจึงเข้าใจได้ไม่มากเท่าตอนเรียนมัธยม เวลาทำข้อสอบคะแนนจะไม่ค่อยดี ตกทะเลอยู่เรื่อย (ทะเล = sea = ซี = C) ผมมาเริ่มหลับในห้องเรียนตั้งแต่เรียนแพทย์ปี 1 เทอมสอง ครั้งนั้นจำได้ว่า รู้สึกว่าเนื้อหาในวิชาที่เรียนบางวิชาน่าเบื่อ ไม่รู้จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร พอมีทัศนคติแบบนี้ปุ๊บ ใจเราก็ตอบสนองปั๊บเลย ถ้าน่าเบื่อก็อย่าฟัง พอเราไม่ฟัง สมาธิก็หลุดหายไปจากการฟัง ปล่อยให้จิตใต้สำนึกฟังแทนแล้วก็หลับ ผลการเรียนออกมาก็ไม่ค่อยดีนัก ตอนสอบต้องอ่านหนังสือมากขึ้นแต่ก็ไม่ค่อยจำเพราะไปอ่านอัดๆความรู้เข้าสู่สมองส่วนความจำมากเกินไปในระยะเวลาสั้น ก็เลยทำให้จำไม่ได้ เวลาสอบแทนที่จะใช้ทักษะความรู้ก็ใช้ทักษะการเดาไป

                  พอมาเปรียบเทียบการเรียนหนังสือในสองช่วงเวลาตอนมัธยมกับมหาวิทยาลัย ทำให้เห็นวิธีการเรียนได้ชัดเจนว่า การเรียนที่ดีต้องมีทั้งการอ่านและการฟัง การอ่านเป็นการทำความเข้าใจกับความรู้เชิงทฤษฎีในเอกสารตำรา (Explicit knowledge) ส่วนการฟังเป็นการสกัดเอาความรู้จากตัวอาจารย์ผู้สอนที่มีทั้งความรู้จากตำราและประสบการณ์ ทักษะที่อยู่ในตัวอาจารย์ (Tacit knowledge) จะทำให้เราเข้าใจและทำข้อสอบได้ดี ตอนเรียนโทนิด้า ก็หลับบ่อย แต่หลับช่วงสั้นๆ (การหลับช่วงสั้นๆเป็นการเติมพลังสมอง แต่ควรหลับตอนพักเที่ยงหรือพักเบรกสัก 15-30 นาที ถ้าเกินกว่านี้จะให้ผลตรงกันข้ามคือซึมเซามากกว่าเดิม ตอนนี้ที่ญี่ปุ่น มีหลายบริษัทที่จัดห้องนอนกลางวัน ไม่เกินครึ่งชั่วโมงไว้ให้พนักงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วย)

                   ช่วงที่มีกิจกรรมกลุ่ม นำเสนอ ช่วงอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้กันจะไม่หลับ แล้ววิชาไหนที่ชอบ (บางทีชอบเนื้อหา บางทีชอบวิธีสอนของผู้สอน) ก็จะไม่หลับ แล้วก็กำหนดได้ด้วยว่า วิชานี้ต้องไม่หลับ วิชานี้ก็แล้วแต่บรรยากาศ ถ้าชวนให้ง่วงก็หลับ (บ้าง) แต่ตอนเรียนทำคะแนนได้ดีเพราะข้อสอบเป็นบรรยาย เปิดโอกาสให้ใช้ความรู้ในตำราและความรู้จากประสบการณ์มาตอบได้ ทำให้ไม่ต้องอ่านหนังสือมากและอีกอย่างที่ช่วยมากก็คือตอนทำกิจกรรมกลุ่มหรือแบบฝึกหัดก็เอาสถานการณ์จริงในการบริหารจัดการมาใช้เลย รวมทั้งต้องติวเพื่อนๆให้เข้าใจ ทำให้เข้าใจได้ดีมาก พอเข้าใจก็ไม่ต้องจำมาก เพราะมันเข้าไปฝังอยู่ในใจแล้ว จึงเรียกว่า เข้าใจ (ไม่ใช่เข้าจำ) ภาษาไทยใช้คำที่มีความหมายดีมาก

                    การจำใช้สมองเป็นหลักทำให้มีความสามารถหรือสมรรถนะ (Competency) แต่การเข้าใจ ใช้ทั้งสมอง (ความสามารถหรือCompetency) และใจ (ความมุ่งมั่นทุ่มเทหรือCommitment) ทำให้สามารถแปรเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติจริงได้ง่าย ประสบความสำเร็จได้สูง สังเกตง่ายๆเวลาเรียนคณิตศาสตร์ ถ้าจำสูตรเวลาเข้าห้องสอบอาจใช้สูตรแก้โจทย์ไม่เป็นแต่ถ้าเข้าใจสูตร จะประยุกต์ดัดแปลงโจทย์คำถามอย่างไร ก็ใช้สูตรแก้ได้

                   การเข้าใจทำให้คนเราใช้สมองมากกว่าที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน (ปกติคนส่วนใหญ่จะใช้ศักยภาพของสมองตนเองแค่ 20% ตลอดชีวิต ความสามารถอีก 80 % ไม่ได้ถูกนำมาใช้จนตาย) คนที่ทำอะไรๆได้มากกว่าคนอื่น สร้างสรรค์ผลงานได้มากกว่าคนอื่นๆเพราะเขาดึงศักยภาพออกมาใช้มากกว่า 20% ธรรมชาติมีความเป็นธรรมพอไม่ได้สร้างความสามารถของสมองให้คนแต่ละคนมากน้อยกว่ากัน (ยกเว้นความผิดปกติบางอย่างที่ทำให้สมองผิดปกติ เช่น ปัญญาอ่อน โครโมโซมผิดปกติหรือเหตุจากภายนอกต่อสมองเช่น การกระทบกระแทก การขาดออกซิเจนตอนแรกเกิด) เพียงแต่ว่าความสามารถในการดึงศักยภาพของสมองออกมาใช้งานของแต่ละคนจะต่างกัน ปัจจัยตรงนี้มาจากใจโดยตรง ใจเป็นตัวกำหนดทัศนคติ ทัศนคติเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมหรือการปฏิบัติ เป็นตัวบอกเราว่าฉันทำได้หรือฉันทำไม่ได้

                  ผมคิดว่า การศึกษาที่ดี ต้องกระตุ้นให้คนสามารถดึงเอาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเขาให้ออกมาสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมให้ได้มากที่สุด สิ่งที่ดึงออกมานี้จะปรากฏออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า พรสวรรค์ ซึ่งจัดเป็นความรู้ในตัวคน (Tacit knowledge) ชนิดหนึ่ง การดึงศักยภาพมาใช้มากๆเป็นการเพิ่มความลึกและรอยหยักในสมองทำให้ดูฉลาดขึ้น เป็นการเพิ่มร่องรอยความสามารถให้แก่สมอง

                  การฟังที่ดี ช่วยสร้างความเข้าใจอย่างมาก จะให้เข้าใจต้องตั้งใจ (ใช้คำว่าตั้งใจ ไม่ใช่ตั้งสมอง) เมื่อตั้งใจฟังก็ได้ประโยชน์จากการฟังอย่างมาก บางทีฟังคำพูดไม่ออกว่าเขาพูดอะไร แต่เมื่อตั้งใจฟังก็จะเข้าใจได้ว่าเขากำลังสื่ออะไร ผมเคยคิดว่าผมฟังเป็น แต่มารู้ว่าฟังไม่เป็น เมื่อมาฟังภาษาอังกฤษ เดิมใช้การอ่านเป็นหลักในการสร้างความเข้าใจ พอฟังภาษาไทยด้วยความเคยชินก็เลยฟังจับใจความได้เร็ว แม้ฟังเพียงบางส่วนก็ตาม การฟังไม่เป็น ทำให้ถามไม่เป็นไปด้วย มีคนเคยบอกว่า การดูความฉลาดของคน ไม่ได้ดูที่คำตอบแต่ให้ดูที่คำถามของเขา

                  ตอนอ่านบทความภาษาอังกฤษ 10 กว่าหน้าหรืออ่านหนังสือเตรียมสอบ 20 กว่าหน้า เปิดดิกชันนารีดูคำแปลศัพท์ไม่ถึง 10 คำ แสดงว่ารู้ศัพท์ไม่น้อยแล้ว แต่ทำไมฟังภาษาอังกฤษไม่ออก นั่นเป็นเพราะเราไม่ค่อยยอมรับภาษาที่เราไม่คุ้นเคย ทำให้ไม่อยากฟัง ไม่สนใจฟังก็เลยไม่รู้เรื่อง

                   เรามักจะเลือกฟังในสิ่งที่เราอยากฟังหรือเราคุ้นเคย ถ้าเราตั้งใจฟังทั้งหมด เราจะเก็บสิ่งที่เราคาดไม่ถึงไปได้ ตอนฟังอย่าเพิ่งคิด ฟังเสร็จแล้วค่อยคิด หยุดคิด การฟังที่ถือว่าสุดยอดคือการได้ยินในสิ่งที่เขาไม่ได้พูด อย่างนี้เรียกว่าDeep listening ซึ่งจะใช้มากในเวทีKM (พูดอย่างจริงใจ ฟังอย่างตั้งใจ ถามอย่างซาบซึ้งใจ จดอย่างเข้าใจใส่ใจ) ที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้ชนิดที่เป็นความรู้ฝังลึกหรือความรู้ในตัวคนที่ปฏิบัติงานจริงออกมา การฟังอย่างลุ่มลึกหรือฟังอย่างตั้งใจ จะช่วยดูดหรือสกัดเอาความรู้ฝังลึกจากประสบการณ์ ทักษะ สามัญสำนึก หรือพรสวรรค์ออกมาได้มาก

                    ผมรู้สึกว่า การตั้งใจฟังบรรยายนี่ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน เนื้อหาที่ฟังไม่ค่อยยาก แต่ทำใจให้นิ่งอยู่กับการฟังนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ผมต้องทำให้ได้ อาจารย์หมอประเวศบอกว่า การที่เราฟังใคร แสดงว่าเราเคารพคนๆนั้น การฟังจึงเป็นรูปธรรมของการเคารพความรู้ในตัวคน เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการจัดการความรู้ที่เน้นความรู้เชิงปฏิบัติที่ซ่อนอยู่ในตัวคนแต่ละคน ผมเป็นวิทยากรบรรยายให้ผู้เข้าประชุมหลายที่ที่เน้นให้ฟังอย่างตั้งใจ ตอนนี้ผมก็รู้ตัวเองว่า ต้องฝึกฟังให้เป็นเช่นกัน

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52

2000 Antwerp, Belgium

17 พฤศจิกายน 2550

21.15 น. ( 03.15 น.เมืองไทย )
หมายเลขบันทึก: 147317เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2007 03:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดูท่าทาง boss จะสนุกกับการเรียนและสิ่งใหม่ๆได้ตลอดเวลานะค่ะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

ปิย์ก็เชื่ออยู่ว่า

"คนเราไม่ต้องเก่งทุกอย่างแต่จงมีความสุขกับทุกสิ่งที่ได้ทำค่ะ"

และเชื่อว่า boss มีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำ (แถมเก่งอีกตะหาก เชื่อเลย 555)

 

 

 

ติดตามผลงานรพ.ของท่านมาตลอด ทีมwork เยี่ยมจริงๆค่ะ ผลงานจึงออกมาดี  ไม่มีหยุด

สวัสดีปิย์

ขอบคุณมากที่เข้ามาร่วมแจม ช่วงนี้ดูแลตัวเองเยอะๆนะ อย่าหักโหมงานมากเกินไป ลอยกระทงปีนี้เป้นไงบ้าง สุขสันต์วันลอยกระทงนะ

 

ขอบคุณครับคุณวิลาวัณย์

ขอบคุณมากครับสำหรับกำลังใจและคำชมที่มีให้ชาวโรงพยาบาลบ้านตากครับ Happy Loy Krathong Day ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท