แม้เป็นวันหยุด....แต่ไม่เคยหยุดคิด


      ตรุษจีนปีนี้รู้สึกเปลี่ยนบรรยากาศไปอีกแบบหนึ่ง เพราะ  ทุกปีจะต้อง (หาทาง) กลับบ้านเพื่อไปไหว้เจ้า  อยู่กับครอบครัว  แต่ปีนี้หาทางยังไงก็หาไม่เจอ  เนื่องจากมีงานที่กองสุมไว้มากมาย  ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมสอน  การทำวิจัย  การตรวจแบบฝึกหัดนักศึกษา  ตรวจข้อสอบ (ชุดใหม่ที่มาวางตรงหน้าอีกกว่า 70 ฉบับ)  แถมพรุ่งนี้ต้องเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์ (ว่าที่) นักศึกษาใหม่อีก  วันจันทร์ก็ต้องสอนทั้งวัน  หากยัง (หาทาง) กลับบ้านอีกก็ไม่รู้ว่าสภาพของตัวเองจะเป็นยังไงบ้างเมื่อกลับมาทำงาน  เมื่อไม่ได้กลับบ้านต้องอยู่ที่ลำปางก็เลยได้เห็นบรรยากาศการจับจ่ายซื้อของ  รวมทั้งการไหว้เจ้าของที่นี่ด้วย (เป็นปีแรก)  บริเวณที่พักของผู้วิจัยอยู่ในย่านคนจีน  จึงต้องตื่นเช้ากว่าปกติ  ไม่ได้ตั้งใจตื่นหรอกค่ะ  แต่จะนอนต่อก็ไม่ได้  เนื่องจากเสียงประทัดดังขึ้นเป็นระยะๆ  ครั้งจะนั่งทำงานก็ไม่ได้อีก  เพราะ  ไม่มีสมาธิอันเนื่องมาจากเสียงประทัดและการนอนไม่เต็มที่  สรุปว่าไม่ได้ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน  (รู้อย่างนี้กลับบ้านดีกว่าค่ะ)

       บ่น โอ๊ย! ไม่ใช่  เล่าเรื่องสัพเพเหระมาตั้งนาน  มาเข้าเรื่องที่เป็นสาระกันดีกว่า  ตั้งใจเอาไว้ (เหมือนทุกวัน) ว่าจะเล่าเรื่องการประชุมเครือจข่ายฯสัญจรไปเรื่อยๆจะได้รีบจบ  เพื่อเล่าเรื่องใหม่  แต่เมื่อวานนี้ช่วง 16.30 น. ได้มีโอกาสเข้าไปอ่านความคิดเห็นของคุณภีมที่เขียนเข้ามาเกี่ยวกับเรื่องการจัดการของเครือข่ายฯ  (รู้สึกว่าจะเป็นตอนที่ 3.1 หรือ 3.2 นี่แหละค่ะ  ขอโทษด้วยนะคะที่จำไม่ได้จริงๆว่าตอนที่เท่าไหร่)  ก็เลยโทรไปหาน้องแหม่ม  เผื่อว่าคุณภีมจะยังอยู่ที่ทำงานก็จะได้คุยเรื่องนี้  พอโทรไปน้องแหม่มบอกว่าคุณภีมกลับไปแล้วก็เลยไม่ได้คุยกัน  ผู้วิจัยจึงตั้งใจว่าวันนี้จะขอไม่เล่าเรื่องการประชุมเครือข่ายฯสัญจร (ต่อ) สัก 1 วัน  แต่จะขอแสดงความคิดเห็นต่อความคิดเห็นของคุณภีมก็แล้วกันนะคะ

       เท่าที่จับความ (จำ) ได้  ถ้าเข้าใจไม่ผิด  ผู้วิจัยคิดว่าคุณภีมกำลังเสนอแนะในเรื่องการบริหารจัดการเครือข่ายฯ  โดยใช้ประสบการณ์ตรงจากการที่คุณภีมได้มีโอกาสเป็นพี่เลียงให้กับโครงการที่มีลักษณะการบริหารจัดการเหมือนกับของลำปางมาแล้ว  ตรงนี้ความจริงแล้วทางเครือข่ายฯลำปางก็คิดอยู่เหมือนกัน (แต่ไม่มีการพูดคุยอย่างจริงจังและเป็นกิจลักษณะ)  คงจะเป็นด้วยเงื่อนไขหลายประการที่ผู้วิจัยจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ก็แล้วกันนะคะ

       เมื่อได้อ่านความคิดเห็นของคุณภีมแล้ว  สำหรับผู้วิจัยไม่ขอออกความเห็นว่าเห็นด้วย  หรือไม่เห็นด้วย  ควรทำ  หรือไม่ควรทำ  ก็แล้วกันนะคะ  ที่ไม่ออกความเห็นนั้นขอสารภาพตามตรงเลยค่ะว่ายังคิดไม่ออก  เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนอยู่ในมือพอที่จะวิเคราะห์ได้  แต่ก็ใช่ว่าผู้วิจัยไม่คิดในเรื่องนี้นะคะ  ความจริงแล้วผู้วิจัยคิดอยู่ตลอดเวลา  (จริงๆนะ  ไม่ได้โม้)  และความคิดก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อวันประชุมเครือข่ายฯสัญจร  เหมือนมีอะไร "ปิ๊งแวป" เข้ามาในสมอง (ที่มีอยู่น้อยนิด)

       หากแต่ความคิดของผู้วิจัยนั้นไม่ใช่ความคิดที่ว่าจะบริหารจัดการเครือข่ายฯในระดับไหน (จังหวัด/ตำบล/กลุ่ม)  แต่เป็นความคิดที่ว่าตอนนี้กองทุนสวัสดิการมีเงินพอไหมในการบริหารจัดการทั้งในปัจจุบันและอนาคต?  ยอมรับว่าที่ผ่านมาจากการได้ลงพื้นที และจากการได้พูดคุยกับคณะกรรมการทำให้ได้ข้อมูลมาระดับหนึ่ง  แต่ข้อมูลที่ได้ค่อนข้างจะขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง  เมื่อคุยกับกลุ่มที่มีสมาชิกน้อย (การตายก็น้อยตามไปด้วย) บอกว่า  ตอนนี้เงิน 50 % สำหรับจัดสวัสดิการไม่พอ  เพราะ  ต้องไปเฉลี่ยช่วยกลุ่มที่มีสมาชิกมาก  (เนื่องจากมีสมาชิกมาก  ก็ตายมากด้วย)  ส่วนกลุ่มที่มีสมาชิกมาก  ก็บอกว่า  ตอนนี้เงิน 50 % สำหรับจัดสวัสดิการไม่พอเช่นกัน  เพราะ  ต้องไปเฉลี่ยช่วยกลุ่มที่มีสมาชิกน้อย  สรุปได้ว่าตอนนี้ไม่มีกลุ่มไหนเลย (จาก 19 กลุ่ม) ที่เงินพอ  ตอนนี้ทุกกลุ่มต่างมีเงินติดลบ  ต้องไปยืมเงินจากกองทุนอื่นๆมาใช้ก่อน  เช่น  กองทุนธุรกิจชุมชน  (ซึ่งเป็นกองทุนที่ตอนนี้กลุ่มส่วนใหญ่ยังไม่ได้ใช้  เก็บสะสมเอาไว้เฉยๆ)    กองทุนหมุนเวียน (สำหรับกลุ่มที่เปิดโอกาสให้มีการออมเพื่อกู้ด้วย)  เป็นต้น  ทางเครือข่ายฯก็ทราบปัญหานี้ดี  ประธานฯและแกนนำได้แนะนำให้แต่ละกลุ่มเขียนโครงการขึ้นมาที่เครือข่ายฯเพื่อขอยืมเงิน 20 % ที่แต่ละกลุ่มส่งมาที่เครือข่ายฯทุกเดือนออกไปใช้  แต่ผู้วิจัยก็ยังไม่เห็นว่าจะมีกลุ่มไหนเขียนโครงการขึ้นมาขอยืมเลย  (เมื่อเป็นการยืมก็ต้องคืนนะคะ  แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาคืน  เพราะ  เงินติดลบอย่างนี้)

      เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นมาแล้ว  นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้วิจัยต้องเข้าไปศึกษาแผนที่ภาคพื้นดิน  (จากการที่ไปคุยกับพี่นก) ตอนแรกคิดว่าเข้าใจแผนที่ภาคสวรรค์ก็พอแล้ว  แต่กลับกลายเป็นว่าไม่พอ  พอไปศึกษาแผนที่ภาคพื้นดินซึ่งก็พยายามดำเนินการตามแผนที่ภาคสวรรค์  ตอนแรกก็ดูเหมือนว่าจะเข้าใจ  แต่เป็นเพียงความเข้าใจโครงสร้างเท่านั้น  จึงทำให้ผู้วิจัยมองไม่เห็นจุดที่ (ตัวเองคิดว่า) เป็นปัญหา  จนกระทั่งการประชุมเครือข่ายฯสัญจรที่ผ่านมา  การเสนอจากบางกลุ่มว่าขอให้ลดสัดส่วนของเงินที่ส่งมาทางเครือข่ายฯลงได้ไหม  ระหว่างการถกเถียงกันอยู่นั้น (รายละเอียดจะเล่าให้ฟังในตอนต่อๆไปค่ะ)  ไม่รู้อะไรดลใจผู้วิจัยให้คิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินในภาคปฏิบัติขึ้นมา

      จากการนั่งคิดของผู้วิจัยทำให้ผู้วิจัยเกิดความคิดขึ้นมาว่าปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการแบบไหน (จังหวัด/ตำบล/กลุ่ม) แต่อาจจะอยู่ที่ว่าไม่ว่าจะบริหารจัดการแบบไหนก็มีปัญหาเดียวกัน  คือ  เงินไม่พอ   การที่ผู้วิจัยคิดเช่นนี้ต้องขอบอกก่อนนะคะว่าผู้วิจัยนั้นจบทางด้านสังคมวิทยามา  ไม่ได้เรียนในด้านเศรษฐศาสตร์  หรือด้านการเงินมาเลย  ไม่มีความรู้ด้านเหล่านี้เลย  จึงไม่ทราบว่าสิ่งที่ตนเองคิดว่าเป็นปัญหาอาจไม่ใช่ปัญหาก็ได้  ถ้านำหลักวิชาที่เกี่ยวข้องมาอธิบายหรือมาใช้ในการแก้ไข  จัดการ   

       สำหรับหลักการคิดของผู้วิจัยนั้น  นั่งคิดแบบคร่าวๆ นะคะ  สมมติว่าเดือนหนึ่งเก็บเงินออมจากสมาชิก 1 คนได้ 30 บาท  ในขณะนี้มีรายจ่ายที่สมาชิกคนนี้จะต้องจ่ายให้กับเครือข่ายฯใน 1 เดือนดังนี้

      1.จ่ายค่าเฉลี่ยศพ  ประมาณ 21 บาท  (ตอนนี้เครือข่ายฯมีสมาชิกประมาณ 6,500 คน  มีคนตายที่เครือข่ายฯต้องรับผิดชอบในการจ่ายสวัสดิการประมาณเดือนละ 140,000 บาท  ตัวเลขนี้เป็นค่าประมาณเท่านั้นนะคะ  บางเดือนก็น้อยกว่านี้  บางเดือนก็มากกว่านี้)  

      2.กองทุนเพื่อการศึกษา 5% และ กองทุนเพื่อการชราภาพ 5%  รวมเป็น 10% เป็นเงิน  3 บาท  (คิดจาก 100% เท่ากับ 30 บาท) 

      3.กองทุนสำรอง 20%  เป็นเงิน  6 บาท  (คิดจาก 100% เท่ากับ 30 บาท)   

      รวมแล้วเก็บเงินจากสมาชิก 1 คน  ได้เงิน  30 บาท  ต้องจ่ายเข้ามาที่เครือข่ายฯ 30 บาท  แสดงว่าเงินไม่เหลือเลย

      แต่อย่าลืมว่านี่เป็นเพียงเงินที่ต้องจ่ายมาที่เครือข่ายฯเท่านั้น  แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงิน 30 บาทที่เก็บได้จากสมาชิก 1 คน  ต้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในระดับกลุ่มด้วย  คือ

      1.ค่าจัดสวัสดิการเกิด  เจ็บ  ตาย  (กรณีการตายที่กลุ่มต้องจ่าย  คือ  มาสมัครเป็นสมาชิกครบ 180 วัน  แต่ไม่ถึง 225 วัน  กลุ่มต้องจ่าย 3,000 บาท)   เท่าที่สอบถามจากกลุ่มขนาดกลาง  และขนาดใหญ่ (บางกลุ่ม)  เฉลลี่ยแล้วต้องกลุ่มต้องกันเงินของสมาชิก 1 คน  ออกมาคนละอย่างตำ 2 บาท 

      2.กองทุนธุรกิจชุมชน 30%  เป็นเงิน 9 บาท/คน  (คิดจาก 100% เท่ากับ 30 บาท) 

      ดังนั้น  เท่ากับว่ารายจ่ายในระดับกลุ่มเท่ากับ 11 บาท (เป็นอย่างตำ)  รวมกับรายจ่ายในระดับเครือข่ายฯ 30 บาท  รวมเป็นรายจ่ายทั้งสิ้นประมาณ 41 บาท/คน/เดือน  แต่เก็บได้จริงๆประมาณ 30 บาท/คน/เดือน   เท่ากับว่าเงินติดลบประมาณ 11บาท/คน/เดือน  (ถ้าบริหารจัดการตามแผนที่ภาคสวรรค์)

       จริงอยู่แม้ว่าจากยอดเงินที่ต้องใช้จ่าย 41 บาท/คน/เดือนนั้น  ถ้าพิจารณาแล้วเป็นเงินเก็บอยู่ส่วนหนึ่ง  คือ  เงินที่กลุ่มส่งไปเป็นเงินกองทุนสำรอง 20% ที่เครือข่ายฯ  เท่ากับ 6 บาท/คน/เดือน  และเงินกองทุนธุรกิจชุมชนที่อยู่ที่กลุ่ม 9 บาท/คน/เดือน รวมแล้วเท่ากับ 15 บาท  หากไม่คิดถึง 2 กองทุนนี้ก็เท่ากับว่าสมาชิก 1 คน  มีค่าใช้จ่ายเท่ากับ 26 บาท  แต่เก็บเงินมาได้ 30 บาท  ดังนั้น  เงินจะเหลือเท่ากับ 4 บาท/คน/เดือน  ซึ่งดูเหมือนว่าถ้าเป็นอย่างนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร  แต่ต้องอย่าลืมนะคะว่านี่เป็นการคิดแบบขั้นตำเท่านั้น  ถ้าคิดละเอียดจริงๆ  เงินอาจไม่พอก็ได้ (หรืออาจพอก็ได้ค่ะ  ตรงนี้ยังไม่ได้คิดอย่างละเอียด  และขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง  เช่น  ถ้ามีเงินเหลือจริงๆ 4 บาท/คน/เดือน  แล้วเอาเป็นกองทุนสำรองส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งเอาไปทำธุรกิจเหมือนแผนที่ภาคสวรรค์  ดอกผลที่ได้จากการทำธุรกิจส่วนหนึ่งก็เอามาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนสวัสดิการก็ได้ค่ะ  แต่ก็อีกนั่นแหละค่ะ  ขนาดตอนนี้สมทบ 9 บาท/คน/เดือน  เข้ากองทุนธุรกิจชุมชนแล้ว  หลายกลุ่มยังบอกว่ามีเงินอยู่น้อย  ลงทุนไม่พอ  ถ้าเหลือแค่ 1-4 บาทจะเอาไปทำอะไรได้คะ)

       ผู้วิจัยก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะว่าที่คิดอย่างนี้ถูกหลักการหรือเปล่า  เพราะ  ไม่มีความรู้จริงๆ  ถ้าใครได้เข้ามาอ่านพอจะมีความรู้เรื่องนี้บ้างก็แนะนำกันมาได้นะคะ   ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจก็เขียนหรือโทรมาถามก็ได้ค่ะ  จะค่อยๆอธิบายให้ฟัง  (ผู้วิจัยรู้สึกว่าตัวเองพูดได้ดีกว่าเขียนค่ะ) มาเข้าเรื่องต่อดีกว่าค่ะ  ผู้วิจัยก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าแต่ละกลุ่มเคยคิดตัวเลขแบบนี้ออกมาหรือเปล่า  อยากจะเสนอเหมือนกัน  แต่........   สำหรับผู้วิจัยแล้วคิดว่าเรื่องนี้มีทางออกค่ะ  เช่น

       1.ขยายจำนวนสมาชิกเพิ่ม  ไม่รู้ว่าจะเป็นทางออกที่จะแก้ไขเรื่องเงินไม่พอได้หรือเปล่า  เพราะ  ถ้าคิดอีกแง่หนึ่ง  เมื่อมีสมาชิกมากขึ้น โอกาสที่คนจะตายมากขึ้นก็มีตามไปด้วย

       2.ปรับรูปแบบการบริหารจัดการ  เช่น  จากออมวันละ 1 บาท  ก็เป็นออมวันละ 1.50 บาท  หรือ 2 บาท  แล้วให้สวัสดิการเพิ่มขึ้นอีกหน่อย  แต่ต้องคำนวนให้ดี  อย่าเพิ่มมากขึ้นจนเงินไม่พออีก  (ความคิดนี้คงต้องล้มไปค่ะ  เพราะ  คงจะมีผู้ที่เห็นว่าจะเสียเอกลักษณ์เรื่องวันละ 1 บาทไป)     หรือ  อาจออมพิเศษเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  เช่น  ออมเพื่อการตาย  (ให้สวัสดิการสำหรับคนออมประเภทนี้ให้มากขึ้น)  หรือ  อาจขอเก็บเงินจากสมาชิกเพิ่มขึ้นมาอีก 1 กองทุน  เพื่อเอามาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนสวัสดิการ  อาจเก็บเป็นเดือน  หรือเป็นรายปีก็ได้  เป็นต้น

       ตอนนี้คิดออกแค่นี้ค่ะ  ถ้าใครมีความเห็นเพิ่มเติมก็เสนอแนะมาได้นะคะ  อยากฟังความเห็นของอาจารย์หญิง  อาจารย์บัว  และอาจารย์โรจน์จัง  (เพราะ  เคยได้ยินว่าอาจารย์เรียนทางด้านการเงินมา)  ถ้าผู้วิจัยคิดผิดก็บอกมาได้เลยนะคะ  และช่วยบอกวิธีการคิดที่ถูกต้องมาให้ด้วยก็จะดีมากๆค่ะ 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13760เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2006 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท