กาหลอ


ผู้เรียบเรียง อ.ชัยยันต์ ศุภกิจ ร.ร.บ้านท่ามิหรำ

            กาหลอ     

                     เมื่อสมัยเด็ก ๆ หากมีคนเสียชิวิตที่หมู่บ้านใกล้ ๆ กับตลาดโคกโพธิ์ เราจะได้ยินเสียงปี่กาหลอซึ่งฟังแล้วจะรู้สึกเยือกเย็น โหยหวล โศรกเศร้า วังเวง

 
 

                 กาหลอ เป็นการละเล่นของชาวปักษ์ใต้อีกอย่างหนึ่ง เท่าที่พบในพัทลุง จะเป็นดนตรีที่ใช้ละเล่นหรือประโคมในงานศพ ในหนังสือพจนะสารานุกรมของ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ได้ให้ความหมายของกาหลอไว้ว่า " กาหลอเป็นดนตรีชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับประโคมในงานศพ "

                 แต่มีบางท่านกล่าวว่า " กาหลอเป็นงานแห่ในวันสงกรานต์ เพื่อความรื่นเริง และแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อผู้บังเกิดเกล้าของตน "
                 อาจารย์กฤตวิทย์ ดวงสร้อยทอง เขียนเรื่อง " กาหลอดนตรีงานศพ " ในวารสาร มศว.สงขลา ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 เอาไว้ตอนหนึ่งว่า

                " กาหลอเป็นการละเล่นประกอบเครื่องดนตรี ซึ่งมักจะเล่นเฉพาะในงานศพ ทำนองเดียวกันกับการสวดคฤหัสถ์หรือสวดมาลัย เข้าใจว่าคงนิยมเหมือนกับการเล่นซอพื้นเมืองของภาคเหนือ ซึ่งเดิมก็เล่นเฉพาะในงานศพ การเล่นเป็นการเล่นที่สนุกสนาน และต้องมีฝีมือในการร้อง และดนตรีโดยเฉพาะปี่กาหลอเป็นพิเศษ "

ความเป็นมาของกาหลอ
                 ความเชื่อเรื่องกาหลอ หรือตำนานกาหลอในหนังสือ " ตลุง " ของ อาจารย์สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ กล่าวเอาไว้ว่า " มีการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะได้มาจากชาวมลายู ยุคอารยธรรมฮินดูเจริญเช่นกัน คือ การเล่น " กาหลอ " ซึ่งเป็นดนตรีบรรเลงแต่เฉพาะงานศพเท่านั้น

                คำว่า " กาหลอ " น่าจะมาจาก " กาล " หรือ " พระกาฬ " ( สำเนียงมลายูถิ่น จะออกเสียงเป็นกาลอ ) หมายถึงพระอิศวร ซึ่งเป็นเทพแห่งความตาย คู่กับเจ้าแม่กาลี ( ชาวภาคใต้เรียกคู่กันว่า กาหลา กาหลี )

               เครื่องดนตรีก็เป็นแบบมลายู แต่ไม่พบว่ามลายูเล่นดนตรีแบบนี้ในยุคศาสนาอิสลาม เพราะประเพณีของอิสลาม จะไม่เก็บศพไว้จนค้างคืน ตายวันไหนรีบนำไปฝังวันนั้น "

               จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า เดิมรับมาจากชวา มลายู แต่ตอนหลังเขาเลิกเล่น แต่ของไทยยังคงรักษาไว้ได้ ตำนานกาหลอซึ่งเล่าโดยผู้เล่นกาหลอ 2 ท่าน คือ นายเนื่อง เย็นทั่ว ต.หานโพธิ์ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง กับ นายเพิ่ม เย็นทั่ว ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ในเรื่อง " กาหลอดนตรีงานศพ " ของ อาจารย์กฤตวิทย์ ดวงสร้อยทอง ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า

                   " เชื่อกันว่า กาหลอเป็นเสียงฆ้องกลองสวรรค์ ทั้งนี้เพราะมีความเชื่อกันว่า สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ณ วัดแห่งหนึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ จากลานวัดมีบันไดทอดลงไปในแม่น้ำ สำหรับพระภิกษุชำระร่างกาย

                   มีเด็กวัด 2 คนเป็นเด็กซุกซนมาก ชอบมาใช้บันไดท่าน้ำมากกว่าคนอื่น ๆ พระอธิการวัดได้ห้ามปรามแล้ว แต่เด็กไม่เชื่อฟัง ท่านจึงนำเอา  หลาวไปปักไว้ แต่เด็กที่ไปเล่นที่ท่าน้ำก็มิได้ถูกหลาวตำ

                  ต่อมา พระอธิการรู้สึกร้อนจัด ได้กระโดดลงไปในน้ำทันที โดยลืมเรื่องหลาวที่ท่านปักเอาไว้ หลาวอันนั้นก็ตำถูกตรงหน้าอกท่าน พระภิกษุลูกวัดได้พยายามช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จ

                  จึงไปทูลพระพุทธเจ้า ๆ จึงเสด็จไปดึงพระอธิการพร้อมหลาวเหล็กขึ้นมา และเรียกประชุมสงฆ์ภายในวัดนั้น เพื่อแสดงภูมิรู้และพระธรรมวินัย

                  เมื่อทราบถึงความรู้ความสามารถของพระภิกษุ พระพุทธองค์จึงทรงแต่งตั้งภิกษุเหล่านั้นตามความรู้ความสามารถ คือ เป็นท่านกาแก้ว ท่านการาม ท่านกาชาด และท่านกาเดิม ( ตำแหน่งทั้ง 4 เป็นตำแหน่งพระครูผู้ช่วยรักษาพระบรมธาตุทั้ง 4 ทิศโดยเชื่อว่า พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง เพื่อดูแลพระบรมธาตุเมืองนคร ซึ่งจะพบชื่อตำแหน่งนี้ในหัวเมืองปักษ์ใต้ที่มีพระบรมธาตุ เช่น ไชยา นครศรีธรรมราช พัทลุง )     และอีก 2 รูป ( ไม่ปรากฏนาม )

                ส่วนอีกรูปเป็นพระภิกษุที่มาทีหลังสุด เมื่อเลิกประชุมแล้ว เพื่อให้สามารถแสดงธรรมในวันทั้งเจ็ด จึงทรงให้ชื่อ ตำแหน่งว่า " กาหลอ " ตามคำบอกเล่าของผู้ให้ความรู้ว่า

" หลอ " หมายถึง " ขาด " หรือไม่มาประชุม

               เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว พระภิกษุทั้ง 7 รูปมาประชุมพร้อมกันว่าจะจัดอะไรเป็นพุทธบูชาพระบรมศพ ท่านกาเดิมได้คิดทำปี่ขึ้นมาเลาหนึ่ง ท่านการามคิดทำโทน ( ทน ) ขึ้นมา ท่านกาแก้วคิดทำโทนเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ใบ ส่วนท่านกาชาดคิดทำฆ้องขึ้นมา แล้วใช้เครื่องดนตรีเหล่านี้ตีบรรเลงแห่นำพระบรมศพของพระพุทธเจ้า และครั้งนั้นนับเป็นการบรรเลงหรือแสดงกาหลอครั้งแรก

เครื่องดนตรีกาหลอ
    1. ปี่กาหลอ ปี่กาหลอมี 7 รู มากกว่ารูปี่ไฉน 1 รู คือรูปี่ไฉนหรือปี่ชวามี 6 รู รูข้างใต้เรียกว่า " ทองรี " เวลานำศพเคลื่อนออกจากบ้านห้ามไม่ให้มีเสียงรูทองรีออกมา
    2. โทน โทนมี 2 ใบ เรียกโทนยืนกับโทนหลัก โทนยืนเป็นโทนที่ใช้ตีเป็นตัวยืนในการบรรเลง ส่วนโทนหลัก เป็นโทนที่ใช้คอยตีหลัก ตีหยอก เพื่อให้เกิดความสนุกยิ่งขึ้น
    3. ฆ้อง แต่เดิมมี 2 ใบ แต่มาในระยะหลัง ๆใช้เพียงใบเดียว และมักเลือกฆ้องที่มีเสียงก้องกังวาลเสียงดังไปไกล

เพลงกาหลอ
                  เพลงที่คณะกาหลอใช้บรรเลงนั้นมีทั้งหมด 12 เพลง คือ เพลงสร้อยทอง เพลงจุดไต้ เพลงสุริยัน เพลงคุมพล เพลงทองศรี เพลงแสงทอง เพลงนกเปล้า เพลงทองท่อม เพลงตั้งซาก ( ศพ ) เพลงยายแก่ เพลงโก้ลม เพลงสร้อย และเพลงซัดผ้า

                    การบรรเลงเพลงกาหลอนั้นก็เป็นไปตามความเชื่อ เช่น ตอนไหว้ครูใช้เพลงสร้อยทอง เพลงจุดไต้ เพลงสุริยัน เพลงคุมพล เวลานำศพเคลื่อนไปที่สามสร้าง ( เชิงกราน - เชิงตะกอน ) จะบรรเลงเพลงตั้งซาก เพลงยายแก่ บรรเลงเพื่อขอไฟจากยายแก่มาจุดเผาศพ เพลงโก้ลม ( เรียกลม ) บรรเลงเพื่อขอลมให้มาช่วยพัดกระพือไฟให้ติดดีขึ้น เพลงสร้อย เพลงซัดผ้า จะบรรเลงตอนซัดผ้าข้ามโลงศพขณะจุดไฟเผาศพ ตอนกลางคืนใช้เพลงทองศรี ตอนเช้าใช้เพลงนกเปล้า เพลงแสงทอง บางคณะบอกว่าตั้งแต่เพลงที่ 1 - 12 จะใช้บรรเลงเฉพาะตอนนำศพไปป่าช้าเท่านั้น โอกาสอื่นจะไม่บรรเลง ซึ่งเรื่องนี้แล้วแต่ความเชื่อของกาหลอแต่ละคณะ และในแต่ละท้องถิ่นมักจะแตกต่างกันออกไป

การแสดงและโรงพิธี
                  กาหลอจะต้องมีโรงแสดงโดยเฉพาะ และต้องสร้างตามแบบที่เชื่อถือกัน หากสร้างผิดแบบกาหลอจะไม่ยอมแสดง การปลูกสร้างโรงกาหลอ ต้องให้ประตูที่เข้าสู่โรงอยู่ทางทิศใต้ มีเสาจำนวนหกเสา มีเสาดั้ง เสาสี่เสานั้นแต่ละข้างให้ใช้ขื่อได้ แต่ส่วนกลางไม่ให้ใช้ขื่อ หลังคามุงด้วยจากหรือแชง ส่วนพื้นจะยกสูงไม่ได้ ใช้ไม้ทำเป็นหมอนทอดบนพื้น แล้วหาไม้กระดานมาปูเรียบเป็นพื้น ส่วนแปทูบ้านเจ้าภาพจะตรงกับแปทูโรงกาหลอไม่ได้
                  เมื่อคณะกาหลอมาถึงไปถึงจะตรวจโรงพิธี หากเรียบร้อยดีก็จะเข้าไปภายในโรงพิธี หากตรวจแล้วพบข้อผิดพลาดแม้เพียงนิดเดียว ก็จะต้องให้เจ้าภาพแก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน คณะกาหลอจึงจะเข้าไป

 การเดินเข้าโรงพิธี

                 จะให้นายปี่ซึ่งถือว่าเป็นนายโรงเดินนำหน้าพาคณะเข้าไป นายปี่จะเดินไปที่ห้องของตัว ส่วนผู้ตีฆ้องและนายโทน จะหยุดอยู่แค่ห้องของตัว จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือล่วงล้ำเข้าไปในห้องนายปี่ไม่ได้ คือ นายปี่อยู่ห้องหนึ่ง ส่วนนายโทนและผู้ที่ตีฆ้องอยู่รวมกันอีกห้องหนึ่ง

                 เมื่อเข้าไปในโรงพิธีแล้ว หากยังไม่ถึงเวลา ( เลยเที่ยงวัน ) จะออกไปไหนมาไหนไม่ได้ ( บางคณะก็ไม่เคร่งครัดนัก ) แต่มีข้อห้ามว่า นอกจากหมากพลูและบุหรี่แล้ว ห้ามมิให้บริโภคสิ่งใดภายนอกโรงพิธีเป็นเด็ดขาด หากจะบริโภคต้องนำเข้าไปบริโภคภายในโรงพิธีและห้ามยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงในทางชู้สาว
                 เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก่อนลงมือแสดง เจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมจัด " ที่สิบสอง " หมายถึงอาหารหวานคาว ได้แก่ ข้าว แกง เหล้า น้ำ ขนม ฯ ล ฯ จัดใส่ถ้วยใบเล็ก ๆ วางไว้ในภาชนะ ( ถาด ) ให้ครบ 12 อย่าง เหมือนการจัดสำรับกับข้าวของไทยสมัยก่อน และที่ถ้วยทุกใบจะมีเทียนไขเล่มเล็ก ๆปักอยู่

                 อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า " เครื่องราชย์ " มีเงิน 12 บาท หมาก 9 คำ ด้ายริ้ว 3 ริ้ว ข้าวสาร เทียนไข 1 เล่ม ทุกอย่างใส่รวมกันใน " สอบหมาก " ( ลักษณะคล้ายกระสอบ แต่มีขนาดเล็ก เป็นภาชนะใส่หมากพลูของคนเฒ่าคนแก่ทางปักษ์ใต้เมื่อสมัยก่อน ) เมื่อนายโรงได้ที่สิบสอง และเครื่องราชย์มาแล้วก็จะทำพิธีบวงสรวงครูบาอาจารย์ รำลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วลงมือแสดง เริ่มต้นด้วยเพลงไหว้ครู คือเพลงสร้อยทองและเพลงอื่น ๆ

ข้อปฏิบัติของคณะกาหลอ
                 คณะกาหลอมีข้อปฏิบัติมากมาย เช่น การรับประทานอาหาร เมื่อเจ้าภาพจัดสำรับกับข้าวมาครั้งแรกกี่สำรับก็ตาม ครั้งต่อ ๆ ไปจะต้องจัดมาเท่าเดิม จะขาดไม่ได้ แต่หากจะจัดมาเพิ่มมากกว่าครั้งแรกก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น อาหารการกินจะต้องไม่ปะปนกับใคร เจ้าภาพจะต้องแยกปรุงต่างหาก

                และขณะที่กำลังแสดงอยู่จะพูดทักทายกับใครภายนอกโรงหรือจะชักชวนใครให้เข้ามานั่งในโรงพิธีไม่ได้ เพราะถือว่าเหมือนกับการชักผีให้เข้ามาในโรงพิธี

                หรือแม้แต่จะออกจากบ้านเมื่อรับงานใครแล้ว ได้เวลาเดินทางก็จะหยิบเครื่องดนตรีของตนแล้วลงเรือนไปเลย แม้พ่อ แม่ บุตร หรือภรรยาเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจะกลับไปจับต้องหรือดูแลไม่ได้

               ในระหว่างที่สามีไปแสดงกาหลอ ผู้เป็นภรรยาที่อยู่ข้างหลังจะทาแป้งแต่งตัวหรือคบชู้ไม่ได้ จะเป็นอันตรายแก่สามีอาจถึงตายได้

                เมื่อสามีกลับมาบ้านตอนเลิกแสดงแล้ว ภรรยาจะต้องเป็นผู้ตักน้ำวางไว้ที่บันไดบ้านเพื่อให้สามีใช้น้ำนี้ล้างเท้า และต้องเป็นน้ำที่ภรรยาเป็นผู้ตักจริง ๆ

                ส่วนผู้ที่จะเป็นหัวหน้าคณะกาหลอได้ จะต้องเรียนรู้คาถาอาคม หรือพิธีการทางกาหลอให้ได้อย่างสมบูรณ์และจะเป็นได้เมื่ออายุล่วง 40 ปีแล้วเท่านั้น
                เท่าที่กล่าวมาจะเห็นว่า เรื่องของกาหลอมีข้อปฏิบัติและความเชื่อมากมาย เครื่องดนตรีโดยเฉพาะปี่ก็เล่นยาก ต้องเรียนรู้และยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

               น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กาหลอเสื่อมความนิยมจากผู้เล่นและผู้รับ ประจวบกับความเจริญสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ จนในปัจจุบันเราจึงหาดูการแสดงกาหลอในงานศพแม้แต่ในชนบทได้ยากเต็มที

               ทั้ง ๆ ที่กาหลอเป็นดนตรีงานศพที่ถ่ายทอดความรู้สึกที่โศกเศร้า เสียงอันโหยหวนของปี่และฆ้อง เหมาะกับการบรรเลงในงานศพก็ตาม

               น่าที่เราคนรุ่นหลังจะได้หาทางศึกษา ค้นคว้าความเป็นมาและพิธีการ หรือหาทางส่งเสริมเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของปักษ์ใต้และชาวพัทลุงเอาไว้ ก่อนที่คนเฒ่าคนแก่ผู้เล่นกาหลอ หรือกาหลอดนตรีงานศพจะหายสาบสูญไปในที่สุด

หนังสือที่ใช้อ้างอิง
    - กฤตวิทย์ ดวงสร้อยทอง " กาหลอ ดนตรีงานศพ " ในวารสาร มศว. ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2518 หน้า 65 - 82
    - ชวน เพชรแก้ว " กาหลอ " ศิลปวัฒนธรรม นครศรีธรรมราช ศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช 2522 หน้า 69 - 79
    - สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ " หนังตะลุง " มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา ร่วมกับมูลนิธิเอเซียจัดพิมพ์เผยแพร่
ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดพัทลุง ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง โรงพิมพ์พัทลุง พ. ศ 2526

หมายเลขบันทึก: 137499เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2007 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • เข้ามาย้อนยุคกับวงดนตรีกาหลอ...จำได้ว่าเมื่อเด็กๆก็ได้ฟังได้เห็นอยู่ครับ วังเวง น่าหวาดกลัว ขนลุกขนพองเลยครับ แสดงที่งานศพใดก็จะคว้าชายผ้าถุงแม่ไว้แน่นไม่ยอมให้ห่างตัว
  • เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ข่าวว่ามีวงดนตรีกาหลอแสดงอยู่แถบแถวไหนแล้วครับ

สวัสดีค่ะ

  วันนี้ตั้งใจอ่านอย่างมีสมาธิ ทำให้ได้สาระ ข้อคิดหลายอย่าง การทวนกระแส ก็เป็นสิ่งหนึ่ง ของการเริ่มต้น แห่งความเจริญค่ะ

 ดีค่ะ ที่บล็อกนี้ เป็นการรวบรวม เรื่องราวที่กำลังจะสูญหาย เป็นการกู้ชาติได้วิธีหนึ่ง

 อยากให้เขียนเล่าเป็นตอน จะทำให้จับเนื้อเรื่องได้ ถ้ายาวมาก จะจำได้ไม่หมด  ทำให้น่าเสียดายค่ะ  ขอบคุณมาก

ขอบคุณครับP

                   กาหลอ เสียงวังเวง เศร้าสร้อย โศกาอาดูร ทำให้เราเป็นคนกลัวผีมาตั้งแต่เด็ก ๆ ครับ

เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่แถวพัทลุง เดี๋ยวผมเปิดหน้าใหม่นะครับ

                                    สวัสดีครับ

ขอบคุณครับคุณบุญรุ่งP

                   เมื่อวานบันทึกยาวกว่านี้แต่ขึ้นไม่หมด ผมจะทำเป็นตอน ๆ ให้ครับ เรื่องนี้พวกผมอ่านแล้วยังกลัวครับ

                                   สวัสดีครับ

สวัสดีครับ

  • ผมเกิดไม่ทัน"กาหลอ"จริงๆ แต่อาศัยบรรพบุรุษของผมมีเชื้อสายศิลปินท้องถิ่นอยู่ค่อนข้างมาก  (เพลงบอก+หนังตะลุง) เคยได้ยินว่า เสียงปี่ในวงกาหลอนั้นมีสำเนียงเหมือนเสียงพูดของมนุษย์เลยที่เดียว   เช่นเสียงปี่ อาจพูดถึงชีวประวัติของคนตายก็ได้  หรือถ้าเศร้ามามากแล้วก็อาจจะขัดจังหวะด้วยเรื่องขำๆ ก็ได้เหมือนกัน
  • ไม่ทราบว่าทุกวันนี้มีกาหลอให้ฟังกันบ้างหรือเปล่า...

ขอบคุณครับคุณยุทธ

                 มีครับมีให้ฟังอยู่ทั้งเยาวชนและรุ่นเก่า แล้วจะนำขึ้นบันทึกให้ครับ

                              สวัสดีครับ

P

คำสุวรรณ์

  • อี... อ้อ... อี... อ้อ... พุง... ปลิ้นนนนนน...
  • อี... อ้อ... อี... อ้อ... พุง... ปลิ้นนนนนน...
  • อี... อ้อ... อี... อ้อ... พุง... ปลิ้นนนนนน....
  • ................ฯลฯ..........................
อาตมาฟังเสียงกอหลอได้อย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงใดก็ตาม..... 

ตามที่เคยได้ยินมา กาหลอเป็นคณะเทพดนตรีจากสวรรค์ มาร่วมแสดงในงานบูชาเพลิงพระบรมพุทธสรีระ... แต่มาช้า และสถานที่แสดงการละเล่นภายในงานทางเจ้าภาพจัดไว้ให้ก็ไม่มีแล้ว ดังนั้น คณะเทพกาหลอจึงไปแสดงอยู่วงนอกสุดของงาน โดยสร้างโรงแสดงอย่างลวกๆ แต่คณะเจ้าภาพจะให้กินของดีๆ ร้อนๆ ใหม่ๆ เป็นการเอาใจ... ทำนองนี้

ในชีวิตจริง อาตมาเคยชมกาหลอแสดง ๔-๕ ครั้ง แต่ระเบียบความเป็นไปก็ต่างจากที่นายช่างเล่ามา เช่น มีการดื่มสุรา เป็นต้น... คงเป็น กาหลอพันทาง (....)

ครั้งหนึ่ง มีกาหลอแสดงในงานศพพ่อท่านรูปหนึ่ง.. ดึกแล้วอาตมาก็แวะไปยืนฟังและสังเกตการอยู่ห่างๆ หลังจาก อี... อ้อ... อี... อ้อ... พุง... ปลิ้นนนนนน... อยู่พักหนึ่ง คนหนึ่งก็บอกว่า พักก่อนเล่า !

แล้วพวกเขาก็นั่งสนทนากัน ในเรื่องทั่วไป บางคนก็ดื่มเหล้าไปพราง... พอคุยไปได้ครู่หนึ่ง คนหนึ่งก็บอกว่า สักพักเล่า ! ... ต่างคนก็หยิบเครื่องดนตรีมาเล่นทำหน้าที่ของตนไป ... อี... อ้อ... อี... อ้อ... พุง... ปลิ้นนนนนน...  ก็เริ่มต้นอีกครั้ง

พวกเขาก็เวียนกันเล่นทำนองนี้ (มีนักดนตรีสำรองอีกคนหรือสองคน แต่เล่นเพียง ๔ คน) ... อาตมาพิจารณาดู รู้สึกเลยว่า...

.....นี้แหละ สุดยอด !....

เจริญพร 

นมัสการหลวงพี่BM.chaiwut

                  ทุกวันนี้หาดูได้ยาก ส่วนเด็กๆบอกไม่ทันสมัย มีให้ดูประปราย เหมือนที่หลวงพี่ได้กรุณาเล่ามาครับ

                                             นมัสการครับ

  • สมัยเด็กๆ ก็ ได้ดู ได้ฟังอยู่บ่อยๆ รู้สึกได้ถึงความโหยหวน
  • ครั้สุดท้ายที่ได้ฟัง รู้สึกว่าเป็นงานศพพ่อเฒ่า (พ่อของแม่) ประมาณ ปี 2528 หรือ 29 นี่แหละ ที่ สามตำบล นครศรีฯ
  • ตอนี้นี้จากบ้านมานาน แต่ ยังระลึกถึงของดีๆ บ้านเราอยู่
  • แต่ที่รู้สึกไม่ค่อยดีก็คือ คำว่าพุงปลิ้น ของหลวงพี่ เท่าที่อ่านมาก็รู้ได้ว่า กาหลอ มีวัตรปฏิบัติ เคร่งกว่าหลวงพี่อีกกระมัง ไม่อนุรักษ์ ก็อย่าขวางคลองเลยครับ เพราะว่า พระเอง (บางรูป) พุงปลิ้น ยิ่งกว่า นี้มั้ง

เคยได้ยินกาหลอมาครั้งหนึ่ง สิบกว่าปีมาแล้ว อยากฟังอีก

แต่หาฟังยากมาก งานศพเดี๋ยวนี้ไม่มีการบรรเลงแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท