เรื่องเล่าเช้านี้ ความสำเร็จเล็กๆ ที่ภาคภูมิใจ


ทั้งคนเล่าและคนฟังต่างก็มีความสุข

วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เป็นวันที่สองของ "กิจกรรมร่วมสร้างสรรค์พัฒนาหน่วยงาน" สมาชิกทยอยกันตื่นแต่เช้า ทันเห็นพระอาทิตย์ขึ้นเหนือขอบฟ้า เรามอบหมายให้พนักงานขับรถไปซื้อโจ๊ก ปาท่องโก๋ และหมูย่างมาเป็นอาหารเช้า กลุ่มที่นอนเบียดกัน ๗ คนในห้องเล็กๆ บางคนบอกว่านอนไม่หลับเพราะโดนเพื่อนขนาบทั้งซ้าย-ขวา แต่สีหน้าก็ยังดูแจ่มใสดี

ตามแผนที่วางไว้ ๐๘.๐๐-๑๐.๐๐ น. เป็นกิจกรรมแรกที่ตั้งชื่อว่า เรื่องเล่าเช้านี้ "ความสำเร็จเล็กๆ ที่ภาคภูมิใจ" เป็นกิจกรรมที่ให้แต่ละคนเล่าว่าในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมามีผลงานอะไรที่ตนภาคภูมิใจและเป็นประโยชน์ต่อเทพธารินทร์ ซึ่งได้ idea มาจากคำแนะนำของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เราแจ้งให้ทุกคนเตรียมเรื่องเล่าล่วงหน้า บอกให้เล่าออกมาจากใจ เล่าให้เหมือนเล่านิทาน (แต่ให้เล่าเรื่องจริง) ให้คนฟังรู้ถึงความคิด การปฏิบัติ และผลการปฏิบัตินั้นๆ เล่าทีละคน คนที่เหลือให้ฟังอย่างตั้งใจและช่วยกันตีความว่าในเรื่องเล่านั้นมีประเด็นสำคัญอะไรที่ช่วยให้เกิดความสำเร็จ คุณสุภาพรรณทำหน้าที่เป็น "คุณลิขิต" ตลอดกิจกรรม

คุณปฏิมา พรพจมาน นักกำหนดอาหารเริ่มเล่าเรื่องเป็นคนแรก โดยออกตัวก่อนว่าเป็นคนที่เล่าเรื่องไม่เป็น แต่ที่ไหนได้พอเล่าแล้วคนฟังอึ้งไปตามๆ กัน ได้เกร็ดในการทำงานใหม่ที่ยากและไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนหลายอย่าง เช่น การเขียน script ไว้ล่วงหน้า หาวิธีการที่ทำให้รู้สึกสนุก เอาชนะใจตนเอง ฯลฯ เป็นต้น จนคุณชนิกาคิดชื่อเด็ดให้ว่า "ปรับวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยนไป"

คุณชนิกา สุระสิงห์ชัยเดช เล่าเรื่องการเรียนต่อระดับปริญญาโท ได้ความรู้ใหม่ นำมาเชื่อมโยงกับการปฏิบัติที่ผ่านมา คิดพัฒนาเปลี่ยนแปลง จนนำไปสู่การปรับวิธีการทำงานเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานบรรลุเป้าหมายของตนเอง

คุณศิริวรรณ บุตะเดช เล่าประสบการณ์ที่ต้องค้นข้อมูลผู้ป่วยไทรอยด์จากเวชระเบียนนับหมื่น มีวิธีการที่ทำแล้วตนเองมีความสุขและได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคไทรอยด์ไปด้วย ได้ค้นพบความชอบความถนัดของตนเอง ถ้าใครอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยไทรอยด์ ต้องมาถามคนนี้

คุณยอดขวัญ เศวตรักต หัวหน้าแผนกกายภาพบำบัด กำลังเรียนปริญญาโทด้านการบริหาร ได้นำความรู้มาใช้ในการทำงาน เป็นตัว "จูน" ข้อมูลจากผู้บริหารให้พนักงานเข้าใจ ปรับวิธีการทำงานใหม่ เปิดโอกาสให้พนักงานได้พูดได้แสดงความคิดเห็น

คุณยุวดี มหาชัยราชัน เล่าเรื่องการเรียนรู้งานดูแลเท้าที่ตนเองไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เพราะเดิมทำงานอยู่ ER เคยจับแต่หัวแต่ตัวผู้ป่วย ต้องมาจับเท้ารู้สึกแปลกๆ พยายามเรียนรู้วิธีการดูแลต่างๆ เพื่อให้สมกับเป็นงานระดับวิชาชีพ อาศัยทั้งการอ่านหนังสือ แอบดูเพื่อนทำ ทดลองปฏิบัติกับคนในครอบครัวก่อน คิดเทคนิคการสอนผู้ป่วยให้นวดเท้าโดยทำคนละข้างไปพร้อมกับตนเอง ดีใจมากที่มีผู้ป่วยกลับมาขอบคุณ คุณยุวดีเล่าอย่างสนุกสนาน แต่ตอนทำงานแรกๆ บอกว่าเครียดสุดๆ

คุณเบญจรงค์ วัชรสิงห์ หัวหน้าแผนกห้องอาหาร มองว่าห้องอาหารเหมือนบริษัทหนึ่ง มีต้นทุนมีค่าใช้จ่าย เล่าถึงวิธีการแก้ปัญหาที่ลูกน้องมีความพึงพอใจในงานต่ำ พฤติกรรมการบริการมีปัญหา หาวิธีการลดจำนวนคนเข้า-ออก ทำให้คนทำงานมีความสุข ซึ่งสำเร็จได้ด้วยการรู้จักค้นหาปมปัญหา มีความอดทนเข้มแข็ง และจริงใจ

คุณจุรีย์พร จันทรภักดี นักกำหนดอาหาร เล่าประสบการณ์การจัดเมนูอาหารส่งประกวดแล้วได้รับรางวัลรองชนะเลิศ เห็นภาพตั้งแต่การระดมความคิดของทีมงานหา concept ที่จะนำเสนอ ซึ่งบอกว่าเป็นสิ่งที่ตน "ปิ๊งแว๊บ" ขึ้นมา (ฟังเพื่อนที่เคยผ่านตลาดนัดความรู้มาก่อนเล่าให้ฟัง) การทดลองปรุงอาหาร เชิญคนมาชิม จนถึงบรรยากาศในวันประกวด กว่าจะได้รางวัลครั้งนี้ ต้องผ่านความพยายามและการจัดการกับอารมณ์ของตนเองครั้งแล้วครั้งเล่า ได้รับความร่วมมือ กำลังใจ และคำติชมจากบุคคลมากมายหลายฝ่าย รวมทั้งการสนับสนุนจากผู้บริหาร

คุณณัฎฐิยา ปะบุญเรือง เล่าเรื่องด้วยเสียงดังฟังชัดสะกดผู้ฟังทุกคน เล่าถึงการทำงานดูแลเท้าที่ถูกปล่อยเดี่ยวครั้งแรก ตัดเล็บที่ยากๆ กลัวจะไปตัดเนื้อของผู้ป่วย ทำ felted foam dressing ครั้งแรก ผู้ป่วยบอกว่า felted foam ที่คุณณัฏฐิยาทำให้นั้น "อาม้าว่ามันแปลกๆ นะ" ตื่นเต้นจนต้องคอยโทรศัพท์ไปสอบถามอาการผู้ป่วย ดีใจที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เดี๋ยวนี้ผู้ป่วยหลายคนติดใจฝีมือการดูแลเท้าของคุณณัฏฐิยา แม้แต่วันนี้ยังมีผู้ป่วยโทรศัพท์ตามเลย

คุณจีรพรรณ ศรีพัฒนพงษ์ นักกายภาพบำบัด เล่าถึงการทำ metatarsal bar เพื่อลดแรงกดที่แผลให้ผู้ป่วยครั้งแรกของตนเอง ภูมิใจที่เอาความถนัดทางวิชาชีพมาใช้และช่วยให้แผลที่เท้าของผู้ป่วยดีขึ้นได้

คุณสุนทรี นาคะเสถียร ผู้จัดการฝ่ายบริการการศึกษาและวิจัยเล่าถึงความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมทำงานกับคนที่เก่งมากๆ คือ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และ ศ.นพ.บุญส่ง องค์พิพัฒน์ องค์พิพัฒนกุลตั้งใจทำงานจนได้รับความไว้วางใจ

คุณหมอสิริเนตร กฤติยาวงค์และคุณธัญญา หิมะทองคำ ไม่ขอเล่าเรื่องของตนเองยกเวลาให้กับคนอื่นๆ แต่คอยฟังอย่างตั้งใจและร่วมตีความเรื่องเล่าของทุกคน แต่ละคนมีเรื่องเล่าที่น่าทึ่งมากๆ น้ำเสียง สีหน้า แววตาขณะเล่า ช่วยให้คนฟังนึกเห็นภาพตามไปด้วย ทุกคนเล่าแบบออกรส นอกจากได้สาระแล้วยังสนุกสนานอีกด้วย ใช้เวลาในการเล่าเรื่องและเพื่อนช่วยกันตีความประมาณเรื่องละ ๑๐-๑๕ นาที เราใช้เวลาในเวทีนี้จนถึง ๑๐.๒๐ น.เกินเวลาที่กำหนดไว้

คุณธัญญาเตรียมรางวัลสำหรับคนเล่าเรื่องเด็ด ๑ รางวัล เป็นแก้ว Mug ที่เขียนว่า "นักเล่าเรื่องเด็ด" เราให้สมาชิกลงคะแนน ปรากฏว่าคุณจุรีย์พร จันทรภักดี ได้รับคะแนนสูงสุด จึงได้รับรางวัลพิเศษนี้ไป คุณจุรีย์พรดีใจว่ามีแก้วน้ำประจำตัวแล้ว เราค้นพบ "ดาว" อีก ๒ ดวงจากเวทีนี้ด้วย เป็นดาวที่ตีความเรื่องเล่าของเพื่อนได้อย่างโดนใจทุกคนคือคุณปฏิมา พรพจมานและคุณณัฏฐิยา ปะบุญเรือง ทั้งสองคนนี้ยังได้คะแนนเรื่องเล่าเป็นอันดับสองด้วย จึงได้รับรางวัลเป็นรองเท้าไว้สวมในบ้านคนละคู่

เวทีเรื่องเล่าเช้านี้ ทั้งคนเล่าและคนฟังต่างก็มีความสุข เกิดรู้สึกดีๆ ต่อกัน ได้เห็นศักยภาพของเพื่อนร่วมงาน หลายคนนึกไม่ถึงว่าเพื่อนจะมีความสามารถขนาดนี้ ได้เรียนรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการทำงานมากมาย เกิดความคิดต่อไปว่าควรจะมีระบบการสอนงาน มีระบบการบันทึกการปฏิบัติที่คนรุ่นหลังสามารถใช้เรียนรู้ได้ ทุกคนเลยอยากให้มีเวทีแบบนี้บ่อยๆ

บรรยากาศในเวทีเรื่องเล่าเพิ่มความมั่นใจให้ดิฉันในฐานะ facilitator ที่จะเดินกิจกรรมอื่นต่อไปค่ะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

 

 คนฟังก็ตั้งใจ คุณลิขิตก็ขยัน

 

 ล้อมวงนั่งกันตามสบาย

 

 ดาว ๓ ดวง จากซ้ายคุณปฏิมา คุณณัฏฐิยา คุณจุรีย์พร

หมายเลขบันทึก: 14674เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2006 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
นายรุ่งศักดิ์ ศิรินิยมชัย
ดีใจมากครับ ที่ได้อ่านบรรยายกาศที่อาจารย์ ดร.วัลลา เล่ามาให้อ่านครับ ผมขอเป็นกำลังใจช่วยให้ทุกท่านในฝ่ายบริการ การศึกษาและวิจัยฝ่าฟันอุปสรรคในการทำงานและไปถึงเป้าหมายที่ทุกคนได้ตั้งไว้ครับ
นายรุ่งศักดิ์ ศิรินิยมชัย
ขอดีใจกับคุณจุรีย์พร  คุณปฏิมา  คุณณัฏฐิยา  ที่ได้รับรางวัลครับ  ส่วน educator ท่านอื่นขอเป็นกำลังใจครับ

สวัสดี ปิ๊ก ดีใจด้วยสำหรับรางวัลรองเท้า 1 คู่ ลองใช้นามสกุล search ดู เห็นมีชื่อปิ๊กเลยคลิกเข้ามาดู
ดีใจด้วย จากอาพร

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท