ต้นอ้อ
อารีรัตน์ นิรันต์สิทธิรัชต์

“Interested Topic” เรื่องนี้ ฉันสนใจ : ตอน 1


โจทย์ใหม่ที่เราตั้งคือ เราจะสร้างสรรค์ชั่วโมงเรียนที่มีความสุข อยากให้นักศึกษาได้ลองลิ้มรสความรู้สึกสนุก ความตื่นเต้นกับการได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียน เราตกลงกันว่า เราจะช่วยกันเรียกพลังชีวิตของนักศึกษากลับคืนมา

ที่ภาควิชาฯ มีข้อตกลงที่เราเห็นพ้องต้องกันว่า เราอยากจะจัดชั่วโมงเรียนที่เรียกได้ว่าเป็น การเรียนรู้ที่เป็นอิสระ  เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้เลือกเรียนรู้ในสิ่งที่เขาอยากจะเรียน (จริงๆ)   ความฝันแบบนี้แทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีทางเป็นไปได้แน่ๆในการศึกษาที่อิงอยู่กับระบบโรงเรียนที่นักศึกษาต้องเรียนตามหลักสูตรรายวิชาที่กำหนดไว้อย่างตายตัว  ความฝันแบบจัดได้ว่าเป็นความพยายาม หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นความดันทุรังที่จะให้เกิดในชั่วโมงการเรียนการสอนในหลักสูตรก็ว่าได้

และแล้ว เรา (หมายรวมถึงอาจารย์ทุกท่านของภาควิชาทันตกรรมชุมชน ม.ช.) ก็ช่วยกันสานฝันให้เป็นจริง  คาบเรียนที่เกิดขึ้นนี้ เราเรียกกันว่าเป็น ชั่วโมง Interested Topic ที่เราเรียกกันจนติดปากว่าชั่วโมง ITประมาณว่าหมายถึง ชั่วโมงเรียนที่ให้เรียนในหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากคนเรียนว่า หัวข้อที่เขาอยากจะรู้ อยากจะเรียน (ไม่ได้ถูกยัดเยียดให้เรียน และไม่ได้ถูกยัดเยียดให้สอน) อะไรทำนองนั้น  ชั่วโมง ITนี้ เราเจียดเวลามาจากเวลาในตารางเรียนฝึกปฏิบัติงานของภาควิชาซึ่งนักศึกษาปี 5 จะเขาเวียนเข้ามาฝึก โดยเรากำหนดให้มีชั่วโมง IT นี้กลุ่มละ 4 คาบ (คาบละประมาณ 3 ชั่วโมง) จากเวลาฝึกงานทั้งหมดหกสัปดาห์กว่าๆ          

อันที่จริงชั่วโมง IT นี้มีพัฒนาการมาหลากหลายรูปแบบ เดิมจัดเป็นชั่วโมงบังคับให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในหัวข้อที่มีความเกี่ยวเนื่องกับงานที่กำลังฝึกปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งก็ไม่พ้นวิชาการทางทันตแพทย์  วิธีการสอนก็มีตั้งแต่ให้นักศึกษาหา paper ทางวิชาการที่น่าสนใจ (ในทางปฏิบัติ...อาจารย์สั่งให้หา) มาอ่าน แล้ว discuss กันในกลุ่ม หรือไม่ก็ อาจารย์ assign (ยัดเยียด) ให้อ่าน paper ที่อาจารย์เห็นว่าเป็นประโยชน์ แล้วก็มา discuss กัน  หากหา paper ไม่ทันก็อาจจะเป็นการมินิเลกเชอร์ไป (mini lecture)  ทำไปได้ระยะหนึ่ง เรากลับพบว่า วิธีการสอนต่างๆเหล่านี้ แม้ว่าควบคุม จัดการได้ง่ายต่อการกำหนดว่านักศึกษาต้องได้เรียนอะไร แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าบอกได้ว่า นักศึกษาได้รู้หรือไม่  อาจารย์จัดการเวลาและหัวข้อการสอนได้ง่าย แต่ไม่ได้รับประกันว่าสิ่งที่ทำไปคุ้มค่าหรือเปล่า 

มีสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนต่างรับรู้ร่วมกันได้ว่า นักศึกษาของเราไม่ได้มีความสดชื่นสดใจตามวัยอันควรจะเป็น นักศึกษาหมดพลังที่กระหายใคร่รู้ ไม่มีความอยากรู้อยากเห็น หลายครั้งที่ตัวเองตั้งคำถามว่าทำไมนักศึกษาช่างดูเหน็ดเหนื่อยเหลือเกินกับการเรียน ยิ่งเมื่อเรานึกย้อนไปเมื่อวันแรกที่เป็นนักศึกษาพวกเขาเหล่านั้นดีใจ กระตือรือร้น กระฉับกระเฉง อยากรู้อยากเห็น มีความฝันที่จะประสบความสำเร็จต่อการศึกษา แต่มาวันนี้พลังชีวิตหดหาย เรียนแบบซังกะตาย เมื่อนักเรียนเหี่ยวเฉา อาจารย์ก็ซึมเศร้า...ก็ทำไงได้..นักศึกษาไม่ได้เรียนสิ่งที่อยากจะรู้ อาจารย์ก็ต้องสอนกันไปตามหน้าที่….            

อย่างที่ได้เกริ่นไปในช่วงต้น ว่าชั่วโมง IT จัดให้เป็นชั่วโมงที่สนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในสิ่งที่อาจารย์คิดว่านักศึกษาขาด...หลังจากเห็นว่าการสอนชั่วโมงนี้มันฝืดแสนฝืด และฝืนเอามากๆ เราก็เลยมาลองกันใหม่ โจทย์ใหม่ที่เราตั้งคือ เราจะสร้างสรรค์ชั่วโมงเรียนที่มีความสุข อยากให้นักศึกษาได้ลองลิ้มรสความรู้สึกสนุก ตื่นเต้นกับการได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียน เราตกลงกันว่า เราจะช่วยกันเรียกพลังชีวิตของนักศึกษากลับคืนมา เริ่มต้นโดยลองให้อาจารย์ได้เสนอหัวข้อที่อาจารย์อยากจะสอน อยากจะพูดคุย อาจจะเป็นหัวข้อวิชาการ หรือไม่ใช่วิชาการ(ทางทันตแพทย์)ก็ได้ นักศึกษาเองก็สามารถเสนอหัวข้อได้เช่นกัน  โดยเรามีกติกาใหม่ว่า ใครจะทำหน้าที่เป็นครูหรือนักเรียนก็ได้ในชั่วโมงนี้  ดังนั้นทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างก็เปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักเรียนหมด แล้วไปลงทะเบียนเลือกเรียนในสิ่งที่อยากจะรู้กันบคุณครูเจ้าของวิชา หากหัวข้อไหนถูกเลือก คนเสนอก็ทำหน้าที่เป็น ครู จัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน...งานนี้อาจารย์ต่างได้มีโอกาสแอบเนียนกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง ให้ความรู้สึกกระชุ่มกระชวยไม่เบา...         

รูปแบบการสอนแบบนี้เราทำกันมาเข้าปีที่สองแล้ว โดยปีแรกชิมลางโดยให้อาจารย์เสนอหัวข้อในสิ่งที่ตัวเองถนัด หรือสิ่งที่อยากจะสอน แล้วให้นักศึกษามาเลือกช๊อบเรียนหัวข้อที่เขาสนใจ  ผลตอบรับออกมาค่อนข้างดีทีเดียว แววตาของนักศึกษามีประกายความสดในมากขึ้น อาจารย์ก็เช่นกัน มีความสุขกับการสอน แม้ว่าหัวข้อของตัวเองจะมีนักเรียนเลือกเรียนเพียงคนเดียว อาจารย์ก็สอน....not one less

หัวข้อในปีแรก ที่ถูกเสนอมีมากมายหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น น้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ  ชวนกันอ่านวรรณกรรม เจ้าชายน้อย   เจ้าหงิญ  ตามรอยท่านพุทธทาส  ทำความรู้จัก ครูสมพร คนสอนลิง ตามหาแรงบันดาลใจ  กำลังคนด้านทันตสาธารณสุข  ผลิตภัณฑ์ในการดูแลสุขภาพช่องปากที่มีในท้องตลาดปัจจุบัน  พอในปีที่สองเริ่มเป็นแบบผสมผสานเปิดโอกาสให้นักศึกษาเสนอหัวข้อให้อาจารย์ได้ไปช๊อบเรียนกับนักศึกษาบ้าง หัวข้อในปีนี้ก็มีหลากหลายอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เทคนิคการแต่งหน้า ชิมเค้กอร่อย  ทำอาหารจากไมโครเวฟ พระเครื่องและจับกระแสจตุคาม  ดูดวง ตัวเลขมหัศจรรย์  ตำรับวรรณกรรม  นพลักษณ์ การรู้จักตนเอง  ดูหนังดีได้รางวัล  เป็นต้น        

เห็นหัวข้อที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง อาจถูกเข้าใจผิดคิดว่า เอาชั่วโมงเรียนมาทำอะไรไร้สาระ หรือเกิดคำถามที่ว่า จัดชั่วโมงคลายเครียดให้นักศึกษาหรืออย่างไร ทำไมไม่ไปทำในกิจกรรมนอกหลักสูตร ก่อนที่เราจะตัดสินใจลองทำชั่วโมงแบบนี้ เราได้มีการพูดคุยถึงวัตถุประสงค์ของการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ในลักษณะนี้ในการสัมมนาภาควิชามากพอสมควร อยากจะบอกค่ะว่า มันคุ้มค่าสำหรับการลงทุน คุ้มค่าต่อเรียกพลังของนักศึกษาให้กลับคืนมา ในหัวข้อที่นักศึกษาเป็นคนสอน เราได้มองเห็นศักยภาพของเขา ให้เกียรติในความสามารถของเขา และ ได้ชื่นชมในศักยภาพของเขา  เรามองเห็นแววตาที่มีความสุขของนักศึกษาเมื่อเขาได้แสดงความสามารถ ได้โชว์ในสิ่งที่เขาสนใจ (อารมณ์ประมาณว่า แฟนพันธ์แท้อะไรทำนองนั้น)  เรามองเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของนักศึกษาเมื่อเขาได้ทำในสิ่งที่เขารัก นั่นคือสิ่งที่ตอกย้ำความมั่นใจให้กับเราว่า นักเรียนของเราเขามีพลังนี่นา ในหัวข้อที่อาจารย์เป็นคนเสนอหัวข้อ อาจารย์เองก็สอนอย่างมีความสุขเพราะได้สอนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ และได้สอนให้กับนักศึกษาที่สนใจ  แม้หัวข้อส่วนใหญ่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับวิชาการทางทันตแพทย์เลย แต่ชั่วโมงที่เราได้เลือกแล้วว่าจะให้ในการเปิดพื้นที่นักศึกษาอย่างแท้จริงนี้เอง กลับทำให้อาจารย์และนักศึกษาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวิชาชีวิต แง่มุม แนวคิด เป้าหมายของชีวิต อีกทั้งยังได้ต่อเติมพลังให้แก่กันละกัน แล้วคุณคิดว่ามันคุ้มค่าไม๊ล่ะ??  สำหรับตัวเองคิดว่า มันสุดแสนจะคุ้ม เลยทีเดียวค่ะ          

สำหรับเรื่องราวนี้ ถือว่าเป็น การเกริ่นนำของชั่วโมง IT ละกันนะคะ สัญญาว่าจะเก็บเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในการแต่ละการเรียนรู้ มาเล่าให้ได้อ่านในตอนต่อๆไปนะคะ 

สุดท้าย ต้องขอขอบคุณอาจารย์ในภาควิชาทุกท่าน ที่ช่วยกันสร้างปาฏิหาริย์ด้วยกันนี้ด้วยกัน

 

หมายเลขบันทึก: 139825เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2007 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะอาจารย์อารีรัตน์

ดิฉันอ่านบันทึกนี้ของอาจารย์อย่างมีความสุขจังเลยค่ะ  และคิดว่าเด็กๆในภาควิชาของอาจารย์โชคดีมากๆเลย  ที่ได้เรียนกับอาจารย์ที่เข้าใจพวกเขาเช่นนี้

"เรามองเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของนักศึกษาเมื่อเขาได้ทำในสิ่งที่เขารัก  อาจารย์เองก็สอนอย่างมีความสุข.......อาจารย์และนักศึกษาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวิชาชีวิต แง่มุม แนวคิด เป้าหมายของชีวิต อีกทั้งยังได้ต่อเติมพลังให้แก่กันและกัน"

ดิฉันอ่านทวนใจความที่คัดมานี้สามเที่ยวด้วยความชื่นใจ และรู้สึกเชื่ออยู่เสมอว่า  ระบบใดก็ตามที่มนุษย์เป็นผู้ขับเคลื่อน  ระบบนั้นก็จะยังคงมี"ความเป็นมนุษย์" อยู่เสมอ  ระบบการศึกษาไทยก็คงเป็นเช่นนั้นด้วย.......และดิฉันยังคงหวังเช่นนั้นอยู่เสมอ....

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆสำหรับบันทึกที่ทำให้เกิดกำลังใจบันทึกนี้นะคะ  : )

ดีใจค่ะที่บันทึกนี้ก่อให้เกิดความสุขและเกิดกำลังใจกับคุณ  ดอกไม้ทะเล

ขอบคุณค่ะ ที่ "ได้ต่อเติมพลังให้แก่กันและกัน" เช่นกัน...

   ช่วงนี้พี่สาวไฟแรงเขียนเรื่องราวดีๆ มาให้อ่านบ่อยดีจัง ชอบมากค่ะ

    เอาไว้ที่ "มอนอ" จะขอยืมไอเดียมาใช้บ้างนะคะ เผื่อว่าเด็กๆ จะได้รู้สึกดีที่ได้มีโอกาสเป็นคนเก่ง (กว่าอาจารย์) บ้าง แม้ว่าชีวิตจริงในคณะจะมีโอกาสอย่างนี้น้อยเหลือเกิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท