การเปลี่ยนชื่อโรงเรียน : สู่การบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าจริงหรือ?


                               หลายวันมานี้ผมไม่ได้มีโอกาสมาพูดคุยกับท่านทั้งหลาย ด้วยภารกิจหลายอย่างแต่กระนั้นผมก็ยังมีความระลึกถึงสมาชิกทุกท่าน แวะเวียนมาอ่านความรู้ที่ท่านทั้งหลายถ่ายทอดจากมวลประสบการณ์... Go to Know เป็นเสมือนเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทันสมัยที่สุด เป็นเสมือนโรงเรียน Online ที่ทำให้เราได้มีโอกาสได้พบกันสม่ำเสมอ   วันนี้ผมมีเรื่องคุยด้วยครับกับเรื่องที่เขียนไว้ข้างต้น                          

                                  แนวคิดในการเปลี่ยนชื่อ โรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม เป็นวิธีคิดใหม่ที่เกิดจากการตกผลึกของการเรียนรู้การทำงานที่นี่นับแต่ผมได้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน เมื่อ ๒ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๐ มีหลายปัจจัยที่รวมกันเป็นองค์ประกอบของการตัดสินใจนำเข้าสู่วาระการประชุมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้ง ๒ ครั้ง เมื่อ  ๔ กันยายน และ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๐ แม้ว่าผลการลงประชามติในวันที่ ๓๐-๓๑ ตุลาคม  ๒๕๕๐ ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะออกมาเป็นบวกคือเห็นด้วย หรือเป็นลบคือไม่เห็นด้วย  ผมยอมรับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตามหลักเกณฑ์ที่ สพฐ.กำหนด  ซึ่ง สพฐ.กำหนดกลุ่มประชากรและขอบเขตของการดำเนินการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนไว้หลายกลุ่มและขอบเขตลงลึกถึงชุมชน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่จะเสนอขอเปลี่ยนชื่อโรงเรียน ซึ่งแตกต่างจากยุคสมัยที่โรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา ยุคนั้น ผอ.โรงเรียนคือผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการโรงเรียน..ยุคสมัยนี้เป็นยุคของการบริหารจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม..กระจายอำนาจการตัดสินใจให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับผิดชอบร่วมกัน..เป็นวิธีการบริหารจัดการแบบใหม่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย   ดังนั้น แนวคิดการเปลี่ยนชื่อโรงเรียน จึงเป็นเพียงมุมคิดเดียวที่เกิดจากผมเท่านั้น  การได้มาซึ่งชื่อใหม่นั้นจึงไม่ใช่สูตรสำเร็จรูปอยู่ที่ผมคนเดียว  ผมเป็นเพียงผู้เสนอความคิดสู่การเปลี่ยนแปลงเท่านั้น                              

                                   ชื่อใหม่ที่ผมนำเสนอแทนชื่อ โรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม คือ โรงเรียนเมืองพิษณุโลก  ผมมีที่มาครับ....ผมชื่นชมความคิดของคนมีส่วนในการกำหนดชื่อโรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม ในขณะนั้นว่า เป็นมุมมองของคนรักถิ่น เป็นความภูมิใจที่จะเห็นการพัฒนาชุมชน ถิ่นเกิดที่จะมีโรงเรียนมัธยมศึกษาเกิดขึ้น ด้วยหวังว่าคนรุ่นใหม่จะได้มีโอกาสการเรียนรู้เท่าเทียมคนในสังคมเมือง..ด้วยความรักถิ่นจึงใช่ชื่อ บ้านกร่าง และตั้งนามสกุลว่า วิทยาคม  เป็นชื่อโรงเรียน  โรงเรียนก็เจริญเติบโต ตอบสนองความต้องการ ความสนใจในการเรียนต่อกันอย่างกว้างขวางครอบคลุมไม่น้อยกว่า ๓  ตำบล    อำเภอ    จังหวัด  การเติบโตของโรงเรียนเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการขยายเมืองพิษณุโลก  จากในอดีตตำบลบ้านกร่างดูเหมือนไกลจากชุมชนเมืองก็ดูเหมือนใกล้ในปัจจุบัน...ตัวอย่างของการเปลี่ยนที่เห็นได้ในจังหวัดพิษณุโลก เช่น วิทยาลัยเกษตรกรรมพิษณุโลก หรือที่เรียกเป็นภาษาพูดว่า เกษตรบ้านกร่างก็เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา เพื่อนำมหาวิทยาลัยสู่สากลตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโลกใบใหม่.. อีก ๑ แห่งที่ดูเหมือนจะมีปัญหาในระยะแรกของความคิดที่แตกต่างต่อมาทุกคนก็ร่วมภาคภูมิใจกับชื่อใหม่ที่ทำให้โรงเรียนได้รับการยอมรับจากสังคม นั่นคือ โรงเรียนพิษณุโลกศึกษา ที่เปลี่ยนเป็น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคเหนือ..เหตุผลของการเสนอขอเปลี่ยนผมไม่ได้มองว่าคุณภาพการศึกษาโรงเรียนตกต่ำหรือมีปัญหามากมายแต่อย่างใด  ผมมองตามความเป็นจริงว่า ชื่อโรงเรียนไปพ้องกับ โรงเรียนบ้านกร่าง(พระขาวชัยสิทธิ์) ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษา และการออกเสียงคล้ายกับโรงเรียนบ้านกลางพิทยาคม  ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา ของ สพท.พิษณุโลก เขต ๒  เป็นความสับสน ความเข้าใจผิด ความคลาดเคลื่อนของบุคคล และหน่วยงานอื่นๆ เป็นประจำ  สม่ำเสมอ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็น เอก ของการรับรู้  คือพูดแล้วไม่เข้าใจ ณ เวลาที่พูด ต้องมีการอธิบายเสริม   ถ้าเราพูดถึง พิษณุโลกพิทยาคม , เฉลิมขวัญสตรี ,  จ่านกร้อง  ความเป็นสาธารณะของความเข้าใจของประชาชนจังหวัดพิษณุโลก หรือทั้งประเทศก็จะบอกได้ เพราะมีชื่อเดียว ไม่มีชื่อพ้อง หรือเหมือน หรือคล้าย จึงมีความเป็นสากล   คำว่า เมืองพิษณุโลก มีความเป็นสาธารณะกว้าง  และยังไม่มีชื่อโรงเรียนใดในจังหวัดพิษณุโลก ใช้ชื่อนี้ จึงเป็นหนึ่งเดียว และเป็นการยกระดับสถานศึกษาที่เดิมเราจะเรียกโรงเรียนมัธยมศึกษาว่า โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบล-อำเภอ และจังหวัด  ให้เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอ ตามชื่อของอำเภอ  เป็นการเปิดรั้วโรงเรียน ขยายพื้นที่โรงเรียนให้กว้างกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นต่อยอดการยอมรับความเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาจากเดิมที่มีอยู่ให้มีทั้งปริมาณและคุณภาพมากขึ้น  จากกรอบตำบลบ้านกร่าง เป็นกรอบอำเภอเมืองพิษณุโลก จึงเป็นเรื่องท้าทายของการนำโรงเรียนสู่สากล                         

                                   การเปลี่ยนชื่อใหม่ หรือคงชื่อเดิม เป็นเพียงแค่ชื่อ ซึ่งเป็นคนละส่วนของการปฏิบัติหน้าที่ของความเป็นครู  ความเป็นนักเรียน  ความเป็นคณะกรรมสถานศึกษาฯ ความเป็นผู้ปกครอง และความเป็นชุมชน  เพราะหน้าที่ทั้งหลายที่มีอยู่ก็คงดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จบ..หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและวัยของแต่ละคน..แต่การเปลี่ยนชื่อใหม่ทำให้  โรงเรียนมี EMPOWERMENT   เกิดขึ้นทันที....สวัสดีครับ                               

หมายเลขบันทึก: 143165เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2007 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท