ไสต้นทง ชื่อนี้มีอะไร


            หลังจากอิ่มท้องกันแล้ว ดิฉันเดินลัดเลาะไปด้านหลัง ได้พบกับกลุ่มแม่บ้านนั่งอยู่ประมาณ 3-4 คน ทักทายพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ ถึงที่มาที่ไปของกลุ่ม มีประโยคหนึ่งที่ทำให้ชวนหาคำตอบ  กลุ่มนี้พวกเราสร้างขึ้นเอง ไม่เกี่ยวกับราชการทำให้น่ะ    อืม !!!  น่าสนใจกับประโยคที่ชวนให้ค้นหาจริง ๆ  เขากล้าพูดขนาดนี้ได้คงไม่ธรรมดาเสียแล้วล่ะ        

             ชุมชนไสต้นทง   ไส ภาษาใต้ แปลว่า ป่าละเมาะ ตั้งอยู่ที่ตำบลท้ายสำเภา อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช  เส้นทางของชุมชนสร้างสุขแห่งนี้ เริ่มขึ้นจาก ประธานกลุ่ม อ.สมพงศ์ สงวนพงศ์ อดีตข้าราชการครูที่เกษียณก่อนกำหนด เพราะรู้สึกอึดอัดกับระบบการศึกษา  อาจารย์เกริ่นให้ฟังว่า ระหว่างที่เป็นครูนั้นได้คลุกคลีกับเด็กนักเรียน พานักเรียนทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันก็มักมีคำถามในใจกับระบบใหญ่ทั้งระบบของ  การศึกษา   ว่ามันใช่หรือเป็นแนวทางที่ถูกต้องจริงหรือ ทำไมการศึกษาจึงทำให้คนหันหลังทิ้ง ถิ่น ของตนมากขึ้นทุกขณะ  ยิ่งเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไปคำถามในใจดูจะชัดเจนขึ้นทุกทีเช่นกัน แต่ไม่เคยชัดในคำตอบที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้  อาจารย์จึงคิดว่าเราน่าจะเริ่มจากตัวเองนี่แหละ  จะต้องมีโรงเรียนของตัวเอง ไม่ใช่โรงเรียนที่หวังเอากำไรแต่อย่างใด หากแต่เป็น โรงเรียนชีวิต   เมื่อกลับมาหันดูบ้านหรือชุมชนที่ตนเองอยู่ ก็ยังอยู่ในสภาพติดลบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็ก เยาวชน ที่เมื่อไปเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วกลายเป็นเด็กที่  ไม่รู้จักหวัน  คือไม่จักตะวัน หมายถึงไม่รู้เรื่องราวอะไร เอาแต่สนุกสนาน                

               เมื่อให้เวลาตนเองพิจารณาใคร่ครวญ ก็พอจะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์อยู่บ้าง ไปปรึกษาพระอาจารย์สุวรรณ วัดป่ายาง เรื่องการทำปุ๋ยหมัก นับว่าเป็นกิจกรรมแรก ๆ ที่ดึงเอาญาติพี่น้องมาร่วมกันทำก่อน  เมื่อทำ ๆ ไปก็เริ่มคิดต่อว่ากลุ่มของเราคงไม่น่าจะเป็นการรวมกลุ่มเรื่องปุ๋ยอย่างเดียว  น่าจะมีกิจกรรมอื่นมาต่อยอดในความเป็น กลุ่ม ที่เริ่มเหนียวแน่นของเราได้   จึงได้รวมตัวกับพรรคพวกที่มี “ใจ คล้าย ๆ กันมาร่วมกันคิดทำ  ค่ายเด็ก   ค่ายนี้จัดขึ้นช่วงปิดเทอม เอาลูกหลานในชุมชนญาติพี่น้องนั่นแหละ เพราะพูดกันง่ายดี   เอาเด็ก อายุตั้งแต่ 9-12 ปีมาเข้าค่ายประมาณ 20 กว่าคน 5 วัน 4 คืน พ่อแม่ไม่ต้องเสียเงิน อยากให้ลูกได้กินอะไรก็เอามาสมทบ การเข้าค่ายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัว ชุมชน อาจารย์มีความเชื่อว่า  ถ้าครอบครัวอบอุ่น จะทำอะไรก็ไม่ยาก      ปรากฎว่าพอทำค่ายได้เห็นสิ่งที่ตามมาเกินคาด นั่นคือ พ่อก็มาเตรียมสถานที่ แม่มาอยู่ในครัวทำกับข้าว  คนแก่คนเฒ่ามาเล่าเรื่องเก่า ๆ ให้ลูกหลานฟัง เรียกว่าทุกฝ่ายมีส่วนร่วม  กิจกรรมเข้าค่ายก็ไม่ได้คิดอะไรไกลตัว เน้นให้เด็ก ๆ ได้รู้จักตัวเอง รู้จักชุมชน รู้จักโลก และที่สำคัญ รู้ดี รู้ชั่ว  เพื่อเป็นภุมิคุ้มกันนั่นเอง   โครงการค่ายเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีความสัมพันธ์ ความอบอุ่นในครอบครัว ชุมชน  เป็นน้ำหล่อเลี้ยง   

              ชุมชนสร้างสุขบ้านไสตันทง ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ในใจของคนในชุมชนนั้นเอง ไม่ว่าจะเรื่อง พ่อ แม่ ลูก ดนตรี กีฬา  โดยเฉพาะเรื่องดนตรี มีการนำดนตรีพื้นบ้าน วงไหดำ มาเป็นจุดขาย เด็ก ๆ เริ่มสนใจและเริ่มหัดกันอย่างเอาจริง  จนทุกวันนี้สามารถออกงานได้อย่างสบาย  เรียกว่า วงไหดำจิ๋ว   จิ๋ว  หมายถึง สมาชิกในวงเป็นเด็ก  ๆ หาใช่ไหใบจิ๋วไม่     

                ความเข็มแข็งของกลุ่มสะท้อนได้จากคำพูดของสมาชิก ที่มาจากฐานคิดที่เข้มแข็ง  อ.สมพงศ์ เล่าว่าที่กลุ่มของเราเข็มแข็งมาขนาดนี้ เรามีหลักคิดทียึดเหนี่ยวที่ว่า   งานหรือกิจกรรมใดที่เข้ามาในกลุ่ม ถ้าดูแล้วจะทำให้กลุ่มไม่มีความสุข เราจะต้องให้กลุ่มตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ   นั่นเข้าไปไร   หากสิ่งที่คนในชุมชนช่วยกันสร้างขึ้นด้วย  พลัง ของตนเองอย่างแท้จริง ก็มั่นใจและกล้าที่จะประกาศความมีศักดิ์ศรีของตนเองได้อย่างไม่อายใคร  

              พวกเราลาจากชุมชนสร้างสุขบ้านไสต้นทง ด้วยความอิ่มท้อง อิ่มสมอง และอิ่มใจ อย่างสุดดดด 

               

หมายเลขบันทึก: 147271เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2007 20:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังค่ะเรื่องดีๆอย่างนี้ใครมี ใครพบต้องช่วยกันมาเล่าให้ได้รู้กันกว้างไกลออกไป อย่างที่อาจารย์วิจารณ์เรียกว่าเป็น "ยุทธศาสตร์ขยายความดี"

สังคมเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สังคมเป็นสุขสงบ ต้องมีคนที่กล้าคิดอะไรแตกต่างอย่างกลุ่มชุมชนไสต้นทงนี้ และกล้าที่จะปฏิเสธสิ่งที่ไม่ใช่

มีความสุขค่ะที่ได้อ่านและ เป็นความสุขที่เห็นสิ่งดีๆเกิดบนผืนแผ่นดินไทยของเราที่ทวนกระแสเช่นนี้ ต้องช่วยกันให้กำลังใจกันค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์นุช

  • ขอบพระคุณค่ะที่เข้ามาเยี่ยมเยือน
  • ยุทธศาสตร์ขยายความดี ของ อ.หมอวิจารณ์ และ แผนที่คนดี ของ ศ.นพ.ประเวศ เป็นจริงได้ในชุมชนที่คนได้ ค้นหาและใช้ศักยภาพของตนอย่างทรงคุณค่าเช่น ที่ไสต้นทง ค่ะ
  • ไปเยี่ยมที่นี่แล้ว เกิดความคิดว่า ช่วงปิดเทอมอยากพาเด็ก ๆ ที่บ้านไปเที่ยวและขอพักแบบโฮมสเตย์ ที่บ้านไสต้นทงนี่ คงจะดีไม่น้อย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท