พ.ร.ก.จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ มติ ครม.ขิงแก่ที่ต้องทบทวน


คณะรัฐมนตรีอนุมติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ....ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 หากพิจารณาตามหลักการที่ระบุว่า ..เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยลดการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ ..นับว่าเป็นมติที่สมควรต้องส่งเสริมสนับสนุน แม้จะขัดกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ประกาศกับคณะรัฐมนตรีและสังคมไทยว่า เนื่องจากมีกำหนดการเลือกตั้งเพื่อสรรหารัฐบาลใหม่ในวันที่ 23 ธันวาคมศกนี้ รัฐบาลจะไม่อนุมัติโครงการใด ๆ อีกต่อไป สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก.ที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวนี้ กระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกรมบัญชีกลางถือเป็นผู้ผลักดันสำคัญ โดยเชื่อว่า ครม.ขิงแก่เห็นชอบ เพราะปรากฏว่ามีบางร่างกฎหมายที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลหรือส่วนราชการสามารถยกเว้นผ่อนผันการไม่ฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อฯ ได้โดยมติ ครม.   ทั้งนี้ การบริหารจัดการกฎหมายให้ชัดเจนก็จะแก้ปัญหา ความคลุมเครือดังกล่าวได้ แต่ในรายละเอียดของร่าง พ.ร.ก.ที่กระทำอย่างรวบรัดตัดตอนนั้นคงไม่สามารถทำให้มองข้ามปัญหาความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น  เพราะดูเหมือนว่า ครม.มิได้สนใจหรือใส่ใจเพียงพอกับการชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีข้อเสีย ก่อนการตัดสินใจใด ๆ  อย่างน้อยที่สุด  สาระสำคัญในข้อสุดท้ายหรือข้อ 14 ของ พ.ร.ก.ที่ระบุ..ให้ยกเลิกการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาขององค์การเภสัชกรรม และโรงงานเภสัชกรรมทหาร..มีกระแสข่าวว่า ทั้งสององค์กรที่ถูกพาดพิงถึงนั้นกลับไม่ได้รับโอกาสที่จะให้ข้อมูลในด้านของตัวเองแก่ ครม. เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนมีมติ ครม.ใด ๆ เลย ในขณะที่กระทรวงการคลังเขียนไว้อย่างสวยหรูว่า สาระของข้อนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้าภาคเอกชนได้เข้าร่วมการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด ซึ่งจะทำให้ทางราชการได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น รัฐบาลขิงแก่หรือแม้แต่คนในสังคมไทยส่วนหนึ่ง อาจจะมองเห็นภาพการชุมนุมประท้วงและปิดถนนพิษณุโลกของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เพื่อเรียกร้องขอให้รัฐบาลทบทวนมติเปิดเสรีการจัดซื้อจัดหายาและเวชภัณฑ์ในครั้งนี้เป็นปัญหาความขัดแย้งของผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง แต่หากทำใจให้เป็นกลาง และศึกษาถึงผลกระทบต่อ พ.ร.ก.ที่จะเกิดขึ้นกับองค์การเภสัชกรรมแล้ว จะพบว่าผลประโยชน์ใหญ่หลวงของคนไทยต่างหาก  ที่จะถูกลิดรอนและละเมิด เพราะการเปิดเสรีตามที่กระทรวงการคลังวาดหวังนั้น เป็นการทำลายกลไกคุ้มครองปกป้องผู้บริโภคยาในประเทศไทยโดยสิ้นเชิง หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขของเราได้พยายามที่จะต่อต้านและรับมือกับนายทุนบริษัทยาข้ามชาติที่เอารัดเอาเปรียบคนไทยมาโดยตลอด และเป็นเวลานานความปรารถนาดีของกระทรวงการคลังที่มองกลไกตลาดเสรีเป็นโลกาภิวัตน์ ที่ประเทศผู้เจริญต้องประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องผิดอย่างแน่นอน แต่จะเป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสมไม่ได้เลย ในเมื่อสังคมไทยยังต้องพึ่งพิงอำนาจรัฐเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า องค์การเภสัชกรรมมีภารกิจเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ วิจัยพัฒนายาและเวชภัณฑ์เพื่อความมั่นคง ซึ่งเสมือนยุทธปัจจัยที่ทุกชาติต้องสำรองและมีไว้ในมือ ไม่อาจฝากความหวังไว้กับบริษัทยาข้ามชาติ ที่จะต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อผูกขาด  และสร้างอำนาจต่อรอง เฉกเช่นที่ประเทศไทยได้ต่อสู้มาแล้วกับปัญหาสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอดส์ และยาที่เกี่ยวกับโรคหัวใจ ซึ่งราคาแพงเกินความเป็นจริงยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จะทบทวนมติอันแน่ชัดแล้วว่าจะส่งผลกระทบและทำลายระบบการผลิต การซื้อ การขาย ยาและเวชภัณฑ์ในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือรัฐ  ขอเพียงเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งข้อมูลให้ครอบคลุม มิใช่ฟังความข้างเดียวอย่างที่ได้กระทำกับองค์การเภสัชกรรม เชื่อว่าปัญหาจะสามารถแก้ไขและคลี่คลายได้ เพราะประชาชนก็ยังรู้สึกมั่นใจว่า รัฐบาลขิงแก่แม้จะเป็นฤๅษีขี่เต่า แต่ความตั้งใจที่จะทำงานด้วยความโปร่งใสเพื่อประชาชนนั้นก็เป็นประเด็นที่สามารถเข้าใจได้...ขอเพียงรู้ว่าผิดแล้วลงมือแก้ไข

ไทยโพสต์

หมายเลขบันทึก: 144500เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2007 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท