สร้างสรรค์สังคม > งานเก็บขยะกับ Empowerment


กระบวนการเยียวยา ฟื้นฟู และเยียวยาอัตตาที่ป่วยไข้ให้กลับคืนความปกติ เพื่อให้กลับมาเห็นคุณค่าของตัวเอง (Empowerment and restoration of damaged ego)

แนวทางการพัฒนาที่สำคัญที่สุดของการทำงานเป็นทีมในความคิดของดิฉัน คือ การสร้างให้คนในทีมตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพของตน

จากการขึ้นเวรพยาบาลผู้ตรวจการวันหนึ่ง ดิฉันเห็นแม่บ้านกำลังเก็บถุงขยะสีแดง (ขยะติดเชื้อ) ขึ้นมามัดปากถุง ทีแรกก็นั่งดูเทคนิคของเธอว่าจะถูกตามหลักป้องกันการแพร่กระจายเชื้อหรือเปล่า เธอรวบปากถุงขยะด้วยมือข้างหนึ่ง มืออีกข้างหยิบเชือกฟางจากกระเป๋าเสื้อขึ้นมาใช้ปากงับไว้ ใช้มือสองข้างช่วยกันรวบปากถุงอีกครั้ง แล้วจึงหยิบเชือกจากปากมามัด ก็ไม่เสี่ยงอะไรเพราะมือไม่ได้สัมผัสกับปาก แต่พอดูขยะในถุงเห็นมีขยะแค่ติดก้นถุง สมองก็คิดทันทีว่า "สิ้นเปลือง โลกร้อนก็เป็นปัญหาจะแย่อยู่แล้ว" เลยเกิดบทสนทนาหนึ่งว่า

"วันนึงเก็บขยะกี่ครั้งคะ" "2 ครั้งค่ะ เวรเช้าเก็บบ่ายสอง เวรดึกเก็บหกโมงเช้า"

"ถุงขยะนี้มันยังไม่เต็ม รอไว้เก็บเวรเช้าไม่ได้หรือ" " :) ไม่รู้ค่ะ เขาให้ทำยังไง หนูก็ทำอย่างนั้น"

ว่าแล้วก็หันมาสนทนาต่อกับพยาบาลหัวหน้าเวร

"คิดยังไงบ้าง" "เขา OK งานกันไม่ค่อยได้ ถ้าจะเปลี่ยน มันก็คือไปล้างระบบเก่าที่วางไว้แล้ว อีกอย่างถ้าขยะเต็มก่อนบ่ายสอง ก็ต้องเรียกให้มาเก็บอีก :("

แล้วด้วยความสนิทสนมกันเป็นการส่วนตัวพอสมควรกับน้องพยาบาลหัวหน้าเวร ดิฉันก็ร่ายยาวถึงความคิดเรื่องการพัฒนาคนให้มีศักยภาพในตัวเอง สามารถประเมินและตัดสินใจแก้ปัญหา เพื่อพัฒนางานประจำง่าย ๆ ให้มีคุณค่ามากขึ้น แต่รับรองว่าประโยชน์ที่เกิดทั้งคนและงานจะไม่ใช่เรื่องธรรมดา ๆ แน่

วันนี้ที่เขียนเล่าเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาหลายวัน ก็เพราะอ่านคอลัมน์โปรดตามเคย คือ"จิตวิวัฒน์" ในนสพ.มติชนวันเสาร์ที่ 20 ตุลา เรื่อง วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ที่เรียกว่า "องค์กร" โดย อ.ณัฐฬส วังวิญญู  http://matichon.co.th/matichon/news_detial.php?s_tag=01act02201050&day=2007-10-20&sectionid=0130 สิ่งที่สะดุดความคิดของดิฉันคือ

จากการจัดกระบวนการการเรียนรู้ให้กับองค์กรหนึ่ง พบว่า "ผู้เข้าร่วมที่อยู่ในลำดับชั้นล่างสุดของสายงานหรือสายบังคับบัญชามีแนวโน้มที่จะ "เงียบ" ความเป็นตัวของตัวเองยังแสดงออกมาน้อยมาก ด้วยอาจจะรู้สึกว่าไม่ค่อยปลอดภัยอย่างเพียงพอที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา"

ด่านแรกนี้ต้องอาศัยกระบวนการเยียวยา ฟื้นฟู การเยียวยาอัตตาที่ป่วยไข้นี้ให้กลับคืนความปกติ เพื่อให้กลับมาเห็นคุณค่าของตัวเองไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพหรือลำดับชั้นไหนขององค์กร เพราะไม่เช่นนั้นคนเหล่านี้ก็จะดำรงอยู่ต่อไปในลักษณะของการปิดกั้น สร้างเกราะกำแพงขวางกั้นโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง (Empowerment and restoration of damaged ego)

และเมื่อเราเริ่มเยียวยาคนเหล่านี้ให้เริ่มรู้สึกดีและภูมิใจในคุณค่าของตัวเองได้แล้ว ก็จะรู้สึกปลอดภัยอย่างเพียงพอในการที่จะเปิดรับและเปิดใจเรียนรู้จากผู้อื่นได้

การพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้จึงจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการเยียวยาคนที่ถูกคัดเลือกให้เข้ามาทำงานร่วมกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระดับหัวหน้างานหรือระดับปฏิบัติ ให้มีศักยภาพในตัวเองเพียงพอสำหรับการพัฒนาทั้งการให้นโยบาย  การปฏิบัติตามนโยบาย และการนิเทศติดตาม

หมายเลขบันทึก: 140448เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2007 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เอ...P' แดง  สงสัยว่า  Ward  ไหนที่เก็บขยะ  2  ครั้งหรอ?  เท่าที่รู้เก็บครั้งเดียว  แล้วเอาลงทิ้งที่พักขยะของ ร.พ. วันละครั้ง  แต่ก็ไม่สำคัญหรอกนะ  ระบบงาน Ward  นั้นอาจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ 

แต่ที่หนูรู้แน่ๆ  ว่าทำไม....... ผู้เข้าร่วมที่อยู่ในลำดับชั้นล่างสุดของสายงานหรือสายบังคับบัญชามีแนวโน้มที่จะ "เงียบ"   เ เพราะเคยมีประสบการณ์ตรงหลายครั้งที่เมื่อเอ่ยปากแสดงความคิดเห็นแล้วถูกไล่เหมือนจะให้จนมุม  ราวกับว่าตนเองโง่เง่ามากๆ  ช่างไม่รู้เรื่องอะไรซะเลย  เลยคิดไปว่าตนเองเป็นคนไร้ค่าในองค์กร  ต้องจำใจยอมรับในสิ่งที่ใจมันยังรู้สึกว่าไม่ใช่ ........ แต่มันเป็นชั่วคราวนะสำหรับคนอย่างไพรินทร์  เพราะเรายังมีกำลังใจก๊อกสอง  ก็คือลูกและครอบครัวที่ยังมองเห็นเรามีคุณค่า อย่างน้อยในสายตาลูกๆ "แม่คือคนเก่ง  คนดีที่สุด" (ก็ขืนมองไม่เห็นคุณค่าซิ ...... ไม่ให้เงินไปโรงเรียนนะ....จะบอกให้)

P

 คนในองค์กรมีพื้นฐานที่มาของความไม่กล้าต่างกัน ที่ยกตัวอย่างมาก็ใช่เลย อิชั้นก็เคยเป็น (แต่ตอนนี้ปากจัดค่ะ)

ตอนนี้เราเองเป็นชนชั้นกลางก็ว่าได้ เพราะผู้ทำหน้าที่ประสานงาน ต้องมีทักษะในการส่งเสริม สนับสนุนค่อนข้างสูง พร้อมกันนั้นทักษะการประนีประนอมยอมความก็อาจจำเป็นต้องใช้ในบางโอกาส

บ่อยครั้งที่เราเผลอ อาจทำพลาดไปโดยไม่รู้ตัว เช่น เวลาโกรธ แม่แต๋วอย่าเผลอจัดการชนชั้นลูกและสามีที่บ้านให้จนมุมนะคับ  แหะ แหะ

  • ปิ๊งแว่บ เรื่องนี้ ไม่น่ายากนะคะ
  • เหมาะสำหรับทำ CoP เรื่อง ขยะ มาก มาก เลย ... คงจะได้อะไรดีดี อีกเยอะเลยละค่ะ
  • มาเชียร์ค่ะ ... เจ๊ P microcosm

ขอบคุณค่ะอาจารย์ เดี๋ยวต้องนำเสนอพี่หัวหน้าตึก หรือไม่ก็ ICN เป็นอีกหนึ่งมิติของการทำ CoP คร่อมสายงาน

ว่าแต่ว่า ถูกเรียกเจ๊ นี่มันดูน่าหวาดเสียวยังไงก็ไม่รู้ค่ะ

  • ไม่ต้องหวาดเสียวมากเด้อค่ะ เจ๊ P microcosm
  • เพราะว่า ที่กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมทันตสุขภาพ วัยทำงานและสูงอายุ (ชื่อใหม่ ... ย๊าว ยาว บอกไปก็ไม่รู้ว่าถูกต้องหรือเปล่าเลยค่ะ ... ที่สิงสถิตย์ของดิฉัน) ... เขาเรียกเพื่อร่วมงานกันว่า "ยาย" จ๊า
  • ป้าจ๋าเห็นด้วยจ้ะ ..แต่สยองแทนเพราะว่ากติกา IC ให้เก็บขยะติดเชื้อใน 24 ชม.จ้า ถ้าจะช่วยก็น่าจะเป็นลดขนาดถังขยะน่าจะดี
  • ผู้น้อยหลายคนถูกสอนมาไม่ให้พูด เพราะพูดไป 2 ไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทองจ้า

แอบสร้าง blog ใหม่ไม่บอกน้องเลยนะจ้ะ...Happy New Year นะคุณเพ่!!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท