ตำนานผีล้านนาตอนผีปู่ย่า


ผีปู่ย่าเป็นผีที่เชื่อว่ารักษาป้องกันเครือญาติพ้นภัยและเกิดความอบอุ่นในหมู่เครือญาติ

ดินแดนล้านนาสมัยก่อนโน้นเชื่อกันว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวพื้นเมืองเผ่าลัวะบ้าง ขอมบ้าง หรือมีเผ่าอื่นๆอีกที่สาบสูญหรืออาจถูกกลืนชาติพันธุ์ไปแล้วเหลือแต่แผ่นดินให้พวกเราอยู่อาศัยในปัจจุบัน

ความเป็นอยู่สมัยก่อนผู้คนมีความเชื่อเรื่องวิญญาณ ผี พลังลี้ลับก่อนที่จะพบกับการนับถือศาสนา  ดังนั้นผู้คนจึงต้องหาที่พึ่งทางใจโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดที่คอยปกปักรักษาเมื่อญาติผู้ใหญ่สูญเสียไปแล้วยังมีความเชื่อว่าจิตวิญญาณของท่านเหล่านั้นคงมีความห่วงหาอาลัยลูกหลาน วิญญาณดังกล่าวเกิดเป็นพลังเวียนว่ายคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเชื่อดังกล่าวจึงเกิดวิถีการเลี้ยงผีปู่ย่า

ทำไมจึงมีเพียงคำว่าผีปู่ย่า ?   ไม่มีผีตายายหรือไง ?

ที่จริงที่มาของคำว่าผีปู่ย่าเพราะคนล้านนาส่วนมากมีคำพูดว่า" อี่ปู่.....อี่ย่า..อี่ป้อ..อี่แม่.. ดังนั้นจึงมีเพียงคำว่า   ผีปู่ย่า  เพราะคำพูดคนล้านนาไม่เรียกคำว่า "ตาหรือยาย"  ดังนั้นจึงไม่มีผีตายายแม้ในชีวิตจริงจะมีตาหรือยายในภาษาอื่นก็ตาม   นอกจากนี้บางท้องถิ่นยังเรียกคุณปู่ คุณย่า  คุณตาคุณยาย  ว่า  ป้ออุ๊ย..แม่อุ๊ย  เท่านั้น  ไม่ว่าคุณปู่หรือคุณตาก็เรียกกันว่า ป้ออุ๊ย   ส่วนคุณย่าและคุณยายก็เรียกเหมือนกันว่า แม่อุ๊ย

บางท้องถิ่นเรียกคุณตาคุณยายว่า " ป้อหลวงแม่หลวง"ก็ยังมี

ขอวกเข้ามาเรื่องผีปู่ย่า   ตำนานผีปู่ย่าที่สำคัญพอค้นหาได้และพอมีหลักฐานค้นคว้าก็คือเรื่องของผีปู่แสะย่าแสะ   ที่ดอยคำหรือดงหลวงบางครั้งเรียกกันว่าผีปู่ย่าดอยคำ  ในเมืองเชียงใหม่ปัจจุบัน

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า คนเราต้องการความอบอุ่นทางใจ ต้องการมีกำลังใจในการดำรงชีวิตประจำวันประกอบกับความอาลัยอาวรหาญาติผู้ที่เสียชีวิตจึงมีการปรุงแต่งให้มีผีปู่ย่าขึ้น

ผีปู่ย่าเชื่อว่าเป็นผีบรรพบุรุษที่คุ้มครองญาติๆที่นับถือต่อๆกันมาโดยมีเครื่องสักการะคือสวย(กรวย)ดอกไม้จำนวนสวยขึ้นอยู่กับแต่ละตระกูลจะกำหนดแต่ที่ทราบมามักจะถือเอาจำนวนเงินค่าผีมากำหนดเช่น ตระกูลนี้มีค่าผี  32  แถบ  เขาก็จะกำหนดสวยดอกจำนวน 32  สวยเป็นต้น หรือบางท้องถิ่นอาจแตกต่างกันไปบ้างขึ้นอยู่กับถิ่นที่

นอกจากสวยดอกไม้ยังมีธูปเทียน   ต้นดอก ต้นเทียน  หมากพลู เครื่องประดับตกแต่ง ตามแต่ผู้คนจะกำหนดกัน แต่ที่แน่ๆ การกำหนดที่อยู่ของผีปู่ย่าจะต้องมี 2 แห่ง  คือหิ้งผีปู่ย่าในห้องนอนหลวง(ใหญ่)ซึ่งเป็นห้องนอนของญาติผู้ใหญ่  นอกจากนี้จะต้องทำหอผีปู่ย่าไว้ในรั้วบ้านอีกแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นสถานที่ให้บรรดาญาติที่มาร่วมเลี้ยงผีได้มาสักการะบูชาไหว้สาพร้อมๆกัน

เครื่องเซ่นบูชาส่วนมากจะเป็นอาหารทั่วไปในชีวิตประจำวันที่ใช้รับประทานกันในบ้านเรือนหรือในท้องถิ่นนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นฮังเล  แกงแค  น้ำพริกอ่อง  หรือบางบ้านอาจมีหัวหมู  ไก่ ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนด และฐานะของเจ้าของบ้าน   เมื่อถึงเวลาผู้เป็นใหญ่หรืออาวุโสจะกล่าวคำบูชา พร้อมกับญาติๆที่มาร่วมก็พนมมือไหว้สาอธิษฐาน เสร็จแล้วก็ถอยออกมารอจนกว่าไฟไหม้ธูป เทียนจนหมดเล่มถือว่าผีปู่ย่าได้รับรู้และรับเครื่องบูชาเสร็จ  ลูกหลานก็จะถอยเอาเครื่องบูชา ข้าวปลาอาหารออกมาแบ่งปันเลี้ยงรับประทานกันในหมู่ญาติมิตร  พูดจาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ลูกหลานที่อยู่ไกลได้มาอยู่ใกล้กันเด็กๆได้รู้จักสนิทสนมกันดีขึ้น เป็นการขันเกลียวเครือญาติให้แน่นแฟ้น

เมื่อผู้ใหญ่หรืออาวุโสเสียชีวิตลง  ผีปู่ย่าจะต้องมีผู้รับเอาไปเลี้ยงต่อหากในบ้านนั้นมีผู้หญิงหรือลูกสาวเจ้าของบ้านก็จะสืบทอดผีปู่ย่าต่อกันมา แต่หากมีลูกผู้หญิงคนโตไปอยู่ต่างเรือนก็จะต้องเอาหิ้งผีปู่ย่าพร้อมเครื่องสักการะที่มีอยู่ทั้งหมดที่อยู่ในเรือนใหญ่ย้ายไปไว้ในบ้านของลูกผู้หญิงคนโตนั้น   จะเห็นว่า  การสืบทอดผีปู่ย่าจะขึ้นอยู่กับสตรีเท่านั้น  หากบุตรตรีคนโตเสียชีวิตก็จะต้องมอบให้บุตรีคนรองลงมาเป็นขั้นตอน  หากในครอบครัวไม่มีบุตรีก็จะต้องพิจารณาว่าเรือนใดของเครือญาติมีสตรีที่เป็นผู้อาวุโสสูงสุดก็ต้องย้ายหิ้งผีปู่ย่าไปไว้บ้านนั้นเป็นผู้ดูแล  ส่วนการบูชา  ต่างๆก็ต้องกระทำตามประเพณีไหว้ผีปู่ย่าดังเดิม  ส่วนหอผีปู่ย่าที่สร้างไว้ก็ต้องให้อยู่คงเดิม  ขณะเดียวกันญาติๆที่เป็นบริวารก็ต้องสร้างหอผีปู่ย่าไว้ที่บริเวณบ้านของตนเพื่อเป็นที่สักการะบูชาเพียงแต่ไม่มีหิ้งผีปู่ย่าเหมือนเรือนที่เป็นเก๊า(ต้น/ปฐม/รากเหง้า)ผีเท่านั้น

ดังนั้นเมื่อเราไปแถวๆชนบทในล้านนาจะเห็นบ้านหลังเล็กปลูกอยู่ตามริมรั้วหลังบ้าน มีเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ประดับ   หากคนในบ้านมีสิ่งผิดปกติ หรือมีการเดินทางไกล หรือมีเหตุการณ์ที่ต้องการพึ่งพาทางใจ ผู้คนในบ้านก็ไปบอกกล่าวหรือบนบานกับหอผีปู่ย่า   เพื่อให้ปกป้องคุ้มครอง   คล้ายๆกับการมีศาลพระภูมิเจ้าที่ของผู้คนถิ่นอื่นๆ

หากมีผู้คนมาอยู่ในครัวเรือนอาจเป็นลูกจาย(ลูกเขย)ลูกญิงหรือลูกไป๊(ลูกสะไภ้)ก็ต้องบอกกล่าวให้ผีปู่ย่าเลี้ยงผีปู่ย่าให้รับทราบและถือว่านั่นคือความผูกพันเป็นเครือญาติหรือในหมู่ผีปู่ย่าเดียวกันแล้ว

เวลาที่เลี้ยงผีปู่ย่าประจำปี มักกระทำกันในเดือนเจ็ดเรื่อยไปจนถึงเดือนเก้าเหนือแล้วแต่สะดวกในช่วงใดช่วงหนึ่ง

ตามที่กล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเชื่อถือเรื่องผีปู่ย่า อาจมีสิ่งที่แตกต่างไปจากนี้บ้างมักขึ้นอยู่กับความละเอียดอ่อนของผู้คนในแต่ละถิ่นแต่ละที่จะกำหนด

แต่ที่แน่ๆผีปู่ย่าจะคอยปกป้องรักษาให้เครือญาติรักผูกพันได้มาร่วมพบปะกันหมู่เครือญาติสุขใจในการเลี้ยงผีปู่ย่า

 

 

 

 



ความเห็น (5)

ต้องขอบคุณลุงหนานเป็นอย่างสูง ผมได้ความรู้มากเลยทีเดียว ผมขออนุญาตนำไปออกรายการวิทยุที่แม่ฮ่องสอนด้วยนะครับ

อาจารย์เก

ไหว้สาอาจารย์เก.....

ยินดีและอนุญาตให้นำเรื่องราวไปเผยแพร่ได้ครับ...

จากลุงหนาน....พรหมมา

ต้องขอบพระคุณลุงหนานมากนะค่ะที่ให้ข้อมูลความรู้

หนูจะนำไปประกอบกับรายงานการวิจัยที่มมร.ล้านนาค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

สวัสดีครับคุณกรณิศ..

ลุงกลับมาอ่านก็เลยเวลามาเมินนักแก...ยินดีครับที่เป๋นประโยชน์แก่นักศึกษาครับ..

ด้วยความปรารถนดีจากลุงหนาน....พรหมมา

     ขอบพระคุณลุงหนานมากค่ะที่ให้ความรู้ น้องยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ แต่ไปอยู่กรุงเทพ เพิ่งมาอ่านหลายบทความของลุงหนานประกอบการศึกษา (กำลังจะทำการ์ตูนเกี่ยวกับเรื่องทางล้านนา) อ่านไปอ่านมา ได้ทำความเข้าใจกับเรื่องหลายๆอย่างในชีวิต เช่น บางเรื่องที่ยายถือมากๆ แต่เราไม่เคยเข้าใจ เป็นประโยชน์มากๆค่ะ ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท