ซิป้าปรับยุทธศาสตร์เชิงรุกซอฟต์แวร์ไทย


  ซิป้าเปิดแผนปีหน้า สนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ด้วยการร่วมลงทุนบริษัทไทย ดึงบีโอไอช่วยหนุน พร้อมปรับรูปแบบการทำงานซิป้าให้กลายเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลจนกว่าธุรกิจจะแข็งแรง จนสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ด้วยเป้าหมายพา 50 บริษัทเข้าตลาดฯใน 5 ปี
       
       นายพีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า พร้อมด้วยคณะกรรมการร่วมกันแถลงถึงผลดำเนินงานของซิป้าในปี 2550 และทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยในปี 2551
       
       นายพีรศักดิ์ กล่าวว่านับจากที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้เข้ามาบริหารตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา สามารถบรรลุข้อตกลงและมีการเซ็นเอ็มโอยู มากกว่า 80 โครงการและร่วมมือกับหน่วยงานสากลในการผลักดันซอฟต์แวร์ไทย อาทิ ประเทศญี่ปุ่น กับหน่วยงาน IPA หรือ Information-Technology Promotion Agency โครงการ Embedded Technology Skill Standard(ETSS) เพื่อเสริมสร้างบุคลากรและสร้างศักยภาพแก่ซอฟต์แวร์ไทยด้าน Embedded หรือ ซอฟต์แวร์ฝังตัวอัจฉริยะในชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
       
       หน่วยงาน KOCCA หรือ Korea Culture & Content Agency และ KIICA หรือ Korea IT International Cooperation Agency ประเทศเกาหลี ในการช่วยประสานงานอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนท์รวมถึงด้านต่างๆ ของไทยให้พัฒนา รวมถึงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีร่วมกัน โดยเฉพาะบุคคลากร หน่วยงาน MDC หรือ Multimedia Develop Corporation MDA หรือ Media Development Authority ของประเทศมาเลเซีย ในการสร้างพันธมิตรในการทำธุรกิจด้านดิจิตอลคอนเทนท์ไทย-มาเลเซีย
       
       นอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนรวม14 หน่วยงานในโครงการบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ One Stop Services ของบริการภาครัฐ เช่น การชำระค่าสาธารณูปโภค, การให้บริการของภาครัฐสู่ประชาชนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ความร่วมมือภาคการศึกษาในการเห็นพ้องสนับสนุนบรรจุหลักสูตรซอฟต์แวร์เพื่อการเพิ่มและพัฒนาศักยภาพบุคลากรไทย
       
       ส่วนการผลักดันอุตสาหกรรมในประเทศ ซิป้า ได้ทำโครงการความร่วมมือกับอุตสาหกรรมอมตะนคร เพื่อใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างการขยายตัวในการใช้ซอฟต์แวร์ออกไป เป็นอุตสาหกรรมในอนาคต โดยเขตนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้มีรายได้ประมาณ 5 แสนล้านบาท มีการจ้างงานประมาณ 200,000 คน ซึ่งเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ,ชิ้นส่วนรถยนต์ และอื่นๆ
       
       โดยซิป้าได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานซอฟต์แวร์ในนิคมฯอมตะนคร เพื่อจะเป็นการเบิกทางนำซอฟต์แวร์ไทยไปทำตลาดในโรงงานอุตสาหกรรม 400 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด 26 ชาติ คาดว่าปีแรกจะได้ส่วนแบ่งตลาดจากซอฟต์แวร์ต่างชาติ 500 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.01 ของมูลค่าการผลิตในนิคมฯ 5 แสนล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะได้ส่วนแบ่งเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี
       
       อีกทั้งซิป้า ยังได้เตรียมจัดตั้งศูนย์กลางฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มอีกแห่งในปี 51  ในศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจดิจิตอลคอนเทนต์ ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว  ถนนราชดำเนิน กทม. เนื่องจากเห็นว่าการอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีต้นทุนสูง ประกอบกับประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ในทุกสาขา และในแต่ละสาขาก็มีความต้องการบุคลากรที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป
       
       “เราได้ตัวเลขซอฟต์แวร์ของไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยหลายเท่า แต่ปัญหาคนไทยได้รับประโยชน์จากซอฟต์แวร์ขนาดไหน เทคโนโลยีโตขนาดไหน ยังไม่มีการประเมิน หรือ มีผู้มาสำรวจอย่างแน่ชัด ที่ผ่านมาการทำงานของซิป้า จับเป็นจุดๆ เราไม่เห็นภาพรวม ที่จะต้องเดินไปทางไหน แต่จากนี้ไปจะทำงานในแบบคู่ขนาน และรับกับนโยบายของไอซีที โดยซิป้า ได้จัดแบ่งกลุ่มตามแผนแม่บทแห่งชาติ เพราะเราเห็นว่าบางอย่างเราอ่อนแอ ลืมทำ หรือยังไม่เริ่มต้นทำ”
       
       สำหรับปี 2551 ซิป้าจะปรับยุทธศาสตร์เชิงรุกมากขึ้นโดยมุ่งเน้นการพัฒนาคนสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการดึงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติหลายหมื่นล้านบาทเข้ามาหมุนเวียนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย อาทิ การร่วมทุน การจ้างผลิต การซื้อผลิตภัณฑ์บริการซอฟต์แวร์ ส่วนในประเทศจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานที่เป็นคนไทย ให้หันมาสนับสนุนผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ไทยมากขึ้น
       
       ในด้านการบริหารงานในองค์กร ซิป้า ได้ทำการปรับโครงสร้างกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปให้หน่วยงานภูมิภาคตัดสินใจเองมากขึ้นเพื่อลดขั้นตอนซ้ำซ้อนรวมไปถึงการให้ซิป้าเป็นตัวกลางเร่งหาพันธมิตรสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย
       
       “ปัจจุบันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศ ส่วนใหญ่จะตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติที่เข้ามาดำเนินการ  ขณะที่ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยคนไทยมีจำนวนที่น้อยกว่า ดังนั้นบทบาทของซิป้าในปี 51 คงต้องผลักดันในเกิดเนื้องานขึ้นมาให้ได้”
       
       นายพีรศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานจะประกอบด้วย การเข้าร่วมทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ครม.กำหนด โดยซิป้าจะเสนอแผนให้รมว.ไอซีทีผลักดันให้ครม.กำหนดหลักเกณฑ์ ลักษณะการร่วมทุน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกรรมได้
       
       “เรื่องการร่วมทุนสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศให้เข้มแข็ง ตรงนี้เป็นหัวใจกับการขยายตัวของอุตสาหกรรม เพราะประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ  ต้องสร้างจุดแข็งภายใน และ สร้างพันธมิตรร่วมกับผู้ประกอบการด้วยกันเอง โดยจัดทำเป็นระบบ วางกรอบเวลา การมีเป้าหมายและการเติบโตแบบมีทิศทางอย่างยั่งยืน”
       
       สำหรับรูปแบบการร่วมทุน ซิป้าจะมีเงินสนับสนุน 20 ล้านบาทจากงบ 400 ล้านบาท โดยจะเลือกบริษัทที่ลงทุนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของคนไทย โดยซิป้าจะเข้าไปร่วมทุน 5-10% กับบริษัทที่ขอรับสนับสนุน ซึ่งบริษัทจะได้รับสิทธิประโยชน์และคำปรึกษาการลงทุน อีกทั้งซิป้าจะผลักดันให้ได้รับสิทธิประโยชน์บีโอไอซึ่งเป้าหมายการร่วมทุน คือ การเป็นพี่เลี้ยงให้บริษัทมีผลประกอบการเติบโตและดำเนินธุรกิจยั่งยืน และสุดท้ายสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้
       
       “เป้าหมายของเราปีหน้าจะต้องมีบริษัทได้บีโอไอไม่น้อยกว่า 50 บริษัทและภายใน 2 ปีต้องมีบริษัทเข้าร่วมทุน 100 บริษัทโดยซิป้าจะเป็นพี่เลี้ยงดูแลจนกว่าจะเข้มแข็ง มีธุรกิจมั่นคงสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ซิป้าก็จะถอนตัวออกมา โดยหุ้นที่ถือไว้จะขายคืนให้ซึ่งกรอบเบื้องต้นที่คิดไว้จะดูแลกันในระยะ 3- 5 ปี”
หมายเลขบันทึก: 138325เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2007 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท