เบื้องหลังความสำเร็จของศูนย์ข้าวชุมชน จังหวัดขอนแก่น


ศูนย์ข้าวชุมชน เมล็ดพันธุ์ข้าว เทคนิคการตัดพันธุ์ปน

ศูนย์ข้าวชุมชน ของกรมส่งเสริมการเกษตรเคยเป็นผลงานที่ได้รับความชื่นชมจากเกษตรกรทั่วไป จนถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงอย่างหนึ่ง  แต่ใน 2 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ข้าวชุมชน เริ่มจางหายไปจากความทรงจำของเจ้าหน้าที่หลายคน เพราะคิดว่าเป็นภารกิจที่ตัดโอนไปอยู่กับกรมการข้าว ซึ่งเกิดขึ้นมาใหม่    แต่ในทางปฏิบัติแล้วศูนย์ข้าวชุมชนซื่งบริหารจัดการโดยองค์กรเกษตรกรที่จัดตั้งขึ้น ยังคงขับเคลื่อน และกระจายพันธุ์ดีไปยังเกษตรกรทั่วไปได้อย่างต่อเนื่อง และเข้มแข็ง

      ดิฉันในฐานะของเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงานยุทธศาสตร์ของจังหวัดขอนแก่น  มองเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของเราทั้งในสังกัดสำนักงานเกษตรจังหวัด คือคุณบุญวัฒน์  สุริยะวงศ์ และในระดับอำเภอ หลายๆคน ที่เป็นเจ้าหน้าที่มีทักษะในการส่งเสริมการผลิตข้าว เป็นวิทยากรกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรข้าวที่มากประสบการณ์  ช่วยกันแก้ไขปัญหา...พัฒนา...ผลักดันให้ศูนย์ส่งเสริมข้าวชุมชน จำนวน 96 ศูนย์ในจังหวัดขอนแก่นประสบผลสำเร็จ  ทั้งผลิตให้ได้มาตรฐาน และจำหน่ายได้ราคา  ลูกค้าเชื่อถือ

     การทำธุรกิจของกลุ่มเกษตรกร  ถ้าได้รับความเชื่อถือแล้ว ตลาดก็จะตามมา...  รายได้ก็เกิดขึ้นตาม...กลุ่มก็เข้มแข็ง

     เทคนิคหนึ่งของความสำเร็จ  คุณบุญวัฒน์  เล่าให้ฟังว่า ..การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้คุณภาพ จะต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่านอกจากปริมาณแล้วคุณภาพต้องดีด้วย       แล้ว...ดี...หมายถึงการได้รับการรับรองคุณภาพจากการตรวจสอบของศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืช ที่ 17 ขอนแก่น (ขณะนี้มีชื่อใหม่เรียกว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น) ซึ่งมีห้อง แล็ป รับวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ อาทิ เช่น ความงอก  พันธุ์ปน  การมีใบรับรองเปรียบเสมือนใบประกาศ ที่ยืนยันผลผลิตของเกษตรกร   ดังนั้นศูนย์ข้าวชุมชนของขอนแก่น จะถือปฏิบัติอย่างนี้

     1.  ในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ข้าวจำนวน 200 ไร่ นี้จะต้องเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทุกปี  โดยการสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว

      2. ในช่วงเก็บเกี่ยว  ต้องมีการสุ่มผลผลิตส่งให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวตรวจวิเคราะห์คุณภาพ(เกษตรกรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง)

      3. สำคัญที่สุด คือ การหมั่นตรวจแปลง เพื่อตัดพันธุ์ปน  ซึ่งมีเทคนิคการตรวจ ดังนี้

        1) ระยะกล้า   ตรวจดูกล้าที่มีลักษณะผิดปกติ หรือเป็นโรค  หากพบให้ถอนทิ้งทำลาย

        2) ระยะแตกกอ  ตรวจดูลักษณะการแตกกอ  ดูสีใบ  ลักษณะใบ ขนาดใบ  ความสูง  หากพบกอใดผิดปกติ แตกต่างไปจากกออื่นๆ  จะถอนทิ้งทำลายทันที 

       3) ระยะออกดอก  ตรวจดูความสูง  ต่ำของต้นข้าว  ลักษณะการออกดอก  สีและขนาดของดอก  ผิดปกติจะตัดทิ้ง 

       4) ระยะโน้มรวง  พบโน้มรวง ก่อน/หลัง คนอื่น  ลักษณะเมล็ด  สีเมล็ด  ใบธง  ผิดปกติตัดทิ้ง   

       5) ระยะก่อนเก็บเกี่ยว  ตรวจดู ความถี่ของระแง้  เมล็ด  โดยตรวจดูสีทั้งรวง  หรือจุดประบนเมล็ด  หากพบผิดปกติให้ถอน  ทิ้งทั้งกอ

            ขั้นตอนเหล่านี้ เกษตรกรผู้ผลิตของศูนย์ฯ ถ้าทำได้อย่างเคร่งครัดแล้ว  รับรองว่าคุณภาพผลผลิตผ่านการตรวจรับรองอย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 146642เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2007 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท