กาหลอ....มโหรีส่งวิญญาณ


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นิตยสาร สารคดี: ฉบับที่ ๒๒๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๖
                                            
     

 

  ผัน คงหวัง
หมอปี่รุ่นสุดท้าย ของตำบลพรุดินนา แกสืบทอดครูหมอปี่ มาจากรุ่นทวด ปี่ที่เป่าอยู่ มาจากรุ่นปู่ชื่อนายกลั่น ทุกวันนี้ทวดผัน อายุ 64 ปี แต่ยังไม่มีคนสืบต่อ เพลงปี่ดนตรีพื้นบ้าน

 วันพฤหัสบดีแรกของเดือนสิบเอ็ดปีนี้ เพลงกาหลอของหมอผัน คงหวัง ขับขานขึ้นอีกครั้ง หลังจากปี่เลานั้นนอนสงบนิ่งอยู่บนหิ้งมายาวนาน
      แต่ครั้งโบราณกาลมา... ไม่มีใครบรรเลงเพลงกาหลอในเวลาปกติ เพราะนี่คือมโหรีของความเศร้า ที่ใช้เล่นกันในงานศพหรือในขบวนส่งศพไปสู่เมรุ 
      สำเนียงของเพลงปี่พริ้งใส ไหวสะท้าน แต่ฟังดูแล้วเศร้าสร้อย วังเวง
      เสียงอันเศร้าสร้อยน่าละห้อยใจนี้ จะทำให้คนที่ยังอยู่อาวรณ์ถึงคนที่จากไป และมีจิตมุ่งมั่นในการทำบุญอุทิศกุศลให้ผู้ล่วงลับไปสู่ชาติภพที่สงบเย็น

      กาหลอ เป็นดนตรีพื้นบ้านของภาคใต้ตอนกลางแถบกระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง เป็นที่นิยมกันมาตั้งครั้งบุร่ำบุราณ เมื่อมีงานศพ 'กาหลอ เป็นมหรศพหนึ่งเดียวที่ขาดไม่ได้ เพิ่ง ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมานี้ กาหลอค่อยๆ ถูกลดบทบาทลงไปตามเงื่อนไขแวดล้อมของยุคสมัย 
      กล่าวสำหรับพื้นที่ตำบลพรุดินนา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ปัจจุบันเหลือเพียงหมอผัน คงหวัง เพียงคนเดียวที่ยังเป็น 'หมอปี่' เล่นกาหลออยู่ และมีแนวโน้มชัดเจนว่าวันที่หมอผันสิ้นลม เพลงปี่กาหลอในแถบนี้จะเงียบเสียงไปด้วย 
      หลังจากนั้นกาหลอก็จะเป็นเรื่องเล่าในตำนาน
      ก่อนจะมาเป็นดนตรีขับขานวิญญาณของชาวโลก นิทานปรัมปราเกี่ยวกับที่มาของดนตรีกาหลอเล่าย้อนขึ้นไปถึงสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า เมื่อครั้งที่พระพรหมถูกตัดเศียร พระอิศวรตรัสว่า พระพรหมนี้มีฤทธิ์และอนุภาพมาก เฉพาะเศียรถ้าไว้กลางอากาศ อากาศจะลุกเป็นไฟ ถ้าไว้ในดิน ดินจะกลายเป็นมหาสมุทร เพราะวิญญาณนั้นประจำอยู่ที่ศีรษะ และไม่มีอะไรจะมาบังคับวิญญาณพระพรหมได้ พระอิศวรจึงจัดชุมนุมเทวดาทุกหมู่เหล่ามาพร้อมกัน จัดตั้งดนตรีคณะหนึ่งไว้สำหรับบังคับวิญญาณพระพรหม และวิญญาณมนุษย์ รวมทั้งสัตว์ทั้งหลายสืบไป 
      เทวดาทั้งหลายเห็นพ้องต้องกันจึงจัดตั้งวงมโหรีขึ้นในชั้นสรวงสวรรค์ มีเทวดาที่เข้าร่วมวงคือ พระอินทร์ เป็นผู้ถือหม้อน้ำมนต์ พระนารายณ์เป่าปี่ พระยมตีฆ้อง พระพายตีทน ดนตรีวงนี้มีชื่อว่า กาหลอ 
      เมื่อเสร็จจากการแห่เศียรพระพรหมเข้าสู่โกฏิจุฬามณีแล้ว พระอิศวรตรัสว่า ดนตรีเนรมิตรชุดนี้เก็บไว้ในสรวงสวรรค์ไม่ได้ จึงสั่งให้พระวิษณุกรรมเอาลงไปมอบให้มนุษย์ในเมืองคะรึงคะราช

ผู้ที่รับไว้ชื่อนายบุญ เป็นที่น่าอัศจรรย์เมื่อเขารับปี่มาแล้วก็สามารถเป่าได้ทันที ส่วนคนตีทน เมื่อรับทนมาก็ตีได้ตามจังหวะเพลงปี่ ส่วนคนตีฆ้องก็ตีได้ตามจังหวะเพลงทน จึงได้เรียกดนตรีคณะนี้ว่า พรรคพวกตาบุญขุนปี่ และผีพายกาหลอ สืบ 'ครูหมอปี่' มาตราบถึงทุกวันนี้
ในหนังสือบุพกิจ เขียนเล่าไว้ว่า แต่เดิมนั้นดนตรีกาหลอมาจากพวกชวา เรียกว่ากะลอ คำนี้มาจาก กาละ หรือ กาลเวลา มีความหมายว่าเป็นดนตรีที่ใช้เฉพาะกาลที่จำเป็นเท่านั้น เมื่อเข้าสู่ประเทศไทย ก็เรียกกันว่า กาหลอ

เครื่องบูชา ในพิธีไหว้ครู หมอปี่กาหลอ

สำหรับหมอผัน คงหวัง สืบทอดวิชาปี่กาหลอมาจากรุ่นทวดนับย้อนไปได้ราว ๒๓๐ ปี ปี่เลาที่เป่าอยู่ในวันนี้ ตกทอดมาจากรุ่นปู่ชื่อนายกลั่น รวมทั้งสมบัติโบราณอื่นๆ เช่น สมุดไทยตำราดูฤกษ์ยาม ฆ้อง ทน ที่ตกทอดมาจากปู่กลั่น หมอผันก็เก็บรักษาไว้อย่างดี 
      วงดนตรีกาหลอประกอบด้วยเครื่องดนตรี ๓ ชนิด คือ 
      ปี่ง่อ หรือที่พวกชวาเรียก ปี่อ่อ ทำจากไม้หลุมพอ พันด้ายสายสิญจน์ ประดับลูกปัดให้สวยงาม
      ทน มี 1 คู่ หน่วยแม่ และ หน่วยลูก คล้ายกับกลองชนะของภาคกลาง ไม้ตีเป็นรูปโค้งทำจากไม้ที่มีน้ำหนักมากอย่างไม้แก้ว
      ฆ้อง มี 1 คู่ หน่วยแม่ เป็นฆ้องตีขึ้นจากทองเหลือง หน่วยลูก เป็นฆ้องหล่อธรรมดา
      ในวงดนตรีกาหลอ คนเล่นปี่ หรือที่เรียกกันว่า 'หมอปี่' จะเป็นผู้นำทำนอง ทนตีตามจังหวะเพลงปี่ และฆ้องตีตามจังหวะเพลงทน ถ้าเครื่องดนตรีสามสิ่งนี้ไล่ล้อสอดประสานกันอย่างเข้าท่วงทำนอง เพลงกาหลอสุดจะไพเราะเพราะพริ้ง ยิ่งถ้าคนฟังรู้เนื้อในเสียงเพลงนั้นด้วยก็จะยิ่งซาบซึ้งเศร้าสร้อย บางคนถึงน้ำตาไหล 
      อย่างเพลงชื่อ ทองสี ที่มีเนื้อว่า โอ้ทองสีพี่ทองสีเหอ ตอนค่ำเจ้านอนด้วยใคร เจ้าสุดสายใจ เจ้าคงนอนคนเดียวหลับได้ เจ้าสุดใจเหอ เจ้านอนหลับดี เจ้าทองสุกปลุกเจ้าทองสี ลุกขึ้นสักทีเจ้าทองสี พี่ทองสีเหอ
      ความหมายของเพลงนี้ว่า คนตายนั้นเราปลุกด้วยเสียงปี่ เสียงทน เสียงฆ้อง ปลุกสักเท่าใดก็ไม่ลุก ยังคงนอนนิ่งเฉยอยู่ในโลกศพนั่นแหละ
      เพลง พรายแก้ว ว่า เจ้าทิ้งแม่ไปแล้ว โอ้เจ้าพรายแก้ว พรายแก้วของแม่เหอ ตกน้ำแม่ได้ตามไปงม เจ้าพรายแก้วตกตม แม่ได้ตามไปหา เจ้าไปเมือง เจ้าไม่รู้มา อนิจจาพรายแก้ว พรายแก้วของแม่เหอ
      ความหมายของเพลงพรายแก้วบอกว่า คนที่ตายไปนั้น ถ้าตกน้ำก็ยังไปงมเอามาได้ ถ้าตกในตมก็ยังไปหาเอาได้ แต่คนที่ตายไป จะไปเอามาจากที่ไม่ได้อีกแล้ว

       อีกเพลงหนึ่งว่า พี่ทิดเหอ พี่ทิดโสธร ค่ำๆ พาน้องไปนอนที่หนำไร่ เสือหลบมาขบพี่ทิดตาย โอ้เจ้าเสือใจร้าย ใจร้ายแรงเหอ
      ความหมายของเพลง พี่ทิดโสธร นี้บอกว่า คนที่เคยเป็นคู่ผัวตัวเมียกัน พากันไปอยู่ที่ขนำไร่ในที่เปลี่ยว บังเอิญมีเหตุต้องตายไปเสียคนหนึ่ง คนที่เหลืออยู่ก็จะต้องบ่นหา
      และอีกเพลงหนึ่งที่ชื่อ นกกระจอกเต้น ร้องว่า นกกระจอกเหอ นางนกกระจอกเต้น พาลูกคาบรวงข้าวเล่น เที่ยวเต้นกลางนา กลางนาไหน กลางนาใคร กลางนาสยามเหอ
      ความหมายเพลงนี้บอกว่า เมื่อก่อนนั้นผู้ตายเคยพาลูกไปเที่ยวเล่นในนา ทำงานด้วยกัน ไปเที่ยวไปไหนด้วยกัน แต่มาบัดนี้ไม่มีโอกาสอีกแล้ว นอนตายนิ่งอยู่ในโลง

ยายแดง คงหวัง
หลานคนหนึ่งของนายกลั่น ที่ศรัทธาในครูหมอปี่ แต่ในชีวิต ไม่เคยแตะปี่ เพราะกาหลอ เป็นดนตรี ที่ห้ามผู้หญิงบรรเลง สมุดไทยโบราณ กับไม้ตีทนที่ถืออยู่ เป็นสมบัติชิ้นสำคัญของปู่ ที่ยังได้รับการเก็บรักษา ไว้อย่างดี

 เพลงที่ใช้ในงานส่งศพมี ๒ ประเภท คือเพลงคาถา และเพลงโทน
      เพลงคาถาประกอบด้วยเพลง ไหว้พระ, ลาพระ, พ่อบัต, ขันเพชร, ไม้พัน, สุริยน, เมไร, เรื่อยาน, หยิว(เหยี่ยว)เล่นลม, ลาโรง
      ส่วน ทองสี, นกกรง, นกเปล้า, พรายแก้ว, พรายทอง, ทอมท่อม, แสงทอง, ขอไฟ, จุดไต้ตามเทียน, พระพาย, นกกระจอกเต้น, กระต่ายติดแร้ว, พี่ทิดโสธร, สร้อยทอง, มอญโลมโลก เหล่านี้เป็นชื่อของ เพลงโทน
      หมอผัน เล่าว่า พอเพลงปีกอหลอขับขานขึ้นผีสางดวงวิญญาณจากทั่วสารทิศจะเร่กันเข้ามาฟัง เสร็จแล้วหมอปี่ก็จะใช้บทเพลงขับกล่อม แผ่เมตตา และว่าคาถาส่งไปในเพลงปี่ ให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นไปสู่ที่ชอบ
      การบันทึกเสียงดนตรีใส่เทปไปเปิดที่อื่นต่อ จึงเป็นข้อห้ามเด็ดขาดสำหรับเพลงกาหลอ เพราะเสียงในเทปไม่มีคาถาส่งดวงวิญญาณ เมื่อปวงผีมารวมกันแล้วไม่ถูกควบคุมและส่งไปสู่ที่ชอบ ก็อาจก่อเหตุเภทภัยร้ายๆ ขึ้นได้ แต่มีข้อยกเว้นถ้าเป็นการเปิดในวัดหรือเพื่อการศึกษา
      งานศพที่ตั้งบำเพ็ญกุศลในวัด สามารถตั้งโรงกาหลอตรงไหนก็ได้ แต่ชาวบ้านปักษ์ใต้บางส่วนนิยมตั้งศพที่บ้าน ในกรณีนี้มีข้อกำหนดว่าโรงกาหลอต้องตั้งอยู่นอกบริเวณบ้าน
      เมื่อเข้าไปอยู่ในโรงกาหลอแล้ว มีพิธีการปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ระหว่างที่เล่นหมอปี่จะออกกลับไปบ้านไม่ได้ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นอย่างที่สุด ต้องนอนเป็นที่ กินอาหารที่เหลือจากคนอื่นกินไม่ได้ ข้าวและกับถ้วยแรกของหม้อต้องตักมาให้หมอปี่ก่อน จะชักชวนให้คนอื่นเข้ามาร่วมวงกินด้วยก็ไม่ได้ ผู้หญิงสามารถเข้ามาในพิธีได้ แต่ห้ามส่งของต่อมือให้หมอปี่ และจะเรียกค่าราต (ค่าครู) จากเจ้าภาพได้ไม่เกิน ๓ ตำลึง (๑๒ บาท) กลับมาถึงบ้านก็ต้องให้ลูกหรือเมียเอาน้ำมาล้างเท้าให้ เพราะเชื่อว่ายังมีผีตามมาด้วย เมื่อมาเห็นลูกเมียปฏิบัติดีผีก็จะเกรงขาม แทนที่จะมาเบียดเบียนทำร้าย กลับชื่นชมให้พร


พี่น้องในตระกูล มาร่วมในพิธีไหว้ครู หมอปี่กาหลอ

หมอผัน ให้ความรู้อีกว่าการบรรเลงเพลงกาหลอไปในขบวนแห่ศพไปสู่เมรุ เล่นได้ไม่ดีเท่าในโรง เพราะกาหลอเป็นดนตรีที่ต้องการความสงบและสมาธิ
      อย่างการบรรเลงเพลงหนึ่งๆ เสียงปี่จะต้องดังยาวต่อเนื่อง ไม่มีหยุด ไม่ให้เสียงขาดหาย จังหวะการหายใจจึงต้องฝึกระบายลมผ่านลำปี่ ตามสำนวนที่เขาเรียกกันว่า 'หายใจในปี่'
      ทุกวันนี้ลมหายใจของพ่อเฒ่าแผ่วโผยลงเนื่องจากความชรา พลอยทำให้ลมปี่ยิ่งโหยเศร้า
      หมอผันบอกว่าเพลงปี่กาหลอนั้นสืบทอดกันได้ยาก เพราะเพลงปี่ไม่สามารถบันทึกเป็นตัวเขียน การถ่ายทอดอาศัยแต่การจดจำเสียงต่อเสียง 
      แต่นี่คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ อุปสรรคสำคัญอยู่ที่คนถือครูหมอปี่จะต้องมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก และตั้งมั่นในศีลธรรมไม่ต่างจากผู้ทรงศีล 
      การเสื่อมถอยด้อยความสำคัญจนกระทั่งสิ้นไร้ผู้ที่จะมาสืบทอดดนตรีกาหลอ จะถือเป็นปรากฏการณ์ที่บ่งชี้ถึงระดับศีลธรรมของคนในสังคมได้หรือไม่

      เสียงปี่กาหลอที่กรีดทำนองก้องกังวานขึ้นในสายของวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๕ เป็นการบรรเลงขึ้นโดยไม่มีความตายของใคร แต่วันพฤหัสบดีแรกของเดือน ๑๑ ในทุกปี เป็นวันไหว้ครูหมอปี่ของคนในตระกูล 'คงหวัง'
      นับตั้งแต่ต้นปี วงดนตรีกาหลอของหมอผันได้ออกงานเพียงสองครั้ง มีคนรับไปเล่นในงานศพครั้งหนึ่ง กับอีกครั้งเล่นให้รายการบันทึกความดี ของโทรทัศน์ช่อง ๑๑ บันทึกเทป ความนิยมและความสนใจในดนตรีกาหลอของผู้คนในท้องถิ่นถดถอยลงไปทุกวัน แต่หมอผันก็ตั้งปณิธานว่าจะจัดบูชาครูทุกปีตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะสิ่งนี้แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชน ในพิธีเซ่นไหว้ชื่อเสียงเรียงนามของบรรพบุรุษ ตั้งแต่ต้นตระกูลจะถูกเรียกชื่อเชื้อเชิญมาในพิธี 
      ในบ้านชั้นเดียวริมทางสาย เพหลา-พรุดินนา หมอผันจัดมุมหนึ่งไว้สำหรับพิธีการนี้ บนสุดเป็นหิ้งบูชา ถัดลงมาเป็นที่แขวนฆ้อง และทน ในพิธีไหว้ครู ปี่ง่อถูกนำมาวางหน้าเครื่องบูชาซึ่งประกอบไปด้วย หมากพลู ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ทอดมัน ข้าว ๑๒ ที่ (เป็นอาหารพื้นบ้านอย่างดี ๑๒ อย่าง) เหล้าขาว และขาดไม่ได้เด็ดขาด คือ น้ำมะพร้าวอ่อน
      หลังกล่าวเชื้อเชิญ ครูบาอาจารย์และบรรพบุรุษ มารับเครื่องเซ่นไหว้...หมอผันหยิบปี่ขึ้นมาเป่า ความไพเราะเพราะพริ้งของมันทำให้คนที่ได้ฟังหวลอาลัยถึงคนที่จากไป และด้วยเสียงนี้ที่จะนำพาดวงวิญญาณผู้ล่วงลับไปสู่สุคติภพ

หมายเลขบันทึก: 142707เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2007 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 14:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
   ความตาย เป็นการจากลาที่ก่อเกิดอารมณ์สะเทือนใจเสมอ คนอยู่ก็กลัวความตาย เพราะต้องเผชิญคนเดียว ส่วนคนตาย ถ้ายังไม่ได้เตรียมตัว ก็คงโหยหาผู้อยู่เบื้องหลัง กลัวการจากนี้จะไม่มีโอกาสพบเจอกันต่อไป แท้จริงแล้ว ขอเพียงมีกรรมต่อกัน วันหนึ่งก็ต้องวนมาเจอกันอยู่ดี และขอให้เป็นกรรมดีเถิด การพบครั้งต่อไปจะได้มีความสุข

ขอบคุณครับคุณตันติราพันธ์

                           อาการของผู้ใกล้ตาย ผมได้ประสบอย่างใกล้ชิด หัวใจสลายแทบอยากตายตาม

                           ในบางครั้งเราบ้างานจนลืมผู้ที่รอเราอยู่ทุกขณะจิตครับ

                           พ่อกับแม่ผมเสียชีวิต(ห่างกันคนละปี)ในขณะที่เผชิญหน้าอยู่กับผม หลังจากรอผมมาหลายวัน ไปถึงเจอหน้าไม่ถึงชั่วโมง.....ท่านก็ไปอย่างสงบ....พร้อมกับรอยยิ้มอย่างมีความสุข...แต่ผมเครียดจนถึงทุกวันนี้ครับ

        ทุกวันนี้เมื่อผมสอบถามผู้ร่วมงานเรื่องพ่อแม่ของเขา ก็บอกให้เขาดูแลให้ดีเมื่อยังมีท่านอยู่ ให้เวลาท่านมาก ๆ จะได้ไม่เสียใจภายหลัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท