คิดรอบคอบ ลดความเสี่ยง


เหตุผลเข้าท่าขึ้น เมื่ออ่านมาก ฟังมาก

ไม่มีใครโต้แย้งอย่างแน่นอนว่าการคิดรอบคอบเป็นทางลดความเสี่ยงต่อความผิดพลาด  แต่ก็มิใช่ว่า ทุกคนจะมีการคิดรอบคอบก่อนทำเสมอไปเสียทุกเรื่อง  ทั้งนี้ เพราะการคิดรอบคอบเป็นงานที่ต้องเอาจริง ไม่ใช่เป็นเรื่องคิดเล่นๆ เพียงให้สนุกเท่านั้น  ต้องมีกลวิธี ต้องใช้เวลา แต่ถ้าเป็นคนช่างคิด จนติดนิสัย ก็จะเกิดอาการต้องคิด อยากคิด และคิดได้ ความสุขเกิดจากการคิดก็จะเพาะเป็นนิสัยได้  สำหรับการเรียนวิชาที่ว่าด้วยการประเมินทางการศึกษา ผู้เรียนต้องพยายามฝึกตนเองให้มีนิสัยช่างคิด มีทักษะจนเกิดความชำนาญในการคิด คิดอย่างมีเหตุผลให้ได้ทางเลือกที่จะตัดสินใจว่าเรื่องนี้ควรจะทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์  เหมาะสมแล้ว   บางคนใช้วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย  บางคนคิดแยกแยะองค์ประกอบ  ถ้าจะให้ได้ความรู้ลึกซึ้ง น่าจะศึกษา หลักการคิดแบบโยนิโสมนสิการ ค้นคว้าได้จากหนังสือพุทธธรรมของท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แห่งวัดญาณเวศกวัน  หรือค้นคว้าจากตำรา งานเขียนของผู้รู้ท่านอื่นๆ  สำหรับแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวที่อยากแนะนำคือ งานวิจัยของ รศ.ดร.อาภา จันทรสกุล แห่งภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และงานวิทยานิพนธ์ของนิสิตที่อาจารย์ดูแลอีกหลายเล่มที่ศึกษาเรื่องนี้ สำหรับผู้เขียน กำลังฝึกการคิดที่แยบยลหลากหลายวิธี  แต่วันนี้ ได้นำวิธีคิดแบบใช้เหตุผลสัมพันธ์มาพิจารณาความเหมาะสมของโครงการในชั่วโมงการประเมินโครงการ ที่มีผู้รู้สร้างแบบแผนหรือกรอบการคิดเป็นแนวทางการพิจารณาองค์ประกอบต่างๆในโครงการ ช่วยตะล่อมให้คิดเข้าลู่ ตรวจสอบความสัมพันธ์ของแต่ละองค์ประกอบในโครงการที่กำลังจะทำ  ก็เลยใช้เวลายามเย็นเขียนขยายความเพิ่มเติมให้ผู้สนใจอ่าน เผื่อจะมีคนช่วยเสริม หรือแย้ง จะได้ความคิดเพิ่มขึ้นแบบแผนหรือกรอบการคิดเหตุผล หรือเชิงตรรกะ ภาษาอังกฤษใช้ คำว่า logical framework Approach หรือย่อว่า LFA  LFAเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการออกแบบการกำกับและการประเมินการพัฒนาโครงการ   เมื่อปี ค.ศ. 1969  ศาสตราจารย์ Leon J. Rosenberg  วางแบบแผนการคิดอย่างมีเหตุผลกับโครงการที่ออกแบบแล้ว   ไล่เรียงแต่ละองค์ประกอบในโครงการตามลำดับว่ามีความเป็นไปได้อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่    อย่างน้อย 3 ขั้น ดังนี้

 ขั้นที่ 1   ถ้า ปฏิบัติกิจกรรมตามที่วางแผน  และเงื่อนไขตามกำหนดเป็นจริง  แล้ว  ผลผลิตหรือเป้าหมายตามที่คาดหวังย่อมเกิด 

ขั้นที่ 2  ถ้า ผลผลิตเกิดตามที่คาดหวัง และเงื่อนไขตามกำหนดเป็นจริง  แล้ว  วัตถุประสงค์ของโครงการย่อมบรรลุผลสำเร็จ

ขั้นที่ 3 ถ้า  วัตถุประสงค์ของโครงการบรรลุผลสำเร็จ  และเงื่อนไขตามกำหนดเป็นจริง  แล้ว โครงการย่อมบรรลุจุดหมายได้

ขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ใกล้ตัวนิสิต ยกเอาเรื่องเรียน  เมื่อนิสิตลงทะเบียนเรียนวิชาใดวิชาหนึ่งแล้ว  นิสิตวางแผนการเรียนอย่างไรเพื่อให้ได้ระดับคะแนนตามที่คาดหวัง  ในที่นี้ แผนการเรียนก็คือโครงการขนาดเล็กอย่างนี้  นิสิตอาจเขียนเป็นแผนปฏิบัติการ หรือ เก็บเป็นความลึกลับตามสไตล์การเรียนของตน  อย่างไรก็ตาม เราสามารถแยกแยะหัวข้อให้เป็นองค์ประกอบแบบโครงการใหญ่ได้ กล่าวคือ มีจุดมาย (เพื่อปริญญา สร้างอนาคต ฯลฯ) มีวัตถุประสงค์ของการเรียนแต่ละรายวิชา(พิจารณาจากวัตถุประสงค์การเรียนรู้ตามประมวลการสอนที่อาจารย์แจกตอนชั่วโมงแรกของการเรียน)   มีผลหรือเป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับ (A  B  C หรืออื่นๆ)  มีการปฏิบัติกิจกรรมการเรียน (ทั้งในชั่วโมงเรียนและนอกชั่วโมงเรียน) และ ปัจจัยสนับสนุนให้เกิดความสะดวกและความจำเป็นในการเรียน (เปฌนเงิน  อุปกรณ์ หรือ พฤติกรรมที่เป็นวินัยของตนเอง)   เมื่อนิสิตวางแผนแล้ว  ให้นำเอาหลักการพิจารณาเหตุผลมาตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้ 3 ขั้น แล้วปรับปรุงรายละเอียดตามเหตุผล ลองพิจารณาทวนอีกรอบ เริ่มที่ ขั้น 3 ก่อน ปรับแก้ ถ้าพบแนวทางที่สมเหตุผลมากกว่า  อาจคิดหลายรอบก็ได้ แต่ต้องไม่เพลินจนต้องเลื่อนการปฏิบัติกิจกรรมตามกำหนด

รายละเอียดการคิด ขึ้นกับประสบการณ์การเรียนรู้ของแต่ละคน  จึงควรสร้างโอกาสให้กับตนเองได้อ่าน ฟังมากๆ ให้เกิดความคิดหรือ ปัญญา  สรุปได้ว่าเหตุผลเข้าท่าขึ้น เมื่ออ่านมาก ฟังมากนั่นเองรูปแบบการคิดที่กล่าวมาเป็นขั้นนำ ถ้าลองทำดู แล้วนำมาแลกการเรียนรู้ น่าจะดี  ขอเชิญร่วมคิด และเสนอประสบการณ์มาแลกกันบ้าง คงสนุก หวังว่าจะได้คุยกันในโอกาสต่อไป

หมายเลขบันทึก: 146279เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2007 01:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ผมชอบมากเลยครับ อย่างน้อยทำให้ผมมองเห็นภาพการคิดอะไรที่เป็นระบบมองเห็นผลลัพท์และการบรรลุวัตถุประสงค์ ขอบคุณมากครับ

ดิฉันชอบบทความของท่านมากทำให้เราได้เรียนรู้การหยุดคิดที่มีระบบ ขอขอบคุณค่ะ

ประภาพันธ์ ชินวงศ์ - ต้อย ลูกศิษย์อาจารย์เจริญคะ

อาจารย์เขียนได้ดีมากๆ คะ ไม่หน้าหละ คนถึงชอบเข้ามาอ่าน

แวะมาอ่าน..ช่วยเพิ่มความเข้าใจในเรื่อง Log frame ให้ง่ายขึ้นอีกค่ะ

จิตกับคิด แยกกันได้อย่างไร ถ้าการใช้ชีวิตประจำวันเราได้มีการวางแผนอยู่ตลอดทุกวันคงเป็นเรื่องของการใส่ใจนะครับซึ่งถูกกำหนดด้วยกิจกรรม เวลา สถานการณ์ แต่ถ้าไม่เป็นไปตามแผนก็เข้าสู่กระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลเพื่อที่จะแก้ปัญหานั้นให้เป็นไปได้ด้วยดี

ขอบคุณครับอาจารย์ ที่กรุณาทำให้ผมได้เห็นถึงความสำคัญของ log frame และกลับมาทบทวนองค์ความรู้ที่อาจารย์กรุณาถ่ายทอดให้อีกครั้ง

ได้ความรู้มากค่ะ ปกติวางแผนไม่เคยนึกทบทวนตามตรรกกะอะไรแบบนี้มาก่อนเลย ซึ่งการพิจารณาในแต่ละขั้น จะยิ่งทำให้เราทราบถึงตัวแปรแทรกซ้อน หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น

โชคดีจัง ที่ได้เข้ามาอ่านบทความอาจารย์นี้ก่อนที่จะลงมือทำงานที่อาจารย์ได้มอบหมายไว้ แถมตัวอย่างที่อาจารย์ยก ก็เหมือนกับงานที่อาจารย์ให้ไว้ซะด้วย

อิอิ เดี๋ยวต้องรีบไปบอกพี่ๆ ที่เรียนด้วยกันให้รีบมาอ่านซะแล้ว

ปลื้มอาจารย์จังเลยค่ะ

ธีรพงศ์ จุลสายพันธ์

เรียนอาจารย์ภาวิณีที่เคารพครับ

ผมเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการวางแผนครับโดยเฉพาะแนวคิดของอาจาราย์ที่ขึ้นต้นด้วย IF......then ซึ่งเป็นหลักแห่งเหตุและผลจริง ๆ ทำให้มองเห็นความเชื่อมโยงกับหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในแง่ที่เกี่ยวกับผลแห่งการกระทำ (กฏแห่งกรรม) ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า"กัมมุนา วัตตะตี โลโก " แปลว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ยกตัวอย่างง่าย ๆ ครับ แบบติดเทรนวัยรุ่นครับ

(IF)ถ้า...มีรักในวัยเรียนและมีพฤติกรรมเกินเลยไม่เหมาะสมกัยวัย..(then)..อาจทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน.. อีกตัวอย่างหนึ่งครับ (IF)ถ้า...เล่นการพนันฟุตบอล (then)..จะทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตและทัพย์สิน ครับ..ทุกครั้งที่วางแผนเราควรจะตอบตำถามให้ได้ว่า ถ้า.......แล้ว.......? ผมเชื่อมั่นครับว่า ถ้าเราปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างซื่อตรง ผลสำเร็จย่อมตามมาในที่สุด ผมโชคดีครับที่ได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์

อ่านบทความนี้แล้ว ทำให้ได่ความรู้ว่า ถ้าเราอย่าวทำส่งใดให้สำเร็จ เราควรมีการวางแผนตั้งแต่แรก และพยายามปฏิบัติตามแผน ผลลัพธ์ที่ได้จะส่งผลให้เราตามที่ได้วางแผนเอาไว้ ถึงเวลาแล้วที่ผมจะมีจะนำความรู้ที่ได้มาลองปฏิบัติดู เพื่อพิสูจน์ครับผม

เรียนอาจารย์ด้วยความเคารพ

เป็นโอกาสดีของผมที่ได้ติดตามมาเรียนรู้นอกห้องเรียนกับอาจารย์ ผมได้อ่านหนังสือพุทธธรรม(ฉบับขยายความ)ของพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตโต)บทที่ 18 บุพภาคของการศึกษา 2 : โยนิโสมนสิการ พบว่า นี่คือวิธีการแห่งปัญญา เป็นการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี ในการศึกษาอบรมนั้น โยนิโสมนสิการ เป็นการฝึกการใช้ความคิดให้รู้จ้กคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ รู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างตื้นๆ ผิวเผิน เป็นขั้นของการสร้างปัญญาที่บริสุทธิ์เป็นอิสระ ทำให้ทุกคนช่วยตัวเองได้ เป็นประโยชน์มากสำหรับการนำ "วิธีการแห่งปัญญา" ไปใช้ในการศึกษาเล่าเรียนและการดำเนินชีวิตที่ต้องพัฒนาตนเองตลอดไปครับ ขอขอบคุณท่านอาจารย์ ที่มีบทความที่ให้ข้อคิดดีๆ และแนะนำแหล่งความรู้ให้อ่าน ที่ทำให้พวกเราเกิดปัญญาครับ

                    ปรีชา สุวรรณทอง ลูกศิษย์ของอาจารย์ภาวิณีครับ

ก่อนหน้านี้ ได้อ่านข้อความนี้แล้วก่อนการเขียน LFA บอกกับตัวเองว่า เข้าใจแต่เขียนอธิบายไม่ได้ (เขียนได้ยากมากกว่า) แต่วันนี้ได้รับความรู้จากอาจารย์ในห้องเรียนเพิ่มเติม จึงพบว่า การเขียน LFA จะต้องทบทวน หมั่นคิด หมั่นเขียน จนกว่าจะค้นพบอย่างแท้จริง นั่นรวมถึงต้องวางแบบแผนการคิดอย่างมีเหตุผลกับโครงการที่ออกแบบแล้ว พิจารณาแต่ละองค์ประกอบในโครงการตามลำดับว่ามีความเป็นไปได้อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ และก็ไม่แปลกเลยถ้าเราเขียนครั้งที่ 1 แล้วใช้ไม่ได้ ต้องหมั่นเขียนเพื่อเพิ่มประสบการณ์ต่อไป และไม่ลืมว่า "ต้องทำให้ได้อย่างที่เขียน" อย่าละเลย

  • สวัสดีค่ะ คุณภาวิณี
  • การที่คนเราคิดให้รอบคอบ
  • ก่อนที่จะกระทำการสิ่งใดๆ
  • ย่อมลดความเสี่ยงในการผิดพลาด
  • ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นให้ลดน้อยลง
  • ขอบคุณค่ะ กับการเปิดประเด็นค่ะ
พิมฉัตร์ ฤกษ์รัตน์ระพี

กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพ

มีโอกาสได้อ่านบทความที่ดี ๆ อีกบทความหนึ่ง คือ"คิดรอบคอบ ลดความเสี่ยง" จากการที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการคิดแบบใช้เหตุผลสัมพันธ์ จากอาจารย์ทำให้เราเกิดความรอบคอบในการคิดทุกครั้งในการเขียนโครงการแต่ละครั้ง ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ว่าหากเรามีความคิดรอบคอบในการเขียนโครงการแต่ละครั้ง จะทำให้เราเห็นขั้นตอนที่สำคัญต่าง ๆ อย่างชัดเจน ซึ่งช่วยให้เราหรือผู้บริหารที่จะอนุมัโครงการแต่ละครั้งแยกจุดมุ่งหมาย แยกวัตถุประสงค์ของโครงการ ตลอดจนแยกผลผลิตของโครงการได้ นอกจากนี้ยังทำให้สามารถเห็นกิจกรรมหรือวิธการดำนินงานในส่วนต่าง ๆ และรู้อย่างชัดเจนว่าต้องการปัจจัยหรือทรัพยากรมากน้อยเท่าใด และสะดวกต่อการประเมินผลโครงการด้วย

จากบทความของอาจารย์นอกจากทำให้เกิดการคิดย่างรบคอบมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดการคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล มีความเชื่อมโยงมากขึ้น และมีการพิจารณาในแต่ละองค์ประกอบในโครงารที่เขียนว่ามีความเป็นไปได้ และมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งทำให้เราเกิดการฉุกคิด และมีความรอบคอบระมัดระวังมากขึ้น

ขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาเขียนบทความที่มีประโยชน์ และมีคุณค่า สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท