โดนด่าไม่ “เจ็บ”


หลากครั้งในหลายเวลาที่มีคนด่า ว่า กล่าว ตักเตือน
“เจ็บไหม?”
เจ็บหรือไม่เจ็บนั้นขึ้นอยู่กับเราว่าจะ “ปรุงหรือไม่ปรุง”
ถ้าไม่ปรุงสิ่งนั้นก็กลายเป็นเหมือนกระแสลมที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
แต่ถ้าปรุง!
สิ่งนั้นจะกลายเป็นเหมือนมีดคอยกรีดและทิ่มแทงใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันทุกครั้งที่ “จิตปรุง”

ไม่เจ็บแถมยังมีมหาประโยชน์

การโดนด่านั้นมีประโยชน์หนึ่งคือ ถ้าเกิดสิ่งที่เขาด่า ว่า กล่าว ตักเตือนนั้น เป็นจริง
สิ่งนั้นจะเป็นกระจกสะท้อนเงาของตัวเราเองในสิ่งที่เรามองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่เราไม่อยากจะมอง หรือมองเห็นแล้วแต่ไม่อยากจะทำ หรือทำแล้วแต่ยังไม่ดี หรือทำดีแล้วแต่ยังไม่ดีที่สุด หรือทำดีที่สุดแล้วแต่ยังไม่พอใจคนรอบข้าง หรือพอใจคนรอบข้างแล้วยังไม่เพียงพอต่อกิเลสของคนอยากด่า...นั่นจึงเป็นการ สำรวจ ปรับปรุง แก้ไข เพิ่มคุณค่าให้กับตนเอง 

จึงนำมาถึงประโยชน์ข้อที่สองที่สำคัญยิ่ง คือ ได้สร้างบุญและกุศลอันใหญ่หลวงคือ “อภัยทาน”
เมื่อเราถูกด่า ว่ากล่าว ตักเตือน ถ้าไม่เป็นจริงหรือไม่สมควรที่เขาจะด่าเราอย่างนั้น “การให้อภัย” ถือเป็นบุญใหญ่ที่รอคอยให้เราได้กระทำ
“อภัยทาน” เป็นทานที่ใหญ่ยิ่ง
อภัยทาน จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุแห่งปัจจัยที่ทำให้เราต้องให้อภัย
เมื่อมีคนมาด่า หรือมาว่า หรือมากล่าวตักเตือน “ถ้าไม่เป็นจริง”
นั่นแหละ “โอกาสแห่งการให้อภัยมาถึงแล้ว”
ถ้าเราทำได้ ถือว่าเราได้ทำทานครั้งใหญ่
ยิ่งใหญ่กว่าการตักบาตร ทำบุญกับเหล่าสรรพสัตว์ ทำทานกับคน ทำกุศลกับคนมีศีล ตักบาตร ถวายสังฆทานกับพระ แต่พระโสดาบัน จนกระทั่งพระอรหันต์ แม้กระทั่งการได้ถวายข้าวแก่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหนือยิ่งกว่าการบริจาคเงินสร้างโบสถ์สร้างศาลา “การให้อภัยแก่คนที่ด่าเรา” นั้น เหนือกว่าการให้ทานที่กล่าวมาทั้งหมด 

การให้อภัยจะสิ้นเหตุปัจจัยแห่งการปรุง
“เมื่อเราไม่ปรุง เราก็จะไม่เจ็บ” ไม่เจ็บแปลบ ๆ เหมือนใครเอามีดมาแทงหัวใจ
เพราะเมื่อเราปรุง จิตใจของเราจะสั่นไหว สมองและร่างกายจะผิดปกติไปทั้งระบบ และเมื่อทั้งระบบปรวนแปร เรรวน “หัวใจ” ซึ่งเป็นสิ่งอ่อนไหวที่สุดในร่างจะรับความผิดปกตินั้นเป็นลำดับแรก
หัวใจจะเกิดใจสูบฉีดเลือดผิดปกติ การเต้น การทำงาน การสูบฉีดเลือดผิดปกติไปหมด
“เจ็บแน่คราวนี้ ถ้าเราปรุง”
เมื่อหัวใจสูบฉีดเลือดผิดปกติ เลือดไปเลี้ยงหัวสมองไม่พอ เซลล์ต่าง ๆ แบ่งตัวผิดปกติ มือที่ทำงานอยู่ไร้กำลัง ขาที่เดินอยู่มีแรงไม่พอ ขาอ่อนลมครืนลงมา
“เจ็บแน่คราวนี้ เพราะเราปรุง”
เมื่อร่างกายลมครืนลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก ส่วนไหนจะกระแทกลงกับฟื้นนั้น ก็แล้วแต่สติ
สติจะมีไหมนั่นตอนนั้น “ถ้ามีสติก็คงจะไม่ปรุงตั้งแต่ตอนแรก” ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุปัจจัยแห่งการล้ม
ดังนั้นถ้าป้องกันไม่ทันกำลังจะล้ม “สติ” สำคัญมาก ๆ ไม่งั้น “เจ็บ” หนักแน่ เพราะ “คำด่าเพียงคำเดียว”
“สติ” จะเป็นเครื่องป้องกันเหตุปัจจัยแห่งการผิดปกติที่กล่าวมาหมด สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดก็จะมิเกิดขึ้น ดังนั้น “เราจึงไม่เจ็บ”

“ลมหายใจเป็นเครื่องมือในการควบคุม” สติ

ลมหายใจที่ยาวและลึกในวินาทีที่โดนด่า จะป้องกันอาการเจ็บได้อย่างฉันพลัน
เริ่มตั้งแต่
ป้องกันวาจาที่จะสวนกลับคืน ซึ่งเป็นวาจาที่เกิดขึ้นโดยมิได้ผ่านการกรั่นกรองความถูกผิดของจิตหรือแม้กระทั่งสมอง  ซึ่งจะนำมาสู่อาการเจ็บ อันเนื่องจาก มือไม้ของเราหรือฝ่ายตรงข้ามอาจจะมาฟาดปาก ฟาดหัว ฟาดตัว หรือถ้ามีมีดหรือปืน ก็อาจจะเจ็บหนัก หรืออาจถึงตายได้ หรือไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต หรืออาจจะต้องไปโตในคุกในตาราง
ถ้าเป็นอย่างนั้น
จะมิใช่เราคนเดียวที่เจ็บ พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง ลูก หลาน เจ็บกันหมด...

ลมหายใจยาว ๆ ลึก ๆ เมื่อวินาทีนั้น ช่วยให้เราไม่เจ็บได้ 

ความคิดเพียงชั่ววูบ การตัดสินใจผิดเพียงเสี้ยววินาที อาจทำให้อนาคตดับวูบหรือชีวิตทั้งชีวิตดับลงได้
“การหายใจเข้าหนึ่งครั้ง เกินกว่าหนึ่งวินาที”
“การหายใจออกอีกหนึ่งครั้ง รวมกันแล้วหลายวินาที”
หลายวินาที ย่อมยาวกว่าเสี้ยววินาที
ลมหายใจเข้าออกลึก ๆ ยาว ๆ หลาย ๆ วินาทีนั้น สามารถทำให้เกิดสติ และ “มีสติ”
ลมหายใจเข้าออกลึก ๆ ยาว ๆ หลาย ๆ วินาทีที่มีสตินั้น สามารถป้องกันอาหารเจ็บกายและเจ็บใจได้
ลมหายใจเข้าออกลึก ๆ ยาว ๆ หลาย ๆ วินาทีที่มีสตินั้น สามารถป้องกันชีวิตเราและเขาไว้ได้
ลมหายใจเข้าออกลึก ๆ ยาว ๆ หลาย ๆ วินาทีที่มีสตินั้น สามารถสร้างอนาคตที่สดใสได้
ลมหายใจเข้าออกลึก ๆ ยาว ๆ หลาย ๆ วินาทีที่มีสตินั้น สามารถทำให้เราโดนด่าแล้ว “ไม่เจ็บ”... เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นก็แค่ "โลกธรรม"

ปัจฉิมลิขิต. ไม่เจ็บ แถมไร้ทุกข์ เพิ่มโปรโมชั่นอิ่มสุขอีกต่างหาก...

สิ่งที่อาตมากล่าวมาทั้งหมดอย่าเพิ่งเชื่อนะ

ลองทำดู

แต่จริงแล้วค่อยเชื่อ

แต่ไม่ได้เชื่ออาตมานะ

โยมจะเชื่อตัวของโยมเอง...

 

คำสำคัญ (Tags): #สติ#โลกธรรม
หมายเลขบันทึก: 142981เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2007 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการพระคุณเจ้า  ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ  เรื่องการถูกด่า ถูกนินทา ถูกวิจารณ์ เมื่อก่อนผมทนไม่ได้ครับ ต้องสวนกลับไปทันที่ ใครมาอย่างไร ผมก็กลับไปอย่างนั้น  พอมาระยะหนึ่ง เริ่มศึกษาธรรมะ เริ่มอ่านธรรมะ ผมอ่านของท่านพุทธทาสหลายเล่มครับ โดยเฉพาะเรื่องหลักตถตา และ หลักความไม่ยึดมั่นถือมั่น อ่านครั้งแรกก็งงๆ ครับ แต่อ่านหลายครั้ง และอ่านหลายเล่ม อ่านแล้วทดลองนำมาปฏิบัติกับชีวิตจริงดู  ก็ค่อยๆพัฒนามาเรื่อยๆครับ โดยเฉพาะเรื่องการถูกด่า ถูกว่า ถูกนินทา เดี๋ยวนี้  ผมค่อนข้างทำใจได้ครับ ไม่โต้ตอบ ไม่โกรธ  และนำเก็บมาพิจารณา  ประสบการณ์ที่ชัดๆที่จะเล่าให้ท่านฟัง คือ ครั้งหนึ่งในการประชุม(ผมเป็นผู้บริหาร) มีผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึง วิพากษ์วิจารณ์ผมด้วยถ้อยคำที่รุนแรง  ถามว่าจิตปรุงแต่งใหม  บอกตามตรงว่าปรุงแต่งครับ แต่พยายามระงับไม่ให้โกรธ ด้วยการนึกถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่น ความไม่มีตัวตน พอนึกได้ก็ค่อยๆผ่อนคลายครับ หลังจากนั้นก็ตั้งใจฟังคำวิจารณ์ ซึ่งคำวิจารณ์บางส่วนก็มีความจริงอยู่บ้างครับ เราก็นำมาปรับปรุงตัวเราได้ ลึกๆแล้วผมยังแอบขอบคุณผู้วิจารณ์ด้วยซ้ำ เมื่อผมไม่มีปฎิกิริยาอะไรโต้ตอบ  โดยกล่าวคำว่าขอบคุณครับ และจะนำไปปรับปรุง  หลังจากนั้น ผมกับผู้วิจารณ์ท่านนี้ก็ไม่มีอะไรต่อกันครับ แถมยังร่วมมือทำงานดีกว่าเดิมอีกครับ

  •  นมัสการครับผม
  • บ่อยครั้งครับที่เราโต้ตอบ ในลักษณะ "เอาคืน" ได้  แต่ต้องรู้สึกไม่สบายใจ และติดอยู่อย่างนั้น อีกนาน
  • แต่หากเรารับฟัง  คำนั้นมา  แล้วนิ่งไว้ ข่มไว้ เมื่อค่อย ๆ คลายแล้ว  เรารู้สึกปกติคืนมา  ถูกผิดที่เขาว่ามา  ก็รับได้  พิจารณารับรู้กันไป  ได้ประสบการณ์กันไป
  • ผมรู้สึกอย่างนี้มาตลอดครับ  หลายครั้งที่เรื่องราวจบลงได้  เพราะเราไม่ต่อคำนี่เอง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท