สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๗. ประวัติศาสตร์กับการศึกษาวรรณคดีไทย (๖)


1.3 สถานภาพและปัญหาในการศึกษาวรรณคดีไทย
         ถ้าผมมาบรรยายวันนี้ และ ไม่ได้พูดถึงสถานภาพของวรรณคดีไทยในปัจจุบัน ผมคงสิ้นสุขเพราะไม่ได้พูดความจริงที่อยากพูด เราท่านทั้งหลาย(โดยเฉพาะผู้ทรงเกียรติที่อยู่ในตึกหินอ่อน) ต่างพล่ามน้ำลายฝอยติดริมฝีปากว่า รักชาติไทยและรักวัฒนธรรมไทย รักนี้เป็นรักแต่ปาก เป็นรักตามบทเท่านั้น พุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย แต่ผมไม่เคยได้ฟังจากใครทั้งนักการศึกษาและนักวิชาการว่ารู้เรื่องเหล่านี้ดีแม้แต่เรื่องเดียว    การที่ชาวบ้านทั่วไปไม่รู้สาระของพุทธศาสนา  ประวัติศาสตร์ ภาษาและวรรณคดีไทย นั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าสังเวช และฟ้องว่าระบบการศึกษาที่ลอกเลียนตะวันตกมาอย่างตาบอดล้มเหลวอย่างไร


         แต่พวกนักเรียนนอกระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ เป็นกลุ่มที่ทำให้ประเทศไทยขายหน้าอย่างที่สุด เพราะเวลาฝรั่งถามเรื่องวัฒนธรรมไทยต่างพากันตอบไม่ได้ ลูกสาวที่สติปัญญาดีมากของผมและเพื่อนๆ ของเขา ต่างไชโยโห่ร้องเวลาที่ครูสอนวิชาพุทธศาสนาไม่มาเด็กบอกว่า เรียนประวัติศาสตร์ไทยก็ถูกยัดเยียดให้ท่องจำข้อมูลจนจำไม่หวาดไม่ไหว เรียนวรรณคดีก็ท่องจำศัพท์แทบไม่ไหว เวลาสอนนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ผมชอบทดสอบความรู้พื้นฐานเสมอ     นักศึกษาที่สอนและนักวิชาการทั้งหลายต่างก็บอกว่า เคยเรียนวิชาทางมนุษยศาสตร์ที่ผมกล่าวมาแล้วทั้งสิ้น ซ้ำเรียนอย่างซ้ำๆ ซากๆ มาหลายปีในโรงเรียน แต่จำไม่ได้เลย กลายเป็นว่า เข้าป่าไปนับต้นไม้ไม่รู้กี่ร้อยต้น แต่ไม่รู้จักป่า รู้กระพี้ไม่รู้แก่น หลายคนถึงกับถามว่า สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว วิชาเหล่านี้ไม่เรียนได้ไหม เอาไปทำมาหากินไม่ได้ สรุปได้ว่า ในทัศนะของคนจำ นวนไม่น้อยที่ถูกครอบงำ ด้วยแนวคิดทุนนิยม วรรณคดีไทยและประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นทุนทางเศรษฐกิจและไม่มีประโยชน์ทางปฏิบัติ   เพราะฉะนั้น จะรู้ก็ได้ไม่รู้ก็ได้ ไม่เรียนวรรณคดีก็ใช้ภาษาไทยสื่อสารกันได้     แต่ถ้าไม่เรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซ่อมคอมพิวเตอร์ไม่ได้

         เราต้องยอมรับความจริงว่า สังคมเปลี่ยนไปและสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมก็เปลี่ยนไปตามความเจริญทางเทคโนโลยี คนสมัยนี้อ่านหนังสือที่มีสาระน้อยลง เพราะมีความเครียดจากการแข่งขันเพื่อให้อยู่รอดได้ ในสังคมเก่าการอ่านหนังสือเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสวงหาความรู้หรือความบันเทิงอารมณ์ ปัจจุบันบทบาทเก่าของหนังสือถูกแทนที่ด้วยสื่ออื่นหลายประเภท เราหยุดความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้   แต่ประเด็นสำคัญคือ วรรณคดีไทยและการศึกษาวรรณคดีไทยจะดำรงอยู่หรือปรับบทบาทอย่างไรในสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้ โดยตระหนักเป็นอย่างดีว่าการศึกษาด้านมนุษยศาสตร์เป็นการลงทุนด้านวัฒนธรรม   วรรณคดีไทยยังต้องมีบทบาทสำคัญในระบบการศึกษาของไทยในยุคที่อิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ได้หลั่งเข้ามาท่วมท้น

         ท่านคงประจักษ์ความคมที่บาดลึกของ ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร นะครับ

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ต.ค. ๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 143421เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2007 08:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท