ตอนที่ 4 ความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ (ในอดีตกับอนาคต)


ในอนาคตข้างหน้า แน่นอนว่า ต้นตำรับเสาหลักที่เหลือจะต้องหมดไป ใครละครับที่จะมายืนแทนที่ เพื่อสื่อสารด้วยวิธีการของเพลงพื้นบ้านอันไพเราะ สนุกสนาน ได้อย่างในอดีต..

 

ความคิดสร้างสรรค์

ในการแสดงออก

ตอนที่ 4 ความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้

(ในอดีตกับอนาคต)

         

          ท่านผู้อ่านคงจะพอมองเห็นต่างเหตุการณ์ในหลาย ๆ ประเด็น ซึ่งต่างกรรม ต่างวาระ ต่างวิธี การ เท่าที่ผมนำเอาประเด็นปัญหาที่พบที่เด่นชัด นำมาเล่าเพื่อมองภาพใหญ่ว่าจะเกี่ยวโยงไปถึงความล้มเหลวได้อย่างไรบ้างแล้วนะครับ  ถ้าองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้ (ผู้แสดง ผู้ฝึกสอน และผู้ประเมินผลงานเพลงพื้นบ้าน) ไปด้วยกันได้ คือ มีพื้นฐานที่แท้จริงอยู่ในเบื้องลึกของหัวใจที่ตรงกันแล้ว งานเพลงพื้นบ้านน่าที่จะไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ เพราะการที่เราจะอนุรักษ์สิ่งของที่เป็นราก เหง้า เป็นต้นกำเนิดให้อยู่เป็นแม่พิมพ์ ขยายผลต่อ ๆ ไปได้นั้น คนที่รู้จริง รู้แจ้ง รู้ในรายละเอียด และยอมรับในความหลากหลายของภูมิปัญญาแขนงนั้น ๆ จะต้องลงมาเกิดอยู่ใน 3 องค์ประกอบนี้เสียก่อน หากมีเพียงองค์ประกอบเดียวที่เข้าใจว่าตนเองเป็นใหญ่ ทำถูกต้อง ไม่ยอมที่ปรับแก้ไขในส่วนที่ตนยังบกพร่องอยู่ ความเบี่ยงเบนเพียงส่วนน้อยก็จะลุกลามไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดกลายเป็นสิงที่ถูกต้องไปได้ ตัวอย่างเช่น

          มีผู้เรียกการแสดงเพลงอีแซว (ศิลปะการแสดงท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี) ว่า เพลงรำอีแซว  บางท่านเรียกว่า อีแซว  ผมขอกล่าวถึง 2 คำนี้ก่อน เพราะว่าอันที่จริงยังมีอีกหลายประโยค ครับ

          คำว่า เพลงรำอีแซว ผมไม่เคยได้ยินจากปากของครูเพลงอีแซว ที่ผมได้สัมผัสมาเลยแม้แต่เพียงคนเดียว  ทั้งนี้เพราะเพลงอีแซวเป็นเพลงร้อง และร้องด้นกลอนสดว่ากัน กระทบกระเทียบ เสียดสีกันอย่างสนุกสนาน แต่ก็แฝงเอาไว้ด้วยคติสอนใจ ชี้ให้เห็นคุณและโทษแก่สังคมมายาวนานครุเพลงของผม (ป้าอ้น จันทร์สว่าง) บอกว่า ครู คนสมัยก่อนเขาไม่รำกันหรอกโดยเฉพาะผู้ชาย มือไม้จะแข็ง ส่วนผู้หญิงใครรำได้ก็รำไป ไอ้ที่มือไม่อ่อนก็ไหวตัวเอา นักเพลงในยุคก่อนเขาจะต้องปรบมือ (ต่อมามีกรับและฉิ่ง) ให้จังหวะด้วย ร้องรับด้วย และคนเล่นก็มีเพียง 4-6 คนเท่านั้นในเพลง 1 วง เขาจึงเน้นที่การร้องโต้ตอบและพูดชวนหัวให้ข้อคิด

          คำว่า อีแซว ครูเพลงที่เป็นเจ้าของการแสดง (แม่บัวผัน  จันทร์ศรี) ท่านบอกว่า อย่าไปเรียกอย่างนั้น ถ้าเรียกว่าอีแซว มันจะเป็นการเรียกชื่อคน ทำให้ขาดเอกลักษณ์ของเพลงพื้นบ้านไป แม่ขอให้ใช้คำเรียกเต็ม ๆ ว่า เพลงอีแซว ครับ แต่ว่ามีหลายงานที่ผมนำคณะนักเรียนไปแสดง เขาก็เรียกพวกเราเพียงคำว่า อีแซว ทั้งที่ผมบอกพิธีการว่า ขอให้เรียกว่า เพลงอีแซว นะครับ

           มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงออก เพลงพื้นบ้านทุกชนิดจึงมีความแตกต่างที่คล้าย ๆ กัน ที่ว่าแตกต่างกันก็คือ เพลงแต่ละชนิดจะเอกลักษณ์ของเพลงที่ไม่เหมือนกันตั้งแต่ตอนขึ้นต้น ทำนองของเพลง  ตอนลงเพลง และตอนที่ลูกคู่ร้องรับ  ส่วนที่ว่าเหมือนกันก็คือ เพลงพื้นบ้านจะมีผู้ร้องนำ มีผู้ร้องรับ (ลูกคู่) มีผู้ให้จังหวะ (เริ่มด้วยการปรบมือ)  

ความล้มเหลว 

          แน่นอนว่าการที่คนเราจะตั้งต้นกระทำอะไรสักอย่าง เราไม่ทราบว่าต่อไปข้างหน้าจะได้รับผลตอบกลับมาอย่างไร ได้กำไรหรือขาดทุน ยังยืนอยู่ได้หรือล้มลง  เป็นไปในระยะยาวหรือเพียงแค่ระยะสั้น ๆ  และที่สำคัญส่วนไหนหรือใคร เป็นผู้มีส่วนทำให้เกิดความล้มเหลว 

                 องค์ประกอบแรกคือ ผู้เล่น หรือผู้แสดง คนกลุ่มนี้เขามีหน้าที่ทำตามต้นแบบ คือครุของเขาอยู่แล้ว ต้นแบบขยายผลอย่างไร ผลผลิตจะออกมาเป็นรูปแบบอย่างนั้น ถอดบล็อกออกมาเลยก็ว่าได้ ครูผู้ฝึกสอนให้แสดงบทบาทใดเด็ก ๆ ก็จะพยายามฝึกปฏิบัติตาม (ผมขอชื่นชมทุกคน)

          องค์ประกอบที่สอง คือ ครูผู้ฝึกสอนเพลงพื้นบ้าน มีที่มาต่างกัน บางคนมาจากวงเพลง เคยเป็นนักแสดงมาก่อน บางคนมาจากการจำเขามาสอน และบางคนเรียนรู้มาจากการอบรมปฏิบัติการ ท่านจะเป็นครูเพลงที่มีที่มาอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับว่า ท่านได้กลับไปมองเสาหลัก ต้นฉบับที่ยังมีชีวิต เป็นตำนานอยู่ให้เห็นและเปรียบเทียบว่า สิ่งที่เราสอนกับต้นฉบับใกล้ชิด-ห่างไกลกันแค่ไหนอย่างไร ถ้าผิดเพี้ยนไปมากก็ปรับให้ใกล้เข้ามา อย่าดันทำไปทั้งที่เป็นความผิดพลาด

          องค์ประกอบที่สาม คือผู้ประเมิน ส่วนนี้ผมขอมองไปที่ ผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตัดสินชี้เป็นชี้ตายเวลามีการจัดประกวดเพลงพื้นบ้าน หากคณะกรรมการก้มลงอ่านกฎเกณฑ์กติกาที่กำหนด จบการแข่งขันแล้ว พูดตามกฎเกณฑ์ เสนอแนะตามกฎเกณฑ์ก็ไม่น่าที่จะมีปัญหา แต่เท่าที่ได้ประสบมา กรรมการจะพูดแสดงความรู้สึกส่วนตัวที่นอกเหนือจากหัวข้อให้คะแนน นำเอามาเป็นจุดเด่นจุดด้อย จัดอันดับการแสดงของผู้เล่น ให้ได้รับตำแหน่งที่แตกต่างกันนอกกติกา นำเอาไปการยกย่องในสิ่งที่ไม่สมควร จึงเกิดความล้มเหลวเมื่อได้รับการยกย่องสูงสุด แต่ต้องอยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ เคลื่อนไหวไม่ได้อย่างน่าเสียดาย 

         

ความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ (ในอดีตกับอนาคต)     

          ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดจากการสั่งสมความรู้ ความสามารถของบุคคลคนหนึ่งที่มีความสนใจ รักในสิ่งที่เขาอยากจะทำ อยากจะเป็น เฉพาะในเรื่องนั้น ๆ  เฉพาะด้านเป็นเวลายาวนาน บางท่านตลอดชีวิต จนปรากฏเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว ไม่อาจที่จะนำเอามาเขียนออกมาเป็นตำราให้คนรุ่นหลังๆ ได้ฝึกหัดหรือทำตามได้ ใครอยากจะเรียนรู้จะต้องไปเรียนเอาเอง จากต้นตำรับ แต่ในวันนี้บุคคลอย่างที่ผมได้กล่าวมา เหลือน้อยเสียแล้วและนับวันที่จางหายไปทีละคน ตามกาลเวลา

          นักวิชาการ เป็นบุคคลที่ผมให้ความเคารพ เพราะผมได้ศึกษาหาความรู้เพลงพื้นบ้าน จากผลงานของหลาย ๆ ท่าน ท่านเขียนได้ดี ดีมาก ๆ ก็มีหลายเล่ม มีคุณค่าที่สมควรเก็บรักษาและถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นต่อ ๆ มา แต่การที่จะทำให้เกิดทายาททางเพลง หรือตัวตายตัวแทน ผมกล้าพูดได้ว่า เอกสารทำในสิ่งนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารประเภทใด ดีขนาดไหน เพราะการแสดงเพลงพื้นบ้านจะต้องเต็มไปด้วยความมีชีวิต มีจิตวิญญาณของนักแสดง  แต่เอกสารและตำรานำเสนอได้ในแง่ของความรู้ ขาดความมีชีวิต และจิตวิญญาณ ครับ

          ในความเป็นไปได้ จะต้องรีบไปต่อชีวิตเพลงพื้นบ้านกับครูเพลงที่ยังเหลืออยู่ (ผมหัดและเล่นได้จริง 19 อย่างกับเวลาใฝ่รู้ 35 ปี)           สิ่งที่เป็นไปไม่ได้คือ  เร่งฝึกหัดเยาวชนให้ได้แสดงความสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านให้ได้ และจัดเวทีแสดงให้เขาได้อนุรักษ์สืบสาน จะทำให้เพลงพื้นบ้านไม่สูญ 

          ในอดีตคนเล่นเพลงเขาเล่นได้ตลอดชีวิต คนเดียวเขาก็เล่นได้ เล่นได้ทั้งวันไม่มีหมดเพลง (เขาร้องด้นสดได้)  และให้ประโยชน์ให้ความสนุกสนานได้มากด้วย

          ในปัจจุบัน เพลงพื้นบ้านเล่นกันเป็นวง นักแสดงได้เนื้อเพลงกันคนละเล็กคนละน้อย นำเอามาร้องต่อ ๆ กัน เล่นได้เพียง 15-20 นาทีก็หมดเนื้อหาเสียแล้ว

          ในอนาคตข้างหน้า แน่นอนว่า ต้นตำรับเสาหลักที่เหลือจะต้องหมดไป ใครละครับที่จะมายืนแทนที่ เพื่อสื่อสารด้วยวิธีการของเพลงพื้นบ้านอันไพเราะ สนุกสนาน ได้อย่างในอดีต..

 

 

หมายเลขบันทึก: 141012เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2007 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท