BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๓๗ (จบ)


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๓๗ (จบ)

และนี้คือ คาถาประพันธ์ซึ่งมีเนื้อหาต่อมาจากครั้งก่อน (ดู เล่า...๓๖) โดยพระพุทธเจ้าตรัสเป็นประเด็นสุดท้ายในสิงคาลกสูตร ความว่า... 

  • เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้โดยชอบ ฉะนั้นบัณฑิตเหล่านั้นจึงถึงความเป็นใหญ่ และเป็นผู้อันหมู่ชนสรรเสริญทั่วหน้า ดังนี้ ฯ

ขยายความตามความเห็นของผู้เขียนว่า... สังคหวัตถุธรรม อันได้แก่ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจระหว่างบุคล ซึ่งปรากฎให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดจากความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกๆ... และเมื่อผู้ฉลาดกล่าวคือผู้ที่เป็นบัณฑิต นำมาประยุกต์ใช้กับสังคมหรือคนทั่วไปแล้ว เขาก็สามารถจะคงความเป็นใหญ่ไว้ได้ ทั้งปวงชนก็ย่อมสรรเสริญต่อเขา.... ประเด็นนี้ เมื่อพิจารณาจากคาถาประพันธ์นี้มาตั้งแต่ต้น ก็อาจสรุปได้ว่า ผู้ฉลาดย่อมใช้สังคหวัตถุธรรมเพื่อเป็นเครื่องพยุงความเป็นผู้มียศของตนไว้นั่นเอง...

กล่าวกันว่า หลักมนุษย์สัมพันธ์คือสุดยอดของหลักการบริหารองค์กร ดังนั้น ผู้บริหาร ตลอดจนผู้มียศ มีเกียรติ มีตำแหน่ง หรืออื่นๆ เมื่อดำเนินชีวิตตามนัยสังคหวัตถุธรรมซึ่งเป็นหลักมนุษย์สัมพันธ์ของพระพุทธศาสนาแล้วก็อาจยังคงความเป็นใหญ่ของตนไว้ได้ และปวงชนก็ย่อมสรรเสริญเขาตลอดไป ซึ่งก็ได้แก่ สามารถที่จะดำรงความเป็นผู้มียศของตนไว้ได้นั่นเอง....

อีกนัยหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงการปกครองแบบ พ่อปกครองลูก ในสมัยสุโขทัย... ผู้เขียนก็มีความเห็นว่า การปกครองแบบนี้ก็คือการใช้สังคหวัตถุธรรมเป็นหลักในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งสอดคล้องกับคาถาประพันธ์ในตอนสุดท้ายของสิงคาลกสูตรนี้นั่นเอง....

และเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าผู้เขียนจะคาดเดาว่า ระบบการปกครองทำนองนี้ในสมัยสุโขทัย บางส่วนอาจมีแนวคิดพื้นฐานมาจากสิงคาลกสูตรนี้นั่นเอง....

...............

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสคาถาประพันธ์นี้จบแล้ว นายสิงคาลกะก็ชมเชยพระธรรมเทศนาว่าชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งนัก พร้อมทั้งข้อเปรียบเทียบพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าว่า...

  • หงายของที่คว่ำ
  • เปิดของที่ปิด
  • บอกทางแก่คนหลง
  • ส่องประทีปในที่มืด
  • ผู้มีจักษุได้เห็นรูปฉันใด พระองค์ก็ทรงแสดงฉันนั้น

อนึ่ง ข้อเปรียบเทียบของนายสิงคาลกะทำนองนี้ ซึ่งมักจะเจอทั่วไปก่อนที่จะจบพระสูตรทั้งหลาย ดังนั้น จึงคาดเดาว่า น่าจะเป็นสำนวนชมเชยทั่วไปในสมัยนั้น....

หลังจากนั้นนายสิงคาลกะ ก็ขอถึงพระรัตนตรัยและแสดงตนว่าเป็นอุบาสกตลอดชีวิต....

เฉพาะในอรรถกถา ท่านได้เพิ่มเติมว่า หลักธรรมคำสอนในสิงคาลกสูตรนี้ ชื่อว่า คิหิวินัย ซึ่งหมายถึง ระเบียบการดำเนินชีวิตของผู้ครองเรือน นั่นเอง

............

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร มีทั้งหมด ๓๗ ตอน เริ่มต้นเล่าเมื่อวันที่ ๒๗ ก.ย. ใช้เวลาเล่ามาเป็นเวลา ๑ เดือน ก็จบลงด้วยประการฉะนี้

  • ติฎฺฐตุ จิรํ พุทฺธสาสนํ อนาคเต กาเล
  • ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงมั่นคงยั่งยืนนานในอนาคตกาล เทอญ...
พระมหาชัยวุธ ฐานุตฺตโม (โภชนุกูล)
วันมหาปวารณาออกพรรษา พุทธศักราช ๒๕๕๐ 
คำสำคัญ (Tags): #no tag
หมายเลขบันทึก: 142144เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2007 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • นมัสการหลวงพี่ ออกพรรษาแล้วนะครับ
  • ที่วัดได้เทศเกี่ยวกับวันออกพรรษานะครับ
  • เพราะผมชอบไปฟังเทศเวลามีงานที่วัดครับผม

P

รักชาติ ท. บ. พล ทหาร

  • เรื่องธรรมดา วงจรชีวิตในวัด
  • ออกพรรษาก็ตักบาตรเทโวแล้วก็ไปลากพระ
  • นั่นคือ วันแรกของเทศกาลทอดกฐิน
  • วันสุดท้ายของเทศกาลทอดกฐินก็คือวันลอยกระทง
  • ลอยกระทงเสร็จก็จะสอบธรรมสนามหลวง
  • อีกไม่นานก็ปีใหม่
  • หลังจากปีใหม่ก็สอบบาลีสนามหลวง
  • จากนั่นก็รอเดือนห้าสงกรานต์ประจำปี
  • หลังสงกรานต์แล้วก็จะเริ่มมีการบวช และจะบวชถี่ยิ่งๆ ขึ้น
  • จนกระทั้งเข้าพรรษา
  • เดือนสิบก็ชิงเปรต  ๒ ครั้ง  บุญแรกและบุญหลัง
  • เสร็จบุญหลัง รอ ๑๕ วันก็ออกพรรษา

เจริญพร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท