ชุด...โบราณ


“โครงการบันทึกเสียงเพลงประจำชาติ ”โดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย

 ๑ ศรีอยุธยา
          เพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก”  ประพันธ์ โดย พระเจนดุริยางค์

               สุกรี  เจริญสุข  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  มหาวิทยาลัยมหิดล
               การทำดนตรีในภาพยนตร์  “พระเจ้าช้างเผือก” นับเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของวงการศึกษาเรื่องดนตรีในภาพยนตร์ทีเดียว 
    เพลงที่ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก”  มีการเขียนเพลงขึ้นมา ใหม่ และใช้เพลงที่มีอยู่แล้ว  บรรเลงเพื่อประกอบให้แก่ภาพยนตร์นี้โดยตรง
             ซึ่งควบคุมวงดนตรีและประพันธ์เพลงโดยพระเจนดุริยางค์  นอกจากจะเป็นเพลงที่ใช้ประกอบฉาก
ดำเนินเรื่องราวของภาพยนตร์แล้ว ยังเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของการดนตรีชาวสยามอีกด้วย
              วงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบ  ไม่ว่าจะเป็นวงมโหรี  ปี่พาทย์ไทย-มอญ  และวงออร์เคสตร้า
เป็นวงดนตรีที่มีฝีมือยิ่ง  หากว่าความสามารถของครูดนตรี นักดนตรีในสมัยนั้นต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน  คนไทยก็คงเล่นดนตรีเก่งไม่เบาทีเดียว
              พระเจนดุริยางค์เป็นนักดนตรี  ดุริยกวี  เป็นครูดนตรีคนสำคัญ ซึ่งได้สร้างผลงานไว้กับประเทศไทยมากมาย  แต่ผลงานของท่านก็สูญหายและกระจัดกระจายไปจำนวนมาก
             ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่จะอวดฝีมือวงดนตรีสมัยพระเจนดุริยางค์ได้  นอกจากแผ่นเสียงเพลงชาติ
แผ่นเสียงเพลงแขกเชิญเจ้า และภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก เพราะว่าในภาพยนตร์นั้นได้ยินเสียงดนตรีที่เป็นเสียงในฟิล์มได้ชัดเจน
            วงดุริยางค์กรมศิลปากรในสมัยพระเจนดุริยางค์เป็นวงดนตรีที่มีความสามารถสูง สามารถบรรเลงเพลงคลาสสิกได้ยอดเยี่ยม  นักดนตรีสีเครื่องสายเล่นได้ตรงเสียง สามารถเล่นเพลงคลาสสิกได้หลายเพลง
            ที่สำคัญก็คือพระเจนดุริยางค์สามารถเรียบเรียงเสียงประสานเพลงใหม่  ให้กับวงดนตรีได้ด้วย ทำให้วงดนตรีและเพลงประกอบภาพยนตร์มีเสน่ห์
            ดนตรีที่ใช้ประกอบในภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก  ซึ่งประพันธ์บทเพลงและควบคุมการผลิตโดย
ดร.ปรีดี พนมยงค์ เมื่อ ๖๐ ปีมาแล้ว  (พ.ศ. ๒๔๘๔)  มีเพลงอยู่  ๓ ส่วนด้วยกันคือ
        ๑.เพลงเอกประจำเรื่อง  มีอยู่  ๕ เพลง
        ๒.เพลงที่ใช้บรรเลงระหว่างฉากใช้เพลงคลาสสิกเป็นท่อน ๆ หลายบทเพลงด้วยกัน
        ๓.เพลงประกอบเสียง  ใช้เครื่องดนตรีบางชิ้น เช่น  เปิงมางคอก  มโหระทึก  ปี่กลอง


วิธีดำเนินเพลง  ใช้อารมณ์ของภาพยนตร์เป็นสำคัญ  ภาพบู๊เพลงเร้าใจ  ภาพสนุกเพลงก็จะสนุก
ภาพเศร้าเพลงก็เศร้าด้วย ดังนั้นการใช้เพลงประกอบภาพ
                พระเจนดุริยางค์พยายามใช้ทำนองที่เหมาะสม  เพลงที่ใช้เป็นเพลงเพื่อการฟัง  มีทำนอง ไม่ใช่เพลงประกอบภาพเสียทีเดียว  แต่เป็นภาพประกอบเพลง

เพลงเอกประจำเรื่อง
        ๑.เพลงประจำพระเจ้าจักรา  ซึ่งเป็นเพลงเอกของเรื่อง  ใช้เพลงศรีอโยธยา หรือศรีอยุธยา
(Air : King of the White  Elephant) 
ต่อมานาวาอากาศเอก ขุนสวัสดิ์ทิฆัมพร
ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นและเปลี่ยนใช้ชื่อใหม่ว่า ศรีอยุธยา และต่อมา ศ. มนตรี  ตราโมท อ.ต.
 ได้ปรับปรุงเนื้อร้องอีกครั้ง

        เมื่อสมเด็จพระเจ้าจักราเสด็จออก วงดนตรีก็จะบรรเลงเพงบทนี้เสมอถือว่าเป็นเพลงหลักของ
เรื่อง  (Theme  Song)  เพลงหลักเพลงนี้

        พระเจนดุริยางค์ใช้วงออร์เคสตร้าของกรมศิลปากรบรรเลง ซึ่งถือว่าเป็นวงดนตรีที่บรรเลงได้ยอดเยี่ยมมาก หรือศรีอยุธยา 

        พระเจนดุริยางค์  ได้นำทำนองมาจากเพลงเก่าซึ่งมีโน้ตเพลงปรากฏในหนังสือ  จดหมายเหตุลาลูแบร์
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

        เรียกชื่อกันว่า  เพลงสายสมร  (Siamese  Song)  เป็นเพลงสยาม บันทึกโดยเอกอัครราชทูตลาลูแบร์ชาวฝรั่งเศส
        ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานเอกสารเพลงเดียวที่มีมาแต่สมัยอยุธยาและเป็นเพลงสยามเพลงเดียวที่เหลืออยู่  ส่วนเพลงอื่น ๆ  สืบทอดกันโดยการต่อเพลง  จากคนหนึ่งไปอีกช่วงคนหนึ่ง  ไม่มีเอกสารใด ๆ
        แม้ว่าเสียงเพลงจะแตกต่างกัน  เมื่อบันทึกไว้ด้วยโน้ตสากล  คนส่วนใหญ่จะอ่านเป็นทำนองสากล
เล่นด้วยเครื่องดนตรีสากล  ถ้าหากว่าอ่านด้วยบันไดเสียงไทย  เล่นด้วยเครื่องดนตรีไทย  ก็จะได้สำเนียงที่แตกต่างไปจากเสียงสากล  ซึ่งเชื่อว่าเป็นทำนองเพลงเหย่ย
ซึ่งเป็นเพลงโต้ตอบระหว่างชายหญิง  ปัจจุบันนิยมเล่นแถบกาญจนบุรี
        ก่อนหน้าพระเจนดุริยางค์จะนำทำนองศรีอยุธยามาเรียบเรียงใหม่  ครูฟุสโก  (M.Fusco) ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน  สัญชาติอิตาเลี่ยน  เป็นหัวหน้าวงดนตรีของกองดุริยางค์กองทัพเรือ ได้เรียบเรียงเพลงนี้สำหรับเปียโนมาก่อนแล้ว  ชื่อว่าเพลงพระนารายณ์หรือสรรเสริญพระนารายณ์ (Pra Narai)  ปรากฏในหนังสือ “สยามอาณาจักรแห่งช้างเผือก”  ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.  ๑๘๙๙
ตรงกับปี พ.ศ.  ๒๔๔๒ 

       ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๕ ซึ่งได้เสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงใช้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ระลึกเผยแพร่ประเทศสยามในเวลาต่อมา ชื่อเพลงสายสมร เพลงสรรเสริญพระนารายณ์  เพลงศรีอยุธยา  หรือเพลงศรีอโยธยา 

      เพลงที่มีชื่อแตกต่างกัน แต่เป็นเพลงที่มีทำนองเดียวกัน  ทำนองอาจจะผิดแผกไปบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครผู้ที่นำเอาทำนองเพลงไปเรียบเรียงอย่างไร  เพื่อวงดนตรีประเภทไหน แต่โดยทำนองเนื้อหาแล้ว   เพลงเดียวกัน


๒.เพลงเดินทัพของพระเจ้าจักรา  (Air : Ayudhya  Eternal)

           เพลงเดินทัพของพระเจ้าจักรา  เป็นเพลงที่พระเจนดุริยางค์นำทำนองมาจากเพลง  “ขับไม้บัณเฑาะว์”
 ซึ่งเป็นเพลงโบราณ 

            ในที่นี้หมายถึงสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
อยู่ในเพลงตับเรื่องกระแตไต่ไม้  ซึ่งมีด้วยกัน  ๔  ท่อน
            พระเจนดุริยางค์ นำทำนองเพลงขับไม้บัณเฑาะว์มาเรียบเรียงใหม่  สำหรับบรรเลงโดยวงออร์เคสตร้า
ใช้ประกอบเรื่องขณะที่พระเจ้าจักราเดินทัพ ทำนองเพลงนี้จะบรรเลงก็ต่อเมื่อกองทัพพระเจ้าจักรายกทัพ

๓. เพลงดำเนินเรื่อง  (Air : His Majesty  King  Chakra)

               เพลงนี้เป็นเพลงใหม่  ประพันธ์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ ใช้ในการดำเนินเรื่องฝ่ายพระเจ้าจักรา  เพลงเรียบเรียงบนฐานเสียง  ๕ เสียง บันไดเสียงเพลงไทยสร้างเป็นทำนอง เรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงออร์เคสตร้าได้อย่างไพเราะยิ่ง

๔. เพลงเกียรติยศ  (FANFARE  :  The  King  is  Here)
               เพลงนี้เป็นเพลงประวัติศาสตร์อีกเพลงหนึ่ง  เป็นเพลงแตรสำหรับรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  ซึ่งเชื่อว่าทหารแตรในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่  ๑๔ แห่งฝรั่งเศส  พระราชทานให้กับพระเจ้ากรุงสยาม 

               แตร  Fanfare หรือแตรวิลันดาหรือแตรทรัมเป็ตก็ยังใช้รับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัจจุบัน เป็นเพลงเดียวกัน
เป็นเพลงในพระราชพิธี  ใฃ้สำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น

              ผู้เขียนเคยเข้าใจว่า  ครูสมาน กาญจนผลิน  เป็นผู้จำทำนองแล้วมาเขียนเป็นเกริ่นเพลง
สดุดีมหาราชาซึ่งใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง  เรือนแพ  เมื่อปี ๒๕๐๗  และโด่งดังจนทุกวันนี้
              แต่ในความจริงแล้วพระเจนดุริยางค์ใช้สำหรับเป่าแตรรับเสด็จในภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกก่อน  ดังนั้น  ครูสมาน  กาญจนผลิน ลอกมาจากเพลงของพระเจนดุริยางค์

๕.เพลงลาวครวญ  (Song :  A  Maiden’s  of  Hope)
              เพลงนี้นางเอกในเรื่องเป็นผู้ขับร้อง  แต่บรรเลงด้วยเครื่องไทย  เธอร้องได้ไพเราะมาก
             สำหรับเพลงลาวครวญนั้น เป็นเพลงเก่าสืบทอดกันมาแต่สมัยอยุธยา
(ลอกมาจาก http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=43&s_id=9&d_id=23)

            ภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” สร้างโดย นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส
            ซึ่งนำออกฉายรอบปฐมทัศน์โลก ที่กรุงเทพ สิงคโปร์ และนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๘๔
สร้างขึ้นเพื่อให้สติปัญญา แก่ชนชาติไทยท่ามกลางกระแสสงครามที่กำลังคุกคามมนุษยชาติในเวลานั้น ภาพยนตร์เรื่อง
“พระเจ้าช้างเผือก” ยังทำหน้าที่เป็นทูตสันติภาพของ ชาติไทย ก่อนที่นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย จะประกาศสันติภาพของ ชาติไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘

             ทำให้ประเทศไทยรอดพ้น จากการตกเป็นประเทศแพ้สงคราม อาศัยความร่วมมือจากบุคลากรชั้นสุดยอดในวงการภาพยนตร์ไทย และวงการศิลปะไทยในขณะนั้น เช่น ถ่ายภาพยนตร์โดย ประสาท สุขุม ตากล้องชาวไทยเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมนักถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน กำกับดนตรีโดย พระเจนดุริยางค์
อาจารย์ใหญ่ฝ่ายดนตรีสากลของไทย ผู้แต่ง ทำนอง เพลงชาติไทย
           เสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ ความงดงามทางนาฏลักษณ์ของลีลาการแสดง
           ซึ่งจะเห็นได้จากการถ่ายภาพยนตร์ ด้วยฟิล์ม ขาว - ดำที่งดงามและมีเสน่ห์อย่างยิ่ง
           โดยเฉพาะการ ถ่ายโคลสอัพผู้แสดง ซึ่งสวยงามอย่างหาใครเทียบได้ยาก และที่สุดยอดคือการถ่ายฉากช้าง กล่าวได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ ถ่ายฉากช้างได้ดีที่สุด และงามที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมา
            นอกจากนี้ ดนตรียังถือเป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้
“เพลงศรีอยุธยา” ที่กระหึ่มด้วยวงดนตรีสากลของกรมศิลปากร โดยพระเจนดุริยางค์เป็นผู้ควบคุม จะตราตรึงอยู่ในโสตประสาทของท่านไปอีกนาน พร้อมสัมผัสกับเสียงเพลงอันหลากหลาย ซึ่งแฝงเร้นอารมณ์ ความรู้สึกอันละเอียดอ่อนเหนืออื่นใด ซ่อนและซ้อนอยู่ในภาพยนตร์
            เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงหลักคิด แห่งขันติธรรมและสันติธรรมของมนุษยชาติ
"พระเจ้าช้างเผือก" ไม่ใช่ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์
แต่ตัวภาพยนตร์เองเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของชาติ
http://campus.sanook.com/campusnews/detail.php?id=254

๒ ลาวคำหอม
        ผมคุ้นเคยกับเพลงนี้ในความเป็นเพลงหวานปนเศร้าพอมาบรรเลงในแบบนี้มีความรู้สึกว่าแปลกไปอีกอย่าง วงดนตรีที่บรรเลงเป็นวงใหญ่  จังหวะเร็วและกระชั้นฟังอย่างคึกคักหนักแน่น ในบทที่อ่อนหวานนั้นก็หวานปานหยด เพลงนี้มี ๒ ข้อมูล
๑) เพลงลาวคำหอมสองชั้น เดิมเพลงนี้มีเฉพาะทางร้องที่เรียกว่า “ทางสักวา”
       จ่าเผ่นผยองยิ่ง(จ่าโคม) แต่งขึ้นโดยไหวพริบปฎิภาณ ทั้งบทร้องและทำนองทางร้อง
       ต่อมาพระยาประสานดุริยศัพท์(แปลก  ประสานศัพท์) ได้แต่งทางรับใช้ในวงเครื่องสายปี่ชวาก่อน
        แต่ภายหลังจึงมีผู้นิยมนำไปบรรเลงและขับร้องในวงปี่พาทย์ วงมโหรี จนแพร่หลายเพลงนี้มีความหมายในเชิงรักอย่างอ่อนหวาน บางท่านเรียกชื่อเพลงนี้ว่า
“ลาวประทุมมาลย์”
๒) เพลงเถา ท่านครู หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร  ศิลปบรรเลง) ได้นำมาทำเป็นเพลงเถาแต่ได้สูญหายไป
นาย เจริญ  แรงเพ็ชร ได้อธิบายโดยอ้างอิงถึง ครู พิมพ์ ครู เผือด นักดนตรีมีชื่อ ซึ่งเป็นคนระนาด เคยได้ไว้และลืม 

    ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๒ นาย เจริญ  แรงเพ็ชร
จึงแต่งเป็นเถาใหม่โดยยึดทำนองเพลงลาวคำหอม ของจ่าเผ่นผยองยิ่ง(จ่าโคม)

    ส่วนบทร้องทั้งเถา ยังคงใช้บทเดิมของเนื้อร้องของ ท่านครู หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร  ศิลปบรรเลง)

๓ มอญกละ
        เพลงตับ  เรียกตับมอญกระ  เพลงต่างๆที่รวมอยูในเพลงตับนี้ เป็นเพลงที่มีทำนองสำเนียงมอญแท้ๆ
        นอกจากนี้ยังมีเพลงมอญปนไทย(นักดนตรีไทยแต่งใหม่)  คณะละครเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง(เพ็ง
เพ็ญกุล) ได้นำมาร้องประกอบการแสดงละคร  เวลายกทัพมอญก่อนผู้อื่น
       ต่อมามีวงปี่พาทย์หลายวงได้รวบรวมและเรียบเรียงทำนองใหม่ให้เข้าชุดเป็นเพลงตับ สำหรับร้องเป็นเพลงลูกบทลำดับเพลงอาจผิดแผกแตกต่งกันไป อย่างไรก็ตามเพลงตับมอญกละที่นิยมนำมาขับร้องมากที่สุดคือ
เพลงตับที่พระยาเสนาะดุริยางค์(แช่ม  สุนทรวาทิน)  เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น
(เพลงตับ:        หมายถึง เพลงหลาย ๆ เพลงนำมาร้องและบรรเลงติดต่อกันไปซึ่งแยกออกได้เป็น ๒ ชนิดคือ
๑. ตับเรื่อง เพลงที่นำมารวมร้องและบรรเลงติดต่อกันนั้น มีบทร้องที่เป็นเรื่องเดียวกัน
และดำเนินไปโดยลำดับ ฟังได้ติดต่อกันเป็นเรื่องราว ส่วนทำนองเพลงจะเป็นคนละอัตรา คนละประเภท
หรือลักลั่นกันอย่างไรไม่ถือเป็นสำคัญ เช่น ตับนางลอย ตับนาคบาศ เป็นต้น
๒. ตับเพลงเพลงที่นำมารวมร้องและบรรเลงติดต่อกันนั้น เป็นทำนองเพลงที่อยู่ในอัตราเดียวกัน (๒
ชั้น หรือ ๓ ชั้น) มีสำนวนทำนองสอดคล้องติดต่อกันสนิทสนม ส่วนบทร้องจะมีเนื้อเรื่องอย่างไร
เรื่องเดียวกันหรือไม่ ไม่ถือเป็นสำคัญ เช่น ตับลมพัดชายเขา ตับเพลงยาว เป็นต้น ตับเพลง
นี้บางทีก็เรียกว่า “เรื่อง” เฉพาะจำพวกเรื่องมโหรี (ดูคำว่าเรื่อง)

๔ อัศวลีลา
        เพลงประกอบระบำม้า  เป็นเพลงที่มีจังหวะลีลารุกเร้า ในทำนองเพลงสอดแทรกจินตนาการเหยาะย่างและโลดเต้นของม้า 

       นายมนตรี  ตราโมท  แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑  โดยนำทำนองจากเพลงม้ารำและเพลงม้าย่องมาผสมรวมกันให้เป็นจังหวะ ๖/๘ ระบำชุดนี้ประกอบอยู่ในการแสดงโขนพระรามครองเมือง  ตอน  ปล่อยม้าอุปการ

๕ แขกขาว
        เป็นเพลงสำเนียงแขก(เปอร์เซีย) เป็นเพลงประเภทหน้าทับปรบไก่ มี ๒ ท่อน ท่อนละ ๔
       จังหวะท่านครู หลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) ได้ประพันธ์ไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔
      เพื่อให้ปี่พาทย์วงวังสวนกุหลาบในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ใช้บรรเลงในตับนางลอย แทนเพลงจีนขิมเล็ก ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓

      ท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร  ศิลปบรรเลง)ได้นำมาปรุงจนครบเถา เพลงนี้มีความหมายถึงดวงจิตที่ครุ่นคิดคำนึงและกังวลในของรัก และกอปรด้วยความไพเราะในท้วงทำนองจึงถูกนำมาใส่เนื้อร้องในแบบเพลงไทยสากลและเป็นเพลงที่เรารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี  อาทิ เช่น “อิเหนารำพึง” ขับร้องโดย คุณ ชรินทร์ นันทนาคร(ศิลปินแห่งชาติ) และนักร้องลูกทุ่งยอดนิยม คุณ สายัณห์ สัญญา  ในเพลง”นางฟ้ายังอาย”

๖ ลาวดำเนินทราย
        ทำนองเพลงเป็นอัตรา ๒ ชั้น เป็นเพลงเกร็ดที่มีความไพเราะซาบซึ้งมาก ครู พุ่ม ปาปุยะวาท ได้นำมาแต่งขยายเป็น ๓ ชั้น แล้วตัดลงเหลือ ชั้นเดียว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นเพลงเถา ให้ นายจำเนียร ศรีไทยพันธุ์แต่งทาง(ทำนอง) คำร้องและบทร้องตอน ๓ ชั้น และ ชั้นเดียว ส่วน ๒ ชั้นใช้ของเดิม
(เพลงเกร็ด คือ ลักษณะของเพลงประเภทหนึ่ง ซึ่งนำบรรเลงหรือขับร้องเป็นเอกเทศในช่วงเวลาสั้น ๆ
และมิได้จัด  อยู่ในจำพวกเพลงตับ เพลงเรื้องหรือเพลงเถา จะเป็นเพลงในอัตราจังหวะสามชั้นหรือสองชั้นก็ได้
แต่  ต้องไม่เป็นเรื่องต่อเนื่องกัน)

๗ พม่าประเทศ
        หม่อมหลวงต่วนศรี  วรวรรณ แต่งเพื่อใช้ประกอบละครพันทาง
ที่มีเนื้อเรื่องและตัวละครสัญชาติพม่า เพลงนี้ครู นารถ ถาวรบุตร ได้นำมาปรับปรุงทำนองให้เป็นสากลและต่อมากรมประชาสัมพันธ์ได้ใช้ออกอากาศนำก่อนการเทียบเวลา ๐๘.๐๐ น. และ ๑๘.๐๐ น.

 

หมายเลขบันทึก: 143520เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2007 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ขอบคุณมากเลยคะ
  • อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มคะ
  • ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลยขอบคุณคะ
  • 4_0

ขอบคุณครับคุณรัตน์ชนก

                นี่ละ KM ของแท้เลยละ เขาจะถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในสมองเขา มาให้เรารับรู้ เราก็เอาองค์ความรู้ที่ได้มาเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต หรือเพื่อองค์กรของเรา องค์กรใหญ่สุดของเราคือ ประเทศไทยครับ

                ขอบคุณครับสำหรับภาพถ่ายสวย ๆ มองแล้วรู้ทันทีว่าคุณอยู่ตรงไหน......

                                      สวัสดีครับ

อยากทราบว่า เพลงคลาสสิคที่ใช้ในภาพยนตร์ 'พระเจ้าช้างเผือก' ชื่อว่าอะไรครับ รู้สึกคุ้นมาก ๆ ครับ เป็นเสียงเพลงที่มาบ่อยมากในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเฉพาะฉากที่ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ถูกจับไปให้ใครคนหนึ่งเลือกไปปรนเปรอ อยากทราบว่าภาพกับเพลงมันสอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท