สมุนสามเณร อัญเชิญพระบรมธาตุไปประดิษฐาน ณ เกาะลังกา (12)


สมุนสามเณร อัญเชิญพระบรมธาตุไปประดิษฐาน ณ เกาะลังกา

ในส่วนนี้ เดิมที ข้าพเจ้าจะแสดงพระบรมสารีริกธาตุในรามคาม ที่พระมหินทเถระใช้ให้สุมนสามเณรผู้หลาน ไปนำมาจากนาคพิภพ เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อความที่กล่าวถึงการเก็บพระบรมธาตุของพระมหากัสสปะ ที่ว่า

พระบรมธาตุทั้งหลายในรามคาม เหล่านาคเก็บรักษาไว้.  พระมหากัสสปะเถระดำริว่า อันตรายของพระบรมธาตุเหล่านั้นไม่มี  ต่อไปในอนาคตกาล คนทั้งหลายจักเก็บไว้ในพระมหาเจดีย์  ในมหาวิหาร  ลังกาทวีปดังนี้ แล้วไม่นำพระบรมธาตุเหล่านั้นมา.

แต่ ค้นหาเนื้อความมาแสดงในที่นี้ไม่ได้ ไม่ทราบว่าปรากฏในที่ใด. ข้าพเจ้าทรงจำได้เพียงเนื้อความคร่าวๆตอนนี้ว่า

เมื่อสุมนสามเณรไปขอพระบรมธาตุส่วนที่อยู่รามคามซึ่งหมู่พระยานาคนำไปบูชายังนาคพิภพนั้น พระยานาคจะไม่ยอมให้ จึงได้กลืนพระบรมธาตุนั้นเข้าไว้ในท้อง เพื่อจะได้กล่าวแก่สุมนสามเณรว่า พระบรมธาตุที่ว่านั้นไม่มีอยู่ ให้เณรไปค้นดู. เมื่อเป็นอย่างนั้น สุมนสามเณรก็เลยล้วงปากพระยานาค เข้าไปเอาพระบรมธาตุจากในท้องพระยานาคออกมา.

ข้าพเจ้าทรงจำได้คร่าวๆ คล้ายๆอย่างนี้ ซึ่ง อาจจะมีบางส่วนคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ ระลึกได้ว่า เคยอ่านพบ ว่า สุมนสามเณรไปเอาพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่อยู่รามคามนี้ จากพระยานาค.

ส่วนเนื้อความที่กล่าวถึงการไปเอาพระบรมธาตุของสุมนสามเณร ตามที่พอจะหาได้นั้น ปรากฏว่า ไม่มีส่วนที่กล่าวถึงการไปนำพระธาตุจากรามคาม เพื่อนำไปประดิษฐานยังเกาะลังกา.

เนื้อความตอนไปจัดหาพระธาตุของสุมนสามเณร มีดังนี้.



สุมนสามเณรรับจัดหาพระธาตุ

พระราชาทรงรับว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ! แล้วเข้าไปหาสุมนสามเณรตรัสถามว่า ท่านขอรับ ! เดี๋ยวนี้ พวกเราจักได้พระธาตุจากไหน ?

สุมนสามเณรทูลว่า ทรงขวนขวายน้อยเถิด มหาบพิตร ! ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระถนนหนทาง ให้ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับมีธงชัย ธงปฏาก และหม้อน้ำเต็มเป็นต้น แล้วพร้อมด้วยชนบริวารสมาทานองค์อุโบสถ ให้พวกพนักงานตาลาวจรดนตรีทั้งปวงประชุมกัน รับสั่งให้ตกแต่งช้างมงคลประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง และให้ยกเศวตฉัตรขึ้นเบื้องบนช้างมงคลนั้นเสร็จแล้ว เวลาเย็น ขอให้ทรงพระกรุณาเสด็จบ่ายพระพักตร์มุ่งตรงไปยังอุทยานมหานาควัน พระองค์จักทรงได้พระธาตุในที่นั้นแน่นอน.

พระราชาทรงรับว่า สาธุ.

พระเถระทั้งหลาย ก็ได้ไปยังเจติยคิรีบรรพตนั่นแล.

ณ เจติยคิรีบรรพตนั้น ท่านพระมหินทเถระ กล่าวกะสุมนสามเณรว่าไปเถิด สามเณร ! เธอจงเข้าเฝ้าพระเจ้าอโศกธรรมราช ผู้เป็นพระเจ้าตาของเธอ ในชมพูทวีป ทูลตามคำของเราอย่างนี้ว่า

มหาบพิตร ! พระเจ้าเทวานัมปิยดิส พระสหายของพระองค์ทรงเลื่อมใสในพระศาสนา ปรารถนาจะให้สร้างพระสถูป ได้ยินว่า พระองค์มีพระธาตุอยู่ในพระหัตถ์ (ในครอบครอง) ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระธาตุนั้นแก่อาตมภาพเถิด ดังนี้แล้วรับเอาพระธาตุนั้น

จงเข้าไปเฝ้าท้าวสักกเทวราชทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช ! ได้ยินว่า พระองค์มีพระธาตุอยู่ในพระหัตถ์ (ในครอบครอง) ๒ องค์ คือ พระทันตธาตุเบื้องขวา๑ พระธาตุรากขวัญเบื้องขวา๑ เพราะฉะนั้น ขอพระองค์โปรดบูชาพระทันตธาตุเบื้องขวา แต่พระราชทานพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาแก่อาตมภาพ และจงทูลท้าวสักกะนั้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่มหาราช ! เพราะเหตุไร พระองค์ทรงส่งพวกอาตภาพไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปแล้ว ทรงปล่อยปละละเลยเสีย ดังนี้.

สุมนสามเณรรับคำของพระเถระว่า ดีละ ขอรับ ! ดังนี้แล้ว ถือเอาบาตรและจีวรเหาะขึ้นสู่เวหาส ในขณะนั้นนั่นเอง ลงที่ประตูนครปาตลีบุตร ไปสู่ราชสำนักทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ.

พระมหาราชา ทรงยินดีรับบาตรจากมือสามเณร อบด้วยของหอมแล้วได้บรรจุพระธาตุเช่นกับแก้วมุกดาอันประเสริฐถวาย.

สามเณรนั้นรับเอาพระธาตุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าท้าวสักกเทวราช. ท้าวสักกเทวราชเห็นสามเณรแล้วตรัสว่า พ่อสุมนะผู้เจริญ ! เธอเที่ยวมา เพราะเหตุไร ?

สามเณร. ข้าแต่มหาราช ! พระองค์ทรงส่งพวกอาตมภาพไปยังเกาะตัมพปัณณิทวีปแล้ว ทรงปล่อยปละละเลยเสีย เพราะเหตุไร.

ท้าวสักกะ. ไม่ได้ละเลย ท่านผู้เจริญ ! พูดไปเถิด จะให้ข้าพเจ้าทำอะไร?

สามเณร. ได้ยินว่า พระองค์มีพระธาตุอยู่ในพระหัตถ์ ๒ องค์ คือพระทันตธาตุเบื้องขวา๑ พระธาตุรากขวัญเบื้องขวา๑ ฉะนั้นขอให้มหาบพิตรทรงบูชาพระทันตธาตุเบื้องขวา แต่ทรงพระราชทานพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาแก่อาตมภาพ.

ท้าวสักกะจอมเหล่าเทพตรัสว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ! แล้วทรงเปิดพระสถูปแก้วมณีประมาณ ๑ โยชน์ ได้นำพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาออกมาแล้ว ถวายแก่สุมนสามเณร. สุมนสามเณรนั้น รับเอาพระธาตุนั้นแล้วประดิษฐานไว้ ในเจติยบรรพตนั่นแล.


ครั้งนั้นแล พระมหานาคเหล่านั้นทั้งหมด มีพระมหินท์เป็นประมุข ประดิษฐานพระธาตุที่พระเจ้าอโศกธรรมราช ทรงพระราชทานมาไว้ที่เจติยบรรพตนั่นแล แล้วเชิญพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาไปยังมหานาควันอุทยานในเวลาบ่าย.

ฝ่ายพระราชาแล ทรงทำการบูชาสักการะมีประการดังที่สุมนสามเณรกล่าวแล้ว ประทับบนคอช้างตัวประเสริฐ ทรงกั้นเศวตฉัตรด้วยพระองค์เองบนเศียรของช้างมงคล เสด็จไปถึงมหานาควันอุทยานพอดี.

ครั้งนั้น ท้าวเธอได้ทรงมีพระรำพึงดังนี้ว่า ถ้าว่า นี้เป็นพระธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไซร้ เศวตฉัตรจงเบนออกไป ช้างมงคลจงคุกเข่าลงบนพื้น ขอให้ผอบบรรจุพระธาตุจงมาประดิษฐานอยู่บนกระหม่อมของเรา.

พร้อมด้วยจิตตุปบาทของพระราชา ฉัตรได้เบนออกไป ช้างคุกเข่าลงบนพื้น ผอบบรรจุพระธาตุได้มาประดิษฐานอยู่บนกระหม่อมของพระราชา. พระราชา ทรงประกอบด้วยพระปีติปราโมทย์อย่างยิ่ง ดุจมีพระองค์อันน้ำอมฤตนั่นแลโสรจสรงแล้ว จึงตรัสถามว่าท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้า จะปฏิบัติพระธาตุอย่างไร.

พระเถระทูลว่า ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาวางไว้ บนกระพองช้างนั่นแหละก่อน มหาบพิตร ! พระราชาได้ทรงยกผอบบรรจุพระธาตุลงวางไว้บนกระพองช้าง. ช้างมีความดีใจ ได้บันลือเสียงดุจเสียงนกกระเรียน.

มหาเมฆ ตั้งเค้าขึ้นแล้ว ได้ยังฝนโบกขรพรรษให้ตกลงมา. ได้มีแผ่นดินใหญ่ไหวจนถึงที่สุดน้ำ มีอันให้รู้ว่า พระธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จักประดิษฐานอยู่ ชื่อแม้ในปัจจันตชนบท ดังนี้เป็นเหตุ พวกเทวดาและมนุษย์ได้ร่าเริงบันเทิงใจทั่วกัน.

พระมหาวีระ(ผู้มีความเพียรใหญ่)เสด็จมาในเกาะลังกานี้ จากเทวโลก ได้ประดิษฐานอยู่บนกระพองช้าง ในดิถีเพ็ญเป็นที่เต็มครบ ๔ เดือน (กลางเดือน ๑๒ ก่อให้เกิดปีติแก่ทวยเทพและหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ด้วยสิริคืออานุภาพแห่งฤทธิ์    ด้วยประการฉะนี้แล.

ครั้งนั้น พญาช้างนั้น อันพวกตาลาวจรดนตรีมิใช่น้อยแวดล้อมแล้ว มีทวยนครสักการะอยู่ ด้วยการบูชาสักการะอย่างโอฬารยิ่ง เดินมุ่งหน้าไปทางทิศปัจฉิม ไม่ถอยหลังจนกระทั่งถึงประตูนครด้านทิศบูรพาแล้วเข้าสู่นครทางประตูด้านทิศบูรพา มีทวยนครทั่วทั้งเมืองทำการบูชาอย่างโอฬาร ออกทางประตูด้านทิศทักษิณ เดินไปที่เทวาลัย (เทวสถาน) ของมเหชยักษ์ นัยว่ามีอยู่ในด้านทิศปัจฉิมแห่งถูปาราม แล้วย้อนกลับมุ่งหน้าตรงไปยังถูปารามนั่นแลอีก.

ก็สมัยนั้น ถูปารามเป็นที่ตั้งบริโภคเจดีย์ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ๓ พระองค์.

สรุป

สุมนสามเณรได้ไปขอพระธาตุรากขวัญเบื้องขวามาจากพระอินทร์ แสดงว่า พระธาตุรากขวัญเบื้องขวา ที่กล่าวไว้ในตอนต้นๆ ว่าอยู่ที่ดาวดึงส์เทวโลกนั้น บัดนี้ น่าจะอยู่ในมนุษยโลก เพราะพระอินทร์ได้มอบให้สามเณรมาแล้ว ที่ดาวดึงส์ยังเหลือแต่พระเขี้ยวเบื้องบนขวา เท่านั้น.

นอกจากพระธาตุรากขวัญเบื้องขวาแล้ว สุมนสามเณรยังได้พระบรมธาตุอีกส่วนหนึ่งมาจากพระเจ้าอโศกมหาราช. และอีกส่วนหนึ่งมาจากนาคพิภพ ในรามคาม.

สายทางแห่งพระบรมสารีริกธาตุเหล่านี้ เคลื่อนย้ายสถานที่ไป เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระพุทธศาสนาในโลก. เป็นอันทำกิจในส่วนของตนๆสำเร็จแล้ว.

หมายเลขบันทึก: 139960เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2007 05:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 00:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เรื่องไรจะบอกบอกไปก็ไม่มีประโยชน์

เขียนอะไรก็ไม่รู้

ไม่เห็นมีประโยชน์เลย

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านค่ะ

ดีแล้วล่ะค่ะ ที่เห็นว่า ไม่มีประโยชน์..สำหรับคุณ

*___*

เยี่ยมมากเรยคับ กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับพระธาตุพอดี มีประโยชน์มากทีเดียว ไม่ใช่อย่างที่ใครบางคนเขาว่าไม่มีประโยชน์อะนะ

สมุนสามเณรเป็นบุตรของพนะนางสังฆมิตราเถรีภิษขุณีบวชในลังกาทวีป เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ต่อมาได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาพุทธในดินแดนสุวรรณภูมิพร้อมพระอนุตระเถระธรรมทูตที่พระเจ้าอโศกส่งมาเผยแพร่ศาสนาในสุวรรณ

ภูมิ ต่อมามาพบพระราชธิดาของกษัติย์สุวรรณปุระชื่อ พระนางจันทราหรือแม่นางน้อย ได้สึกจากสามเณรได้อภิเสกสมรสกับพระนางจันทรา มีบุตรชายสสององค์ คือ องค์พ่อจตุคามรามเทพและองค์รามเทพ เป็นต้นรากปฐมของชาติไทยเมื่อประมาณ 2000 กว่าปีมาแล้ว ไม่ใช่อานาจักรสุโขทัยตามที่เรียนกันมาแค่ 700 ปีเท่านั้น สืบต่อกันมาจนเข้าสู่ยุคทองในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยที่เจริญสูงสุด

และศิลปะยังคงเหลือไว้แก่อนุชนรุ่นหลังที่บานประตูไม่แกะสลักองค์จตุคามที่วัดมหาธาตุนครศรีธรรมราช และสุดท้ายอาณาจักรก็ล่มสลายไปจึงมีอาณาจักรอยุธยาเข้ามาฟื้นฟูพระบรมธาตุจนถึงปัจจุบันนี้ (ที่มาตามความสืบค้นและความเห็นของท่านสรรเพชร ธรรมาธิกุล ผู้ที่องค์พ่อจตุคามได้บัญชาให้สร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราช)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท