ทำไม “หลักสูตรท้องถิ่น” ต้องเป็นสามเส้า


ผมคิดว่าศูนย์เรียนรู้เป็นแนวทางที่สำคัญในการทำงานจัดการความรู้ พัฒนาชนบท พัฒนาการเรียนรู้ และพัฒนาการศึกษา

 เมื่อวานผมนำเสนอเรื่องหลักสูตรท้องถิ่นในรูปแบบของ โมเดลสามเส้า

ที่จะช่วยหนุนการพัฒนาแบบบูรณาการ ทั้งระบบ

·       การศึกษา

·       การเรียนการสอน

·       การวิจัย

·       การพัฒนาในทุกระบบ ทุกระดับ 

อาจมีหลายท่านสงสัยว่า

·        โมเดลนี้ทำงานอย่างไร และ

·        ทำไมต้องสามเส้า 

ผมจึงขอขยายความถึงที่มาของแนวคิด ในมุมต่างๆ จนถึงขมวดมาเป็นโมเดลหลักสูตรท้องถิ่นแบบสามเส้า ดังนี้ 

เดิมที  

ผมคิดว่าศูนย์เรียนรู้เป็นแนวทางที่สำคัญในการทำงานจัดการความรู้ พัฒนาชนบท พัฒนาการเรียนรู้ และพัฒนาการศึกษา  

จึงพยายามตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้นมาจำนวนมากมาย กว่า ๒๕ ศูนย์ เพื่อรองรับโครงการใหญ่จากรัฐบาลทักษิณ ๑ วงเงิน ๔๑๓ ล้านบาท 

และผมได้รับบริจาคที่เป็นที่ตั้งศูนย์ฯรวมแล้วหลายร้อยไร่

 จนผมได้รับตำแหน่ง ประธานเครือข่ายศูนย์เรียนรู้อีสานใต้ ในช่วงปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘ 

การทำงานดังกล่าวพบว่า

·        เกษตรกรได้จัดการความรู้แบบธรรมชาติได้อย่างไม่มีปัญหาใดๆ

·        มีแต่ตอนทำรายงานสรุปความก้าวหน้าของโครงการนั้น เกษตรกรทั่วไปจะทำไม่ถนัด ต้องอาศัยคนที่พอจะเขียนเป็น คิดเร็วหน่อยในการสรุป

·        คุณสมบัตินี้ ที่ดีที่สุดที่มีก็คือ ครู ที่อยู่ในชุมชน

·        แต่ครูก็ไม่มีหน้าที่ตรงนี้ จะมาก็ยาก ทำก็ไม่ถนัดมือ จึงต้องมี กุศโลบายให้ครูมาทำงานได้โดยสะดวก ก็คือ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ร่วมกับหลักสูตรท้องถิ่น ที่อยู่ภายในกรอบความรับผิดชอบของครูทุกคน

·        เข้าทางพอดี แบบไม่มีกังขา แต่ ครูจะเข้าใจชุมชนได้อย่างไร และชุมชนจะพูดกับครูรู้เรื่องได้อย่างไร จึงต้องมีตัวเชื่อมอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ การวิจัยในชุมชน

·        แล้วจะเรื่อมงานวิจัยในชุชนจากตรงไหน ก็เริ่มจากภูมิปัญญาที่มีอยู่ แล้วสอดประสานด้วยหลักทางวิชาการที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ได้ความรู้ใหม่ ที่ดีกว่าเดิม

·        ครูก็จะไม่เสียหน้า ที่จะเอาความรู้จาก ชาวบ้าน ไปสอนลูกชาวบ้าน เพราะมีความรู้ใหม่ ที่สอดคล้องกับวิถีชาวบ้านให้ใช้อยู่แล้ว

·        ศูนย์เรียนรู้ก็จะมีกิจกรรมการเรียนรู้ มีการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงาน มีคนช่วยบันทึก ช่วยชี้แนะ ช่วยสรุป และทำรายงาน และทำเอกสารประชาสัมพันธ์ แผ่นซีดี ให้กับศูนย์ฯ

·        งานวิจัยชุมชนก็มีฐานปฏิบัติการการวิจัย มีผู้ประสานงาน ผู้เก็บข้อมูล สรุปและประมวลผล โดยครู และผู้นำชุมชน

·        งานหลักสูตรท้องถิ่นก็มีที่เรียนรู้ ตัวอย่างที่เป็นจริง ยั่งยืน อยู่ในชุมชน ที่เป็นตัวเชื่อมของทั้ง ครู ผู้ปกครอง ภูมิปัญญาท้องถิ่น และสถาบัน องค์กรภายนอก

·        ที่สอดประสานกันได้ทั้งสามเส้า 

นี่คือที่มาของโมเดลนี้ครับ 

ตัวอย่างที่ผมทำอย่างเป็นรูปธรรมที่แสดงให้ดูได้ทุกวัน ที่ 

 Img_2878

ศูนย์เรียนรู้พหุภาคีอีสาน (Northeast learning alliances) 

บ้านศิลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ครับ       

หมายเลขบันทึก: 143017เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2007 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
มาเข้าใจเหตุผลว่าทำไมวิจัยชุมชนจึงต้องสามเส้า....ขอบคุณครับ

สวัสดีครับท่าน ดร.แสวง

  • เน็ตผมเงียบไปเฉยๆ 1 วันเมื่อ 30 ตค  เลยไม่ได้เข้ามาอ่านเลยครับ 
  • 31 ต.ค.ก็เตรียมการเปิดเรียน เย็นมีภารกิจที่ต่างอำเภออีก  ก็เลยเพิ่งได้เข้ามาครับ
  • 3 เส้านี้แหละครับ  ที่ผู้บริหารโรงเรียนเล็กๆเพียรพยายามหาและสร้างมานาน  แต่ยังไม่ใคร่จะเป็นรูปเป็นร่างสักที  วิเคราะห์ได้เบื้องต้นว่า "หิ่งห้อยมีน้อยตัวเกินไป" ในขณะที่"ภาคการศึกษา"ไม่ว่าจะในระดับใด เข้าใจว่าเป็นธุระไม่ใช่ที่จะแก้ปัญหาหรือสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนตรงจุดนี้  ส่วนใหญ่จึงเน้นการพัฒนาสถานศึกษาทางด้านกายภาพซะมากกว่า และก็ปอกลอกเอาจากชุมชนและคนไปทำงานยังต่างถิ่นนั่นแหละ (คล้ายๆกับหลวงพ่อท่านก็เน้นที่สิ่งก่อสร้างอันเลิศวิจิตรบรรจง จนพวกที่อยู่ในโรงงานติดหนี้กันเป็นแถว แต่ชาวบ้านไม่มีกินก็ช่างมัน ฉันไม่เกี่ยว)  ชาวบ้านก็เลยว้าเหว่ พวกขยันหน่อยก็ตามควายเข้าโรงงาน  ส่วนพวกที่ขยันน้อยหน่อยจนถึงขี้เกียจมากก็จะไม่ไป  แต่จะหาอะไรๆมาแก้เหงาแก้ความว้าเหว่ และฆ่าเวลาไปวันๆด้วยการพนันทุกรูป  ซึ่งเล่นแม้แต่การแทงตัวเลขการปิดตลาดของดัชนีราคาหุ้น(เดี๋ยวนี้เล่นกันวันละ 3 เวลา ทั้งปิดคลาดตอนเที่ยง ตอนเย็น และดัชนีของดาวน์โจนในตอนเช้าตรู่อีกต่างหาก)  ที่หนักๆและโจ่งครึ่มก็คือการพนันในเกมส์เปตอง (บางหมู่บ้านเล่นกันทั้งวันทั้งคืน พระสงฆ์องคเจ้าก็เอากับเขาด้วย)  บั้งไฟขนาดเล็กๆ ก็เล่นกันได้ตลอดปี (เผาเงินทิ้งทั้งในรูปของดินปืน ท่อพีวีซี ยางรัด เวลา และเงินในส่วนที่พนันกันจริง นี่ยังไม่นับรวมความเสียหายในส่วนที่เป็นการมอมเมาเด็กๆเข้าไปด้วยนะครับ)  มีแทบไม่ถึงครึ่งที่จะขยันทำมาหากินอย่างเป็นกิจลักษณะ  ทั้งๆที่ปัจจัยเอื้อมีอยู่มากมาย (ปัจจุบันแย่ขนาดทำนากินยังไม่เป็น  ทั้งๆที่เป็นเรื่องของอาชีพรากเหง้าด้งเดิมของตัวเองแท้ๆ และไม่ใช่เรื่องยากซะด้วย)
  • ผมเองเห็นภาพวิถีชีวิตของพี่น้องชาวบ้านดังกล่าวแล้ว  ก็ย้อนกลับมามองหาสาเหตุและต้นตอของปัญหา  โดยเฉพาะต้องโฟกัสมาที่ระบบการศึกษา  ซึ่งจริงอย่างที่พ่อครูบาท่านว่า  ส่วนใหญ่แล้วจะเห็นแต่หลักสูตร"ทิ้งถิ่น"ซะมากกว่า  ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่กำหนดโดยส่วนกลางหรือสถานศึกษา  จึงพยายามสร้างหลักสูตรท้องถิ่นที่"สร้างเสริมความตระหนักและปลูกสำนึกดี" เพื่อเป้าหมายให้เขาเห็นและใช้ปัจจัยพื้นฐานอันอุดมสมบูรณ์ของพื้นถิ่นอีสาน  ให้เกิดประโยชน์และคุณค่าสูงสุดต่อชีวิตตัวเอง ครอบครัว และสังคมชุมชนบ้านเมือง  แทนการ"ทิ้งเงินวัน ด้นดั้นไปหาเงินเดือน" หรือ "เรือกสวนไร่นาข้าทำเล่นๆ เรื่องนอนเว็นเรื่องพนันฉันสู้ตาย"  อย่างที่เห็นและเป็นอยู่
  • ผมคิดว่าทีมงานที่โคกเพชร  มีความพร้อมในเรื่องของหลักสูตร และศูนย์เรียนรู้ในระดับหนึ่ง (ที่น่าจะพอเห็นทางเดินได้ในเบื้องต้น)  ส่วนที่ยังขาดอยู่แน่ๆ  คืองานวิจัยชุมชน (โดยเฉพาะการวิจัยที่ทำอย่างครบกระบวนการ)  ซึ่งโคกเพชรกำลังพยายามเต็มที่อย่างที่เห็น (ปัจจุบันเห็นปัญหาเต็มไปหมด แต่ขาดงานวิจัยที่จะเอาไปเป็นข้อมูลพูดคุยกับชุมชน  มีบ้างก็แต่ข้อมูลการสำรวจเชิงกายภาพ และบทสรุปจากการประชุมเสวนาเบื้องต้นเท่านั้น)
  • งานนี้  คงต้องรบกวนท่าน ดร.แสวง  เป็นทั้ง"คุณอำนวย"และ"คุณประสาน"ให้  ส่วน"ผึ้งงาน"อย่างพวกผม"พร้อมลุย"ในทุกรูปแบบครับ
  • สวัสดีครับ
  • ได้รับความรู้มากขึ้น ทั้งจากท่าน อาจารย์ ดร.แสวง และ kruwoot  ขอบคุณมากครับ
  • อยากจะขออนุญาตเสนอความคิดเห็นเล็ก ๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกันอยู่ว่า จะเป็นไปได้ไหมว่า..
    เราจะเปลี่ยนจากการยึดหลักสูตรเป็นตัวตั้ง เป็นการยึดตัวผู้เรียนหรือประชาชนเป็นตัวตั้ง
  • ...หมายความว่า  แต่ก่อนเราให้ทุกคน วิ่งเข้าช่อง หรือเครื่องผลิต หรือ หลักสูตร เดียวกัน ที่เรา (นักคิด/นักการศึกษาทั้งหลาย) เห็นว่า สุดยอดที่สุดในปฐพีแล้ว
  • ... ถามว่า ในห้องหนึ่ง ๆ ผมว่า จะได้หัวกะทิที่เราต้องการไม่เกินร้อยละ 10 ที่เหลือจะกลายเป็นกากกะทิ ที่ผู้เรียนเองต้องเป็นและเขาเองก็ไม่อยากเป็น
  • เมื่อกว่า 2 ปีที่แล้วได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารต้นแบบท่านหนึ่ง (อ.นคร) ท่านบอกว่า อาจารย์ประจำชั้น จะต้องบอกได้ว่า นักเรียนแต่ละคนดีเด่นในเรื่องใด เช่น นาย ก เรียนเก่ง ดญ. ข ทำอาหารเก่ง ดช.ค เล่นกีฬา ดญ.ฮ คือลูกกตัญญู เป็นต้น
  • ถามว่า แล้วในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่เหมาะสมและจำเป็นสำหรับตนเอง แล้วจะทำอย่างไร ?
  • ระดับอุดมศึกษาให้เรียนฟรี หรือราคาถูกกว่า มสธ หรือ รามคำแหง ได้หรือไม่ ?
  • ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่า ถามนอกประเด็นหรือไม่ เพราะอ่าน Blog ท่านอาจารย์มาหลายกระทู้ แต่รวม ๆ มาตอบที่กระทู้นี้ครับ
  • อิ ๆ
ขอบคุณมากครับ ที่เข้ามาแลกเปลี่ยน ผมก็หวังพึ่งครูวุฒิแหละครับ วันหลังจะไปเยี่ยมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท