การประชุมเครือข่ายฯสัญจร (3.2) ต่อ


หน้าที่ของเรา คือ การอธิบายให้สมาชิกเข้าใจว่าเราเอาเงินจากที่ไหนมาจ่าย เปรียบเทียบให้เขาเห็นว่าถ้าเขาไปทำประกันกับบริษัท บริษัทก็จะต้องนำเงินที่พวกเขาออมส่วนหนึ่งมาใช้เป็นค่าบริหารจัดการ รวมทั้งเป็นกำไรของบริษัทด้วย แต่ถ้าพวกเรามาจัดตั้งกลุ่มของเราเองในชุมชน เงินก็ไม่รั่วไหลไปไหน เพราะ เงินทุกบาททุกสตางค์ที่สมาชิกนำมาออม ทางกลุ่มก็จะนำมาจัดเป็นสวัสดิการรวมทั้งเอื้อประโยชน์ให้กับสมาชิกทั้งหมด

     เมื่อวานนี้ไปทานหมูกะทะกันอย่างเอร็ดอร่อย  มีไปกันทั้งหมด 10 คน  อย่างที่เล่าเอาไว้ตั้งแต่เมื่อวานแล้วว่าในการทานหมูกะทะครั้งนี้ถ้าใครพูดถึงเรื่องที่ทำงานจะถูกปรับ  ก่อนเข้าร้านพวกเรากำชับกันอย่างดีว่าอย่า (เผลอ) พูดเชียว  ปรากฎว่าคุยไปคุยมาก็ไม่พ้นวกกลับมาจนได้  (คงลืมตัวกันน่ะค่ะ  เนื่องจากปกติแล้ววงทานหมูกะทะของพวกเรา  หัวข้อในการสนทนาจะเป็นเรื่องที่ทำงานล้วนๆ)  ผู้วิจัยก็เลยเบรคเป็นระยะ  (กลัวว่าบรรยากาศจะเหมือนทุกครั้ง)  แถมยังเอาเรื่องวงการบันเทิงมาคุยด้วย  แต่ไม่ค่อยมีคนให้ความร่วมมือสักเท่าไหร่   (สงสัยต่อไปต้องพยายามไปค้นหาว่าใครสนใจเรื่องอะไร  จะได้นำมาเป็นหัวข้อสนทนาได้ถูกต้อง) 

     แม้ว่าผู้วิจัยจะไม่ (หลุด) คุยเรื่องงานในวงหมูกะทะ  แต่ก็โคจรมาเรื่องงานจนได้  ที่บอกโคจรมานั้นไม่ได้หมายความว่า (หลุด) คุยเรื่องนี้หรอกค่ะ  แต่บังเอิญ (จริงๆ) ไปเจอปลัดอบต.บ้านเอื้อม  ที่มาทานหมูกะทะกับครอบครัวเหมือนกัน  ตอนแรกผู้วิจัยก็ไม่เห็นหรอกค่ะ  เพราะ  มัวแต่กินๆๆ  และ เม้าท์ๆๆๆ  แต่พอกินไปได้สักครู่  เม้าท์ไปได้พอประมาณ  เริ่มรู้สึกเบื่อแล้ว  ก็เลยใช้สายตามองไปเรื่อยๆ  มองไปมองมาก็ไปเห็นท่านปลัดพอดี  ท่านนั่งตรงกับรัศมีสายตา (หากมองตรงๆ) ของผู้วิจัยพอดี  พอท่านทานเสร็จ  เดินผ่านโต๊ะที่ผู้วิจัยนั่งอยู่  ท่านยังยิ้มทักทาย  (แสดงว่าจำได้) พร้อมกับชี้ไปที่อาจารย์พิมพ์ด้วย  แต่อาจารย์พิมพ์ไม่เห็น  เพราะ  มัวแต่กินๆๆ  และ เม้าท์ๆๆ อยู่  พอออกจากร้านมาผู้วิจัยได้เล่าให้อาจารย์พิมพ์ฟัง   พร้อมกับบอกว่าอุตส่าห์ไม่คิดและไม่พูดเรื่องงานแล้วนะ  ยังมาเจอคนที่ต้องทำงาน (ปัจจุบันและอนาคต) ร่วมกันอีก  สงสัยชาตินี้ทุกวินาทีคงหนีไม่พ้นเรื่องงานโดยแท้

     เล่าเรื่องสัพเพเหระมาก็มากแล้วนะคะ  ขอเล่าเรื่องประชุมเครือข่ายฯสัญจรต่อก็แล้วกันนะคะ  โดยในช่วงนี้ยังคงมีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆอย่างต่อเนื่อง (เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การประชุมล่าช้า ไม่ได้ตามแผนที่วางไว้ แต่ข้อดีก็มีเหมือนกัน คือ การสะท้อนความคิดเห็น ความรู้สึกต่างๆออกมา หากเครือข่ายฯนำข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลแล้วหาแนวทางในการแก้ไข พัฒนา เชื่อว่าการดำเนินงานของเครือข่ายฯจะบรรลุเป้าหมายได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น)  ต่อจากความคิดเห็นของ พี่นก  ลุงบุญเทียม  ในฐานะประธานกลุ่มบ้านสบตุ๋ย  และเป็นผู้ประสานงานของเครือข่ายฯได้ยกมือขอแสดงความคิดเห็นบ้าง  มีเนื้อหาโดยสรุป  คือ

       เวลานี้กลุ่มบ้านสบตุ๋ยมีสมาชิกลดลง  ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ  เช่น 

       1.เมื่อก่อนนั้นลุงบุญเทียมเป็นกรรมการ (แกนนำ) ทั้งในส่วนของกองทุนหมู่บ้าน  และ  กลุ่มออมทรัพย์ (วันละ 1 บาท) มีที่ทำการที่เดียวกัน  ต่อมามีปัญหาก็เลยต่างคนต่างแยกตัวออกมา  ลุงบุญเทียมก็ยังคงทำกลุ่มออมทรัพย์ต่อไป  แต่ไม่มีที่ทำการเหมือนที่ผ่านมาแล้ว  ทำให้ภาพรวมของการออมวันละ 1 บาทแตกออกไป

       2.กลุ่มออมทรัพย์บ้านสบตุ๋ยนั้นไม่ได้มี "การออมเพื่อการให้"   หรือออมเพื่อสวัสดิการอย่างเดียว  แต่มีการออมเพื่อกู้ด้วย ซึ่งก็คือ  กองทุนหมุนเวียน  แต่ขณะนี้สมาชิกลดน้อยลงไปมากพอสมควร   เนื่องจากมีการพูดกันปากต่อมากว่าเมื่อออมไปแล้วจะไม่ได้เงินคืน  ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธา

      3.ในส่วนของคณะกรรมการ  เมื่อมาทำงานแล้วไม่มีรายได้  หรือมีรายได้น้อยลง  ก็เสียกำลังใจ

      สำหรับการทำงานต่อไปนั้น  ลุงบุญเทียมบอกว่าแม้ขณะนี้กลุ่มจะยังคงมีปัญหาพอสมควร  แต่ก็ไม่ท้อแท้  อยากจะขอให้ทางเครือข่ายลงไปช่วยอธิบาย  ทำความเข้าใจ  จุดประกาย  ให้ความรู้กับคณะกรรมการและสมาชิกในชุมชน  เพื่อให้เกิดการขยายจำนวนสมาชิก

      จากนั้น  ประธานฯ  สรุปว่า  นี่คือ  บทเรียนในการสร้างความเข้มแข็ง  การที่กลุ่มนี้มีปัญหานั้นมาจากสาเหตุหลายประการ  เช่น  การใช้เงินผิดประเภท  ไม่เข้าใจหลักในการบริหารจัดการ  เป็นต้น  เหล่านี้เองทำให้กลุ่มไม่สามารถกอบกู้ความศรัทธาขึ้นมาได้  จุดนี้เองที่ประธานฯบอกว่าเป็นห่วงทุกกลุ่ม  ทุกกลุ่มต้องเข้าใจการบริหารจัดการ  ต้องทำงานเป็นทีม  ต้องทำให้เกิดความศรัทธา  กรรมการต้องรับผิดชอบบทบาทของตนเอง   ต้องมีจิตสาธารณะ  ตอนนี้เครือข่ายฯมีสมาชิกแค่นี้ต้องทำให้เกิดความคิดเหล่านี้ให้ได้  ไม่อย่างนั้นในอนาคตถ้ามีสมาชิกเพิ่มขึ้นจะเกิดปัญหา  ถ้าคนไม่มีจิตสาธารณะ  ความจริงแล้วในการทำงานนั้น  คนที่มาทำงานมีจิตสาธารณะอยู่แล้ว  แต่พอมาเห็นเงินมากๆ  ความคิดก็จะเปลี่ยนไป  นี่เองเป็นจุดที่เราต้องมีการจัดอบรมให้ความรู้ขึ้นมา  เพื่อให้กรรมการมีความรับผิดชอบ  รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง

       เมื่อกล่าวสรุปจบ  ประธานฯได้กล่าวต่อไปว่าเมื่อเป็นอย่างนี้แล้วอยากทราบความคิดเห็นของทุกคนว่าจะดำเนินการตามที่เสนอขึ้นมา  คือ  แบ่งการถ่ายทอดความรู้เป็น 3 ระดับ (6-20-100)  และมีกิจกรรม (แผน) ใน 4 เรื่อง  คือ  การอบรม  การศึกษาดูงาน  การทำคู่มือ (เนื่องจากทุกกลุ่มไม่ได้เก่งเหมือนกัน  ถ้าไม่ชัดเจนตรงนี้เวลาชาวบ้าน  อปท.  หน่วยงานภาครัฐ  ถามแล้วตอบไม่ได้จะมีปัญหา)  และการลงพื้นที่ปฏิบัติการ  นั้นที่ประชุมเห็นชอบด้วยหรือไม่?

       ปรากฎว่าในช่วงนี้ที่ประชุมเงียบ  ไม่มีการแสดงความเห็นว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ  ประธานฯก็ไม่ได้ปล่อยให้เวลาเสียเปล่า  จึงโยนคำถามมาที่ผู้วิจัยและอาจารย์พิมพ์ว่าพอที่จะมีข้อมูลไหมเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณว่าถ้ามีกิจกรรมแล้วจะมีงบประมาณหนุนเสริมเท่าใด 

       ผู้วิจัยจึงตอบ (ในรอบแรก) ไปว่าสามารถให้ภาพงบประมาณรวมได้  โดยขอให้ทางเครือข่าย , กลุ่ม (5กลุ่ม) และสมาชิก (5 กลุ่ม)  ไปจัดการแบ่งสรรกันเอาเองว่าแต่ละกิจกรรมจะใช้งบประมาณเท่าใด  ตอนนี้มีงบประมาณรวมทั้งหมด (เป็นเงินหนุนเสริมกิจกรรมทั้ง 3 ระดับ)  ประมาณ 170,000 บาท  ซึ่งเมื่อผู้วิจัยตอบจบ  ประธานฯได้ถามขึ้นมาว่างบประมาณที่บอกมานี้รวมกับงบประมาณที่เหลือจากงวดก่อน (งวดที่1) แล้วหรือยัง  ผู้วิจัยจึงตอบว่ารวมแล้วค่ะ

       จากนั้นประธานฯ  ถึงถามที่ประชุมต่อว่า  ทุกคนเห็นด้วยกับแผนที่เสนอและงบประมาณที่มีอยู่หรือไม่   เมื่อถามจบ  คุณปิยชัย  ได้ยกมือขึ้นเสนอความคิดเห็นว่า  ในกรณีของบ้านเอื้อม  หรือ  ต้นธงชัย  ซึ่งมีหมู่บ้านที่มีความพร้อม  อยากจะจัดตั้งกลุ่มสวัสดิการวันละ 1 บาท  ขอให้ทางเครือข่ายฯลงไปก่อนได้ไหม  ถ้าเรารออยู่อย่างนี้ก็คงอืด  อยากให้เอาทีมเฉพาะกิจลงไปเลย  อย่างบ้านเอื้อม  ถ้าหมู่บ้านไหนพร้อมที่จะจัดตั้งกลุ่ม  ก็ขอให้ทางทีมเฉพาะกิจลงไปเลย  จะได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นมา  ไม่ต้องรอทำตรงนี้  ขอให้ทำไปเรื่อยๆ   จะดีไหม  ขอให้ทำเฉพาะหน้าไปก่อน  จะได้มีกลุ่มใหม่ๆเกิดขึ้นมา  และเกิดขึ้นเร็วด้วย

       พี่นก กล่าวต่อจากคุณปิยชัยว่า  จากที่ประธานฯตั้งวงขึ้นมาแต่ละวงนั้น  อยากให้ 6 เป็นฝ่ายตั้งรับ  20 เป็นฝ่ายลงชุมชน  เพราะฉะนั้น เมื่อ 20 คนต้องการคำตอบอะไรก็ต้องมาเอาที่ 6 คนนี้  เวลากลุ่มที่เกิดใหม่ต้องการทราบอะไรก็สามารถมาขอคำตอบจาก 6 คนนี้ได้  ฉะนั้น  ทีมที่ทำงานน่าจะเป็น 20 คน (ประเด็นตรงนี้ถ้าผู้วิจัยไม่ได้เข้าใจฝ่ายใดผิด  คิดว่า  ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังถกเถียงกันอยู่  ประธานฯต้องการให้ 6 คน  เป็นแกนนำในการขยายผล  รวมทั้งเป็นแกนนำในเรื่องอื่นๆด้วย  ในขณะที่พี่นกเห็นว่า  แกนนำในเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ 20 คน  ไม่ใช่ 6 คนที่ประธานฯเสนอขึ้นมา) เพราะ  คนพวกนี้มีความสามารถอยู่แล้ว  น่าจะไปตั้งกลุ่มใหม่ได้ดีกว่าทีมที่จะจัดอบรม  เนื่องจากคนเหล่านี้มีประสบการณ์จากการปฏิบัติอยู่แล้ว  ถ้าจะมีการอบรมให้กับ 6 คนนี้  ขอให้ 6 คนนี้เป็นทีมระดับจังหวัด   ตั้งรับสำหรับผลงานของ 20 คนที่จะส่งกลับมาที่เครือข่ายฯ  ผลที่จะเกิดขึ้น  คือ  กลุ่มเกิด  เครือข่ายฯขยาย  จะทำให้เป้าหมายที่กำหนดไว้ชัดเจนขึ้น  และเมื่อดำเนินการในช่วง 6 เดือนที่เหลือนี้เชื่อว่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้พอดี    อยากให้ 6 คนนี้เป็นทีมบริหารในระดับจังหวัด ตั้งรับให้ดี      ในขณะที่ 20 คนนี้เป็นทีมทำงานในชุมชนที่จะไปขยายกลุ่ม   เชื่อว่า 20 คนนี้มีความสามารถ  มีความคล่อง  แต่อาจขาดโอกาสที่จะลงไปแสดงบทบาทในการขยายผล  ถ้าเขาได้ลงไปทำ  แล้วเกิดกลุ่มใหม่ขึ้นมา  ถ้าหากกลุ่มใหม่มีคำถาม  เช่น  จะส่งเงินมาที่เครือข่ายฯอย่างไร?  เป็นเงินเท่าไหร่?    ทีม (จังหวัด) 6 คนนี้จะต้องตอบคำถามให้ได้  จากนั้นนำมารายงานในการประชุมประจำเดือน  ถ้าทำได้อย่างนี้เชื่อว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ต้องบรรลุได้แน่นอน   ดังนั้น  ในช่วง 6 เดือนต่อไปนี้เราต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการทำงาน  20 คนที่จะเข้าไปทำงานในพื้นที่ต้องมีการกำหนดออกมาเลยว่าในแต่ละโซนจะเป็นใครบ้าง  เพราะ  แต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน  อย่างเช่น  แม่พริกอาจร่วมมือกับกลุ่มเถิน  โซนอื่นๆก็จัดออกมา  แต่คนที่รับผิดชอบต้องมีความสามารถในเรื่องการวางแผน  ต้องมีการแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน  หากเอา 6 คน  มารวมกับ 20 คน  เหมือนเป็นการทำงานที่หนักมาก  เพราะ  ต้องทำงานทั้งในระดับจังหวัด  และระดับกลุ่ม  ทำให้แต่ละคนมีภาระมาก 

       คุณปิยชัยกล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า  จากประสบการณ์ที่ตนไปขยายสมาชิกในกลุ่มตนเองนั้น  ปัญหาอยู่ที่หลักการ  อย่างถามในเรื่องการตาย  ซึ่งเครือข่ายฯเป็นผู้จ่าย  เราต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าเครือข่ายฯ คือใคร  เมื่อตอบไปว่าเครือข่ายฯก็คือเรา (หลายๆกลุ่ม) ซึ่งต้องเอาเงินไปเฉลี่ยช่วยกัน        ปรากฎว่ากลุ่มที่ต้องการจะจัดตั้งถอยเลย  สรุปก็คือ ยังไม่มีความชัดเจน

      พี่นก  กล่าวต่อในประเด็นนี้ว่า  เราต้องพยายามอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ  อย่างกรณีของพี่นกนั้นทำอาชีพ  ขาย พรบ.รถ  พี่นกก็นำหลักคิดในเรื่อง พรบ.รถมาใช้  กล่าวคือ  ในกรณีของบริษัทที่ขายประกันรถ  ถามว่าบริษัทเอาเงินมาจากไหนจ่ายประกันให้กับรถที่ทำ พรบ.กับบริษัท  คำตอบก็คือ  บริษัทก็นำเงินมาจากเงินที่คนอื่นๆซื้อ พรบ.นั่นแหละมาเฉลี่ยจ่าย  ดังนั้น  หน้าที่ของเรา  คือ  การอธิบายให้สมาชิกเข้าใจว่าเราเอาเงินจากที่ไหนมาจ่าย  เปรียบเทียบให้เขาเห็นว่าถ้าเขาไปทำประกันกับบริษัท  บริษัทก็จะต้องนำเงินที่พวกเขาออมส่วนหนึ่งมาใช้เป็นค่าบริหารจัดการ  รวมทั้งเป็นกำไรของบริษัทด้วย  แต่ถ้าพวกเรามาจัดตั้งกลุ่มของเราเองในชุมชน  เงินก็ไม่รั่วไหลไปไหน  เพราะ  เงินทุกบาททุกสตางค์ที่สมาชิกนำมาออม  ทางกลุ่มก็จะนำมาจัดเป็นสวัสดิการรวมทั้งเอื้อประโยชน์ให้กับสมาชิกทั้งหมด  ส่วนเงินค่าเฉลี่ยศพนั้น  พี่นกบอกว่า  สำหรับตนเองคิดว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่  ถ้าเราช่วยกันขยายจำนวนสมาชิกให้ได้มากๆ  โอกาสที่เราจะเสียค่าเฉลี่ยศพน้อยลงก็จะมีมากขึ้น  ทุกวันนี้คิดว่าปัญหา  คือ  ทุกคนท้อ  เนื่องจากเหมือนไม่มีเงินอยู่ในกลุ่ม  ต้องเอาเงินทั้งหมดมาช่วยกัน (ที่เครือข่ายฯ)   ตรงนี้ถ้าเราช่วยกันขยายสมาชิกปัญหาอาจหมดไปก็ได้   ทีนี้เราก็ต้องมาดูว่าที่เราไม่ขยายเพราะอะไร  ปัญหาอยู่ตรงไหน  อยู่ตรงความท้อหรือเปล่า  หรืออยู่ที่ความไม่เข้าใจ  หรือเป็นเรื่องคณะกรรมการ  เราต้องคุยกันและหาคำตอบให้ได้

       ขอจบแค่นี้ก่อนนะคะ  เพราะ  ต้องไปเตรียมสอน  พรุ่งนี้มีสอนแต่เช้า  และยังต้องทำงานอีกหลายอย่างค่ะ  แล้วพบกันใหม่ในวันพรุ่งนี้ (ถ้าโอกาสอำนวย)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14057เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2006 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท