ครู นักเรียน เรียนรู้ไปพร้อมกัน : สังคมการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง


                         ตั้งแต่วันนี้ (๘ พ.ย. ๒๕๕๐) ถึงวันที่  ๑๔  พ.ย. ๒๕๕๐ เว้นวันที่ ๑๑  ข้าราชการครูจำนวน  ๕๐๐  กว่า คน เข้ารับการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ,เชี่ยวชาญ  ของ สพท.พิษณุโลก เขต ๑  ผมเป็นหนึ่งในกลุ่มเชี่ยวชาญ   ที่เข้ารับการอบรมด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด  ว่ากันว่า มีข้าราชการครูส่ง วฐ.๑ มากเป็นพิเศษ ด้วยแว่วข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนเกณฑ์การประเมินใหม่ ซึ่งยุ่งยากและยากที่จะเข้าถึงธงที่ปักไว้. การเข้ารับการพัฒนาฯครั้งนี้เสมือนตั๋ว ๑ ใบ ที่สามารถใช้ได้ถึง  ๕ ปี  จึงเป็นเรื่องที่ดี หากในอนาคตท่านใดยอมถอย   ก้าวก็สามารถที่จะก้าวต่อไปได้โดยไม่ต้องเข้ารับการพัฒนาฯ  ผมเชื่อว่า ทุกท่านได้ขึ้นสังเวียน มีกองเชียร์รอบเวทีเต็มไปหมด..ต้องไปให้ถึงเส้นชัย  คงไม่ปล่อยเวลา  ๕ ปีให้หายไปกับสายลมและแสงแดด..นะครับ     

                        ในขณะเข้ารับการพัฒนาฯ ผมนั่งติดกับคุณครูท่านหนึ่งจากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก ซึ่งครูท่านนั้นเขารู้จักผมดี  แต่ผมซิจำชื่อไม่ได้เพียงคุ้นหน้าเท่านั้น แต่ไม่เป็นไรผมจะบอกตัวเองเสมอว่า การเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นบุคคลสาธารณะ ที่จะมีคนรู้จักผมมากกว่าที่ผมจะรู้จักเขา  คุณครูพูดคุยอย่างมีหลักวิชา เล่าให้ฟังว่า  อยู่โรงเรียน จภ.พิษณุโลก มา กว่า   ปีแล้ว ต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆอย่างไม่หยุดนิ่ง  ด้วยว่านักเรียนเก่ง มีความสามารถเรียนรู้ได้ดีและเร็ว  นักเรียนกล้าแสดงออกทางวิชาการสูงมาก  หากครูไม่มีภูมิรู้ที่ดีพอ อาจถูกต้อนให้จนมุมได้..ความศรัทธาที่มีต่อครูลดน้อยลง  ก่อนหน้าที่จะย้ายมาสอนที่นี่ เคยสอนอยู่โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กในอำเภอวังทอง มองว่าตัวเองมีความรู้มากกว่านักเรียน นักเรียนก็ยอมรับและศรัทธาครู  แต่ที่นี่ ครูต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆกับนักเรียน และต้องขยันอีกเท่าตัว เพื่อเตรียมตอบคำถามที่ Feedback กลับมาอย่างรวดเร็วหากสิ่งที่ครูสอนและเขาสงสัย    ผมฟังไปก็นึกชื่นชมกับสิ่งที่ครูท่านนั้นได้พูดถึงนักเรียน และโรงเรียนอย่างภาคภูมิใจ  ทำไมนักเรียน จภ.พิษณุโลกเก่ง มีความรู้ความสามารถ  เพราะโรงเรียนมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก เนื่องจากโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก   ความเก่งเป็นอันดับหนึ่ง  ฐานะครอบครัวมั่นคง มีอันจะกิน เป็นอันดับสอง  เพียง ๒ รายการที่เป็นเงื่อนไขหลัก  เมื่อนักเรียนมีความพร้อมสูง คนเก่ง คนรวย มาอยู่รวมกัน Empowerment ของโรงเรียนจึงเกิดขึ้นทันที                                   

                         ครูจึงต้องเก่ง ไม่จำเป็นต้องรวย (ก็ได้)  ครูและนักเรียนต้องจับมือและเรียนรู้ไปพร้อมกัน ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เพราะหากหยุดนิ่งเมื่อไหร่ตกเวทีทันที  เมื่อชีวิตต้องมาเป็นครู  สังคมคาดหวังว่าครูจะเป็นเทียนชนวนเนื้อดีที่ไม่มีวันมอดดับ..สร้างแสงแห่งปัญญาเรืองรองให้เกิดมีขึ้นกับคนทุกคนที่เข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้..และก้าวออกจากสังคมนี้ไปสู่สังคมใหม่ได้อย่างมาดมั่น...สวัสดีครับ.

หมายเลขบันทึก: 145071เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2007 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท