BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๓๒


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๓๒

ระบบอุปถัมภ์ ตามความเข้าใจของผู้เขียนก็คือ ระบบที่ช่วยเหลือซึ่งกันโดยเน้นผู้ใหญ่ เจ้านาย ผู้มั่งคั่ง หรือผู้มากบารมี ฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่ายหนึ่งคือ ผู้น้อย ลูกน้อง ผู้ขัดสน หรือผู้ไร้บารมี....  เมื่อเล่าเรื่องในสิงคาลกสูตรมาถึงเรื่องทิศทั้งหก  ผู้เขียนก็พบว่าแนวคิดอุปถัมภ์ในเรื่องทิศทั้งหกก็น่าสนใจ จึงนำมาเล่าเป็นข้อคิดเห็นเพิ่มเติม...

ผู้ที่ติดตามมาตั้งแต่ต้นอาจสังเกตได้ว่า ในทิศต่างๆ จะมีข้อความที่เกี่ยวโยงกันเป็นคู่ๆ ดังนี้

  • มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า อันบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ...
  • มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าอันบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ คือ...
  • อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา อันศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ...
  • อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวาอันศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ คือ...
  • ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง อันสามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ...
  • ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ...
  • มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ...
  • มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายอันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ คือ...
  • ทาสและกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ อันนายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ...
  • ทาสและกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำอันนายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ คือ...

บรรดาทิศเหล่านี้ผู้เขียนเล่ามาแล้วตามลำดับ ส่วนทิศเบื้องบนผู้เขียนจะเล่าในตอนต่อไป มีข้อความว่า....

  • สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ...
  • สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบนอันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๖ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖ คือ...

.........

คู่แรกคือ มารดาบิดากับบุตร นั้น... บุตรพึงบำรุง ขึ้นก่อน ส่วนคำว่า มารดาบิดาย่อมอนุเคราะห์ ตามหลังมา .... ซึ่งในตอนแรกผู้เขียนค่อนข้างสับสน และคาดเดาไปว่า พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้กับนายสิงคาลกะ ดังนั้น นายสิงคาลกะในฐานะเป็นบุตร พึงบำรุงมารดาบิดาของเขา... และนายสิงคาลกะในฐานะเป็น(มารดา)บิดา ย่อมอนุเคราะห์บุตรของเขา...

ตามนัยนี้ ผู้เขียนคาดเดาเอาเอง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ว่า บุตรจะพึงบำรุงมารดาบิดาก่อนแล้วมารดาบิดาจะอนุเคราะห์บุตร... เนื่องจากมารดาบิดาเกิดก่อนบุตร....

                           (นัยนี้ไม่ยืนยันว่าถูกต้อง) 

อีกอย่างหนึ่ง ในหน้าที่ของบุตร พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า พึงบำรุง ซึ่งบ่งความว่า บังคับ นั่นคือ การกำหนดให้บุตรจะต้องกระทำนั่นเอง

ส่วนในหน้าที่ของมารดาบิดา พระองค์ใช้คำว่า ย่อมอนุเคราะห์ ซึ่งบ่งชี้ความว่า เป็นไปอยู่ นั่นคือ การดำเนินการอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง 

ดังนั้น ระบบอุปถัมภ์คู่แรกนี้มีความเป็น ลูกโซ่ คือต่อเนื่องกันไป ซึ่งประเด็นนี้ อาจเชื่อมโยงกับคาถาประพันธ์ตอนสุดท้ายในสิงคาลกสูตรที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ (จะนำเสนอหลังจากจบเรื่องทิศทั้งหก)

.......

ศิษย์กับอาจารย์ ในคู่นี้ ศิษย์ซึ่งหมายถึงผู้น้อย จะต้องบำรุงอาจารย์ก่อน... แล้วอาจารย์ซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่ จะอนุเคราะห์ศิษย์ในภายหลัง ...

เมื่อพิจารณาคู่นี้ ถ้าแม้นว่าศิษย์ไม่พึงบำรุงอาจารย์แล้ว อาจารย์จะไมอนุเคราะ่ห์ศิษย์ ใช่หรือไม่ ?

ระบบอุปถัมภ์คู่นี้ ชัดเจนว่า ผู้น้อย (ศิษย์) ช่วยเหลือผู้ใหญ่ (อาจารย์) ก่อน

.......

ภรรยากับสามี ในคู่นี้ สามีจะต้องบำรุงภรรยาก่อน ภรรยาจึงจะอนุเคราะห์สามี.... ดังนั้น คู่นี้ก็อาจตั้งคำถามได้เช่นเดียวกันว่า ถ้าสามีไม่บำรุงภรรยาแล้ว ภรรยาก็ไม่จำเป็นในการอนุเคราะห์สามี ใช่หรือไม่ ?

อนึ่ง เมื่อพิจารณาผู้ใหญ่กับผู้น้อย ในคู่นี้สามีน่าจะเป็นผู้ใหญ่ เพราะหน้าที่ของสามีอย่างหนึ่งคือ มอบความเป็นใหญ่ให้ภรรยา ... เมื่อพิจารณาตามนี้ จะเห็นได้ว่าต่างไปจากคู่ศิษย์กับอาจารย์ข้างต้น

.....

มิตรกับกุลบุตร ในคู่นี้ คำว่า กุลบุตร เป็นเพียงโวหารสุภาพที่ใช้เรียกแทนมิตรเท่านั้น... ดังนั้น สำหรับคู่นี้ อาจพิจารณาว่า มิตรกับมิตร และศักดิ์ศรีทั้งสองฝ่ายเท่ากัน...

เมื่อพิจารณาในเชิงระบบอุปถัมภ์ คู่นี้อาจกำหนดเป็นผู้ใหญ่กับผู้น้อยไม่ได้ น่าจะเป็นเพียงการพึงพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน... ประมาณนั้น

.......

ทาสและกรรมกรกับนาย ในคู่นี้ ชัดเจนว่า นายจะต้องบำรุงทาสและกรรมกรเป็นลำดับแรก แล้วทาสและกรรมกรจึงจะอนุเคราะห์นาย...

ระบบอุปถัมภ์คู่นี้ ชัดเจนเลยว่า นายคือผู้ใหญ่จะต้องช่วยเหลือทาสและกรรมกรคือผู้น้อยก่อน... ดังนั้น เมื่อถือเอาตามนัยนี้ ผู้ใหญ่ต้องช่วยเหลือผู้น้อยก่อนจึงจะหวังการตอบแทนจากผู้น้อยได้....

......... 

และคู่สุดท้าย สมณพราหมณ์กับกุลบุตร ซึ่งอาจเทียบง่ายๆ ตามสังคมไทยปัจจุบันว่าระหว่าง พระสงฆ์กับญาติโยม ... เมื่อถือเอาตามนัยนี้ ก็อาจหมายความว่า ญาติโยมจะต้องบำรุงพระสงฆ์่ก่อน แล้วพระสงฆ์จะอนุเคราะห์ญาติโยม... ทำนองนี้

คู่สุดท้ายนี้ ผู้เขียนยังไม่ได้ขยายความ เพียงแต่นำมาเปรียบเทียบให้เห็นเชิงอุปถัมภ์ให้ครบทิศทั้งหกเท่านั้น...

แนวคิดอุปถัมภ์ตามที่ว่ามา เป็นเพียงสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็น จึงนำมาเล่าเล่นๆ เผื่อใครสนใจก็อาจนำไปคิดต่อ และนำไปเปรียบเทียบกับแนวคิดแขนงอื่น หรือนำแนวคิดเหล่านี้มาเทียบเคียงกับสังคมปัจจุบันว่าคล้ายคลึงหรือแย้งกันอย่างไรบ้าง....

ก็ยุติแนวคิดเรื่องระบบอุปถัมภ์ในสิงคาลกสูตรไว้เพียงแค่นี้ 

หมายเลขบันทึก: 141282เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2007 05:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-/\- นมัสการค่ะ 

พิจารณาตามนัยที่กล่าวถึง ระบบอุปถัมภ์ น่าจะคล้ายกับสังคหวัตถุ 4  รึเปล่าคะ

-/\-นมัสการค่ะ

P

พัชรา

น่าจะต่างความมุ่งหมายออกไป กล่าวคือ 

  • สังคหวัตถุ 4 มีการยึดเหนี่ยวน้ำใจผู้คนรอบข้างเป็นจุดมุ่งหมาย
  • ระบบอุปถัมภ์์ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเป็นจุดมุ่งหมาย

เพียงแต่ในระบบอุปถัมภ์นั้น ต้องอาศัยสังคหวัตถุ 4 เป็นส่วนหนึ่งด้วยเท่านั้น...

อนึ่ง ในสิงคาลกสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสังคหวัตถุ 4 ไว้ด้วยในคาถาประพันธ์ก่อนจบ ซึ่งอาตมาค่อยนำมาเล่าต่อไป....

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท