เครือข่ายชาวบ้าน ชุมชนเข้มแข็ง แรงบันดายใจจากหนังสือของ อ.เสรี พงศ์พิศ


หยิบหนังสือชื่อ  " เครือข่าย" วัฒนธรรมองค์กรของโลกยุคใหม่ ยุทธวิธีเพื่อประชาชนเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง ของ ดร.เสรี พงศ์พิศขึ้นมาอ่าน จัดพิมพ์โดย สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน



หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน LIFE Learning Institute for Everyone ซึ่งกล่าวถึงหลักคิด หลักการและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเครือข่าย องค์กรชุมชน และองค์กรเครือข่ายต่างๆ เน้นการส่งเสริมเครือข่ายองค์กรชุมชน  เครือข่ายผู้คนระดับรากหญ้า มีการเชื่อมโยงผู้คนและชุมชนในอดีตและปัจจุบันไปหารากเหง้า บรรพบุรุษ  แนวทางที่ทำให้ชีวิตเกิดความมั่นคง อยู่รอดในสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยพลังของเครือข่าย

" การมีชีวิตที่โดดเดี่ยวตัวเอง หวังพึ่งเงินอย่างเดียว และมีชีวิตอยู่เหมือนกับว่า ไม่พึ่งพาอาศัยพี่น้องเพื่อนฝูงเพื่อนบ้านข้างเคียงก็ยังได้ ทำให้ความสัมพันธ์ลดเลือนจนเสื่อมคลายและจางหายไปก็มาก สังคมวันนี้ทั้งในเมืองและในชนบทจึงเป็นแบบตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างอยู่  ต่างคนต่างไปในที่สุด..."

"....สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่า คนไทยเป็นคนชอบโดดเดี่ยว ชอบทำอะไรคนเดียว นั่นเป็นตรรกะที่ผิดความเป็นจริงและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคนไทยไม่เคยอยู่โดดเดี่ยว ไม่เคยทำอะไรคนเดียว แต่อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ทำร่วมกันเป็นกลุ่ม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีการลงแขกและประเพณีอื่นๆมากมาย""

เนื้อหาและประเด็นสำคัญที่ได้จากหนังสือเล่มนี้
".... เครือข่ายเป็นความสัมพันธที่อยู่เบื้องลึกในชีวิตและจิตใจของผู้คน ทำให้เห็นอกเห็นใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เคยมีประสบการณ์มาก่อน เคยลำบากมาก่อน และมี "พี่น้อง" ช่วยเหลือ จึงเข้าใจสถานการณ์ของคนอื่น และรู้ว่าในอนาคตตนเองก็อาจจะประสบปัญหาเช่นเดียวกัน และอาจจะต้องการให้คนอื่นช่วยเหลือเช่นเดียวกัน "ทีเขาทีเรา"  "อกเขาอกเรา"   ด้วยความรู้สึกหรือเหตุผลของหัวใจเช่นนี้ ทำให้ผู้คนในอดีตเป็นคน "มีน้ำใจ" เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีอะไรก็แบ่งปันกัน โดยเฉพาะในยามยากลำบากขาดแคลน....."


"... กิจกรรมสำคัญที่สุดที่ทุกเครือข่ายทำร่วมกัน คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารประสบการณ์ แล้วพัฒนาไปสู่การวางแผนร่วมกัน ดำเนินกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน ทำให้ด้านหนึ่งหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน อีกด้านหนึ่งทำให้กิจกรรมนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการประสานพลัง เป็นการใช้ทรัพยากร ใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการรณรงค์เรื่องต่างๆ ถ้าทำเป็นเครือข่ายจะได้ผลมากกว่า
....."

"เงื่อนไขสำคัญของเครือข่าย คือ ต้องมีการติดต่อสัมพันธ์สื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างสมาชิก อาจมีผู้ประสานซึ่งเป็นบุคคลหรือกลุ่มประสาน ซึ่งดำเนินกิจกรรมการประสาน แต่ไม่ใช่เป็นผู้ดำเนินการแทนสมาชิกเครือข่ายในทุกๆเรื่อง..."

แนวคิดหลายอย่างที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ และประทับใจอย่างมาก ในส่วนของการพึ่งพาตนเอง เช่น การรวมกลุ่ม + การเรียนรู้ + ลงมือปฏิบัติ จนเกิดผลทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรรม โดยกลุ่มชาวบ้านเอง เช่น  เครือข่าย อินแปง ใช้เงิน 5,000 บาท  ทำกองทุนหมู ภายใน 3 ปี นับจำนวนลูกหมูที่ชาวบ้านขายให้พ่อค้า นับได้ถึง 6,000 ตัว ถ้าคิดราคาตัวละ 250 บาท ก็ตกเป็นเงินถึง 1 ล้านบาท และยังมีโครงการกลุ่มพันธุ์ไม้พื้นบ้าน การขายยอดหวาย, ทำน้ำหมากเม่า ไวน์หมากเม่า ฯลฯ เป็นโครงการที่ใช้เงินน้อย แต่คุ้มค่าและเกิดผลมากที่สุด

ทั้งๆที่ชาวบ้านไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย จบปริญญาสูงๆ แต่กลับพึ่งตนเอง คิดเองได้ ไม่แพ้นักวิชาการเก่งๆหลายคนเลยทีเดียว

แต่ทว่า ชาวบ้านสบายกว่า อยู่ในสังคม ชุมชนของตนเองได้ เป็นวิถีชีวิตในฝันที่อยากให้เกิดขึ้นทุกพื้นที่จริงๆ

-










หมายเลขบันทึก: 143010เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2007 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท