สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๑๕. ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย (๑๔)


4 การศึกษาวรรณคดีไทยส่องทางแก่ประวัติศาสตร์ : ประเด็นตัวอย่าง
         ผมไม่ทราบว่า นักประวัติศาสตร์ไทยทั่วไปสนใจวรรณคดีเก่าของไทยเพียงใด แต่กลุ่มนักวิชาการอาวุโสที่ผมได้ร่วมงานด้วย ล้วนแต่เป็นนักอ่านที่เชี่ยวชาญวรรณคดีไทยอย่างยิ่งเกือบทุกท่าน ผมพลอยได้อานิสงฆ์จากท่านเหล่านี้ ผมได้ประโยชน์จากวรรณคดีไทยมากมายในการทำความเข้าใจปัญหาทางประวัติศาสตร์ แต่ในเวลาที่จำกัด ผมจะขอยกประเด็นน่าสนใจบางข้อมาเป็นตัวอย่าง

4.1 วรรณคดีไทยกับการศึกษาภูมิปัญญาไทย
         ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของไทยไม่สู้สนใจศึกษาเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความคิดและคติความเชื่อของไทยเองนัก   ผลงานที่มีผู้ศึกษาแล้ว ดูเป็นเรื่องเฝือๆ และผิวเผิน บางทีพลอยจะเข้าใจผิดด้วยว่าประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา เป็นเรื่องเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า ภูมิปัญญาชาวบ้าน   สิ่งหลังนั้นเป็นเรื่องของ folk wisdom หรือ ความรู้จากการสั่งสมประสบการณ์ และเป็นความรู้เชิงประจักษ์ แต่เรื่องของภูมิปัญญาที่เป็นเรื่องความคิด เป็นการศึกษาสารัตถะของความคิดที่เป็นนามธรรม และเป็นเรื่องของชนชั้นนำทางความคิด ผู้เสนอคำอธิบายและทางออกแก่สังคมในด้านต่างๆ เมื่อเกิดวิกฤติทางการเมืองหรือสังคม เช่น ธรรมชาติสันดานมนุษย์เป็นอย่างไร หลักการปกครองที่ดีควรเป็นอย่างไร บทบาทของไพร่บ้านพลเมืองควรเป็นอย่างไร อุดมคติในชีวิตคืออะไร เป็นต้น

         ผมเคยคิดในเชิงสมมุติฐานว่า ถ้าน้ำท่วมโลกและสิ่งของต่างๆ ต้องถูกทำลายหมด แต่ผมมีสิทธิที่จะนำวรรณคดีไทยขึ้นแพไปด้วยเล่มหนึ่งเพื่อเก็บรักษาสำหรับวันข้างหน้า เพื่อจะมาสร้างสังคมขึ้นใหม่หลังจากพระพรหมยินดีมานิรมิตแผ่นดินให้แล้ว ผมจะนำหนังสือใดไป ผมให้คำตอบแก่ ตัวเองว่า หนังสือเล่มนั้นคือ ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง   เหตุผลก็คือ ไตรภูมิพระร่วง สะท้อนให้เห็นรากฐานความคิดของสังคมไทยได้ดีที่สุดในบรรดาวรรณกรรมไทยทั้งหมด   ผมรู้สึกผิดหวังจริงๆ ที่ทั้งราชบัณฑิตยสถาน กรมวิชาการ (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอะไรไปแล้วก็ไม่ทราบ) สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ และใครก็ตาม โดยเฉพาะอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ต้องรับผิดชอบสอนภาษาและวรรณคดีไทยในระดับต่างๆ ซึ่งต่างล้มเหลวในการทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของวรรณคดีเรื่องนี้


         วรรณคดีประเภทคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยอ่านง่าย และเนื้อหาลึกซึ้ง ผมผิดหวังที่หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหลายไม่สามารถทำให้ ไตรภูมิพระร่วงประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยตั้งแต่สมัยเรียนในโรงเรียน และพูดถึงวรรณคดีนี้เหมือนดังที่ชาวมุสลิมพูดถึงคัมภีร์กุรอ่าน ทั้งๆ ที่เนื้อหาสาระของไตรภูมิพระร่วง อยู่กับเราทุกที่ทุกทาง ตั้งแต่พูดถึงเรื่องบาปบุญ เรื่องของกรรม นรกและสวรรค์ เหตุที่การศึกษาวรรณคดีไทยไม่เจริญเพราะผู้ศึกษาไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์วรรณคดีแต่ละเรื่องโดยโยงเข้าสู่บริบททางประวัติศาสตร์และสังคม และไม่ได้ตั้งโจทย์ว่า สาระของความคิด หรือunit ideas ของวรรณคดีเรื่องนั้นคืออะไรบ้าง ราชบัณฑิตยสถาน ชำระวรรณกรรมเก่าออกมาแต่ละเรื่อง ไม่เคยมี critical introduction มีแต่คำแปลศัพท์ ซึ่งมีประโยชน์แต่ไม่ไปไกลกว่านั้น และไม่ได้ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีนั้นๆ โดยจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อพิจารณาวรรณกรรมที่ชำระแล้วในเชิงสหสาขาวิชาการ ผมเคยพูดว่า ประวัติศาสตร์ไม่ควรฝากความหวังแก่ครูสอนประวัติศาสตร์ ในที่นี้ ผมก็ขอพูดในทำนองเดียวกันว่า วรรณคดีไทยไม่ควรฝากความหวังไว้ที่ครูอาจารย์ที่สอนวรรณคดีไทย

         ผมเชื่อว่า การที่คนไทยไม่ได้เข้าใจ ไตรภูมิพระร่วง อย่างซาบซึ้งเพราะครูผู้สอนทำตัวเป็นพ่อค้าแม่ค้าข้อมูล พยายามขายรายละเอียดแก่ นักเรียนและนักศึกษา   การเข้าหาวรรณคดีศักดิ์สิทธิ์ต้องเข้าใจที่มาและสิ่งที่เป็นนัยของวรรณคดีศักดิ์สิทธิ์ด้วย   เนื่องจากผมเป็นนักประวัติศาสตร์ ผมต้องทราบภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของวรรณคดีนี้ก่อน   ยิ่งมีผู้ที่อ่าน ไตรภูมิพระร่วง ไม่เข้าใจถ่องแท้สงสัยว่า ไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณกรรมที่มาแต่งแล้วสวมพระนามพระยาลือไทยเข้าไปด้วยแล้ว   ราชบัณฑิตยสถานและผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีไทยต้องออกมาเต้นแร้งเต้นกายิ่งกว่าผู้อื่น

        ข้อสังเกตเรื่องไตรภูมิพระร่วงยังมีอีกยาว     ขอยกไปต่ออีกตอนหนึ่งครับ

วิจารณ์ พานิช
๑๙ ต.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 144769เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2007 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2012 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท