BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๒๘


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๒๘

ดูกรลูกนายบ้าน ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังอันสามีบำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ

  • จัดการงานดี ๑
  • สงเคราะห์คนข้างเคียงดี ๑
  • ไม่ประพฤตินอกใจผัว ๑
  • รักษาทรัพย์ที่ผัวหามาให้ ๑
  • ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ๑

อรรถกถาได้ขยายความเพิ่มเติมทำนองว่า  ในหัวข้อว่า จัดการดี นี้ หมายถึง ภรรยาไม่ละเลยเวลาหุงต้ม จัดเตรียมข้าวปลาอาหาร และการงานอื่นๆ เพื่อสามีตามสมควร....

ในหัวข้อว่า สงเคราะห์คนข้างเคียงดี นี้ ท่านขยายความว่า ญาติของตนและของสามี ชื่อว่า คนข้างเคียง ... หน้าที่ของภรรยาจะต้องสงเคราะห์ญาติทั้งสองฝ่ายนี้ด้วยการเคารพนับถือและด้วยการส่งข่าว เป็นต้น

คัมภีร์มงคลัตถทีปนี ขยายความเพิ่มเติมประเด็นนี้ว่า พ่อแม่ของตนและของสามี ไม่ชื่อว่าคนข้างเคียงในหัวข้อนี้ เนื่องจากพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายนี้ ทั้งตนและสามีจะต้องบำรุงเป็นนิตย์ในฐานะเป็นทิศเบื้องหน้าแล้ว.... ดังนั้น คนข้างเคียงในหัวข้อนี้ หมายถึงบรรดาญาติที่อยู่ห่างออกไป ภรรยาผู้เป็นแม่ศรีเรือนจะต้องสงเคราะห์ด้วยการกล่าววาจาไพเราะและด้วยการเลี้ยงดูด้วยข้าวปลาอาหาร เป็นต้น ในเมื่อคนข้างเคียงเหล่านั้นมาเยือน... และด้วยการส่งของฝากของที่ระลึกไปให้ในวันเทศกาลต่างๆ ตามสมควร.... ประมาณนี้

.......

ไม่ประพฤตินอกใจผัว ท่านว่าภรรยาไม่ควรละทิ้งสามีแล้วปรารถนาบุรุษอื่นด้วยใจ... เมื่อถือเอาตามนัยของพระอรรถกถา จะเห็นได้ว่า ผู้เป็นภรรยาแม้เพียงแต่คิดถึงชายอื่น ตามที่เรียกกันว่า ชู้ทางใจ ก็ถือว่าไม่ถูกต้องตามนัยนี้

รักษาทรัพย์สมบัติที่ผัวหามาให้  ท่านว่า ทรัพย์ที่สามีหามาได้จากกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น ซึ่งเป็นทรัพย์ที่นำมาจากนอกเรือนเข้าสู่ภายในเรือน ภรรยาผู้เป็นแม่ศรีเรือนจะต้องเก็บรักษาไว้ให้เรียบร้อย... ทำนองนี้

ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ท่านว่าผู้เป็นศรีภรรยาจะต้องเฉลียวฉลาดละเอียดละออในกิจการต่างๆ เริ่มต้นตั้งแต่การตกแต่งอาหารการกิน กิจการน้อยใหญ่ภายในบ้าน ตลอดถึงการสงเคราะห์บุตรและคนข้างเคียง เป็นต้น

สำหรับ ความไม่เกียจคร้าน นั้น ท่านว่าหญิงอื่นๆ นั่งแฉะๆ ในที่ตนนั่ง ยืนแฉะๆ ในที่ตนยืน ฉันใด... ศรีภรรยาจะต้องไม่เป็นอย่างนั้น กล่าวคือ ผู้เป็นศรีภรรยาจะต้องมีจิตเบิกบาน ใบหน้าผ่องใส แล้วทำในสิ่งที่ควรทำต่างๆ ตามสมควร... ทำนองนี้

...........

ตามที่เล่ามา จะเห็นได้ว่าผู้ที่จะเป็นศรีภรรยาได้ตามนัยนี้ มีสิ่งที่พึงกระทำมากมาย... แต่แม้กระทั้งปัจจุบันก็ยังมีข่าวว่าสามีกระทำทารุณกรรมภรรยาตัวเองเสมอ ซึ่งภรรยาผู้ถูกสามีทำทารุณกรรมเหล่านั้นจะปฏิบัติสมควรตามนัยนี้หรือไม่ ประเด็นนี้ไม่อาจทราบได้ จึงฝากไว้เป็นข้อคิด...

อีกประเด็นหนึ่ง แนวคิดเรื่องหน้าที่เชิงจริยธรรมระหว่างสามีกับภรรยานี้ ผู้เขียนเคยเจอมากมายและหลายนัย เช่นปรากฎในสักกสังยุตตอนหนึ่งว่า... ชายผู้เป็นสามี เมื่อเลี้ยงภรรยาโดยธรรมแล้ว แม้ท้าวสักกเทวราชก็ทรงนอบน้อมผู้นั้น ดังคาถาประพันธ์ตอนหนึ่งที่ท้าวเธอตรัสว่า

  • ดูกรมาตลี คฤหัสถ์เหล่าใด ทำบุญ มีศีล เป็นอุบาสก เลี้ยงภรรยาโดยธรรม เราย่อมนอบน้อมคฤหัสถ์เหล่านั้น

ผู้สนใจประเด็นนี้อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=7544&Z=7578

อนึ่ง ผู้เขียนคิดว่า แนวคิดเชิงจริยธรรมของสามีและภรรยาในพุทธปรัชญา น่าสนใจมาก และผู้เขียนก็ไม่ได้เห็นหรือได้ยินว่า เคยมีใครทำวิจัยประเด็นนี้แล้วบ้าง ดังนั้น จึงคิดว่า ประเด็นนี้สามารถทำวิจัยได้ สำหรับผู้สนใจ....

ต่อจากทิศเบื้องหลังคือ ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรสหาย ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในตอนต่อไป... 

หมายเลขบันทึก: 140383เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2007 19:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท