โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ :ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนแบบมีส่วนร่วม


                                เมื่อวาน (๑๙  ตุลาคม  ๒๕๕๐)  ผมมีโอกาสไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับท่าน ผอ.สพท.สุโขทัย เขต ๑ (ผอ.สมพล  ตันติสันติสม)   ในฐานะอดีตผู้บังคับบัญชา ที่เคารพนับถือกันมากว่า ๑๐ ปี  ที่โรงเรียนกงไกรลาศวิทยา  โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมี ดร.ดุษฎี สีตลวรางค์  เป็นผู้อำนวยการ  ในโอกาสที่โรงเรียนกงไกรลาศวิทยาจัดประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และเชิญ ผอ.สพท.สุโขทัย เขต ๑ มาพบปะพูดคุยกับคณะกรรมการฯ   ผมคุ้นเคยกับ ดร.ดุษฎี  มาหลายปี ด้วยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษา เช่นเดียวกัน จึงถือโอกาสได้พูดคุยกับท่าน ถึงการบริหารโรงเรียน ซึ่งมีการบริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จหลายอย่างด้วยกัน  เช่น ต้นแบบโรงเรียนวิถีพุทธ  และการบริหารโรงเรียนแบบกระจายอำนาจด้านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยใช้การบริหารโครงการว่า โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ ซึ่งเป็นการบริหารโรงเรียนที่น่าสนใจ สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลางขึ้นไป                           

                                โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ เป็นอย่างไร  ผอ.ดุษฏี ได้เล่าให้ฟัง พอจับประเด็นได้ว่า การจัดโครงสร้างการบริหารโรงเรียน โดยเฉพาะด้านระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนซึ่งเป็นการบริหารงานที่เป็นงานนโยบายหลักของ สพฐ.ในการดูแลนักเรียน อย่างเข้าถึง เข้าใจ และมีเมตตา   โดยการบริหารโรงเรียนแบบกระจายอำนาจลงสู่ระดับชั้น ม.๑-ม.๖ มีครูที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าระดับชั้น โดยใช้คำว่า ครูใหญ่   เช่น ครูใหญ่โรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1   ในโรงเรียนจะมีครูใหญ่จำนวน    คน มีการบริหารจัดการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จเกี่ยวกับการดูแลนักเรียน เรื่องการการเรียนการสอน  การส่งเสริมและพัฒนานักเรียนด้านคุณธรรมจริยธรรม เป็นต้น  มีครูประจำวิชาแต่ละระดับชั้น เป็นทีมงาน  ครูใหญ่จึงมีบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการศึกษาให้นักเรียนในความรับผิดชอบของตนมีคุณภาพและคุณธรรม ควบคู่กันไป   ส่วน ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ ก็จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการ และการแก้ไขปัญหา อุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นและเกินอำนาจของครูใหญ่ ..ผมได้ถามเพิ่มเติมถึงเรื่องการบริหารจัดการด้านอื่นๆ ก็ได้รับคำตอบว่า จุดเน้นในการบริหารโรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่ เพื่อสร้างสังคมคุณภาพและคุณธรรมให้กับนักเรียนเท่านั้น ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นใช่ว่าจะโรยด้วยดอกกุหลาบอย่างเดียวก็หาไม่ มีหนามทิ่มแทงบ้างประปราย แต่ก็ใช่ว่าจะหนักหนาอะไร โรงเรียนก็สามารถขับเคลื่อนการบริหารจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี                               

                                  ผมชื่นชมกับวิธีคิดที่นำสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศของท่าน ดร.ดุษฎี   วิธีนี้จะเหมาะสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลาง (นักเรียน ๕๐๐ -๑,๕๐๐ คน) ขึ้นไป  โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลางอื่นๆขึ้นไป สามารถนำไปบูรณาการและทดลองใช้ได้นะครับ  โดยปักธงการบริหารโรงเรียนลักษณะนี้เพื่อสร้างระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดประสิทธิภาพทั้งระบบ ...  สวัสดีครับ.  

หมายเลขบันทึก: 140388เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2007 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แนวคิดดีมาก การทำงานบางครั้งอยู่ที่สภาพแวดล้อม คณะทำงานที่ทำงานได้อย่างดีมีความร่วมมือร่วมใจ

ดีใจที่ได้อยู่ในสถานศึกษาที่ดี

สวัสดีครับ Mr.Thongsook Takamsang

            ขอบคุณมากนะครับที่เข้ามาอ่านและแสดงความคิดเห็น บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีของโรงเรียนนั้นขึ้นอยู่กับทุกคนที่อยู่ในโรงเรียน ร่วมมือกันก้าวเดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

            โอกาสหน้าแวะเวียนมาพบกันใหม่นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท