BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๓๐


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๓๐

ดูกรลูกนายบ้าน ทาสและกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำอันนายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ

  • ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๑
  • ด้วยให้อาหารและรางวัล ๑
  • ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ ๑
  • ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน ๑
  • ด้วยปล่อยในสมัย ๑

คำว่า ทาสและกรรมกร นี้ เป็นสำนวนตามสังคมโบราณ ถ้าปัจจุบันอาจหมายถึง ลูกจ้าง ซึ่งคู่กับนายจ้าง... และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในปัจจุบันนี้ก็แตกต่างไปจากสมัยก่อนมาก... อย่างไรก็ตาม แม้ในสังคมปัจจุบัน ลูกจ้างที่ทำงานอยู่รวมกับนายจ้างทำนองโบราณก็ยังคงมีอยู่ส่วนหนึ่ง เช่น ร้านอาหาร อู่ซ่อมรถ หรือโรงงานบางประเภท เป็นต้น

เมื่อพิจารณาหัวข้อเหล่านี้ ข้อแรกอาจตรงกับหลักบริหารเบื้องต้นที่จำกันมาว่า  วางงานให้ตรงคน วางคนให้ตรงงาน  ...ซึ่งในอรรถกถาท่านขยายความว่า ไม่ให้คนแก่ทำงานที่เป็นงานของคนหนุ่ม ไม่ให้คนหนุ่มทำงานที่เป็นงานของคนแก่ ไม่ให้ผู้ชายทำงานของผู้หญิง และไม่ให้ผู้หญิงทำงานของผู้ชาย เป็นต้น

ด้วยการให้อาหารและรางวัล ท่านขยายความว่า พิจารณาแต่ละคนเช่น คนนี้เป็นลูกคนเล็กซึ่งเพิ่งแรกเข้ามาทำงาน ส่วนคนนี้อยู่กับเรามานาน เป็นต้น แล้วก็ให้อาหารและค่าใช้จ่าย... ประเด็นนี้ อาจเทียบได้ว่า นายจ้างต้องพิจารณาให้เงินเดือนหรือค่าจ้างตามความเหมาะสมของแต่ละคนนั่นเอง

....... 

ส่วนอีกสามข้อต่อมา ผู้เขียนคิดว่าอาจเทียบกับคำว่า สวัสดิการ ในยุคนี้ได้... กล่าวคือในข้อแรก ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ ท่านว่า ไม่ใช้งานในเวลาเจ็บป่วย ให้การดูแลและรักษาพยาบาลตามสมควร... ข้อนี้ชัดเจนแล้ว

ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน หมายความว่า เมื่อนายได้ของกินพิเศษซึ่งหากินได้ยากมา ก็ไม่ควรเก็บไว้กินเองทั้งหมด ควรแบ่งให้ทาสและกรรมกรบ้าง... ข้อนี้อาจบ่งชี้ให้เห็นว่า สมัยก่อนนายกับทาสและกรรมการอยู่ด้วยกันก็ควรพึงพาอาศัยร่วมสุขร่วมทุกข์ซึ่งกันและกัน... ประมาณนั้น

อีกอย่างหนึ่ง ข้อนี้อาจบ่งชี้ว่า นายจ้างไม่ควรมีความเป็นอยู่แตกต่างจากลูกจ้างมากเกินไป... หรืออีกนัยหนึ่ง เมื่อได้กำไรหรือผลประโยชน์มาก นายจ้างก็ควรแบ่งปันผลกำไรเหล่านั้นมาถึงลูกจ้างบ้างตามสมควร... ทำนองนี้

อนึ่ง การที่บริษัทมหาชนบางแห่ง เมื่อจะเพิ่มทุนก็ให้สิทธิลูกจ้างเป็นผู้จองหรือซื้อก่อนส่วนหนึ่ง ก็อาจสงเคราะห์เข้ากับหัวข้อนี้ได้ ซึ่งก็คล้ายๆ กับเป็นสวัสดิการเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ชัดเจนนักเท่านั้น

....................... 

และข้อสุดท้าย ด้วยปล่อยในสมัย ท่านอธิบายว่า สมัยมี ๒ อย่าง คือ นิจสมัย และกาลสมัย...

นิจสมัย ท่านว่า ทาสและกรรมกรทำงานทั้งวันย่อมเหน็ดเหนี่ย นายจะต้องให้พวกเขาได้พักผ่อนตามสมควร.... ประเด็นนี้อาจเทียบได้ว่า นายจ้างจะต้องกำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างอย่างเป็นธรรม มีเวลาพักและเวลาเลิกอย่างชัดเจน ไม่ทารุณโหดร้ายและเอาเปรียบลูกจ้าง... ทำนองนี้

กาลสมัย ท่านว่า ในวันมีมหรสพ นักขัตฤกษ์ และมีกีฬาเป็นต้น... นายควรให้ของขบเคี้ยวและเครื่องแต่งตัว แล้วก็ปล่อยให้ได้ไปเที่ยวชม เป็นต้น.... ประเด็นนี้ ถ้าเป็นปัจจุบันก็เช่น ช่วงมีกีฬาสำคัญ นายจ้างก็ควรอนุญาตให้ลูกจ้างไปชมการแข่งขัน หรือพักงานชั่วคราวเพื่อดูถ่ายทอดสด... และเมื่อถึงวันสงกรานต์ ตรุษจีน หรือปีใหม่เป็นต้น นายจ้างก็ควรมีโบนัสหรืออังเป๋าสำหรับลูกจ้าง แล้วก็ปล่อยไป โดยการอนุญาตให้ลาไปเที่ยว หรือพักงานชั่วคราวตามความเหมาะสม... ทำนองนี้ 

.............

เมื่อเล่าเรื่องสิงคาลกสูตรมาถึงตอนนี้ ผู้เขียนมองเห็นหัวข้อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างในพุทธปรัชญา เป็นประเด็นสำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งผู้เขียนยังไม่เคยเห็นข้อเขียนหรืองานวิจัยประเด็นนี้โดยเฉพาะ  ฉะนั้น หัวข้อนี้ก็สามารถทำวิจัยได้สำหรับผู้สนใจ....

เมื่อมีหน้าที่ของนายจ้างแล้ว ก็ต้องมีหน้าที่ของลูกจ้าง (ทาสและกรรมกร) ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในตอนต่อไป... 

หมายเลขบันทึก: 140604เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2007 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท