บทความอ่านเล่นเกี่ยวกับแบบจำลองระบบ (๗)


ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ (ตอนสอง)
ใบอ้อย “อ้าวว่าไง”
สงสัย  “คือ เอาเป็นว่าเจ้าค่าสัมประสิทธิ์การเจริญเติบโตของพืชแต่ละตัว เหมือนค่าโทรศัพท์ก็แล้วกันถ้าโทรเครื่องสาธารณะก็เสียค่าโทร ครั้งละหนึ่งบาท ถ้าโทรเครื่องที่บ้านเสียค่าโทรครั้งละสามบาท ยิ่งโทรมากยิ่งจ่ายมากหากโทรที่บ้าน”
 

ใบอ้อย “แสดงว่าเจ้าตัวเลขสัมประสิทธิ์การเจริญเติบโตของพืช แต่ละตัว เปรียบเหมือนราคาต่อหน่วยของค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันต่อลิตร ค่ารถโดยสารประจำทาง ค่าโดยสารรถไฟ ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าก๋วยเตี๋ยวต่อชาม อะไรอย่างนั้น ซิ”
สงสัย  “เออ เธอเข้าใจเร็วดี แล้วก็เปรียบเทียบได้เร็วและดีกว่าเราอีก ขอยืมไปใช้หน่อยนะ”

ใบอ้อย “ได้เลย”
สงสัย  “เอาล่ะ ที่นี้เรื่องสุดท้ายแล้ว”

ใบอ้อย “เรื่องข้อมูลการจัดการผลิตอ้อย ชาวบ้านน่าจะเข้าใจ ไม่ยาก”
สงสัย  “ใช่ เพราะว่าทำอยู่เป็นประจำ แต่ขอขยายความหน่อยน่ะ”

ใบอ้อย “ว่าไปเลย”
สงสัย  “ข้อมูลการจัดการผลิตอ้อยที่โปรแกรมอ้อยไทยต้องการใช้ ก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับวันปลูก ระยะปลูก ชื่อพันธุ์อ้อยที่ใช้ปลูก การใช้ปุ๋ย เป็นปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ การใช้น้ำชลประทาน เป็นแบบไหน ฯลฯ”

ใบอ้อย “ความจริงเราเองก็สามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้ คิดว่าจะลองทำและใช้งานกับโปรแกรมอ้อยไทยดู”
สงสัย  “ใช่ จะให้ช่วยอะไรก็บอก เอาไปใช้งานให้ทำการเกษตร แบบแม่นยำ หรือ แบบพลาดน้อย น้อย ได้อย่างสบาย”


ใบอ้อย “อะไรของเธออีกล่ะ การเกษตรแบบแม่นยำ หรือแบบ พลาดน้อย”
สงสัย  “จำตอนไปตลาดสด ได้ไหม”

ใบอ้อย “ได้ แล้วมันเกี่ยวอะไร กันละ”
สงสัย  “จะเปรียบเทียบให้ฟัง”

ใบอ้อย “ว่าไป ยังมีเวลา”
สงสัย  “เวลาไปซื้อของที่ตลาดสด เธอก็ต้องการของตามที่สั่ง เช่นว่า ต้องการหมูเนื้อสัน ๑ กิโลกรัม ก็ต้องไปที่แผงขายหมู จะไป ซื้อที่แผงขายผักไม่ได้ และก็ต้องแน่ใจว่า ตาชั่งของแม่ค้านั้นมีความเที่ยงตรง ได้เนื้อหมู ๑ กิโลกรัม”

ใบอ้อย “ก็ใช่ ถ้าจะให้ดีต้องไปซื้อตอนเช้าด้วยนะ แม่ค้าเจ้าประจำของฉัน ที่ตลาดสดเขาแนะนำอย่างนั้น”
สงสัย  “เธอเองก็ต้องมีความแม่นยำทั้งเรื่องตำแหน่งของแผงหมู และก็เวลาที่จะไปซื้อเนื้อสันหมูด้วยใช่ไหม และทำแบบเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องไปเสียเวลาคิดเลย การเกษตรแบบแม่นยำก็คล้าย คล้าย กันกับการซื้อของที่ตลาดสด คิดจะปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ก็ต้องดู ต้องศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับดิน-ฟ้า-อากาศ ดูตลาดและความต้องการ”

ใบอ้อย “ขยายความหน่อย ตรงที่ว่าต้องดูอะไรหลาย หลายอย่าง”
สงสัย  “อย่างเธอปลูกอ้อยในพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงเหมือนข้าวก็ไม่ได้ หรือจะไปปลูกบนที่สูง บนภูเขาก็ไม่น่าจะดี ปลูกในที่ที่ดินเป็นดินเค็มก็ไม่น่าจะดี นอกจากนี้ยังต้องดูเวลาปลูกและเวลาตัดอ้อยที่เหมาะสมด้วย ต้องดูตลาดน้ำตาลด้วยว่ามีความต้องการมากน้อยเพียงใด และเขาต้องการน้ำตาลประเภทไหนด้วย จึงจะผลิตขายตามที่เขาต้องการ เหมือนแม่ค้าแผงเนื้อหมูของเธอ วัน วันเขาก็รู้ว่าต้องสั่งเนื้อหมูน้ำหนักเท่าใดเพื่อนำมาวางขายบนแผง แต่ละเจ้าก็มีลูกค้าประจำของตนเอง เวลามีเทศกาลสำคัญ อาจจะสั่งหมูมาขายเพิ่มเติมจากวันเวลาธรรมดา เช่นวันตรุษจีนเป็นต้น แต่ละแผงหมูก็จะต้องมีการเตรียมการ และทำสำคัญบางแผงหมูมีการจัดส่งเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์หมูถึงลูกค้าบางประเภทด้วย เช่น ส่งตรงถึงร้านอาหารในตัวเมือง ร้านทำไส้กรอก ร้านขายก๋วยเตี๋ยวของเจ๊กเฮงเป็นตัวอย่าง”

ใบอ้อย “เข้าเรื่องเกษตรแม่นยำหน่อย ทำไมต้องใช้เจ้าโปรแกรมเชื่อมโยง และข้อมูลอะไรตั้งมากมาย”
สงสัย  “เรื่องของตลาดสด และอีกหลายตัวอย่างที่ว่ามา ความจริงก็ต้องใช้ข้อมูลมากโขและการเชื่อมโยง แต่ว่าทั้งเธอและแม่ค้าประจำแผงก็ทำโดยไม่รู้สึกว่าตัวเองใช้ข้อมูล ทำแบบอัตโนมัติ ในทางเกษตรก็เช่นกัน เธอเองก็ทำการปลูกอ้อยแบบไปจ่ายของที่ตลาด แต่ทำการเกษตรในปัจจุบันและอนาคตต่างจากการไปตลาดสดและต้องใช้ข้อมูลมากกว่าเดิม เพราะว่า วงการเกษตรเริ่มสะสมความรู้ สะสมข้อมูลเกี่ยวกับระบบเกษตรมากมายเดิม และมีความต้องการที่จะขายสินค้าการเกษตรให้ได้ราคาดีอยู่เสมอ ไม่มีชาวไร่อ้อยที่ไหนที่อยากได้ราคาอ้อยสดต่ำราคาต้นทุน”


ใบอ้อย “เริ่มจะได้เนื้อหาแล้ว แสดงว่าถ้าฉันเอาข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการปลูกอ้อยของไร่ฉัน ใช้ร่วมกับเจ้า ‘อ้อยไทย’ ของเธอนี้ น่าจะทำให้ฉันได้เก็บข้อมูลเยอะ เลย และสามารถใช้งานได้เหมือนไปจ่ายของที่ตลาดสด”
สงสัย  “ในระยะยาวเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน เพราะการเกษตรแบบใช้ข้อมูลช่วยในการทำการเกษตรเป็นของใหม่ เป็นแนวคิดใหม่สำหรับบ้านเรา เมืองเรา แต่ถ้ายังไม่ทำตอนนี้ ไม่ตัดสินใจทำอีก ๕ ปีข้างหน้า ก็อาจจะช้าไป”

ข้อมูลเป็นสินทรัพย์ที่จำเป็นขององค์กรและของสังคมแห่งความรู้ ต้องช่วยกันสร้าง ช่วยกันรักษา และใช้งานข้อมูลทางเกษตรเพื่อให้งานและกิจการของตนมีการพัฒนา และมีประสิทธิภาพคงที่และเป็นที่ต้องการของผู้ใช้บริการ ที่สำคัญทำให้ตนเองทำงานอย่างมีความสุข

ใบอ้อย “เริ่มอย่างไงดีละ”
สงสัย  “เริ่มจากระดับครัวเรือน และชุมชน ฉันคิดว่าจะไปได้ไกลเลย”
==========================>>

() |(๗) | ()
หมายเลขบันทึก: 144392เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2007 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2012 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท