ตอนที่ 2 ครูผู้ฝึกสอน (คนฝึกหัดหรือครูเพลง)


ความ สามารถคนเราไม่เท่ากันและก็ไม่เหมือนกันด้วย เพียงแต่ผมเฝ้าภาวนาว่า ขอให้พวกเขาเหล่านั้นยืนหยัดทำงานรักษาความเป็นไทย รักวัฒนธรรมไทย รักษาวงเพลงพื้นบ้านเอาไว้ให้ได้ต่อไป อย่างไม่มีวันจืดจาง

 

ความคิดสร้างสรรค์

ในการแสดงออก

ตอนที่ 2 ครูผู้ฝึกสอน

(คนฝึกหัดหรือครูเพลง) 

          คำว่าครูเพลง ผมอยากจะใช้เรียกนักเพลงพื้นบ้านรุ่นเก่า ๆ มากกว่า เพราะคำว่าครูเพลงนั้น ท่านมาจากเวทีการแสดง ซึ่งอาจจะเป็นสถานที่ที่เขาจัดให้เล่น หน้าศาลเจ้า ลานวัดกว้าง ๆ ลานบ้านหรือสถานที่ที่มีการนัดหมายชุมนุมกันเมื่อถึงเทศกาลสำคัญ  คนเพลงเหล่านั้นมีความรู้ มีความสามารถจากการฝึกฝนจนมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว บางคนตระเวนไปเที่ยวฝึกจากครูเพลงหลายท่าน เพื่อที่จะได้มีเพลงมาก ๆ  เช่น เล่นเพลงได้หลายชนิด มีคำคมที่จะนำเอามาใช้ในการต่อกรกับฝ่ายตรงข้ามมาก  ที่สำคัญคือ มีคำลงที่เป็นไม้เด็ด หรือไม้ตาย นำเอามาห้ามหั่นกันอย่างสุดฝีมือ จึงต้องเตรียมความสามารถเอาไว้เล่นกับเพลงต่างวง หรือต่างครูกัน เพราะฉะนั้นครูเพลงจึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการผลิตทายาท หรือลูกศิษย์ออกไปสู่เวทีการแสดงในรุ่นแต่ละรุ่น ต่อ ๆ กันมาเป็นอย่างมาก เพราะท่านคือ ศิลปิน นั่นเอง

           

                 คนหัดเพลง อาจจะมิใช่ครูเพลง อาจจะเป็นชาวบ้านหรือบุคคลที่ทำอะไรสักอย่างสองอย่างได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสดงเพลงพื้นบ้าน ไม่รอบรู้หรือว่าแตกฉานอย่างครูเพลง อาจจะไม่เคยหรือเคยเล่นเพลงมาบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นเป็นผู้นำวงเพลง กล่าวคือไม่ใช่ตัวแสดงหลักที่จะมีคนมาหา จ้างวานให้ไปแสดงแบบมีรายได้ หรืออยู่รอดได้ด้วยการแสดงเพลงพื้นบ้าน เพราะเขามิใช่ศิลปิน จากข้อแตกต่างในรายละเอียดที่ผมได้เล่ามา  จะเห็นได้ว่ามีจุดที่จะต้องคิดแล้วว่า  ในส่วนที่ขาดหายไป คืออะไร หรือว่าส่วนไหน ถ้าคนทำวงเพลงแบบอนุรักษ์ สืบสานจริง ๆ จะต้องไขว่คว้าหาที่ขาดหายไปมาเติมเต็มให้กับคนเล่นเพลงที่เราดูแลอยู่ มันก็จะเกิดความสมบูรณ์ในความเป็นนักแสดงขึ้นมาเทียบเท่ากันกับมีครูเพลงฝึกให้แต่ถ้าเมื่อไรคนหัดเพลงคิดว่า ตนคือครูเพลงเสียแล้ว ส่วนที่ขาดก็ยังคงขาดหายไปตลอด ไม่มีวันที่จะเติมเต็ม หรือรักษาสภาพความเป็นนักแสดงเพลงพื้นบ้านได้อย่างในอดีต จึงทำให้ไม่มีเวทีแสดง น่าเสียดาย 

                 ครูผู้ฝึกสอน บุคคลประเภทนี้ เป็นบุคคลที่อยู่ในภาวะจำยอม บางท่านเป็นครูเพลง เป็นศิลปินตัวจริง เป็นของแท้ ๆ เลยก็มี  แต่ว่าบางท่านเป็นครู เป็นอาจารย์เรานี่แหละ แต่จะต้องมาทำหน้าที่ฝึกหัดเพลงพื้นบ้านให้กับลูกศิษย์ ครูผู้สอนอาจจะได้เปรียบกว่า คนหัดเพลง และครูเพลงในสมัยก่อนเสียอีก เพราะว่ามาถึงในยุคนี้ มีเครื่องมือที่จะนำเอามาใช้ในการอำนวยความสะดวกช่วยให้การฝึกหัดเพลงทำได้ง่าย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เช่น มีเสียงของครูเพลง  มีภาพเคลื่อนไหว (วิดีโอเทป, วีซีดี, ดีวีดี การแสดง) นำเอามาใช้ประกอบในการฝึกหัดเพลงได้มาก ในเรื่องของการฝึกหัดให้กับลูกศิษย์จึงทำได้และทำได้ดี เพียงแต่ว่า ครูผู้สอนส่วนมากไม่ได้รับการถ่ายทอดชีวิต จิต วิญญาณมาจากครูเพลงต้นฉบับ จึงทำให้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ผ่านการฝึกหัดจาก สถานศึกษา โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย เป็นการฝึกหัดเฉพาะกิจ ทำตามคำสั่ง มิใช่ทำงานระยะยาว ที่บ่งบอกถึงความถาวร  ถึงแม้ว่าบางท่านจะถูกเรียกว่า เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเพลงพื้นบ้าน แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะถ่ายทอดความเป็นศิลปินให้กับทายาทคนต่อ ๆ ไปได้ คงเป็นได้แค่นักแสดงชั่วคราว ทำแล้วก็จางหายไป ทำตามงบประมาณสนับสนุน หรือมีเงินรองรับ ถ้าคิดในแง่ปริมาณของงานก็เกินคุ้มที่ทำได้ แต่ถ้าคิดในแง่คุณภาพ น่าเสียดาย

          การลงทุนที่หมดไปมากมายโดยไม่มีบุคคลรุ่นใหม่เข้ามาทดแทน นี่แหละครับ เป็นส่วนหนึ่งของการสูญหายไปของเพลงพื้นบ้านหลาย ๆ ชนิด ที่ไม่อาจเรียกกลับมาอีกได้ ความแตกต่าง ในรายละเอียดของการมีครูผู้ฝึกสอนกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยอาศัยตำรา ก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะผู้ฝึกสอนจะต้องเป็นครูเพลงตัวจริงที่มีเสน่ห์ในตัวเอง ชวนให้ไหลหลง มีลูกศิษย์ยกย่องนับถือ ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือหลาย ๆ สิ่งที่มีอยู่ในตัวครูเพลง นอกจากนั้นครูเพลงยังสามารถทำให้การสื่อการสมบูรณ์ คือ สามารถโต้ตอบกันได้ เกิดการเรียนรู้เข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกันมากว่าการเรียนรู้จากตำรา หรือจากคนหัดเพลง

          ครูเพลงยังสามารถเป็นคู่ต่อกรกับลูกศิษย์ ทำให้เกิดความกล้า ดังคำที่ว่า ศิษย์มีครู ผมนำเอาประสบการณ์ และความเป็นจริงที่ประสบมาเล่า เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านบทความในตอนนี้ ได้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของการรักษาวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านว่า  ถ้าหลาย ๆ ฝ่ายหรือทุกฝ่ายช่วยกันอย่างจริงจังและบริสุทธิ์ใจ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะหวังผลเพื่อการค้า หรือหารายได้จากความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยของเขาก็ตาม เพราะนั่นคือ ความชอบที่มีต่อการกระทำ ผมอยากให้มองที่ความมั่นคง ถาวร ความยืนยาวในสิ่งที่ทำและลงทุนไปมากว่าสิ่งอื่น การลงทุนมีหลายสิ่งที่จะต้องเสียไป เป็นต้นว่า

          -         ลงทุนเป็นเงิน ต้องใช้งบประมาณ  ก็จะต้องสูญเสียเงินไป มากน้อยแล้วแต่ละงาน 

          -         ลงทุนเวลา 1 เดือน 1 ปี  ก็จะต้องเสียเวลาไป  เป็นเดือนเป็นปี

          -         ลงทุนบุคลากร หากการทำงานเพียงเพื่อขอไปที  ก็ต้องสูญเสียคนที่จะมาทดแทน

          -         ลงทุนโอกาส จัดหาสถานที่ เวทีให้แสดงออก  ทำแล้วก็เลิกราไป  เสียดายโอกาส

          -                   คิดสั้นไม่คิดยาว ได้สิ่งที่พึงประสงค์มาแล้วหยุดนิ่งไม่มีการเคลื่อนไหว  เสียหายทั้งหมด 

                      

                         ยังมีครูผู้ฝึกสอน ที่ไม่เป็นไปตามที่ผมเล่ามาก็มี แต่ว่ามีน้อยมาก เขาเหล่านั้นเป็นบุคคลที่น่าสงสาร น่าให้การสนับสนุนงบประมาณลงมาทำเพื่อช่วยเหลือคนทำงานเหล่านั้น จะเป็นการแบ่งเบาภาระให้ครูผู้ฝึกสอนเพลงได้บ้าง บางท่านทำวง ลำตัด มีชื่อเสียงมาก แต่ต่อสู้มาอย่างโดดเดี่ยว  บางท่านตั้งคณะลิเก (นาฏดนตรี) ซึ่งผมยอมรับว่าทำยากมาก ต้องฝึกหัดนานแต่เด็กต้องจากเราไปเพราะจบการศึกษา และมีน้อง ๆ อีกหลายคนที่เขามีความตั้งใจทำวงเพลงพื้นบ้าน ทั้งที่เขาเล่นเพลงไม่เป็น สู้อุตส่าห์ เข้าฝึกอบรม รวบรวมเอกสารบทเพลง ฝึกกันจนออกแสดงตามงานต่าง ๆ ได้ 

              แล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะเปิดโลกทัศน์ให้มีคนเห็น โดยที่ไม่ต้องรอให้ฟ้ามาโปรด ผมเป็นเพียงผู้หนึ่งที่มีส่วนในการให้ความช่วยเหลือพวกน้อง ๆ แต่ก็ช่วยไม่ได้มาก เพราะผมก็ต้องดูแลวงเพลงของตนเอง  ความ สามารถคนเราไม่เท่ากันและก็ไม่เหมือนกันด้วย เพียงแต่ผมเฝ้าภาวนาว่า ขอให้พวกเขาเหล่านั้นยืนหยัดทำงานรักษาความเป็นไทย รักวัฒนธรรมไทย รักษาวงเพลงพื้นบ้านเอาไว้ให้ได้ต่อไป  อย่างไม่มีวันจืดจาง

 

หมายเลขบันทึก: 141000เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2007 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท