ระบบการศึกษา


ระบบการศึกษา
ระบบการศึกษาในเสภาขุนช้างขุนแผน                                                                                                                                สุรชัย  ไวยวรรณจิตร              การศึกษาในปัจจุบันได้แบ่งระบบการศึกษาออกเป็น 3 ระบบดังนี้ คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย กล่าวคือ                การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาการศึกษา การวัดและประเมินผลซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน                การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม                การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ผูเเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาสโดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้ (เอกสารประกอบการสอนกฎหมายการศึกษา,2549:5)                 บทความที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นบทความที่จะนำเสนอวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจากเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วบวชเณร เพื่อนำเสนอประเด็นและสะท้อนแง่มุมของ ระบบการศึกษาในระบบ  นอกระบบ และตามอัธยาศัย เป็นระบบการจัดการศึกษาทฤษฎีใหม่หรือมีมานานแล้วในสังคมไทยสมัยอดีต ผู้อ่านท่านใดที่เคยศึกษาวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วบวชเณร จะเห็นว่าการจัดการศึกษาในวรรณกรรมเรื่องนี้มีครบทั้ง 3 ระบบ คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย                  การจัดการศึกษาในวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วบวชเณร                เริ่มจากที่นางทองประศรีซึ่งเป็นแม่ของพลายแก้ว พยามที่จะพาพลายแก้วไปฝากเรียนที่วัดส้มใหญ่กับสมภารบุญ(เทียบได้กับผู้อำนวยการโรงเรียนในปัจจุบัน) จะเห็นว่าสมัยก่อนต้องมีการฝากเข้าเรียนไม่ใช่อยู่ๆก็ไปเรียนได้ ถ้าหากเขาไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหนการรับเข้าศึกษาก็จะลำบาก การไปฝากเข้าเรียนก็เหมือนกับการสมัครเรียนในปัจจุบัน จะเห็นว่าสมัยนี้หากบ้านใดมีบุตรหลานในความดูแลจำเป็นจะต้องให้ผู้อยู่ในครอบครองต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับมิเช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย เราจะเห็นว่าที่สมภารบุญรับพลายแก้วเป็นศิษย์เพราะว่ารู้จักกันดีกับนางทองประศรี                การศึกษาในระบบ                การเริ่มเรียนของพลายแก้วสะท้อนให้เห็นว่าพลายแก้วเป็นเด็กที่ค่อนข้างเก่งมาก                                 ...หนังสือสิ้นกระแสทั้งแปลอรรถ   จนสมภารเจ้าวัดไม่บอกได้...                                                                                                                                (ขุนช้างขุนแผน: 40)                 จากข้อความดังกล่าวข้างต้นบ่งบอกถึงการศึกษาในระบบ คือมีการเรียนโดยใช้ตำรา และมีครูสอน ที่ว่าพลายแก้วค่อนข้างเป็นเด็กเก่ง เพราะว่าคำว่าหนังสือในที่นี้หมายถึงเขียน ...หนังสือสิ้นกระแส... เขียนเป็น ...ทั้งแปลอรรถ... แปลได้ สังเกตเห็นว่าหลักสูตรสมัยก่อนเรียนทั้งแปลทั้งเขียนมานานแล้ว ...จนสมภารเจ้าวัดไม่บอกได้... หมายถึงครูไม่สามารถสอนอะไรได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว                 การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย                หลังจากที่พลายแก้วศึกษาในตำราจนแตกฉานแล้วสมภารบุญก็ให้สมุดของท่าน(ตำรา)เอาให้พลายแก้วได้ศึกษาด้วยตนเองตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการศึกษานอกระบบ หรือจะมองในอีกแง่มุมหนึ่งก็จัดได้ว่าเป็นการศึกษาตามอัธยาศัยเช่นเดียวกัน โดยให้เรียนรู้ด้วยตัวเองจากสมุดของท่าน หนังสือแปลว่าเขียน สมุดหมายถึงตัวตำรา สมภารบุญท่านก็ขนตำราของท่านออกมาพร้อมกับบอกว่า                                 ...ยังแต่สมุดตำรับใหญ่                       ฟื้นแต่หัวใจพระคาถา                                กูจัดแจงซ่องสุมแต่หนุ่มมา               หวงไว้จนชราไม่ให้ใคร...                                                                                                                                (ขุนช้างขุนแผน: 40)                  พูดเป็นภาษาปัจจุบันแสดงว่ามีเอกสารจำนวนมากที่สมภารบุญให้พลายแก้วได้ศึกษาด้วยตนเอง สังเกตจากคำว่า ตำรับใหญ่ เรื่องที่มีอยู่ในตำราส่วนใหญ่สมัยก่อนจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระคาถา เพราะถือเป็นวิชาหลักสำคัญที่จะต้องเรียนในสมัยนั้น ตัวอย่างวิชาที่มีอยู่ในตำราที่พลายแก้วจะต้องศึกษาด้วยตนเองมีดังนี้                                 ...อยู่คงปล้นสะดมมีถมไป เลี้ยงโหงพรายใช้ได้ทุกตา...                                                                                                                                (ขุนช้างขุนแผน: 40)                  คนสมัยก่อนถือว่าวิชานี้เป็นวิชาสำคัญ วิชาการต่อสู้อยู่ยงคงกระพันรบทัพจับศึก ทำไมจึงถือว่าวิชานี้สำคัญ เพราะว่าเขาต้องป้องกันถิ่นที่อยู่ของเขาโดยตลอด บางครั้งทางฝ่ายเมืองหลวงช่วยเขาไม่ได้ เขาต้องปกครองตัวของเขาเอง ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็ยิ่งกว่าหมู่บ้านอาสาพัฒนาตนเอง                จะเห็นได้ว่าสมัยก่อนไม่สอนวิชาอะไรที่ใช้ทำมาหากินมากนัก เพราะเนื่องจากประเทศมีความอุดมสมบูรณ์มากในยุคนั้น ไม่ต้องเลี้ยงสัตว์ ไม่ต้องปลูกพืช                                ...ตำรับใหญ่พิชัยสงคราม                  สูรย์จันทร์ฤกษ์ยามก็รอบรู้                อยู่ยงคงกระพันล่องหน                     ภาพยนต์ผูกใช้ให้ต่อสู้...                                                                                                                                (ขุนช้างขุนแผน: 42) สำหรับการเรียนของพลายแก้วที่วัดป่าเลไลย์กับวัดแคเป็นการศึกษาที่ยังคงรูปแบบเนื้อหาเดิมๆ กล่าวคือ เรียนวิชาเกี่ยวกับการทำศึกสงครามเพื่อป้องกันตนเองและบ้านเมืองเป็นหลัก และรูปแบบการจัดการศึกษาก็ยังคงเป็นแบบเดิมๆ คือ ให้ศึกษาทั้งในตำราโดยมีครูสอน และศึกษาด้วยตนเอง                 เพราะฉะนั้นจะสังเกตเห็นว่าเพียงแค่บางบทบางตอนของวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผนก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า การจัดการศึกษาในวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วบวชเณร ก็มีการจัดการศึกษาทั้งสามรูปแบบควบคู่กันไปมาเนิ่นนานแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการศึกษาของไทยในปัจจุบันแล้ว ทฤษฎีการจัดระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคงเป็นเพียงเรื่องเก่าที่เอามาเล่าใหม่ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการศึกษาในวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผนแล้วรูปแบบต่างๆยังคงเหมือนเดิมจะต่างก็เพียงยุคสมัยเท่านั้นเอง   บรรณานุกรม ประจักษ์ สายแสงและทิวารักษ์ เสรีภาพ.2550.ชวนกันเป็นชาวคติชน (ออนไลน์). สืบค้นจาก:http://www.Thai-Folksy.com [28 มิถุนายน 2550]ศิลปากร, กรม.2544.เสภาขุนช้างขุนแผน เล่ม ๑.พิมพ์ครั้งที่18 .กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.เอกสารประกอบการสอนกฎหมายการศึกษา.2549.กฎหมายการศึกษา.ปัตตานี: คณะศึกษาศาสตร์.                                                                                                                                                                                      
หมายเลขบันทึก: 146169เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2007 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท