หมอบ้านนอกไปนอก(33): วันเวลา


วันเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นอย่างมีหลักการและเหตุผล วันเวลาเป็นสิ่งสมมติที่มีค่าและเป็นเพื่อนที่ดีเสมอ ไม่ว่าเราจะสุข เศร้า เหงา ร่าเริงอย่างไร เวลาก็จะอยู่กับเราแบบไม่ซ้ำกัน ไม่หยุดนิ่ง มีอยู่กับเรา แต่ไม่รอคอยเรา มีแต่เราที่ต้องก้าวไปตามเวลา เวลาเป็นเพื่อนที่ดี

  บ่ายวันพุธ พี่เกษมชวนผม เกรซ เกลนด้า ออกไปเที่ยวฝั่งตรงข้ามเมือง (Linkereover) โดยข้ามทางอุโมงค์กลางเมืองไป ทิวทัศน์บริเวณอ่างเก็บน้ำที่แล่นเรือใบดูสวยกว่าเมื่อวันอาทิตย์ แต่ใบไม้ต้นไม้ที่ดูสวยงามมากกลับสวยน้อยลง ใบร่วงหล่นและเปลี่ยนสีไปเยอะ แดดออกค่อนข้างมาก แต่กลับไม่ค่อยสวย ทำให้เงามืดต้นไม้บดบังความงามของสีเหลืองทองของใบไม้ที่ล่วงหล่นไป แต่สามารถถ่ายภาพเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามได้ชัดเจนขึ้น เวลาผ่านไปแค่สองวัน สิ่งต่างๆเปลี่ยนไปเยอะ ความรู้สึกที่เรารับรู้ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ตอนเย็นเป็นเทศกาลฮาโลวีน (Halloween) แต่ดูไม่คึกคักเหมือนไม่มีงานอะไรเลย

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน เป็น All saint’s day ถือเป็นวันหยุดราชการ พี่เกษม ผม เกลนด้า นั่งรถไฟไปเที่ยวเมืองลีเว่นของจังหวัดบราบังท์กับเมืองแฮสเซล จังหวัดลิมเบิร์กกันตั้งแต่เช้าจนเย็นกลับมาถึงบ้านพักเกือบหนึ่งทุ่ม เราขึ้นรถไฟที่สถานีกลาง (Central Station) ซื้อตั๋วรถไฟจากแอนท์เวิป-ลีเว่น จากลีเว่น-แฮลเซลและจากแฮสเซล-แอนท์เวิป การซื้อตั๋วแบบไปกลับแบบนี้ถูกกว่าซื้อแยกไปกลับมาก ราคาต่อคน 15 ยูโร เมื่อซื้อตั๋วเสร็จก็ไปดูตารางเวลารถจากจอมอนิเตอร์เพื่อดูว่าชานชาลา (Spoor) ไหน กี่โมง รถไฟที่นั่งไปลีเว่นเป็นชนิด Local train ส่วนที่ต่อไปแฮสเซลนั่งชนิด Intercity ขากลับนั่ง Interregion ผมสังเกตว่า ไม่แตกต่างกันนัก เป็นเบอะนั่งสบายๆ สี่ที่นั่งหันหน้าเข้าหากัน มีห้องน้ำบนรถไฟ สะอาดและสะดวกสบายมาก นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้นั่งรถไฟในยุโรป รถไฟทั้งหมดใช้พลังงานไฟฟ้า ขากลับจากแฮสเซล เราดูตารางรถจากบอร์ดผิดเพราะวันนี้เป็นวันหยุดต้องดูตารางวันหยุด ทำให้พลาดรถไฟไปเที่ยวหนึ่ง ต้องรออีก 1 ชั่วโมง เวลาดูตารางรถไฟให้ดูจากมอนิเตอร์เป็นหลัก ไม่ให้ดูจากบอร์ดเนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงตารางเวลารถได้

สังเกตว่าแต่ละชานชาลาของรถไฟ เราต้องเดินลงบันไดเลื่อนใต้ดินแล้วขึ้นไปชานชาลาที่เราต้องขึ้นรถไฟ ไม่สามารถเดินข้ามรางรถไฟไปมาได้ ก็เหมือนกับสถานีรถไฟฟ้าที่กรุงเทพฯ ตอนเดินทางกลับจากแฮสเซลสู่แอนท์เวิป ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ผ่านสถานีรายทาง 5 สถานี (เมือง) คือ Diest, Aarchot, Heist-op-den-Berg, Lier, Berchem ตอนนั่งจากลีเว่นไปแฮสเซลผ่านและจอด 8 สถานี (เมือง) ทุกสถานี ใช้เวลา 1 ชั่วโมงเช่นกัน ผ่าน Tienen, Landen, Borgworm, Ans, Luik-Guillemis, Sint-Truder, Alken การเดินทางวันนี้ทำให้ผมมีความมั่นใจในการเดินทางเที่ยวโดยรถไฟในยุโรปมากขึ้น ห้องน้ำในสถานีรถไฟเสียค่าใช้บริการครั้งละ 40 เซนต์

เมืองลีเว่น เป็นเมืองที่มีอาคารเก่าหลายร้อยปีอยู่ ตัวเมืองมีคนไม่มากนัก ถนนเป็นลาดยางบางส่วนก็เป็นถนนปูด้วยก้อนหินสี่เหลี่ยมที่ทำมานาน อากาศหนาว มีมหาวิทยาลัยคาทอลิกลีเว่นที่มีอายุเกือบหกร้อยปี  ที่ทำการเมืองสวยงามมาก อยู่ตรงข้ามกับโบสถ์ที่สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ชื่อว่าSt Pierterkrek เป็นศิลปะสมัยโกธิค มีGrote maskอยู่ใกล้ๆ มี Oude mask ที่อาคารรอบๆอายุราว 80 ปี ตัวเมืองดูสะอาดกว่าแอนท์เวิป แต่ไม่มีเลนจักรยาน ไม่มีสายไฟฟ้าระโยงระยางให้เกะกะนัยน์ตา ทุกอย่างถูกฝังไว้ใต้ดินทั้งหมด ไม่มีรถราง (tram) เราแวะเข้าไปที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง บรรยากาศดีมาก มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งมานั่งพลอดรักกันอย่างโรแมนติคโดยไม่สนใจสายตาว่าใครจะมอง เหมือนกับว่าโลกนี้มีเขาสองคน ต้นไม้ในสวนกำลังเปลี่ยนสีใบ เริ่มล่วงหล่นลงสู่พื้นดิน มีทั้งแดง ส้ม เหลือง น้ำตาลและเขียว หลากสีสัน ทำให้ดูสวยงามมาก มีสระน้ำเล็กๆที่มีเป็ดนับสิบตัวว่ายน้ำไปมาท่าทางมีความสุข เรานั่งพักเติมพลังด้วยขนมและช็อคโกแลตกันก่อน ประมาณบ่ายโมงก็เดินทางต่อไปที่แฮสเซล สถานีรถไฟของลีเว่น ไม่ใหญ่มาก แต่สวย

เมืองแฮสเซล มีขนาดเล็กและเงียบกว่าลีเว่น ผู้คนเดินบนถนนหนทางน้อยมาก เราเดินไปตามแผนที่ที่ขอจากพนักงานขายตั๋วรถไฟจากสถานี เดินไปตามตัวเมือง ไม่มีรถราง มีแต่รถบัส เราไปชมโบสถ์ที่ไม่ใหญ่มากแต่ภายในดูสวยงาม เป็นศิลปะสมัยบารอคตอนปลาย กับโบสถ์ขนาดกลางอีกแห่งหนึ่ง แล้วก็นั่งทานอาหารกลางวันกันเป็นข้าวผัดที่เตรียมไปด้วย ถนนหนทางเหมือนลีเว่น เราเดินไปชมสวนญี่ปุ่นแต่ก็ปิดเข้าไปไม่ได้ จึงเดินไปชมและถ่ายรูปในสวนสาธารณะ มีคนมาเดินออกกำลังกายกันไม่มาก สังเกตได้ว่าเมืองต่างๆในเบลเยียมมีแนวคิดการออกแบบคล้ายๆกันต้องมีที่ทำการเมือง มี Krote marsk และมีโบสถ์ประจำเมืองที่เป็นเหมือนหอนาฬิกา

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน เป็นวัน All Soul’s day ตอนเช้านั่งทำสไลด์นำเสนออาจารย์ที่ปรึกษา บ่ายไปนำเสนอที่สถาบัน ผ่านไปด้วยดี มีปรับแก้เล็กน้อย อาจารย์บรูโน มาร์แชลน่ารักมาก ดูแล้วน่าจะอายุรุ่นๆเดียวกับผมหรืออ่อนกว่า เป็นคนที่จับประเด็นได้เก่ง วิเคราะห์ปัญหาได้ชัดเจนและให้คำแนะนำที่ดีมาก บรรยากาศวันนี้มีฝนปรอยเบาๆ หนาว มืดครึ้มทั้งวัน ชวนให้เหงา เศร้าซึมและคิดถึงบ้านมาก

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน กินข้าวเช้าแล้วไปจ่ายตลาดแต่ไม่ได้เล่นกีฬาเพราะสนามปิด ท้องฟ้ามืดครึ้ม บรรยากาศชวนเหงามาก

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน รู้สึกเพลียๆ ก็เลยอยู่บ้าน ไม่อยากออกไปไหน อยากอยู่เงียบๆคนเดียว

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ที่ผ่านมา ที่เบลเยียมมีการปรับเวลาให้ช้าลงอีก 1 ชั่วโมงตามแนวคิด Daylife saving time เริ่มตั้งแต่ตีสามให้ปรับเป็นตีสอง ตอนแรกก็มีการสับสนกันเล็กน้อยเพราะคิดว่าเป็นเช้าวันเสาร์ แต่จริงๆเป็นคืนวันเสาร์ (ตีสามวันอาทิตย์) มีเพื่อนๆบางคนปรับเวลาไปก่อน ทำให้ไปดูพิพิธภัณฑ์รูเบนไม่ทัน เครื่องคอมพิวเตอร์เปลี่ยนเวลาไปอัตโนมัติ ทำให้เวลาต่างจากเมืองไทย 6 ชั่วโมง สี่โมงเย็นตรงกับสี่ทุ่ม เหตุผลที่มีการปรับเวลาก็เพื่อช่วยให้เวลากลางวันมากขึ้น ในหนึ่งปีมีการปรับเวลาสองครั้งคือปลายฤดูใบไม้ผลิเข้าสู่ฤดูร้อนให้ปรับเร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมง ส่วนเมื่อหมดฤดูใบไม้ร่วงเข้าสู่ฤดูหนาวจะปรับช้าลงไป 1 ชั่วโมง ให้สอดคล้องกับเวลามาตรฐานที่เมืองกรีนิช

ความคิดนี้เริ่มต้นจากผู้ชายคนหนึ่งชื่อวิลเลียม วิลเลต เจ้าหน้าที่ในลอนดอน ที่อาศัยที่เพท วูด เมืองเคนท์ ได้คาดคะเนว่าถ้าเราจะเพิ่มคุณภาพชีวิตและความสุขของพลเมืองได้โดยการโดยการหมุนเวลาเร็วขึ้นยี่สิบนาทีทุกวันอาทิตย์ในเดือนเมษายนและช้าลงในเดือนกันยายน แต่ก็ไม่มีการนำไปปฏิบัติ แม้จะมีการใช้ Daylight saving Bill ในช่วงห้าปีก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จนสงครามเกิดขึ้นจึงมีการมองการณ์ไกลถึงการเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์จากการเพิ่มเวลาช่วงกลางวันให้ยาวขึ้นและลดการใช้แสงไฟประดิษฐ์ จนในปี ค.ศ.1916 จึงได้นำมาปฏิบัติ แต่ก็มีหลายประเทศไม่ได้ใช้แบบนี้หลังสงครามสงบลง แต่ในที่สุดด้วยความมีเหตุมีผลที่ดี หลายๆประเทศก็กลับมาใช้แนวคิดนี้ตลอดทั้งปี ตอนผมไปที่ออสเตรเลียก็ใช้แนวคิดนี้ ของไทยเราน่าจะลองพิจารณาใช้ มีคนเคยพูดว่าถ้าปรับเวลาของไทยเร็วไปอีก 1 ชั่วโมง จะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจได้มากและจะทำให้ตลาดหุ้นของไทยเปิดพร้อมๆกับสิงคโปร์ได้ในแต่ละวัน ยิ่งชีวิตในโลกดิจิทัลนี้ด้วยแล้ว ยิ่งเร็วกว่ายิ่งได้เปรียบ นอกจากปรับเรื่องเวลาแล้ว อาจต้องปรับลดวันหยุดพิเศษที่มีอย่างมากมายเกินไปด้วย

ใครที่สนใจรายละเอียดมากกว่านี้ ตามไปดูได้ที่ EU clocks Summer Time 2007 Daylight saving time / summer time will be in force from Sunday 25 March 2007, 01:00 GMT (02:00 CET) until: Sunday 28 October 2007. The time & date dot com - GO to http://www.timeandd ate.com/worldclock/city.html? n=48  indicates that daylight saving ends on 28th of October, today.

วันเวลาผ่านไปเร็วเผลอแป๊บเดียว ผมมาอยู่ที่เบลเยียมได้สองเดือนแล้ว วันเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นอย่างมีหลักการและเหตุผล วันเวลาเป็นสิ่งสมมติที่มีค่าและเป็นเพื่อนที่ดีเสมอ ไม่ว่าเราจะสุข เศร้า เหงา ร่าเริงอย่างไร เวลาก็จะอยู่กับเราแบบไม่ซ้ำกัน ไม่หยุดนิ่ง มีอยู่กับเรา แต่ไม่รอคอยเรา มีแต่เราที่ต้องก้าวไปตามเวลา เวลาเป็นเพื่อนที่ดีที่ช่วยเยียวยาความทุกข์โศกตรม ช่วยขยายความสุขของชีวิตและช่วยให้เรามีความหวัง เมื่อชีวิตเราต้องเจอกับสภาพเหตุการณ์ใหม่ๆ เราต้องปรับตัว ปรับชีวิตความเป็นอยู่ เราอาจรู้สึกลำบาก ยุ่งยาก อึดอัดหรือคับข้องใจ เวลาก็ค่อยๆส่งมอบของล้ำค่าชิ้นหนึ่งให้เรา ที่เรียกว่าความเคยชินหรือความคุ้นเคยมาให้ ทำให้เราไม่รู้สึกลำบากเมื่อเวลาผ่านไปๆ เป็นเหมือนดังคำกล่าวที่ว่า “แท้จริงความลำบากไม่มี มีแต่ความไม่เคยชิน” ของอาจารย์หมอผจญ วงษ์ตระหง่าน อาจารย์หมอที่คณะแพทย์เชียงใหม่ ศัลยแพทย์ผู้สมถะ เปี่ยมไปด้วยความเป็นครู ผู้ที่ชอบผ่าตัดใจ (ไม่ใช่หัวใจ แต่เป็นจิตใจคน) มากกว่าผ่าตัดอวัยวะในร่างกายคน อาจารย์ได้เปลี่ยนจิตใจของคนหลายคนให้อยู่ในโลกนี้ด้วยความคิดคำนึงถึงจิตใจคนอื่นๆได้ ลดความเห็นแก่ตัว เพิ่มความเห็นแก่คน อาจารย์ได้สอนให้ผมเป็นผู้บริหารที่มองคนก่อนมองงาน เห็นคุณค่าของคนก่อนเห็นคุณค่าของงาน

เวลาของอดีตไม่มีวันหวนกลับ หมุนย้อนเวลาไม่ได้ แต่เวลาก็ให้โอกาสเรานึกย้อนทบทวนอดีตได้ เวลาของอดีตมีทั้งเวลาที่เราชอบเพราะเรามีความสุข ความสำเร็จ ความสมหวัง กับเวลาที่เราไม่ชอบด้วยเหตุแห่งความทุกข์ เหงา เศร้า ตรม แต่ทั้งสองบรรยากาศก็ให้โอกาสเรานึกย้อนได้เช่นกัน อดีตที่เราสุขคือพลังที่กระตุ้นให้เราก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ อดีตที่เราขมขื่นคือยาขมที่ช่วยชี้แนวทางให้เราหลบพ้นความผิดพลาดซ้ำสอง ช่วยสร้างความแข็งแกร่งในจิตใจให้แก่เรา ธรรมชาติจึงต้องให้เราประสบกับเหตุการณ์ในสองทาง ไม่มีใครสุขโดยไม่ทุกข์และไม่มีใครทุกข์โดยไม่สุข ในสุขมีทุกข์ ในทุกข์มีสุข สุขมากก็คือทุกข์น้อย ทุกข์มากก็คือสุขน้อย นั่นเอง อดีตเป็นสิ่งที่เกิดมาแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ เราจึงไม่ควรยึดติดกับอดีต หลายคนต้องเอาความทุกข์ที่ทับถมแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันไปทิ้งไว้ที่วัดด้วยการทำบุญ ไหว้พระ ล้างด้วยนำมนตร์หรือแม้แต่ใส่ลงไปในกระทงลอยไปตามแม่น้ำในคืนวันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำเดือนสิบสอง

การนำเหตุการณ์ในอดีตมาใช้มีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและคนอื่นๆทั้งเรื่องสำเร็จและเรื่องล้มเหลว มีคุณค่าเด่นชัดขึ้นเมื่อแนวคิดเรื่องการจัดการความรู้เข้ามาสู่สังคมไทยแล้วแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยการกระตุ้นส่งเสริมของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ความสำเร็จ (Success story) เป็นเรื่องเล่า (Story telling) ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าดี ทำมาจริงๆ ทำมากับมือ เล่าให้คนฟังเห็นภาพของการปฏิบัติที่นำไปสู่ความสำเร็จ จึงเรียกว่าเป็นวิธีการปฏิบัติที่ดี (Best practice) เป็นการเล่าในบรรยากาศสบายๆ ไม่คร่ำเคร่งเชิงวิชาการมาก มีความเป็นพวกเดียวกัน ไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมรับซึ่งกันและกัน คนฟังก็ตั้งใจฟัง เป็นการเคารพคนพูด แต่เบื้องหลังของการเคารพนั้นคือเคารพความรู้และศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวคนๆนั้น แล้วพยายามสกัด ควัก คว้า เอาไปปรับใช้ให้เหมาะกับวิถีชีวิต (Context) ของตนเอง บริบทไม่ใช่ข้ออ้างเพื่อการไม่ทำ ไม่ใช่อ้างว่าของเขาทำได้สิเพราะอย่างนั้นอย่างนี้ ของเราทำไม่ได้หรอก อย่าไปทำให้เหนื่อยเลย แต่บริบทเป็นกรอบความจริงที่คอยบอกเราว่า เราจะทำให้สำเร็จได้อย่างไรภายใต้กรอบบริบทของเรานี้ การจัดการความรู้จึงเป็นเรื่องการหาความรู้เพื่อมาทำงานของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ความผิดพลาด ล้มเหลว ก็เป็นบทเรียนที่ดีเช่นกัน (Lesson learned) หากแต่ว่าการนำเรื่องราวความผิดพลาดมาเล่า ต้องเป็นความเต็มใจของผู้ผิดพลาด ไม่ใช่ถูกบังคับให้มาเล่า ไม่ใช่ให้คนอื่นเอามาเล่าให้ฟัง เจ้าตัวต้องเป็นคนเต็มใจเล่า เล่าให้รู้ว่าความผิดพลาดนั้นมันเกิดได้อย่างไร ได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง คนฟังต้องฟังอย่างตั้งใจ เข้าใจ เห็นใจ ไม่ใช่คอยจ้องจะหาทางจับผิดซ้ำแล้วบอกว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ คอยเกทับบลั๊พแหลกอย่างนี้ บรรยากาศการเรียนรู้จะไม่เกิด จะเป็นแต่เพียงเวทีตำหนิและชี้แจงแก้ตัว การแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยใช้เรื่องเล่าจากความผิดพลาดจึงทำได้ยาก ถ้าคนในกลุ่มยังไม่เปิดใจหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันหรือเป็นพวกเดียวกัน ข้อเสนอแนะเบื้องต้นเพื่อความสำเร็จของหน่วยงานที่เริ่มต้นนำการจัดการความรู้มาใช้คือ เริ่มต้นจากความสำเร็จ ความสุข คำชื่นชม ที่เป็นบรรยากาศทางบวกก่อน

เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมตื่นนอนหกโมงเช้า ใจก็ยังยึดติดคิดว่ามันเจ็ดโมงเช้าแล้ว (ถ้าเขาไม่ปรับเวลาช้าลงอีกหนึ่งชั่วโมง) ตอนนอนก็นอนห้าทุ่มเพราะใจคิดว่าเที่ยงคืนแล้ว ในความเป็นจริงผมต้องปรับตัวอยู่กับเวลาใหม่เพราะเขาสมมติขึ้นใหม่แล้ว แต่ยังไงก็ตามในหนึ่งปีเวลาก็ยังคงเท่าเดิมเพราะเดี๋ยวเขาก็จะคืนเวลาที่ใช้มากไปหนึ่งชั่วโมงกลับมาให้โดยตั้งเวลาเร็วขึ้นอีกหนึ่งชั่วโมงในฤดูกาลต่อไป การปรับเปลี่ยนเวลาแบบนี้อาจทำให้ชาวยุโรปรู้จักปรับตัวได้มากกว่าคนไทยที่เวลาคงที่ตลอด เรื่องของวันก็เช่นกันเราเคยใช้จันทรคติ ขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ แต่บางเดือนก็มีแค่ 14 ค่ำ หรือในทางสุริยคติ ในแต่ละเดือนก็ไม่เท่ากันเพราะต้องรวมให้ได้ 365 วันในหนึ่งปี ไม่ขาด ไม่เกิน

เวลาปัจจุบัน เป็นสิ่งสำคัญที่เราอยู่ด้วยในตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้เวลาของเราคือค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) เมื่อเราใช้เวลาทำอย่างหนึ่ง เราก็เสียโอกาสที่จะทำอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่ทำเป็นค่าได้โอกาส ในชีวิตเราจึงต้องชั่งใจเสมอว่าค่าได้กับค่าเสียโอกาส อันไหนมากกว่ากัน ตาชั่งของเราไม่เท่ากัน จึงเลือกได้และเสียโอกาสไม่เหมือนกัน ถ้าเราเลือกอ่านหนังสือ เราก็ไม่ได้ไปดูหนัง ถ้าเราเลือกอยู่กับบ้าน เราก็ไม่ได้ไปเที่ยว บางทีเราเลือกทำสองอย่างในเวลาเดียวกันเช่นทั้งอ่านหนังสือและฟังเพลง แต่คิดว่า การได้ผลของแต่ละอย่างก็คงไม่เต็มที่เท่ากับการเลือกทำเพียงอย่างเดียว หลายอย่างเป็นการเลือกที่ยากลำบากในการตัดสินใจเพราะค่าได้และเสียโอกาสจะแตกต่างกันมาก เช่นการเลือกคู่ครอง การเลือกอาชีพ เป็นต้น

นอกจากนี้ เวลายังเป็นผู้ให้คำตอบที่ดีที่สุดเกี่ยวกับคนๆหนึ่งรวมทั้งตัวเราเองด้วย “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” ตอนคบกันรู้จักกันแรกๆอาจจะดูดี ทำดีกับเราแต่พอเวลาผ่านไปก็จะเข้าใจธาตุแท้ของเขามากขึ้น ในขณะที่บางคนอาจดูเหมือนไม่จริงใจกับเรา แต่เวลาผ่านไปกลับพบคุณค่าความดีในตัวเขาที่มีให้เรา วันเวลาจึงเป็นผู้กะเทาะเปลือกใจคนแต่ละคนออกมา

การบริหารเวลา เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับเวลาปัจจุบันและเวลาอนาคต ทุกคนมีเวลาเป็นของตนเอง คนเรามีเวลาเท่ากันคือยี่สิบสี่ชั่วโมงในหนึ่งวัน ไม่มีใครมาใช้เวลาของเรา มีแต่เราเท่านั้นที่ใช้เวลาของตนเองอย่างคุ้มค่าหรือสูญเปล่า ลองคิดดูถ้าเรานอนน้อยลงอีก 1 ชั่วโมง เราจะได้เวลาเพิ่มขึ้นเพื่อทำสิ่งต่างๆอีก 1 ชั่วโมงทันที การเลือกทำในสิ่งที่มีค่าเสียโอกาสต่ำ จึงเป็นประโยชน์มาก เวลากับการเลือกจึงมาคู่กัน ตอนปฐมนิเทศมีการสัมภาษณ์ทุกคนเป็นรายบุคคล ผมเล่าให้ฟังเรื่องงานที่ทำตอนก่อนมาเรียน เพื่อนๆในกลุ่มทำหน้างงๆ ว่าทำได้อย่างไร อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าทึ่งมาก ผมก็ตอบว่า ผมบริหารเวลาและบริหารคน จัดเวลาให้ลงตัว จัดคนให้เหมาะกับงาน ทำให้มีคนเก่งคนดีช่วยผมทำงานเยอะ แต่ผมก็รู้สึกว่าตอนนั้น ผมใช้เวลาสุขภาพของผมไปทำงาน ได้งานแต่ก็เสียโอกาสด้านสุขภาพและด้านครอบครัวไปเยอะ แสดงว่า ผมยังบริหารเวลาได้ไม่ดีนัก การบริหารเวลาถือเป็นศาสตร์และศิลป์แห่งการดำรงชีวิตให้สมดุล

ผมตั้งใจจะมาเบลเยียมพร้อมกันทั้งครอบครัวแต่ก็มีอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้เป็นไปไม่ได้ ติดขัดเรื่องการออกวีซ่าที่ต้องใช้เอกสารบางอย่างที่ใช้เวลาทำนานมาก เป็นแบบราชการจริงๆแม้แต่ในประเทศที่จัดว่าเป็นประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วก็ตาม ผมหวังไว้ว่าผมกับภรรยาจะฉลองวันครบรอบ 12 ปี วันแต่งงานด้วยกันที่เบลเยียม แต่ก็ต้องผิดหวังและคุยกันผ่านทางสไกป์ (www.skype.com ) แทน เวลาสอนผมอีกแล้วว่าให้รู้จักรอคอย

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbondstraat 52, 2000 Antwerp, Belgium

4 พฤศจิกายน 2550 เวลา10.00 น. ( 16.00 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 144171เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2007 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีเจ้าค่ะ คุณน้าหมอ

         แวะมาเยี่ยมเจ้าค่ะ ช่วงนี้ไปสอบโควต้าหลายที่มากเลยคิคิ คุณน้าหมอสบายดีหรือเปล่าค่ะ

         เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ถ้าอยากรู้ว่าหนูสอบโควต้าที่ไหนบ้าง อ่านในบล๊อคหนูได้ค่ะ

        เป็นกำลังใจให้เด้อจ้า------> น้องจิ ^_^

ได้เข้าไปอ่านแล้ว แต่บางทีไม่ได้แสดงความคิดเห็นไว้ ก็ขอชื่นชมความพยายามในการเรียนและการสอบครับ ถ้าติดหลายที่อาจจะตัดสินใจเลือกลำบากนะ

ชื่นชมในความสามารถเฉพาะตัวและความสามารถในการธำรงรักษาสิ่งดีงามของความเป็นไทยไว้

น้าหมอสบายดี และก็เริ่มเรียนหนักเหมือนกัน สอบไปวิชาหนึ่งแล้ว พอเอาตัวรอดได้ เดือนหน้าสอบ 7 วิชา คงหนักเอาการ แต่ก็คิดว่าน่าจะผ่านไปได้ 

    ครบรอบ 12 ปีวันแต่งงาน

"วันครบรอบ สิบสองปี ที่เคียงคู่             

ร่วมกินอยู่ ร่วมเตียง นอนเคียงหมอน

รักกับเจ้า สาวน้อย สุภาภรณ์          

ด้วยอาวรณ์ ห่วงใย ต้องไกลมา

สี่พฤศจิกา วันดี พี่กับเจ้า                      

ได้คลอเคล้า เข้าวิวาห์ สุขหรรษา

สิบสองปี เหมือนเมื่อวาน เพิ่งผ่านมา       

จำติดตา ตรึงใจ ในวันงาน

ทั้งผู้ใหญ่ เพื่อนพ้อง และน้องพี่               

ร่วมพิธี เป็นพยาน วันชื่นหวาน

ต่างอวยพร ให้รักเรา ยืนยาวนาน            

ดั่งคำท่าน รักเราแท้ ไม่แปรไป

ด้วยวันนี้ ตัวพี่ไป ห่างไกลเจ้า              

แต่ใจเรา ชิดใกล้ ไม่หวั่นไหว

พี่ตั้งใจ ร้อยอักษร แทนมาลัย                

จากดวงใจ มอบให้เจ้า ยอดชีวัน

พยานรัก สามเด็กน้อย กลอยใจพี่          

แคนขิมขลุ่ยนี้ ผูกใจ ไม่เปลี่ยนผัน

เราก้าวเดิน เคียงคู่ อยู่ด้วยกัน             

ความผูกพัน ตรึงมั่น นิรันดร์ไป"

พิเชฐ บัญญัติ 4 พฤศจิกายน 2550
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท